เปิดต้นตอปัญหาฝุ่นข้ามพรมแดน สถานการณ์รุนแรงสุดในรอบ 20 ปี

กรีนพีซ ประเทศไทย เปิดต้นตอปัญหาฝุ่นควัน อยากให้เห็นความสำคัญของสุขภาพของประชาชนมากกว่า แค่ตัวเลขจีดีพีหรือตัวเลขการส่งออกที่เพิ่มขึ้น พร้อมเสนอให้รัฐบาลใหม่ ปรับนโยบายแก้ไข

วันนี้ (24 พ.ค. 66) กรีนพีซ ประเทศไทย จัดนิทรรศการ Hazibition : ใต้ฝุ่น เปิดต้นตอปัญหาฝุ่นควัน ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร สืบเนื่องจากปัญหาฝุ่นภาคเหนือที่กินระยะเวลานานตั้งแต่ปลายเดือนมกราคมถึงต้นเดือนพฤษภาคม ปี 2566 ซึ่งกรีนพีซสะท้อนกว่าเป็นวิกฤตฝุ่นพิษภาคเหนือตอนบนที่ร้ายแรงที่สุดในรอบ 20 ปี ส่งผลให้ประชาชนได้รับผลกระทบต่อสุขภาพอย่างมาก และยังถูกเพิกเฉยจากรัฐบาลมาร่วมสองทศวรรษ จึงจัดนิทรรศการเพื่อตั้งคำถามจึงต้นตอของปัญหา ว่าจริง ๆ แล้วใครต้องรับผิดชอบเรื่องนี้

คาดว่ามีผู้เสียชีวิตก่อนวัยอันควร 29,000 คน ในปี 2564 อันเนื่องมาจากมลพิษ PM2.5 ในจังหวัดต่าง ๆ ตามรายงานฉบับนี้ ซึ่งเมื่อคิดต่อจํานวนประชากรแล้ว อัตราการเสียชีวิตจาก PM2.5 สูงกว่าอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนน การใช้ยาเสพติด และการฆาตกรรมในประเทศไทยรวมกัน”

นิทรรศการ เปิดแสดงข้อมูลไทม์ไลน์การริเริ่มและเติบโตของเกษตรพันธะสัญญา ตั้งแต่ปี 2504 รัฐกำหนด แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2504-2509) เป็นยุทธศาสตร์ของชาติ เน้นการพัฒนาประเทศโดยเปลี่ยนระบบเกษตรแบบดั้งเดิมเป็นระบบเกษตรอุตสาหกรรม

ปี 2504 รัฐกำหนด แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2504-2509) เป็นยุทธศาสตร์ของชาติ เน้นการพัฒนาประเทศโดยเปลี่ยนระบบเกษตรแบบดั้งเดิมเป็นระบบเกษตรอุตสาหกรรม

ปี 2549 ปัญหาฝุ่น PM2.5 ที่ภาคเหนือตอนบนของไทยเริ่มทวีความรุนแรงขึ้น และ ปี 2560 ถึงปัจจุบันรัฐออก พระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา พ.ศ. 2560 รัฐยังคงดำเนินนโยบาย ยกเว้นภาษีอากรขาเข้าสำหรับข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เหลือร้อยละ 0 ตามความตกลงภายใต้เขตการค้าเสรีอาเซียน (ASEAN Free Trade Area – AFTA) และ รัฐยังคงดำเนินนโยบาย ประกันรายได้ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ โครงการชดเชยดอกเบี้ยในการเก็บสต๊อกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ฯลฯ พร้อมมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อสนับสนุนส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มากขึ้นในแต่ละปี

“ภาคเหนือตอนบนของไทยมีป่าไม้ลดลงเรื่อย ๆ ขณะที่พื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพิ่มขึ้น 4 เท่า จาก 621,280 ไร่ เป็น 2,430,419 ไร่ ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ. 2545 เทียบกับปี 2565)”

รัตนศิริ กิตติก้องนภางค์ นักรณรงค์ด้านอาหารและเกษตรกรรมเชิงนิเวศ กรีนพีซ ประเทศไทย กล่าวว่า ปัญหามลพิษภาคเหนือและมลพิษข้ามพรมแดนมีสาเหตุหลายประการ สิ่งที่เราอยากจะนำเสนอคือสาเหตุที่มาจากการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศและข้ามโพดเลี้ยงสัตว์ข้ามพรมแดน ซึ่งมีความเกี่ยวโยงกับการส่งออกของอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ เราพบว่านโยบายของภาครัฐมีส่วนสำคัญมากต่อการเติบโตของข้าวโพดเลี้ยงสัตว์

