ชั่วโมงเร่งด่วนการจราจรบางจุดยังหนาแน่น ข้าราชการ พนักงานบริษัท บ่นยังต้องไปทำงาน เพราะต้นสังกัดยังไม่มีคำสั่งหยุด
วันนี้ (15 ก.พ. 67) ศูนย์ข้อมูลคุณภาพอากาศกรุงเทพมหานคร รายงานสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) ใน กทม. ประจำวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2567 เมื่อเวลา 07:00 น. พบว่า ค่าเฉลี่ยปริมาณฝุ่น PM2.5 อยู่ที่ 69.1 มคก./ลบ.ม. เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ โดย 5 เขตที่มีค่าฝุ่น PM2.5 สูงสุด ได้แก่
1.เขตทวีวัฒนา 81.7 มคก./ลบ.ม.
2.เขตคลองสามวา 81.0 มคก./ลบ.ม.
3.เขตตลิ่งชัน 80.3 มคก./ลบ.ม.
4.เขตยานนาวา 79.9 มคก./ลบ.ม.
5.เขตบางรัก 79.8 มคก./ลบ.ม.
สอดคล้องกับข้อมูล สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ร่วมกับสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ, กรมควบคุมมลพิษ, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เกาะติดสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 แบบรายชั่วโมง ด้วยข้อมูลจากดาวเทียมผ่านแอปพลิเคชั่น ‘เช็คฝุ่น’ เมื่อเวลา 08.00 น.วันนี้ พบ 44 จังหวัดของประเทศไทย มีค่าฝุ่นเกินเกณฑ์มาตรฐานในระดับสีแดง มีผลกระทบต่อสุขภาพและระบบทางเดินหายใจ โดย 5 อันดับแรก
- จ.อ่างทอง 188.1 มคก./ลบ.ม.
- สมุทรสงคราม 148.7 มคก./ลบ.ม.
- สระบุรี 128.4 มคก./ลบ.ม.
- สิงห์บุรี 127.8 มคก./ลบ.ม.
- สมุทรสาคร 126.1 มคก./ลบ.ม.
และยังคงพบค่าคุณภาพอากาศที่เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ ในอีก 22 จังหวัด
สำหรับพื้นที่กรุงเทพมหานคร พบค่าฝุ่น PM2.5 เกินเกณฑ์มาตรฐานกว่า 48 เขต โดยพื้นที่ที่พบมีคุณภาพอากาศเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ เช่น เขตราชเทวี, ปทุมวัน, ป้อมปราบศัตรูพ่าย, ดุสิต, ทวีวัฒนา, หนองจอก, บางขุนเทียน, หนองแขม, คลองสามวา, บางบอน ในส่วนของเขตพื้นที่อื่น ๆ ยังคงพบคุณภาพอากาศที่เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ
กทม. ประกาศ WFH ยังไร้ผล
ก่อนหน้านี้ (14 ก.พ. 67) ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ประกาศให้หน่วยงานของ กทม. และขอความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ และเอกชน 151 แห่งที่เคยทำข้อตกลงร่วมกัน ทำงานที่บ้าน หรือ Work from Home ในวันที่ 15 และ 16 ก.พ. นี้ ส่วนโรงเรียนในสังกัด กทม. เปิดตามปกติ เพราะได้ทำห้องเรียนปลอดฝุ่น แจกหน้ากากอนามัย และได้กำหนดแนวทางปฏิบัติ เช่น งดกิจกรรมกลางแจ้ง แต่หากสถานการณ์ไม่อำนวย ให้อยู่ที่ดุลยพินิจของผู้บริหารในพื้นที่ สำหรับแนวโน้มการระบายอากาศ ใน กทม.และปริมณฑล ระยะนี้การระบายอากาศอ่อน ประกอบกับอากาศใกล้พื้นผิวมีลักษณะปิด ส่งผลให้ความเข้มข้นของฝุ่นละอองมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
ล่าสุดผู้สื่อข่าว Thai PBS ตรวจสอบการประกาศใช้มาตรการ Work From Home ของ กทม. วันแรก พบว่า ยังไม่ได้รับความร่วมมือจาก เอกชน และ ภาคส่วนต่าง ๆ อย่างเต็มที่ จะเห็นได้จากสภาพการจราจนบนถนนวิภาวดีรังสิต ฝั่งขาเข้าเมือง หนาแน่น มาตั้งแต่แยกหลักสี่ จนถึง ช่วงก่อนเข้าแยกดินแดง หน้าศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ปริมาณรถยนต์ยังหนาแน่น ในช่วงชั่วโมงเร่งด่วน
จากการสอบถามประชาชนหลายคน ทั้งข้าราชการ และ พนักงานบริษัท ระบุว่า รับทราบเรื่อง ที่ ผู้ว่าฯ กทม.ประกาศให้ใช้ มาตรการ Work from home เพื่อลดความเสี่ยงการออกมาเดินทางนอกบ้าน และลดปริมาณการจราจรบนท้องถนน แต่ต้นสังกัด ยังไม่มีคำสั่งให้หยุด แม้มีบางบริษัท ที่ประชุมกันเมื่อวาน แต่ก็ประเมินสถานการณ์กันเท่านั้น ซึ่งพนักงานหลายบริษัท สะท้อนว่า ต้องการให้ต้นสังกัด ใช้มาตรการ Work from home ตามที่ กทม. ประกาศ ในวันที่ 15-16 ก.พ. นี้