จับตาหลอมรวม ร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาด 7 ฉบับ กับ 10 ประเด็นที่ต้องมี

“สภาลมหายใจภาคเหนือ” ยอมรับ แม้เป็นความหวัง หลังทุกฝ่ายเห็นพ้องผลักดันร่างกฎหมายอากาศสะอาด แต่ก็มีหลายเรื่องที่แต่ละร่างฯ ยังมองมุมต่างกัน ทั้งหลักการ แนวคิด และวิธีปฏิบัติ จึงเดินหน้าเสนอ 10 ประเด็นสำคัญ ที่กฎหมายอากาศสะอาด จำเป็นต้องมี เพื่อไม่ให้ตกหล่น

วันนี้ (29 ม.ค. 67) Air4Thai รายงานสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่ กรุงเทพฯ และปริมณฑล พบว่า คุณภาพอากาศในภาพรวมอยู่ในเกณฑ์ระดับปานกลาง ถึง เริ่มกระทบต่อสุขภาพ โดยเฉพาะ กทม. คุณภาพอากาศในวันนี้อยู่ในเกณฑ์ “สีส้ม” เกือบทั้งหมด ส่วนสถานการณ์คุณภาพอากาศ ทั่วประเทศ พบว่า อยู่ในระดับดีมาก ถึง เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ

ขณะที่ความพยายามผลักดัน ร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาด ก่อนหน้านี้ สภาลมหายใจภาคเหนือ ได้ร่าง 10 ประเด็นสำคัญที่กฎหมายอากาศสะอาดจะต้องมี เพื่อความเป็นไปได้เชิงปฏิบัติภายใต้ระบบการเมืองการปกครองไทย เพื่อสร้างการมีส่วนรวมที่ไม่ทิ้งประเด็นหลักของภาคประชาชนที่ต้องแก้ไข เพราะที่ผ่านมาใน ร่าง พ.ร.บ. อากาศสะอาด 7 ฉบับ ต่างร่างในมุมมองของแต่ละภาคส่วน แต่หากหลอมรวมพูดคุย หลังการตั้งคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ… โดยมีมติเลือก คณะกรรมาธิการ ทั้งประธาน เลขานุการ และตำแหน่งอื่น ๆ ไปเมื่อวันพฤหัสบดี 25 ม.ค.ที่ผ่านมา ดูเหมือนเป็นความหวังของการเคลื่อนนโยบายที่น่าจะมีทิศทางแห้ปัญหาได้

บัณรส บัวคลี่ ฝ่ายสนับสนุนข้อมูลวิชาการ สภาลมหายใจภาคเหนือ

บัณรส บัวคลี่ ฝ่ายสนับสนุนข้อมูลวิชาการ สภาลมหายใจภาคเหนือ เปิดเผยกับ The Active ว่า ที่ผ่านมาก็เฝ้ามองพัฒนาการของ พ.ร.บ.ฉบับนี้มาต่อเนื่อง ขณะนี้เหมือนมีความเป็นเอกฉันท์ เพราะไม่ว่าฝ่ายค้านฝ่ายรัฐบาล ก็ลงมติอย่างท่วมท้น คือผ่านวาระแรกมาแล้ว และถือว่าเป็นวาระที่ 2 ที่แปรญัติ ในการประชุมครั้งที่ผ่านมามีการเลือกประธาน ก็ถือว่าสะท้อนความเป็นปึกแผ่น อย่าง จักรพล ตั้งสุทธิธรรม เป็นประธานคณะกรรมาธิการฯ ที่มีทีท่าจะหลอมรวมซึ่งดูมีความหวัง

“แต่ปัญหาก็คือว่าเราก็ทำงานด้านนี้ด้วยในฐานะที่ทำงานก้านการขับเคลื่อน เราก็กังวล เพราะยักษ์ใหญ่ก็มี อย่างก้าวไกล ก็มีเนื้อหาอื่น ๆ ที่เติมเข้ามาซึ่งบางฉบับอื่นก็ไม่ได้เขียนไว้ หรือฝ่ายรัฐบาลดูแล้วก็ทิศทางมาดีก็เขียนครอบคลุม ขณะที่ภาคประชาชนเองก็มองว่าเรื่องนี้สำคัญโดยเฉพาะเรื่องสิทธิประชาชนและ พอมาดูในแต่ละฉบับต่างฝ่ายก็มีจุดเด่นจุดแข็ง แต่ที่ผ่านมาบางร่างมันก็มีจุดอ่อน ซึ่งต้องมายอมรับกันและกัน”