จากที่หาข้อมูลการประกอบกันของข้อมูลที่วิเคราะห์ด้วยดาวเทียม ระหว่างปี 2550 เป็นต้นมา จนถึงปัจจุบัน มีการเพิ่มขึ้นของพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนมากขึ้น 4 เท่าเมื่อเทียบกับปี 2545 เราจึงศึกษาควบคู่กับนโยบายของภาครัฐว่ามีเรื่องใดบ้างที่ส่งเสริมในเรื่องนี้พบว่ามีหลายประการ เช่น นโยบายเกษตรพันธะสัญญา ข้อตกลงในที่ประชุมอาเซียนให้บริษัทของไทยไปลงทุนเกษตรพันธะสัญญาในประเทศเพื่อนบ้านได้ เอื้อประโยชน์ต่อการลงทุน เช่น ภาษี 0% ที่อยู่ในข้อตกลงอาฟตา นำเข้าโดยไม่เสียภาษีในช่วงเวลาหนึ่งของแต่ละปี และอีกหลายประการที่ทำให้การส่งเสริมข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ทำได้ง่าย

“ในปี 2565 ข้อมูลสถิติการนําเข้าสินค้า จากสํานักงานศุลกากรภาคที่ 3 ปีงบประมาณ 2565 เผยว่าประเทศไทยนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เป็นอันดับสองของการนําเข้าทั้งหมด คิดเป็นมูลค่า 13,200,999,565 บาท”

เกษตรพันธะสัญญาเหมือนการทำสัญญาที่ตกลงไว้ระหว่างบริษัทกับเกษตรกร แต่ปัญหาคือระบบเกษตรพันธะสัญญาของไทย เป็นรูปแบบที่ไม่ได้เป็นทางการ ตกลงกันปากเปล่าไม่มีลายลักษณ์อักษร จึงเป็นช่องโหว่และความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นกับเกษตรกร เหมือนแรงงานนอกระบบที่หากผลผลิตทำได้น้อยลง จากการใช้สารเคมีที่เยอะขึ้นทำให้ดินเสีย การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศก็ไม่มีการชดเชยใด ๆ อีกปัญหาคือมีการซื้อขายที่ซับซ้อนระหว่างเกษตรกับบริษัท จึงน่าจะต้องตั้งคำถามกับระบบสืบค้นย้อนกลับของบริษัทด้วยว่าสามารถตรวจสอบตลอดห่วงโซ่อุปทานได้จริงหรือไม่ ซึ่งเชื่อว่าทางภาครัฐน่าจะมีการเก็บข้อมูลผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เอาไว้ในฐานข้อมูลบ้าง ทั้งจำนวนเกษตรกร และจำนวนที่ดิน แต่ขาดการเชื่อมโยงว่าใครคือผู้รับซื้อ ใครคือผู้ได้รับผลประโยชน์จากการปลูกข้าวโพดแปลงนั้น ๆ

“การสนับสนุนการปลูกข้าวโพดมักจะเกิดขึ้นในพื้นที่ราบสูงภาคเหนือทำให้เกษตรกรไม่มีทางเลือกเยอะในการปลูกพืชชนิดอื่นถ้าหากไม่ได้มีการสนับสนุนจากภาครัฐ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จึงเป็นพืชที่สามารถปลูกได้ง่าย มีการดูแลน้อย เวลาที่เก็บเกี่ยวไม่สามารถใช้อุปกรณ์อย่างรถแทรกเตอร์ไปเก็บเกี่ยวได้ การเผาจึงเป็นแนวทางหนึ่งเพราะทำได้ง่ายที่สุด แต่เราไม่อยากจะกล่าวโทษว่าเป็นความผิดของเกษตรกร เพราะมันมีองค์ประกอบหลายอย่าง การสนับสนุนการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์แล้วบอกว่าจะเป็นทางรอดของเกษตรกรก็เป็นมายาคติที่ไม่สามารถทำได้จริง เพราะจากที่เราได้ไปคุยกับเกษตรกร พบว่า แต่ละปี ผลผลิตที่ได้เมื่อนำไปขายและหักค่าใช้จ่ายอย่างอื่นไป เหลือรายได้ไม่ถึง 5,000 บาทต่อปี แล้วแต่จำนวนไร่ ซึ่งเป็นจำนวนที่น้อยมากหากเทียบกับผลประโยชน์ของอุตสาหกรรมที่เกิดขึ้น”

