ถกแนวทางกู้วิกฤตโลกด้วยมือประชาชน

22 องค์กรภาคีเครือข่าย เตรียมส่งข้อเสนอ เชิงนโยบายต่อรัฐบาล ก่อนร่วมงาน COP28 ปลายปีนี้ สร้างความสมดุลในนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ปรับเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ในปี 2024

วันนี้ (11 พ.ย. 2566) ณ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ภาคประชาสังคม นักวิชาการที่ขับเคลื่อนเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจากฐานชุมชนและคนชายขอบ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคีสนับสนุนต่าง ๆ จัดเวที “ประชาชนสู้โลกเดือด” หรือ COP ภาคประชาชนเพื่อนำเสนอเสียงของประชาชนด้านต่าง ๆ ในการเผชิญภาวะโลกเดือด บทเรียนการจัดการของชุมชนและประชาชนในการปรับตัว สร้างภูมิคุ้มกันและลดภาวะโลกร้อน ฟื้นฟู ปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพ เสนอนโยบายต่อสหประชาชาติและรัฐบาลไทยปรับทิศทางนโยบายให้เกิดความยั่งยืนและเป็นธรรมมากยิ่งขึ้น 

นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า โลกถูกเตือนจากภัยพิบัติธรรมชาติที่ผิดปรกติจากความผันผวนของภูมิอากาศ ทั้งน้ำท่วม คลื่นความร้อน หิมะตกผิดฤดูกาล ปัญหาการพังทลายของระบบนิเวศ ความหลากหลายทางชีวภาพที่หายไป การสูญเสียความมั่นคงอาหาร และความเสี่ยงด้านสุขภาพเพิ่มมากขึ้น คณะกรรมการร่วมระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ IPCC ที่เป็นการรวมตัวกันของเหล่านักวิทยาศาสตร์ระดับโลก ตั้งแต่ปี 2531 ได้เตือนว่าโลกจะเผชิญวิกฤติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างรุนแรง สาเหตุจากการทำลายระบบนิเวศ การเผาผลาญพลังงานด้วยเชื้อเพลิงฟอสซิล การปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากกว่าที่ธรรมชาติจะรับไหว แม้จะมีอนุสัญญาว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในปี 2535 และประชุมภาคีประเทศสมาชิก หรือ COP มาอย่างต่อเนื่อง แต่โลกยังร้อนขึ้น จนเข้าสู่ภาวะโลกเดือด ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาวะของประชาชน 

“สสส. ทำงานร่วมกับภาคีเครือข่าย ส่งเสริมและขับเคลื่อนนโยบายสุขภาวะสังคมอย่างมีส่วนร่วม ภายใต้ยุทธศาสตร์ไตรพลัง 1. พลังปัญญา 2. พลังสังคม 3. พลังนโยบาย เริ่มที่การสร้างความเข้มแข็งคนฐานรากจัดการทรัพยากรร่วม สร้างนวัตกรรมต้นแบบ และพัฒนาขับเคลื่อนนโยบาย ซึ่งจะสามารถสร้างจุดเปลี่ยนสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ได้” 

ดร.นพ.ไพโรจน์ กล่าว 

กฤษฎา บุญชัย เลขาธิการ สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา ผู้ประสานหลักงาน COP28 ภาคประชาชน กล่าวว่าภาคประชาสังคมที่ทำงานกับคนรากหญ้าด้านสิ่งแวดล้อม และการพัฒนาที่ยั่งยืนทั่วประเทศกว่า 23 องค์กรรวมตัวกันจัดเวที “COP28 ภาคประชาชน” กู้วิกฤติโลกเดือดด้วยมือประชาชน ในครั้งนี้ขึ้นระหว่างวันที่ 11 – 12 พ.ย. 2566  เพื่อ 1. เสนอนโยบายต่อโลกและรัฐบาลว่าด้วยการจัดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เป็นธรรมและยั่งยืน 2. นำเสนอองค์ความรู้ บทเรียนชุมชนกลุ่มต่าง ๆ กับการรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 3. เปิดพื้นที่สื่อสาร การเรียนรู้เรื่องราว ชีวิตของผู้คนที่เผชิญการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ผ่านภาพยนตร์ สื่อศิลปะต่าง ๆ มุ่งเปิดเวทีให้ประชาชนได้ร่วมถกแถลงทางความคิดและนโยบายทั้งในระดับประเทศและระดับโลก ที่ตอบโจทย์การเติบโตทางเศรษฐกิจด้วยการจัดการคาร์บอนต่ำ ควบคู่การปกป้องประชาชน และเปลี่ยนผ่านสังคมให้เกื้อกูลกับระบบนิเวศอย่างยั่งยืนและเป็นธรรม เป็นการประชุมใหญ่ก่อนร่วมงาน UN COP28 ระหว่างวันที่ 30 พ.ย. – 12 ธ.ค. 2566 ที่นครดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 