บัณรส บัวคลี่

สภาลมหายใจภาคเหนือ ได้ร่าง 10 ประเด็นสำคัญที่กฎหมายอากาศสะอาดจะต้องมีเพื่อไม่ให้ตกหล่น และมองทางออกร่วมกันแบบเป็นไปได้ ไม่ได้อยากให้เปรียบเทียบว่า ใครมีอะไร ใครไม่มีอะไร แต่อยากให้มองประโยชน์ของประชาชนเป็นหลักที่ทุกฝ่ายต้องร่วมกันคิด มีวิธีคิดใหม่ ๆ มองวิสัยทัศน์ไปข้างหน้าให้มีการยกระดับ ซึ่งกรรมาธิการฯ ต้องเกิดการเปลี่ยนมาตรฐานที่ดีขึ้น แต่ทุกฝ่ายร่วมคิดร่วมสร้าง ให้เกิดการเปลี่ยนผ่านไปร่วมกัน นี่คือการออกแบบส่วนที่ขาด ส่วนที่ต้องเติม และกลไกที่มองรอบด้านจริง ๆ เพื่อให้เกิดกระบวนการเปลี่ยน 3 ปี 5 ปี 8 ปี

แม้ว่า ที่ประชุมจะมีมติให้ใช้ร่างรัฐบาลเป็นหลักในการแปรญัตติ ก็อาจจะยังมีข้อถกเถียงว่าเนื้อหาแบบใดที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพมากสุด เพราะร่างทุกร่างมีทั้งจุดอ่อนและจุดแข็ง แม้กระทั่งร่างของรัฐบาลที่จะใช้เป็นร่างฯ หลักเอง ก็มีจุดอ่อนเช่นเดียวกัน แนวทางที่ดีที่สุดสำหรับการร่วมมือสามัคคีกันแก้วิกฤตมลพิษฝุ่นควันที่เรื้อรังมายาวนานก็คือ รวมพลังหยิบจุดดีของทุก ร่างฯ มาไว้ และแต่ละฝ่ายควรต้องยอมที่จะถอยในบางประเด็นที่ร่างฯ อื่นน่าจะเหมาะสมกว่า ให้ปัญหาของชาติเป็นเป้าหมายร่วมเหนือความ ขัดแย้งขั้วฝ่ายทางการเมือง ร่วมกันสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของการร่วมใจกันสู้กับวิกฤตปัญหาเรื้อรังนี้

และถือว่าเป็นที่น่ายินดีที่ประธานกรรมาธิการฯ เพื่อแปรญัตติร่างกฎหมายอากาศสะอาด จักรพล ตั้งสุทธิธรรม ได้แถลงว่า จะใช้แนวทางแสวงจุดร่วมสงวนจุดต่าง หลอมรวมร่างทั้ง 7 ฉบับเอาประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้ง ซึ่งเครือข่ายสภาลมหายใจเห็นพ้องในแนวทางนี้ และเห็นว่าคณะกรรมาธิการฯ ควรจะใช้เป้าหมายที่กฎหมายต้องมีและจำเป็นต้องใช้จัดการ เช่น ต้องมีการรับรองสิทธิประชาชน ต้องแก้สิ่งที่เรื้อรังและกฎหมายเดิมแก้ไม่ได้เช่นการเผาในป่า หรือการเผาที่โล่ง ต้องแก้ควันข้ามแดนได้จริง ฯลฯ เป็นหลัก

หลักคิดใหม่ ยกระดับมาตรฐานสังคมไทย ไม่ใช่เผชิญเหตุภัยพิบัติ

บัณรส ยังมองว่า ประเทศไทย ไม่ได้ขาดแคลนกฎหมาย ในทางกลับกันมีมากเกินไปจนซ้ำซ้อนด้วยซ้ำ แต่สำหรับวิกฤตมลพิษอากาศฝุ่นควันกลับแตกต่างออกไป เพราะสาเหตุของมลพิษฝุ่นเกิดจากกิจกรรม มนุษย์ที่หลากหลาย แต่ละเรื่องก็มีกฎหมายของตัวเอง เช่น อ้อยน้ำตาล การปลูกข้าว การผลิต ยานยนต์ การควบคุมโรงงานอุตสาหกรรม สงวน และอุทยานแห่งชาติ กฎหมายสาธารณสุข กฎหมายสิ่งแวดล้อมกำหนดมาตรฐานมลพิษและควบคุมการปล่อย และมีกฎหมายให้อำนาจพิเศษเพื่อจัดการเหตุวิกฤต เช่น พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มีผู้ว่าฯ สั่งการหน่วยอื่น ๆ ได้ แต่ที่สุดแล้วผลลัพธ์ยังคงย่ำแย่มาตลอดหลายปี
อาจเพราะว่า กฎหมายที่มีอยู่เดิมของประเทศไทย เน้นไปที่เรื่องเฉพาะ บางห้วงเวลา บางสถานการณ์ หรือ จำกัดเฉพาะวงเรื่องของตัวเอง ขณะที่ ขนาดวงรอบปริมณฑลของวิกฤตปัญหา 3 มันเกิดจากเหตุหลากหลาย และ เชื่อมโยงถึงกันหมด ไม่ได้แยกส่วน

