ทั่วไทย PM2.5 ยังหนัก – เข้มสกัด ‘รถควันดำ’ เข้าเมือง

‘กรมควบคุมมลพิษ’ เดินหน้า แผนเฉพาะกิจแก้ฝุ่น เผย คุมเข้มรถควันดำ ช่วง ต.ค.65 – ก.พ.66 ในพื้นที่ กทม.-ปริมณฑล หัวเมืองหลัก นับแสนคัน พบ 15% ควันดำเกินค่ามาตรฐาน ยืนยัน จับจริง ใช้บทลงโทษสูงสุด

วันนี้ (6 มี.ค.66) ปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) เปิดเผยว่า ตามแผนเฉพาะกิจเพื่อการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง ปี 2566 ได้ให้ความสำคัญกับการควบคุมและลดมลพิษจากยานพาหนะ โดยภาครัฐ และภาคเอกชนได้ร่วมกันจัดทำโครงการ และมาตรการต่าง ๆ เพื่อป้องกัน และลดฝุ่น PM2.5 จากยานพาหนะ เช่น มาตรการตรวจรถควันดำ ได้เพิ่มจุดตรวจเพิ่มความเข้มงวดตรวจสอบ ตรวจจับ ระงับการใช้รถควันดำ จนกว่าจะนำไปปรับปรุงแก้ไข เพื่อป้องปรามมิให้มีรถควันดำเข้ามาในเขตเมือง โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และเมืองหลัก ในช่วงนี้จนถึงช่วงเดือนเมษายน    

อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ให้รายละเอียดถึง มาตรการตรวจรถควันดำ ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2565 – 28 กุมภาพันธ์ 2566 คพ. ร่วมกับ กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) กองบังคับการตำรวจจราจร (บก.จร.) และ กรุงเทพมหานคร ตรวจสอบ ตรวจจับและห้ามใช้รถควันดำแบ่งเป็นพื้นที่ กทม. สะสมอยู่ที่ 109,696 คัน พบ รถยนต์ควันดำ เกินค่ามาตรฐานสะสม 23,707 คัน ห้ามใช้สะสม 1,503 คัน และพื้นที่ต่างจังหวัด ตรวจสอบสะสม 55,635 คัน พบรถยนต์ควันดำเกินค่ามาตรฐาน 1,367 คัน ห้ามใช้สะสม 1,367 คัน จากสถิติในภาพรวมพบรถยนต์ควันดำเกินค่ามาตรฐานมีจำนวนประมาณ 15% จากรถยนต์ที่เรียกตรวจ

“รัฐจะเพิ่มความเข้มงวดเรื่องการตรวจจับควันดำ ตรวจจับ ปรับจริง–ห้ามใช้รถควันดำ บังคับใช้บทลงโทษสูงสุด ในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล ตั้งจุดตรวจสอบตรวจจับรถควันดำทุกประเภท ครอบคลุมถนนสายหลัก สายรอง ทั้งขาเข้า – ออก”

อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ยังระบุถึง โครงการ “คลินิกรถ ลดฝุ่น PM2.5” ซึ่งประชาชนสามารถนำรถยนต์เข้ารับบริการได้ที่ศูนย์บริการฯ ที่ได้รับความร่วมมือจากผู้ประกอบการรถยนต์ 9 ราย ประกอบด้วย TOYOTA, ISUZU, MITSUBISHI,  NISSAN, MAZDA, FORD, HONDA, SUZUKI และ HINO ซึ่งมีอยู่กว่า 1,774 ศูนย์ รองรับรถยนต์เข้าร่วมโครงการฯ 426,000 คัน โดยจะสนับสนุนส่วนลด สำหรับค่าบำรุงรักษา และเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง เพื่อลดควันดำ


PM2.5 ยังหนัก ไฟป่า จุดความร้อนสะสมกระจายวงกว้าง

สำหรับสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ทั่วประเทศ เวลานี้ก็ยังมีแนวโน้มฝุ่นอยู่ในเกณฑ์มีผลกระทบต่อสุขภาพ โดยเฉพาะในภาคกลาง และภาคเหนือ ยังคงเกิน 100 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ต่อเนื่อง

ขณะที่ในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง พบจุดความร้อน และ PM2.5 กินวงกว้าง อย่างในเมียนมา 6,000 จุด, กัมพูชา 2,000 จุด, ลาว 1,400 จุด

โดยจุดสีฟ้า คือ พื้นที่การปกคลุมของหมอกควัน กระจายไปทั่วตอนบนของไทย ส่วนจุดสีแดง คือ จุดความร้อนสะสมกระจายไปทั่วพื้นที่ภาคเหนือตอนบน ตอนล่าง อีสานกลาง ตะวันออก แต่หนาแน่นมากในแถบตะวันตกของประเทศ ไล่มาตั้งแต่เหนือสุด จนถึง จ.เพชรบุรี

สำหรับไฟป่า ในแถบตะวันตกของไทย สะสมมากที่สุดอยู่ในเขตป่าอนุรักษ์ฯ ป่าสงวนฯ ใน 3 พื้นที่หนัก ๆ ทั้งไฟ ทั้งฝุ่น คือ ที่ ปาย, ปางมะผ้า จ.แม่ฮ่องสอน เช่นเดียวกับ จ.กาญจนบุรี ที่ อ.สังขละบุรี, ทองผาภูมิ และ ศรีสวัสดิ์ ขณะที่ จ.ตาก  หนักสุดวันนี้อยู่ที่ อ.อุ้มผาง, ท่าสองยาง และ พบพระ 

โดยรวมแล้วคุณภาพอากาศวันนี้(6 มี.ค.66) PM2.5 สูงสุดที่ จ.แม่ฮ่องสอน 105 มคก. / รองลงมาคือ เชียงใหม่ 100 มคก. / เชียงราย 94 มคก. / ตาก 92 มคก. และ น่าน 91 มคก.


Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active