แยกขยะ 3 เดือน ประหยัดงบฯ 44 ล้าน

กทม. ชี้นโยบายจัดการขยะต้นทาง ลดขยะได้จริง ตั้งเป้าปี 66 ประสานความร่วมมือ ชุมชน องค์กร ภาคเอกชน กว่า 8,000 แห่ง คัดแยกขยะ พร้อมเปลี่ยนขยะเป็นสิ่งหมุนเวียนใช้ประโยชน์

วันที่ 9 มิ.ย. 2566 พรพรหม วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า ตามที่กรุงเทพมหานครมีนโยบายส่งเสริมการจัดการขยะที่ต้นทาง มุ่งเน้นรณรงค์ส่งเสริมให้ประชาชนลดและคัดแยกขยะที่ต้นทางอย่างต่อเนื่อง โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2565 สามารถลดปริมาณขยะได้จริง จากการเก็บนํ้าหนักขยะที่ศูนย์กำจัดขยะ 3 แห่งของ กทม. พบว่าปี 2566 ปริมาณขยะในกรุงเทพมหานครลดลงจากก่อนหน้านี้ ซึ่งปริมาณขยะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากการเปิดเมืองและการกลับมาของนักท่องเที่ยว

โดยปริมาณขยะเมื่อเทียบ 3 เดือน (กุมภาพันธ์, มีนาคม และเมษายน) ระหว่างปี 2565 และ ปี 2566 พบว่า เดือนกุมภาพันธ์ ปริมาณขยะลดลง 200 ตัน/วัน (2.25%) ทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายในการจัดการขยะไปได้ 10.6 ล้านบาทในเดือนนั้น เดือนมีนาคม ปริมาณขยะลดลง 272 ตัน/วัน (3%) ประหยัดไปได้ 16 ล้านบาท และเดือนเมษายน ปริมาณขยะลดลง 318 ตัน/วัน (3.6%) ประหยัดไปได้ประมาณ 18.13 ล้านบาท ซึ่งรวมทั้งหมด 3 เดือน กทม. สามารถประหยัดไปได้ถึง 44.73 ล้านบาท ซึ่งปริมาณขยะที่ลดลงนี้แสดงให้เห็นว่านโยบายการจัดการขยะที่ต้นทางที่กรุงเทพมหานครดำเนินการมีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นโครงการไม่เทรวม หรือโครงการ BKK Zero Waste โดยงบประมาณที่ลดลงของการจัดการขยะนี้เท่ากับเงินลงทุนในด้านอื่นๆ ที่เพิ่มขึ้น เช่น ด้านการศึกษา หรือ ด้านสาธารณสุข

สำหรับนโยบายโครงการส่งเสริมการลด และคัดแยกขยะที่ต้นทาง (Zero waste) กรุงเทพมหานครมุ่งเน้นการส่งเสริมชุมชน องค์กร สถานประกอบการ ลดและคัดแยกขยะมุ่งผลสำเร็จตามหลักการของเสียเหลือศูนย์ (Zero waste) ซึ่งสำนักงานเขตได้ดำเนินการส่งเสริมให้มีการลดและคัดแยกขยะที่แหล่งกำเนิดมาใช้ประโยชน์ โดยแบ่งตามประเภทแหล่งกำเนิด ซึ่งในปี 2565 มีองค์กร/ชุมชน/สถานประกอบการเข้าร่วม โครงการ 6 ประเภท ได้แก่ ชุมชน สถานศึกษา อาคาร ตลาด วัดและศาสนสถาน และงานกิจกรรมหรือเทศกาลในพื้นที่เขต จำนวน 998 แห่ง

สำหรับในปี 2566 ขยายผล กำหนดเป้าหมายเชิญชวนองค์กร/ชุมชน/สถานประกอบการเข้าร่วมโครงการ เป็น 16 ประเภทแหล่งกำเนิด ได้แก่ ชุมชน โรงเรียน วัดและศาสนสถาน ตลาด ห้างสรรพสินค้า สถานบริการน้ำมัน โรงแรม ธนาคาร สถานพยาบาล สวนสาธารณะ หน่วยงานสังกัด กทม. ซุปเปอร์มาเก็ต/มินิมาร์ท ร้านอาหาร สำนักงานโรงงาน แฟลตหรือคอนโดมิเนียม งานกิจกรรมหรือเทศกาล จำนวนผู้เข้าร่วมโครง 8,390 แห่ง โดยเข้าร่วมโครงการแล้ว 4,560 แห่ง

นอกจากนี้ยังมีนโยบาย “ส่งขยะคืนสู่ระบบ” มุ่งเน้นการแยกขยะที่มีประโยชน์กลับมาหมุนเวียนใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด โดยมีการจัดการขยะประเภทต่าง ๆ ดังนี้ ขยะเศษอาหารและกิ่งไม้ใบไม้ ดำเนินการตามโครงการ “ไม่เทรวม” ขยะรีไซเคิล ดำเนินการผ่านโครงการ “มือวิเศษ กรุงเทพ” ตามภารกิจ “แยกเพื่อให้…พี่ไม้กวาด” ซึ่งสำนักสิ่งแวดล้อมได้ร่วมกับพันธมิตรเครือข่ายสังคมลดขยะ Less Plastic Thailand สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (TEI) กลุ่ม PPP Plastics โครงการวน สถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์และรีไซเคิลเพื่อสิ่งแวดล้อม (TIPMSE) Youเทิร์น by PTTGC และ Z-Safe เพื่อช่วยเหลือพนักงานกวาดถนน ฝ่ายรักษาความสะอาดและสวนสาธารณะ สำนักงานเขต ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active