“กฎหมายที่มีอยู่มากมาย แต่ยังไม่สัมฤทธิ์ผล เช่น เรามีกฎหมายให้อำนาจพิเศษผู้ว่าฯ ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เผชิญเหตุช่วงวิกฤตที่มีไฟในป่ามาก แต่อำนาจที่ว่ามีผลเฉพาะ 2-3 เดือน การแก้ปัญหาอยู่ที่การบริหารจัดการทั้งปี และยุทธการที่ต้องของบประมาณจากหน่วยงานเดิม ทั้งยังอาจต้องบูรณาการกับหน่วยอื่น ๆ แต่อำนาจบูรณาการที่ว่ามีให้มากะทันหันเฉพาะช่วงเผชิญเหตุ หน่วยอื่นก็ไม่ได้เตรียมคนเตรียมงบประมาณไว้ มลพิษฝุ่นควันส่วนใหญ่มาจากกิจกรรมของมนุษย์ แม้กระทั่งไฟในป่าส่วนใหญ่ก็เกิดจากมนุษย์ กิจกรรมที่ว่ายังประโยชน์ให้ด้วย เช่น การจราจรทำให้มนุษย์เดินทางติดต่อสะดวกขึ้นแต่ก็ต้องแลก มาซึ่งมลพิษที่ปลดปล่อย การเกษตรก็เช่นกัน การก่อสร้างก็เช่นกัน ฯลฯ”

บัณรส บัวคลี่

ฝ่ายสนับสนุนข้อมูลวิชาการ สภาลมหายใจภาคเหนือ จึงเห็นว่า การจะแก้ปัญหาให้ถึงรากเหง้าอย่างยั่งยืน คือ ต้องอำนวยให้การผลิตและกิจกรรมที่ว่ามี มาตรฐานสูงขึ้น ปล่อยมลพิษน้อยสุดในระดับที่ไม่เกินมาตรฐานความปลอดภัย รวมถึงระบบการ บริหารจัดการใหม่เพื่อไม่ให้ปลดปล่อยมลพิษออกมา แต่กฎหมายที่ประเทศไทยมีอยู่ ยังไม่มีฉบับใดที่มุ่งการยกระดับกำรผลิตและกิจกรรมสังคมโดยมีเป้าหมายยกมาตรฐานคุณภาพชีวิต ลดการปลดปล่อยมลพิษในอากาศในภาพรวม ไม่เพียงเท่านั้น ขนาดและลักษณะปัญหามลพิษฝุ่นควันที่มีผลกระทบต่อประชาชนในประเทศ ยังเกิดจากแหล่งนอกประเทศ เป็นฝุ่นควันข้ามพรมแดน หลายประเทศประสบและพยายามหาวิธีการแก้ในหลายลักษณะ แต่สำหรับประเทศไทย ยังไม่มีกฎหมายโดยตรงเพื่อแก้ปัญหาข้าม แดน สถานการณ์และแนวโน้มโลกจำเป็นต้องให้เกิดมี เช่นเดียวกับหลายประเทศที่มีกลไก ปกป้องคุ้มครองประชาชนด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ

ขณะเดียวกัน การจะแก้ปัญหาวิกฤตมลพิษฝุ่นควันจำเป็นต้องอาศัยการบริหารจัดการอำนวยการเพื่อ ขับเคลื่อนกลไกระบบราชการ ที่มีลักษณะเป็นแท่งรวมศูนย์แต่ไม่ประสานบูรณาการกัน นี่เป็นปัญหาเฉพาะของสังคมไทยและเป็นอุปสรรคสำคัญของการแก้วิกฤต ดังนั้น ผู้ว่าฯ Single-command จึงยังไม่สามารถแก้ปัญหา การเผาอ้อย เผาในนาข้าว และเผาในป่า ซึ่งแต่ละเรื่องล้วนมีกฎหมาย เฉพาะของตนเอง อำนาจในการจัดการจริง ๆ อยู่ที่หน่วยงานต้นเรื่อง จุดอ่อนข้อนี้ยิ่งฉายให้เห็น ชัดเจน ในพื้นที่แหล่งกำเนิดใหญ่ในป่ารอยต่อระหว่างจังหวัด เช่น ป่ารอยต่อเหนือเขื่อนภูมิพล 3 ป่า ที่มีอำนาจหลายฝ่ายคาบเกี่ยวกัน ทั้งอำนาจของป่าอนุรักษ์ อำนาจของป่าสงวน อำนาจของจังหวัดแต่ละจังหวัด ตาก ลำพูน เชียงใหม่ แถมมีพื้นที่ช่องโหว่ด้านอำเภอแม่พริก จ.ลำปางอีก สถิติไฟป่าในพื้นที่รอยต่ออำนาจที่ว่าจึงมากที่สุดในประเทศ มีพื้นที่ไหม้ใหญ่เกิน 8 แสนกว่าไร่ เกือบเท่าพื้นที่กรุงเทพมหานคร จุดอ่อนเรื่องระบบบริหารจัดการข้ามอำนาจเป็นประเด็นสำคัญของการยกระดับการผลิต และกิจกรรมแต่ละกิจกรรมที่ต่างก็มีกฎหมายเฉพาะของตนเอง ไม่เพียงเท่านั้นยังต้องบูรณาการจากชุมชน ท้องถิ่น ที่เป็นผู้เกี่ยวข้องกับเนื้อปัญหาโดยตรง และกลไกราชการของไทยยังมีจุดอ่อนในส่วนนี้

