‘ชัชชาติ’ เล็งประกาศ WFH หาก กทม. ฝุ่นหนัก 15 เขต ติดกัน 3 วัน

กทม. แจงยิบ 1 ปี มาตรการลดฝุ่น เชื่อคุมแหล่งกำเนิดดีขึ้น ขณะที่ ‘นายกฯ เศรษฐา’ อวด ‘เชียงใหม่โมเดล’ แก้ฝุ่นแบบบูรณาการตรงจุด PM2.5 ลดต่ำลงในรอบ 10 ปี

วันนี้ (6 ก.พ.67) ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แถลงข่าว “ไขข้อข้องใจ ให้หายสงสัย ฝุ่นปีนี้ VS ปีที่แล้ว ต่างกันอย่างไร” ภายหลังการประชุมคณะกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหา PM2.5 ในกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 1/2567 ซึ่งมีคณะกรรมการ 40 คน

ชัชชาติ ระบุว่า ปัญหาเรื่องฝุ่นเป็นเรื่องที่หลายหน่วยงานต้องร่วมกันรับผิดชอบ เพราะเป็นปัญหาที่มีความซับซ้อน สำหรับ กทม. วันนี้ มาสรุปสิ่งที่ดำเนินการมาตลอด 1 ปี และเพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกัน ผู้ว่าฯ กทม. ได้ยกข้อมูล “ที่มาของฝุ่น” หลัก ๆ 3 ส่วนคือ 1. โรงงานอุตสาหกรรม 2. เครื่องยนต์ และ 3. การเผา

โดยฝุ่นที่เกิดในพื้นที่ กทม. พบว่า มาจากรถยนต์ดีเซล 57% ฝุ่นทุติยภูมิ 16% เผาในที่โล่ง 15% รถยนต์เบนซิน 8% และอื่น ๆ 4% แต่เมื่อวิเคราะห์แล้ว พบว่า ฝุ่นที่มีผลกระทบต่อ กทม. 42% มาจากนอกพื้นที่ และมาจากการจราจร 22% เผาในที่โล่ง กทม. 16% มาจากโรงงานอุตสาหกรรม 15% ฝุ่นถนน 4% และอื่น ๆ 1% เป็นเหตุผลที่ทำให้ฝุ่นสูงในช่วงอากาศปิด โดยปีนี้มีสถานการณ์เอลนีโญที่มากระทบด้วย

“เมื่อเปรียบเทียบสถานการณ์ฝุ่นในช่วงเดือนแรกของปี 2566 และ 2567 พบว่า จุดเผาในประเทศเพื่อนบ้าน ปีนี้สูงขึ้น ขณะที่จุดเผาในประเทศ บริเวณภาคกลางภาคตะวันออก และ กทม. ลดลง จะเห็นว่าไทยมีความตื่นตัวมากขึ้น คพ.ได้มีหนังสือแจ้งเรื่องหมอกควันข้ามพรมแดน ได้มีหนังสือถึงเลขาธิการอาเซียนไปแล้ว 2 ครั้ง ต้นเดือน ม.ค. และ ก.พ.” 

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์
การลงพื้นที่ตรวจสอบพื้นที่ก่อสร้าง

ชัชชาติ บอกว่า ตลอดระยะเวลา 1 ปี ที่ผ่านมา กทม. ได้ดำเนินการ Kick off มาตรการลดฝุ่นไปแล้วมากกว่า 30 เรื่อง ทั้งการตรวจการลดการเผา เช่น

  • ลดควันดำ มีการตรวจรถไปแล้ว  297,935 คัน แก้ไขแล้ว 3,079 คัน

  • ตรวจสถานประกอบการไปแล้ว 12,380 คัน แก้ไขไปแล้ว 8 แห่ง 

  • ตรวจสถานที่ก่อสร้างไปแล้ว 5,111 แห่ง แก้ไขแล้ว 34 แห่ง (โดยดำเนินการตรวจทั้งหมด 3 ครั้ง หากไม่ผ่าน จะมีการพักใบอนุญาตการก่อสร้าง)

  • ลงพื้นที่ตรวจสถานตรวจรถเอกชน 118 แห่ง พบว่า มีข้อบกพร่อง 17 แห่ง สั่งระงับบริการ และแก้ไขภายใน 7 วัน

  • ร่วมมือกับบริษัทน้ำมันหลายแห่งในการเปลี่ยนไส้กรองรถยนต์ โครงการ รถคันนี้ #ลดฝุ่น 168,442 คัน เปลี่ยนน้ำมันเป็น ยูโร5 

นอกจากนี้ยังมีมาตรการลดการเผาในที่โล่ง โดยการมอบรถอัดฟางที่สามารถนำไปขายได้ เพื่อลดการเผา ซึ่งเชื่อว่าหากขยายไปทั่วประเทศ จะทำให้ช่วยลดฝุ่นได้อย่างดี รวมถึงการใช้จุลินทรีย์ย่อยสลาย ที่ได้นวัตกรรมมาช่วยย่อยให้เร็วขึ้น พร้อมลงพื้นที่แก้ปัญหาพื้นที่ลักลอบทิ้งขยะ ดูแลจุดที่มีการลักลอบเผา ด้วยใช้ พ.ร.บ.รักษาความสะอาด