สำหรับข้อเสนอ ที่เตรียมเสนอต่อรัฐบาลไทย และพรรคฝ่ายค้าน  22 ข้อ  เช่น 

สร้างความสมุดลในนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของรัฐ โดยเพิ่มสัดส่วนการสนับสนุนนโยบายการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประชาชน ชุมชน เกษตรกร คนจน ให้สมดุลกับนโยบายลดก๊าซเรือนกระจก

มีนโยบายระบบการคุ้มครอง ช่วยเหลือความสูญเสียและเสียหายที่ประชาชนได้รับจากภาวะโลกเดือดอย่างชัดเจน และมีบทบาทผลักดันนโยบายดังกล่าวในเวทีสหประชาชาติให้เกิดผลรูปธรรมในเวที COP28

ปรับเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ (NDC) จากเดิมที่กำหนดเป้าหมายคาร์บอนเป็นกลางในปี2050 และก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี 2065 โดยปรับเป็นคาร์บอนเป็นกลางในปี 2030 และก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี 2040 โดยเริ่มลดในปี 2024 ทันที ไม่ต้องรอถึงปี 2030

ทิศทางหลักของการลดก๊าซเรือนกระจก ควรมุ่งลดภาคที่ปล่อยคาร์บอนเป็นหลัก ได้แก่ ภาคพลังงานฟอสซิลอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมเกษตรและอาหารขนาดใหญ่ โดยตรง สู่ Real ZERO (ไม่ใช่ NET ZERO) โดยไม่ใช้ระบบชดเชย (offset) คาร์บอนเครดิตมาเบี่ยงเบนความรับผิดชอบดังกล่าว ซึ่งจะเป็นการหล่อเลี้ยงให้กิจกรรมปล่อยก๊าซเรือนกระจกยังเติบโตต่อไปจนเกินกว่าที่โลกจะรับได้

นำข้อเสนอนโยบายโดยคณะผู้เชี่ยวชาญระดับสูงแห่งสหประชาชาติ ด้านข้อตกลง Net Zero ที่เกี่ยวกับภาคเอกชน 2020 มาเป็นฐานนโยบาย ได้แก่ ห้ามไม่ให้หน่วยงานรัฐและเอกชนอ้างบรรลุ Net Zero ในขณะที่ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานพลังงานฟอสซิล ห้ามไม่ให้เอกชนซื้อคาร์บอนเครดิตมาชดเชยการลดปล่อยคาร์บอนในกิจกรรมการผลิตของตน เป็นต้น

ยุตินโยบายและการดำเนินงาน มาตรการคาร์บอนเครดิตภาคป่าไม้และการเกษตร ด้วยปัญหาความไม่ชัดเจนในระบบมาตรฐาน การไม่มีระบบป้องกันการฟอกเขียว ผลกระทบทางนิเวศ ความหลากหลายทางชีวภาพ การละเมิดสิทธิชุมชนต่อทรัพยากร ความมั่นคงอาหาร และอื่น ๆ และความไม่เป็นธรรมในการแบ่งปันผลประโยชน์ดังที่ปรากฏในบันทึกข้อตกลงระหว่างภาคเอกชนกับชุมชน กรณีโครงการปลูกป่าชายเลนเพื่อคาร์บอนเครดิตในพื้นที่ภาคใต้หลายจังหวัด

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active