“สุดท้ายกฎหมายที่มีอยู่ ยังไม่ครอบคลุมถึง ก็คือ เครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์สำหรับใช้ในการแก้ และเปลี่ยนวิถีการผลิต/กิจกรรมเดิม ไปสู่กิจกรรมใหม่ เพราะแทบทุกการผลิตและกิจกรรมเป็นเรื่องทางเศรษฐกิจ มีผลตอบแทนเชิงมูลค่า เช่นการจะเปลี่ยนการผลิตการเกษตรชนิดหนึ่งไปเป็นอีกชนิดหนึ่งที่ยั่งยืนกว่าต้องมีกระบวนการเปลี่ยนผ่าน มีการอุดหนุนจูงใจ ขณะเดียวกันผู้ก่อมลพิษควรจะเป็นผู้รับผิดชอบแบกรับภาระตามหลักการ ผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย PPP แต่พบว่า กฎหมายเดิมมีเครื่องมือประเภทนี้จำกัด”

บัณรส บัวคลี่

ข้อเสนอเชิงหลักการ : สิ่งที่จำเป็น 10 องค์ประกอบสำคัญ ที่ พ.ร.บ.อากาศสะอาด จะขาดไม่ได้

  1. มีเป้าหมายและกลไกปฏิบัติการยกระดับการผลิตและกิจกรรมก่อมลพิษต่างๆ เข้าสู่มาตรฐานใหม่ คือ ต้องมีเจตจำนงของการเปลี่ยนประเทศสู่มาตรฐานใหม่ให้ได้ โดยผ่านข้อบังคับตามกฎหมาย แผนปฏิบัติการ และ ข้อบัญญัติที่เอื้ออำนวยให้การเปลี่ยนนั้น สำเร็จผล

  2. มีโครงสร้างเปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างมีนัยสำคัญ เพื่อความสมดุลในการต่อรองทางสังคม อันว่าการมีส่วนคงไม่สามารถยกมือโหวตเอาชนะ แต่หมายถึง พื้นที่แสดงความต้องการและเจตจำนงต่อการแก้ปัญหา ประเด็นปัญหาวิกฤตมลพิษฝุ่นควันอากาศพิษ เป็นความขัดแย้งเชิงผลประโยชน์ conflict of interest ที่มีเดิมพันสูงและกว้างขวางครอบคลุมหลายวงการ อาจจะชักจูงล็อบบี้ฝ่ายการเมืองได้ หรือ ทำให้ฝ่ายข้าราชการประจำไม่กล้าตัดสินใจ ต้องให้มีกลไกการเปิดมีส่วนร่วมให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูล การเคลื่อนไหวและการตัดสินใจระดับต่างๆ และข้อมูลความเคลื่อนไหวที่สำคัญต้องเปิดให้สาธารณะรับรู้ (ไม่ถูกปิดโดยระเบียบ) ยกเว้นข้อมูลส่วนบุคคลที่กฎหมายห้าม


    หมายเหตุ : ร่างกฎหมายส่วนใหญ่ ให้มีตัวแทนประชาชนเข้าในระดับคณะกรรมการชุดใหญ่ และ ชุดปฏิบัติการอยู่แล้ว ที่ควรกำหนดเพิ่มคือเงื่อนไขการเลือกเฟ้นประชาชนตัวแทนของผู้ประสบปัญหาหรือแก้ปัญหาไม่ใช่ตัวแทนของกลุ่มผู้ก่อมลพิษวงการใดวงการหนึ่ง เช่น ตัวแทนชาวไร่อ้อย ตัวแทนรถบรรทุก ที่จำเป็นต้องปล่อยมลพิษ กลุ่มที่ว่า ควรให้มีขึ้นเป็นอนุกรรมการต่างๆ เพื่อศึกษาลงลึกในการแก้ปัญหาของวงการนั้น ๆ