ด้วยระบบการกู้ยืมหนี้สินที่ภาครัฐประกาศเป็นนโยบายก็ทำให้เกิดเป็นวังวนหนี้สินไม่รู้จบ เช่น อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ มีพื้นที่ปลูกข้าวโพดมากที่สุด แต่กลับมีรายได้ มีหนี้สิน ติดลบสูง เพราะการจะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ไม่ได้แค่เพียงมีเมล็ดพันธุ์ แต่ต้องมีองค์ประกอบตามที่บริษัทกำหนด มีการใช้ปุ๋ยเคมี ยาฆ่าหญ้า ต้องซื้อเป็นแพ็คเกจ ต้องเตรียมพื้นที่ มีการจ้างแรงงาน ซึ่งหมายความว่าเกษตรจะต้องลงทุนด้วยทุนทรัพย์ของตัวเองทั้งหมดโดยที่บริษัทไม่ได้ออกให้ และไม่มีระบบสวัสดิการใด ๆ ให้กับเกษตรกร ผลประโยชน์ที่แท้จริง คือมีรายได้แค่ไม่กี่พันบาทต่อปี เป็นเรื่องที่ได้ไม่คุ้มเสีย สำหรับเกษตรกร และประชาชนในพื้นที่ ที่ต้องเจอกับมลพิษทางอากาศ

เรายังคงยืนหยัดในข้อเสนอเดิม เพราะที่ผ่านมาก็ไม่มีแนวทางในการแก้ไขที่ชัดเจน ตราบใดที่ยังไม่มีนโยบายใด ๆ ในเชิงกฎหมายที่เป็นมาตรการกำหนดภาระรับผิด หรือเอาผิดกับอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ได้ มันก็ยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้อย่างแท้จริง เราต้องการเห็นเจตจำนงของภาครัฐในการเอาผิดกับผู้ก่อมลพิษรายใหญ่ เช่น บริษัทผลิตข้ามโพดเลี้ยงสัตว์ ที่เชื่อมโยงกับปัญหามลพิษทั้งในประเทศ และมลพิษข้ามพรมแดน

“แทนที่จะส่งเสริมการปลูกเพียงข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ แต่ภาครัฐสามารถส่งเสริมการปลูกอย่างอื่นได้ เช่น พืชผักผลไม้ที่คนกิน ประเทศไทยมีหลากหลายชนิด หลายอย่างที่เราก็ส่งออกอยู่แล้ว แต่เรากลับไปเน้นส่งออกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพียงอย่างเดียว ถ้าเราส่งเสริมการปลูกแบบอื่นที่ไม่ต้องใช้พื้นที่เยอะ ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม เปลี่ยนไปส่งเสริมการปลูกเพื่อความยั่งยืน และสุขภาพที่ดีของคน มักก็เป็นการที่เราส่งออกขายต่างประเทศได้เหมือนเดิม เป็นสิ่งที่จังหวัดต่าง ๆ ต้องการ คนในพื้นที่ต้องการ อย่างที่เชียงใหม่ มีนโยบายการผลิตสีเขียว ที่สนับสนุนจากการพูดคุยของคนในพื้นที่ แต่ขาดแค่นโยบายของภาครัฐที่จะสนับสนุนส่งเสริม”

เรามักจะโทษคนตัวเล็ก ๆ ว่าคนที่เผาก็ต้องได้รับโทษ แต่จริงๆ มีผู้ได้รับผลประโยชน์รายใหญ่อยู่ ใต้หมอกควันที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นฝุ่นควันในประเทศและข้ามพรมแดน เราต้องเอาผิดต่อผู้ก่อมลพิษตลอดห่วงโซ่อุปทาน และให้บริษัทอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ออกมาเปิดเผยว่า เขาไม่ได้เกี่ยวข้องอย่างแท้จริง ให้ออกมาพิสูจน์ เรายังขาดข้อมูลที่จะทำให้ประชาชนเข้าไปตรวจสอบได้ เราต้องการเจตจำนง ความบริสุทธิ์ที่แท้จริง จากทางบริษัทด้วย อยากให้ปัญหาฝุ่นพิษทั้งภาครัฐและข้ามพรมแดน ถูกแก้ไขสักทีเพราะเป็นปัญหาเรื่องรังมา 15-20 ปีแล้ว ปีหน้าปัญหาก็น่าจะกลับมาใหม่อีก หากไม่มีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งมันเป็นภาวะจำยอมของคนเหนือที่จะหนีไปไหนก็ไม่ได้ และต้องทนอยู่กับอากาศที่มีมลพิษตลอด 4 ตลอดในแต่ละปี

“อยากให้เห็นความสำคัญของสุขภาพของประชาชนมากกว่านี้ มากกว่าแค่ตัวเลขจีดีพีหรือตัวเลขการส่งออกที่เพิ่มขึ้นในแต่ละปี อยากให้ความภูมิใจของรัฐไทยที่มองว่าเราเป็นครัวของโลก มองเห็นสุขภาพของคนมาก่อน เพราะถ้ายังไม่สามารถดูแลเลี้ยงดูสุขภาพของคนไทยได้ ก็ไม่คิดว่าไทยจะสมควรเป็นครัวของโลกได้อย่างแท้จริง”

นิทรรศการใต้ฝุ่น เปิดต้นตอปัญหาฝุ่นควัน จัดให้รับชมตั้งแต่วันนี้-วันที่ 28 พฤษภาคมนี้ ที่ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) ชั้น 5 10.00-19.00 น.

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active