ปราจีนบุรี ระทึก! สธ.ขีดวงเฝ้าระวัง 3 กลุ่มอาการ ตรวจเลือดกลุ่มเสี่ยงซีเซียม

ผู้ว่าฯ ยัน แท่งเหล็กบรรจุ ซีเซียม-137 ถูกหลอมในโรงงานพื้นที่กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี แล้ว ด้านสาธารณสุขเตรียมตรวจเลือดกลุ่มเสี่ยง พนักงานอย่างน้อย 70 คน และชาวบ้านใกล้เคียง หลายหน่วยงานอยู่ระหว่างตัดสินใจ จะต้องอพยพ หรือไม่

วันนี้ (20 มี.ค. 2566) จากกรณีพบวัตถุกัมมันตรังสี ซีเซียม-137 ที่หายไปโรงไฟฟ้าในพื้นที่ จ.ปราจีนบุรี โดยพบอยู่ที่โรงงานหลอมโลหะแห่งหนึ่งในอ.กบินทร์บุรี ล่าสุด รณรงค์ นครจินดา ผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรี แถลงยืนยันว่า ซีเซียม-137 ถูกหลอมในโรงงานพื้นที่กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี ไปแล้ว

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า นายแพทย์สาธารณสุข จ.ปราณีบุรี ได้เปิดหน่วยปฏิบัติการฉุกเฉิน (อีโอซี) ส่วนหน้า ติดตามสถานการณ์ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการดูแลสุขภาพประชาชน ผู้สัมผัสและผู้มีโอกาสสัมผัส รวมถึงเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร 

อาการมีทั้งแบบเฉียบพลัน เช่น สัมผัสใกล้ชิด อยู่ในระยะที่ไม่ห่างนัก มีตั้งแต่อาการทำให้เซลล์มีการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะเซลล์ที่ไปสัมผัส ผิวหนังอาจมีตุ่มพอง ตุ่มน้ำใส เกิดการอักเสบ หรือเนื้อตายได้

ถ้าสัมผัสนาน ๆ หรืออาการทั่วไป เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ปวดหัว ท้องเสีย อุจจาระร่วง ส่วนผลระยะกลาง และระยะยาว 

ส่วนใหญ่สารกัมมันตรังสีจะไวต่อเซลล์ที่มีการแบ่งตัว เช่น เซลล์เม็ดเลือดขาวหรือเส้นผม ก็จะมีการเฝ้าระวังเชิงรุกใน 3 กลุ่มนี้ 

  1. กลุ่มมีอาการทางผิวหนังและเนื้อเยื่อ 
  2. กลุ่มอาการทั่วไป คลื่นไส้อาเจียน 
  3. อาการผิดปกติผิดสังเกต จะมีการลงรายละเอียด เช่น คนมีเม็ดเลือดขาวต่ำกว่าปกติจำนวนมาก ก็ให้ไปสอบสวนสาเหตุร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ส่วนการขีดวงจำกัดผู้เกี่ยวข้องนั้น คล้ายเวลาเกิดโรคติดต่อโรคระบาดต้องตีวงใครเสี่ยงสูงสุด ต่ำสุด

  • กลุ่มที่ 1  คนในโรงงานกับละแวกใกล้เคียง เป็นกลุ่มเสี่ยงที่สุด ต้องมีการตรวจสุขภาพร่างกายให้ครบถ้วนอย่างใกล้ชิด ต้องตรวจหาสารซีเซียมในปัสสาวะ
  • กลุ่มที่ 2 ประชาชนในบริเวณอำเภอที่เกิดเหตุ ให้สังเกตอาการตนเอง มีอาการเกี่ยวข้องไหม  
  • กลุ่มที่ 3 ประชาชน ใน จ.ปราจีนบุรี เบื้องต้นหลังจัดระบบเฝ้าระวังยังไม่มีอาการผิดปกติใน 3 กลุ่มอาการข้างต้น

สารกัมมันตรังสีมองไม่เห็น ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น ไม่มีรส แต่ตรวจจับได้ด้วยเครื่องมือว่า แผ่รังสีหรือไม่ การเกิดพิษขึ้นกับสารแต่ละชนิดที่มีอันตรายแตกต่างกัน ความเข้มข้นสาร ระยะเวลาสัมผัส และระยะห่างในการสัมผัส ก็จะมีความรุนแรงแตกต่างออกไป

ตอนนี้ต้องปูพรมลงไปตรวจสอบให้แน่ชัดโดยเฉพาะบริเวณละแวกใกล้เคียงโรงงาน เพื่อตรวจจับความผิดปกติที่เกิดขึ้นได้ 

“จะเฝ้าระวังจนกว่าเหตุการณ์เข้าสู่ภาวะปกติ หรือสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิสูจน์ทราบได้ว่ากัมมันตรังสีหมดไปหรือยัง หรือถูกเก็บเรียบร้อยหรืออยู่ในระยะปลอดภัยหรือยัง”

ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ระบุ

นพ.โอภาส กล่าวอีกว่า ส่วนต้องอพยพออกหรือไม่ ให้เป็นการพิจารณาและแถลงจากทางปราจีนบุรีและสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ แต่ สธ.เตรียมทุกอย่างไว้พร้อม ส่วนการตรวจสอบเฝ้าระวังในสิ่งแวดล้อมต้องอาศัยเครื่องมือพิเศษ เป็นหน้าที่ จ.ปราจีนบุรี และสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติเฝ้าระวัง 

ด้าน นพ.สุรินทร์ สืบซึ้ง นายแพทย์สาธารณสุข จ.ปราจีนบุรี กล่าวว่า เมื่อวานนี้(19 มี.ค. 2566) ได้ลงพื้นที่ไปยังโรงงานต้นเรื่อง ซึ่งอยู่ห่างจากชุมชนพอสมควรและโรงงานเป็นสถานที่ปิด โดยโรงงานดังกล่าวได้มีพนักงาน 70 คน แบ่งเป็นคนต่างด้าว 60 คน และคนไทย 10 คน เบื้องต้นให้สันนิษฐานว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงทั้งหมด และจะมีการตรวจสุขภาพพนักงานทั้งหมด และอาจจะมีการเฝ้าระวังเป็นระยะ ส่วนญาติต้องทำการประเมินอีกครั้งว่าจะปนเปื้อนไปจากเสื้อผ้าได้หรือไม่

“ซีเซียม-137” หากถูกเผากลายเป็นไอ ทำลาย DNA ก่อมะเร็ง

นพ.สมรส พงศ์ละไม แพทย์เฉพาะทางเวชศาสตร์ฟื้นฟูและกายภาพบำบัด ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Somros MD Pho glamai ส่วนในภาพรวมจะทำการประเมินชุมชนรอบข้างว่ามีความเสี่ยงหรือข้อกังวลอะไรหรือไม่ และถ้าประชาชนกังวลเจ้าหน้าที่ก็จะลงพื้นที่ไปตรวจสุขภาพให้

ถ้า Cesium-137 ถูกหลอมเผาไหม้และกลายเป็นไอ สามารถออกไปได้เป็นหลักร้อยถึงพันกิโลเมตรขึ้นกับลม (เหตุการณ์ที่ Chernobyl พบว่า Cesium-137 ปลิวไปถึงสวีเดน 1,000 กิโลเมตร) และทำร้ายสิ่งมีชีวิตได้ทั้งการสัมผัสโดยตรงการกิน และการหายใจ

Cesium-137 จะสะสมในดิน น้ำ อาหาร ทำให้เกิดผลเสียต่อสัตว์และมนุษย์ ปลานก ไก่ หมู หมา แมว วัว ฯลฯ อนุภาคบีต้าและรังสีแกมมา จะทำลาย DNA, ทำให้เกิด mutation ถ้าไม่ตายก็เกิดมะเร็งต่อ โดยเฉพาะมะเร็งเม็ดเลือดขาวและไธรอยด์

Cesium 137 มีค่าครึ่งชีวิต 30 ปี ดังนั้นจะใช้เวลาในธรรมาชาติไม่ต่ำกว่า 100 ปีจึงจะสลายหมด คนที่จะได้รับผลกระทบน่าจะหลายแสนและเป็น 100 ปี จะมีคนเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวและไธรอยด์เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนในพื้นที่เสี่ยง

คนที่คิดว่าเสี่ยงต่อการสัมผัส Cesium-137 ควรเฝ้าระวังเร่งด่วน เช่น คลื่นไส้อาเจียน ท้องเสีย ผิวหนังไหม้โดยไม่ทราบสาเหตุ 

รัฐควรเก็บบันทึกข้อมูลอย่างโปร่งใส มีโอกาสที่คนจะสัมผัสปริมาณมาก ยิ่งคนที่อยู่ใกล้ในระยะ 5-10 เมตร น่าจะอันตรายมาก (ไม่รู้ว่าระยะจริงที่ปลอดภัยเท่าไหร่ เพราะขึ้นกับความเข้มข้นที่เหลืออยู่และ shield ที่ป้องกัน) รอการประกาศเร่งด่วนอย่างเป็นทางการและโปร่งใสจากหน่วยงานของรัฐอีกทีพรุ่งนี้นะครับ หมายเหตุ: ข้อมูลเบื้องต้นที่ค้นเอง และ ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านปรมาณูนะครับ

Picture: The Dynamics of Radio-Cesium in Soils and Mechanism of Cesium Uptake Into Higher Plants: Newly Elucidated Mechanism of Cesium Uptake Into Rice Plants

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active