  3. มีความเป็นไปได้จริงของการบริหารจัดการกลไกราชการให้ขยับยกระดับการแก้ ทั้งแก้เหตุระยะยาว และการจัดการระยะเผชิญเหตุ กลไกที่ว่าออกแบบเพื่อขจัดอุปสรรคภายในระบบราชการที่ติดขัดอยู่เดิม คือ ต้องไม่ใช่แค่อำนาจพิเศษเฉพาะชั่วคราว แบบ พรก.ฉุกเฉิน /พรบ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ซึ่งไม่เพียงพอ และไม่ใช่แค่ เขียนในแผนมาตรการตามวาระแห่งชาติ พ.ศ.2562 แต่เมื่อปฏิบัติการจริงทำไม่ได้ กลไกการประสานบูรณาการกับอำนาจเฉพาะเรื่องนั้นๆ ซึ่งก็มีกฎหมายเฉพาะของตัวเองรองรับอยู่ เช่น พรบ.อ้อยและน้ำตาล พรบ.ข้าว พรบ.โรงงาน พรบ.อุทยานฯ พรบ.ป้าไม้ การแก้ปัญหาระยะยาวเพื่อยกระดับการผลิตในบางพื้นที่ต้องอาศัยกฎหมายหลายด้านและมีที่ติดขัดเป็นอุปสรรคกันเอง เช่น พื้นที่อำเภอแม่แจ่ม มีการปลูกข้าวโพดมากและมีสถิติจุดความร้อนสูงต่อเนื่องทุกปี การจะแก้ปัญหาไม่ใช่แค่ห้ามเผา แต่ต้องลงลึกไปถึงเรื่องสิทธิที่ทำกิน สาธารณูปโภคเครื่องมือจูงใจทางเศรษฐศาสตร์ เป็นต้น


    หมายเหตุ : ร่าง พรบ.อากาศสะอาดฉบับรัฐบาล ให้คณะกรรมการอากาศสะอาดจังหวัดและพื้นที่เฉพาะ (ม.24) เป็นการพิเศษขึ้นมา แตกต่างจากร่างอื่น เพื่อให้มีกลไกการแก้ปัญหาเฉพาะพื้นที่พิเศษที่อาจทับซ้อนเชิงอำนาจ เช่นรอยต่อระหว่างจังหวัดเป็นต้นในทางปฏิบัติจริงหน่วยราชการอาจจะไม่เคยชินกับพื้นที่พิเศษที่ทับซ้อนเชิงอำนาจลักษณะนี้ หรืออาจมีข้อปัญหาติดขัดจากกฎระเบียบเดิม หรือไม่ ? (เอกสารที่รัฐสภาสรุปวาระแรกไม่มีมาตรานี้ ทราบว่าถูกตัดออก ซึ่งน่าเสียดายที่จะลดอานุภาพจัดการไฟแปลงใหญ่พื้นที่ทับซ้อน รัฐวิสาหกิจ ชายแดน เขตทหาร เขตป่าไม้ทับกับเขตปกครอง ที่เป็นปัญหาเชิง โครงสร้างในภาคปฏิบัติระดับพื้นที่) มีเครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์และกลไกใช้งานได้จริง ประกอบเป็นมาตรการ ทั้งบวกและลบให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้จริงในทางปฏิบัติ โดยมีกฎหมายรองรับ ทั้งนี้เพราะการผลิต/หรือกิจกรรมที่ปล่อยมลพิษบางอย่าง ไม่ควรใช้อำนาจบังคับห้ามวิธี/เทคนิคการผลิตภาคเกษตร ต้องใช้เครื่องมือจูงใจทางเศรษฐศาสตร์ อุดหนุนต้นทุนการผลิตแทน เช่นเดียวกับ การปรับพินัยต่อผู้ปล่อยมลพิษ ตามหลัก PPP- กดดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลง

  4. มีบทบัญญัติที่กล่าวถึงภาคการเผาที่โล่ง ที่เป็นแหล่งกำเนิดใหญ่สุดของประเทศตามสถิติและต้องแก้ปัญหานั้นได้จริงกฎหมายที่มีอยู่กำหนดโทษการเผาที่โล่งหลายฉบับ ทั้งการเผาภาคเกษตร เผาในมือง และเผาในป่า แต่ไม่สามารถบังคับใช้จริงได้ เพราะแต่ละแหล่งมีเงื่อนไขบริบทเฉพาะ แค่มีบทบัญญัติการสั่งห้ามเฉยๆ ไม่ได้ ต้องประกอบสร้างขึ้นด้วยแผนปฏิบัติการที่อาจต้อง บูรณาการหลายฝ่ายหลายข้อกฎหมาย และมีงบประมาณเฉพาะพื้นที่นั้น ๆ


