ภาคเหนือ-กทม.คุณภาพอากาศแย่ ฝุ่น PM2.5พุ่งสูงระดับสีแดงหลายจังหวัด

พื้นที่ ต.เวียงใต้ อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน ค่าฝุ่นเฉลี่ย 24 ชั่วโมง พุ่งสูงถึง159 มคก./ลบ.ม  ขณะที่อีกหลายจังหวัดค่าฝุ่นอยู่ในระดับมีผลกระทบต่อสุขภาพ งานวิจัยเผยแม่ตั้งครรภ์ ในสภาพแวดล้อมฝุ่น PM2.5 สูง ​เสี่ยงพิการแรกคลอด ทารกน้ำหนักตัวน้อย ​เจ็บป่วยง่าย 

วันนี้ (11 มี.ค.) แอปพลิเคชัน Air4 Thai  รายงานคุณภาพอากาศภาคเหนือ ปริมาณค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอนหรือ ฝุ่น PM2.5  ค่าเฉลี่ย24 ชั่วโมงอยู่ในระดับ เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ ถึง มีผลกระทบต่อสุขภาพ โดยพื้นที่สูงที่สุด 3 อันดับแรกอยู่ในบริเวณ  ต.เวียงใต้ อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน ปริมาณฝุ่นอยู่ที่ 159 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร, ต.ธานี อ.เมือง จ.สุโขทัย ปริมาณฝุ่นอยู่ที่ 137 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร,ต.เวียงพางคำ อ.แม่สาย จ.เชียงราย ปริมาณฝุ่นอยู่ที่ 121 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และยังมีอีกหลายจังหวัดที่ค่าฝุ่นอยู่ในระดับสีแดง มีผลกระทบต่อสุขภาพ ได้แก่ เพชรบูรณ์ ,เชียงใหม่ พะเยา ลำปาง ลำพูน น่านตาก ฯลฯ เป็นต้น 

ขณะที่สถานการณ์คุณภาพอากาศ พื้นที่ กรุงเทพฯ และปริมณฑล คุณภาพอากาศอยู่ในระดับ ปานกลาง ถึง เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ ได้แก่ ริมถนนกาญจนาภิเษก เขตบางขุนเทียน, กรุงเทพฯ 79 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ,ริมถนนดินแดง เขตดินแดง, กรุงเทพฯ  64 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร  แขวงบางซื่อ เขตบางซื่อ, กรุงเทพฯ 62 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และยังมีอีกหลายพื้นที่ที่เกินมาตรฐาน เช่น ต.คลองหนึ่งอ.คลองหลวง, ปทุมธานี,ต.บางพูด อ.ปากเกร็ด, นนทบุรี,ริมถนนพหลโยธิน เขตบางเขน, กรุงเทพฯ, แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่, กรุงเทพฯ,แขวงคลองเตย เขตคลองเตย, กรุงเทพฯ,ริมถนนสามเสน เขตพระนคร, กรุงเทพฯ,ริมถนนเพชรเกษม เขตภาษีเจริญ, กรุงเทพฯ,ริมถนนคลองทวีวัฒนา เขตทวีวัฒนา, กรุงเทพฯ,ริมถนนพุทธมณฑล 1 เขตตลิ่งชัน เป็นต้น 

รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุ มีผลการศึกษาชิ้นสำคัญ เผยแพร่ในวารสารของสมาคมหัวใจแห่งอเมริกา ฉบับที่ออกตรงกับวันวาเลนไทน์ คณะผู้วิจัยได้นำเสนอข้อมูลที่รวบรวมมาจาก 30 จังหวัดในประเทศจีน ระหว่างปี 2557-2560 ซึ่งมีเด็กทารกที่คลอดในช่วงเวลานั้นจำนวน1,434,998 คน พบเกิดโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด 7,335 คน  จึงได้ทำการเปรียบเทียบปริมาณ PM2.5 ที่แม่ของทารกดังกล่าวได้รับเข้าไปในช่วงที่อุ้มท้อง

พบว่าค่าเฉลี่ย PM2.5 ที่บรรดาเหล่าคุณแม่กลุ่มนี้ได้รับคือ 56.51 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร “ทุกๆ 10 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรที่ปริมาณฝุ่นสูงขึ้น จะพบโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดเพิ่มขึ้น 2% ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเภทผนังกั้นห้องหัวใจมีรูรั่ว คำนวณเป็นความเสี่ยงได้ 1.04 เท่า” สำหรับผลร้ายของฝุ่นต่อหัวใจทารกนี้จะพบมากขึ้น ถ้าแม่ได้รับฝุ่นเข้าไปมากตั้งแต่ช่วงก่อนการปฏิสนธิ นอกจากนี้แม่ที่มีอายุน้อยกว่า 35 ปี และแม่ที่มีฐานะยากจน จะพบความเสี่ยงนี้ได้มากขึ้น  

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active