ผู้ว่าฯ ชัชชาติ Kick off กิจกรรมการใช้รถอัดฟางข้าว แก้ปัญหาฝุ่น PM2.5

ฝุ่นหนัก 15 เขต ติดกัน 3 วัน สั่ง Work From Home ทันที

ชัชชาติ ยังกล่าวถึง มาตรการ Work From Home ด้วยว่า ขณะนี้มีเครือข่ายองค์กรเข้าร่วมแล้ว 136 แห่ง มีพนักงานจำนวน 53,545 คน โดยจะประกาศ Work From Home เมื่อมีค่าฝุ่นมากกว่า 75 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร อย่างน้อย 15 เขต หรือ 30% ของ กทม. หรือพื้นที่ต้นลม กทม. ฝั่งตะวันออก 7 เขต ต่อเนื่อง 3 วัน แต่ที่ผ่านมายังไม่เคยเกิดขึ้น

“ก่อนหน้านี้ สภา กทม. ได้ออกข้อบัญญัติเมื่อปี 66 ที่รถเมล์ใน กทม. ต้องเป็นรถเมล์ไฟฟ้าทั้งหมดภายใน 7 ปี แต่ กฤษฎีกา บอกว่า เราไม่มีอำนาจ เพราะอำนาจในการที่จะให้รถวิ่งไม่วิ่งเป็นอำนาจของกรมการขนส่งทางบก จะเห็นว่าอำนาจเราก็ไม่ได้มีตามที่เราอยากมีทุกอย่าง แต่มีอย่างหนึ่งคือ เราสามารถประกาศพื้นที่ควบคุมเหตุเดือดร้อนรำคาญจาก PM 2.5 โดยเป็นอำนาจของ ผอ.เขต แล้วนำไปสู่การบังคับควบคุมต้นตอฝุ่นได้”

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์

ผู้ว่าฯ กทม. ยังระบุถึงกลุ่มเปราะบาง เด็กเล็ก ได้เดินหน้าสร้าง ‘ห้องเรียนปลอดฝุ่น’ โดยโรงเรียนอนุบาล กทม. มี 249 โรงเรียน มีห้องเรียน 1,743 ห้อง มีห้องเรียนปลอดฝุ่นที่มีเครื่องปรับอากาศแล้ว 697 ห้อง ไม่มีเครื่องปรับอากาศ 1,046 ห้อง ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการเพิ่มเติม เพื่อปกป้องเด็กซึ่งเป็นกลุ่มเปราะบาง

นายกฯ ชู ‘เชียงใหม่โมเดล’ ฝุ่นลดลงในรอบ​ 10  ปี

ขณะที่ ชัย​ วัชรงค์​ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี​ เปิดเผยว่า เศรษฐา​ ทวีสิน​ นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง​ สั่งการต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี​ ว่า การแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 อย่างจริงจัง และเข้มงวด รัฐบาลนี้ให้ความสำคัญเป็นลำดับต้น ๆ ในการที่จะดูแลแก้ปัญหา โดยมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อจัดการปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 และมีการยกร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาด ส่งไปยังรัฐสภาเพื่อพิจารณาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยใช้พื้นที่ จ.เชียงใหม่ เป็นโมเดล​

สถานการณ์ล่าสุดการประเมินในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ และใกล้เคียง พบว่า ฝุ่นละอองลดลงมากในเดือนมกราคม อย่างมีนัยยะสำคัญ​ เมื่อเทียบย้อนหลัง 10 ปี แต่พื้นที่อื่นโดยเฉพาะกรุงเทพฯ และปริมณฑลยังไม่ลดลง​ นายกรัฐมนตรีจึงอยากให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องร่วมกันทำงานอย่างบูรณาการ​ ใช้กลไกด้านกฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบัน นำไปปรับใช้ให้ผู้หน่วยงานพิจารณากำหนดมาตรการให้มีความเข้มข้นและเป็นรูปธรรม

เศรษฐา​ ทวีสิน​ นายกรัฐมนตรี

โดยได้วางมาตราการ คือ หากพบเกษตรกรฝ่าฝืนเผาตอซังพืชผลทางการเกษตร​ จะถูกตัดความช่วยเหลือจากภาครัฐ โดยให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์รณรงค์เปลี่ยนจากการเผาเป็นการฝังกลบ พร้อมย้ำว่า​ หากเกษตรกรรายใดฝ่าฝืน​จะถูกตัดสิทธิ์จากการช่วยเหลือจากภาครัฐทุกรูปแบบทุกประเภท 

ส่วนสินค้าเกษตรที่นำเข้ามาจากต่างประเทศโดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้าน​ ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงพาณิชย์​ ร่วมกันวางมาตรการ “ลด ​หรือ ห้าม” นำเข้าสินค้าเกษตรที่พิสูจน์ได้ว่า มีกระบวนการผลิตเกี่ยวข้องกับการเผา

รวมไปถึงกำหนดให้มีการจับกุมและบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดโดยให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมร่วมกับกระทรวงมหาดไทย​ กระทรวงสาธารณสุข​ บังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดและจริงจัง หรือให้ผู้ว่าราชการจังหวัดออกประกาศเขตห้ามเผาตามพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย​ หากผู้ใดฝ่าฝืนให้ลงโทษตามกฎหมาย

ส่วนกรณีเผาให้เป็นเหตุรำคาญ ให้ดำเนินการด้วยพระราชบัญญัติสาธารณสุข หากมีการลักลอบนำเข้าสินค้าจากประเทศเพื่อนบ้านให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องดำเนินการจับกุมและดำเนินการ หรือให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้ดูแลพื้นที่ให้เข้มงวด​ ไม่ให้เกิดการเผา และหากมีการเผาหรือยังมีการลักลอบนำเข้า​ ให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องและละเลยการปฏิบัติ​หน้าที่ถูกลงโทษตามระเบียบ

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active