    ทั้งนี้ การกล่าวถึงแหล่งกำเนิดอื่นๆ ก็จำเป็นต้องเอ่ยถึงให้ครอบคลุมทุกแหล่ง แต่ที่เอ่ยถึงการเผาที่โล่งเป็นการเฉพาะ เนื่องจากต้องมีข้อบัญญัติที่ลงรายละเอียดวิธีการ กล่าวถึงการห้ามลอยๆ หรือแค่บทกำหนดโทษจะไม่ได้ผล


    บทบัญญัติเรื่องการแก้ปัญหาแหล่งกำเนิดที่ดี อ่านแล้วสามารถจินตนาการออกว่า จะแก้เผาอ้อยได้อย่างไร แก้เผาข้าวได้อย่างไร แก้มลพิษจราจรได้อย่างไร แก้เผาป่าอนุรักษ์ได้ อย่างไร แก้เผาป่าสงวนได้อย่างไร ฯลฯ

  5. ต้องให้เกิดมีบทบาทของงานวิชาการเป็นกลไกสนับสนุนการเปลี่ยนสังคม ร่างกฎหมายหลายฉบับไม่ได้เอ่ยถึง บทบาทงานวิชาการ และ บางฉบับเอ่ยถึงแต่ไม่ครบองค์ประกอบ สำคัญ คืองานวิชาการที่เกี่ยวข้องบรรยากาศศาสตร์ Atmospheric Science เช่นฟิสิกส์บรรยากาศ เคมีบรรยากาศ อุตุนิยมวิทยาภูมิศาสตร์ นอกเหนือจากศาสตร์อื่นๆการเปลี่ยนแปลงทางอุตุนิยมวิทยาบรรยากาศมีผลอย่างยิ่งต่อมลพิษอากาศและวิกฤตฝุ่นทั้งด้านความรู้ การป้องกันแก้ไข และการเผชิญเหตุ และยังต้องมีบทบัญญัติให้มีกลไกของกลุ่มงานวิชาการเพื่อสนับสนุนการแก้ปัญหาที่ต่อเนื่อง มีเป้าหมาย และน ามาใช้ประโยชน์ได้จริง โดยกฎหมายต้องบังคับให้หน่วยงานรัฐสนับสนุนจริงจัง เช่น เปิดเผยข้อมูลเพื่อให้ เกิดเป็น big data เป็นต้น

  6. จำเป็นต้องบรรจุเพิ่มแนวคิดใหม่เรื่องการแก้มลพิษข้ามแดน โดยใช้ข้อตกลงทางการค้าเป็นเครื่องมือและให้มีกลไกปฏิบัติที่สอดคล้องกับข้อตกลงการค้า ซึ่งแทบไม่ปรากฏในร่างกฎหมายที่เสนอมา คือ แนวคิดการห้ามนำเข้าสินค้าเกี่ยวกับการเผาที่โล่งที่กระทบต่อสุขภาพคนในประเทศ โดยอาศัยข้อตกลงทางการค้าโลก สามารถออกมาตรการกีดกันทางการค้าโดยข้ออ้างสุขภาพ สิ่งแวดล้อมได้ เช่น กรณีที่สหภาพยุโรป ห้ามนำเข้าสินค้าปล่อยคาร์บอนที่มีผลต่อเรือนกระจก หรือ CBAM มีผลต่อการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หรืออาหารสัตว์ของไทยโดยตรง กลไกที่กฎหมายต้องพิจารณาปรับปรุง คือ อำนาจของคณะกรรมการชุดใหญ่ที่สามารถเสนอให้คณะรัฐมนตรีออกประกาศห้ามนำเข้าสินค้าที่มีผลกระทบต่อสุขภาพหรือสิ่งแวดล้อม และมีผลผูกพันต่อการนำเข้า โดยไม่ผิดข้อตกลงทางการค้า


    มาตรการทางการค้า เป็นมาตรการทางเศรษฐศาสตร์ ส่วนข้อเสนอการเอาผิดผู้ปล่อยมลพิษข้ามแดน โดยอ้างอิงแนวทางประเทศสิงคโปร์ มีร่างกฎหมายหลายฉบับเสนอมา นอกเหนือจากร่างรัฐบาล แนวทางนี้ต้องมีข้อมูลหลักฐานทาง วิชาการที่หนักแน่นมารองรับ ถือเป็นชุดมาตรการทางอาญาและทางแพ่ง

  7. สิทธิของประชาชน ร่างแทบทุกฉบับกล่าวถึงสิทธิ ในอากาศ ที่ควรเน้นย้ำคือ สิทธิในการปกป้องดูแล รับการรักษาพยาบาลของกลุ่มเสี่ยง หรือผู้มีอาการผิดปกติ โดยการออกตัวบ่งชี้ถึงสิทธิเข้าถึงการตรวจรักษาระดับสูง มีการเพิ่มความชัดเจนในสิทธิฟ้องร้องเอาผิดทางอาญาทางแพ่งและต่อรัฐ มีการกล่าวถึงสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลสำคัญ สิ่งที่ควรเพิ่มคือหน้าที่ของรัฐ รับรองสิทธิที่ว่าโดยไม่ต้องร้องขอ คือ กำหนดให้หน่วยงานเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับแหล่งมลพิษ หรือ สถิติของแหล่งมลพิษต่างๆ โดยไม่ต้องร้องขอ

  8. มีกองทุน เพื่อความคล่องตัวจากเงื่อนไขทางงบประมาณ และที่สำคัญที่ต้องพิจารณา เพิ่มเติมคือ เงื่อนไขที่ชัดเจนในการใช้กองทุนเพื่อประโยชน์จ าเป็นจริง และลดการแทรกแซง การใช้เงินจากอ านาจการเมือง ร่างกฎหมายมีกล่าวถึงการให้มีกองทุน แต่ไม่ชัดเจนใน หลักการสำคัญ ไม่ให้ถูกแทรกแซง และใช้เงินเพื่อประโยชน์ที่จำเป็นจริง

  9. อำนาจบังคับและบทลงโทษ ตามพรบ.นี้ ต้องพิจารณาแบ่งเป็นลำดับขั้น ทั้งให้ ความเป็นธรรมกับผู้ปล่อยมลพิษจากกิจกรรมปกติในชีวิต กับ ทั้งผู้รับมลพิษที่เป็นเหยื่อ
  • เนื่องจากกฎหมายเดิมแต่ละฉบับ มีบทกำหนดโทษสำหรับการปล่อยมลพิษเกินมาตรฐานอยู่เดิม คือ รถยนต์ ปล่อยควันดำ โรงงานอุตสาหกรรม ปล่อยมลพิษเกินมาตรฐาน ปิ้งย่าง พรบ.สาธารณสุข การเผาเกษตร พรบ.สาธารณสุข เผาป่า พรบ.ป่าไม้ อุทยาน หรือหากลามเป็นโทษกับผู้อื่นมีกฎหมายอาญา ตามมาตรา 220 ผู้ใด 1กระทำให้เกิดเพลิงไหม้แก่วัตถุใดๆ แม้เป็นของตนเอง จนน่าจะเป็นอันตรายแก่บุคคลอื่นหรือทรัพย์ของผู้อื่น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี และปรับไม่เกิน 140,000 บาท สามารถเปิดช่องให้เจ้าพนักงานตามกฎหมายนี้ เอาผิดด้วยกฏหมายเดิมได้ หรือไม่เพื่อไม่ให้ซ้ำซ้อน
  • การเอาผิดทางแพ่ง ควรเปิดช่องให้ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบฟ้องร้องเอาผิดทางแพ่งต่อผู้ปล่อยมลพิษ โดยวางระบบข้อมูลพื้นฐานที่เกี่ยวข้อง เช่น ขนาดของมลพิษอย่างเป็นทางการ ณ ขณะนั้น ประกอบเป็นหลักฐานให้ประชาชนสามารถเข้าถึงได้โดยสะดวก หากเป็นการปล่อยมลพิษต่อสาธารณะ เจ้าพนักงานของรัฐ หรือ อัยการ เป็นโจทย์
  • มีบทเว้นโทษ ให้กับผู้ก่อมลพิษที่อยู่ระหว่างด าเนินการตามแผนปฏิบัติการแก้ปัญหา (คือปล่อยเกินได้หากมีลำดับการพยายามแก้ไข เช่น ลดพื้นที่ปลูกโดยลำดับ เป็นต้น) เพื่อนำไปสู่การปรับเปลี่ยนยกระดับมาตรฐานสังคมในบั้นปลาย

10. เสนอเพื่อตัดทิ้ง หมายเหตุ : ข้อความตามมาตรา 81 ร่างฉบับรัฐบาล ผู้ใดแพร่ข่าวไม่เป็นความจริงฯ เจตนาทeลายชื่อเสียงของกิจการโดยชอบกฎหมาย จำคุก1 ปี ปรับ 1 แสน ถ้าแพร่ผ่านสื่อ ปรับไม่เกิน 5 แสน คุก 5 ปี เป็นโทษหนักกว่า กฎหมายประเภทเดียวกัน คือ ทั้งพรบ.คอมฯ และอาญาฯหมิ่นประมาท มีไว้เอื้อต่อการฟ้องปิดปาก ผู้หวังดี ผู้ที่ส่งเสียงเตือน สมควรควรตัดทิ้ง

ข้อเสนอรายมาตรา : 8 ประเด็น เสนอปรับเพิ่ม ลด ในวาระแปรญัตติ : เพื่อขอมติเครือข่ายสภาลมหายใจภาคเหนือ เสนอกรรมาธิการฯ ในโอกาสต่อไป

  1. เพิ่มอำนาจให้คณะกรรมการ นยบ.อากาศสะอาด เสนอคณะรัฐมนตรี ประกาศห้ามนำเข้าสินค้าที่ก่อมลพิษอากาศข้ามพรมแดนส่งผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม(ข้อตกลงการค้าโลก สามารถใช้เหตุผลด้านสุขภาพสิ่งแวดล้อมกีดกันทางการค้าได้) ทั้งนี้ ร่างเดิมเขียนให้ รมว.พาณิชย์ พิจารณาและประกาศห้ามนำเข้าเอง (ม.52) ซึ่งไม่เพียงพอ ไม่มีทรัพยากรศึกษาผลกระทบต่าง ๆ (ม.52 เป็นไปไม่ได้ในทางปฏิบัติ)

  2. เพิ่มตัวแทน องค์กร อปท. สมาคม อบจ สมาคมเทศบาล สมาคม อบต. เข้าเป็นคณะกรรมการบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด

  3. เพิ่มเขตพื้นที่พิเศษ และคณะกรรมการอากาศสะอาดพื้นที่พิเศษ (ตามมาตรา 24 เดิม)ที่ถูกตัดไป เพราะโลกของความเป็นจริง เขตพื้นที่จังหวัดไม่ครอบคลุมบริหารปัญหาและเขตกลุ่มจังหวัดตามร่างฯ ภท. ก็ไม่คลุมพื้นที่ปัญหาในโลกใบจริง เช่น สามป่าเหนือเขื่อน (พื้นที่จัดการร่วม 4 จังหวัดไฟใหญ่สุดของประเทศ) ส่วนเขตประสบมลพิษทางอากาศ หากประกาศครอบคลุมเขตปกครองซ้อนกัน การบริหารก็จะเกิดปัญหาอีกเพราะไม่มีคณะกรรมการที่มีกฎหมายรองรับ

  4. เพิ่มการผนวกและบูรณาการแผนปฏิบัติการของส่วนงานต่างๆ และ ให้เพิ่มการมีส่วนร่วมจาก เครือข่ายป่าชุมชน เข้าในการบูรณาการแผนจังหวัด ตามมาตรา 26

  5. นิยามการเผาที่โล่ง ให้ครอบคลุม การเผาในป่ าให้ชัดเจน และการบริหารจัดการเชื้อเพลิง (ม.42-45) เพราะกำหนดห้ามดำเนินการหากไม่ได้รับอนุญาตจากผู้ว่าฯ ซึ่งอำนาจไม่คลุมไปถึงเขตป่าหากไม่นิยาม ก็แสดงว่า กฎหมายอากาศสะอาดนี้ ยังไม่ก้าวข้ามไปจัดการการเผาในป่า ที่เป็นแหล่งใหญ่ของประเทศไทย

  6. ให้เพิ่มเติมถ้อยคำ ในหมวดเขตเผ้าระวังและเขตประสบมลพิษทางการอากาศ (ม.61-66) ให้รองรับพื้นที่คาบเกี่ยวทับซ้อนหลายจังหวัดหรือทับซ้อนอำนาจปกครอง ป่าไม้ แม้ ม.61-66 จะเป็นเป็นเครื่องมือใหม่ สำหรับการเผชิญเหตุ และการจัดการคลี่คลาย
    วิกฤต แต่จุดอ่อนคือ หากประกาศเขตประสบมลพิษ ข้ามจังหวัด หรือหลายจังหวัด จะประสบปัญหาการบริหารจัดการ เพราะกฎหมายให้อำนาจ คณะกรรมการจังหวัดนั้นๆทำแผน ก็ต้องมีกลไกบูรณาการ ใครใหญ่ใครรอง ข้ามเขตได้หรือไม่ อันเป็นปัญหาแท่งราชการแบบเดิมๆ

  7. เครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์ (ม.67) ให้เพิ่ม PPP แบบก้าวหน้า คำนึงถึงหลักความเป็นธรรมทางสิ่งแวดล้อม และข้อตกลงทางการค้าโลก อาฟต้า ทวิภาคี เพื่อจัดการสินค้ามีผลกระทบสุขภาพ

  8. ตัดมาตรา 81 ที่เป็นอุปสรรคต่อการตรวจสอบของประชาชน และอาจเป็นเครื่องมือปิดปากให้กับกลุ่มทุน ทั้งไม่สอดคล้องกับกฎหมายอาญาและกฎหมายอื่นที่มีอยู่ก่อน

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active