ฝุ่นเชียงใหม่ส่อรุนแรง ภาคประชาชนแนะถ่ายโอนอำนาจท้องถิ่น แก้ปัญหารายพื้นที่

จังหวัดสั่งงดเผา แม้จะมีการลงทะเบียนเผาตามระบบจัดการแบบมีส่วนร่วมแล้ว ด้านนักวิชาการมองแก้ปัญหาแบบเดิมอาจไม่ได้ผล เสนอแก้เชิงโครงสร้างระบบราชการ ทำความเข้าใจรายพื้นที่ ร่วมหาทางออกให้ชาวบ้าน

วันนี้ (5 ก.พ. 2566) กรมควบคุมมลพิษ รายงานสภาพอากาศในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ.ที่ผ่านมา หลายพื้นที่พบค่าฝุ่น PM 2.5 อยู่ในระดับเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ สอดคล้องกับการลงพื้นที่ก่อนหน้านี้ ของมูลนิธิพัฒนาภาคเหนือใน ต.แม่เหียะ และ ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 3 ก.พ.ที่ผ่านมา พบค่าฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐานและเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ

พชร คำชำนาญ เจ้าหน้าที่รณรงค์สื่อสาร มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ กล่าวว่า สภาพอากาศที่กระทบสุขภาพนี้น่ากังวล เพราะระบบการทำงานของภาครัฐ ที่นอกจากการมุ่งเป้ากดดันไปที่ภาคป่าไม้ ยังมีการกล่าวโทษให้ผู้คนในป่าต้องตกเป็นจำเลยและเป็นแพะของปัญหาสิ่งแวดล้อม เราพยายามสร้างความเข้าใจ การเปิดใจยอมรับภูมิปัญญาจัดการเชื้อเพลิง แต่กระบวนการนี้ก็ถูกตัดตอนด้วยระบบ Single Command ซึ่งนอกจากจะไม่ช่วยแก้ปัญหา ยังซ้ำเติมปัญหาให้เกิดความเหลื่อมล้ำ เกิดชนชั้นของหมู่ต้นกำเนิดฝุ่นควัน

“กลายเป็นภาคป่าไม้เท่านั้นที่ต้องถูกควบคุมอย่างเคร่งครัด มาตรการห้ามเผาเด็ดขาดตามประกาศจังหวัด เป็นหนึ่งในมาตรการที่สะท้อนชัดเจนมาหลายปีว่าแก้ปัญหาไม่ได้เลย เราต้องการให้ถอดรื้อมายาคติ ฟื้นองค์ความรู้ชาวบ้านในการจัดการ ถ่ายโอนอำนาจให้ท้องถิ่นและชุมชนอย่างจริงจัง โดยไม่ใช้แต่อำนาจสั่งการเบ็ดเสร็จแบบ Single Command เพราะจะนำไปสู่การสร้างบรรยากาศการแก้ปัญหาใหม่ๆ ให้ผลลัพธ์ไม่ซ้ำเดิมได้”

ขณะที่สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเชียงใหม่ รายงานสถานการณ์ค่าคุณภาพอากาศ (PM2.5) ในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ ว่าในขณะนี้สถานการณ์ค่าคุณภาพอากาศของ จ.เชียงใหม่ มีค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ในระดับที่สูงขึ้นอยู่ในเกณฑ์ที่มีผลต่อระบบสุขภาพ พร้อมรายงานสถิติข้อมูลที่วัดได้ ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2566 เป็นต้นมา พบว่า จ.เชียงใหม่ เกิดจุดความร้อนแล้วจำนวน 348 จุด, มีพื้นที่เผาไหม้รวม 4,184 ไร่ และมีค่าปริมาณฝุ่น PM2.5 สูงเกินมาตรฐานมากว่า 15 วัน จึงขอความร่วมมือประชาชนงดการบริหารจัดการเชื้อเพลิงจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลายลง

ชัชวาลย์ ปัญญา รองผู้ว่าราชการ จ.เชียงใหม่ ได้สั่งการให้ทุกอำเภองดการบริหารจัดการเชื้อเพลิงโดยวิธีการเผาในระยะนี้ไปก่อน พร้อมเน้นย้ำให้ ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง บูรณาการการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติงานอย่างเคร่งครัด เตรียมความพร้อมในทุกด้านเพื่อแก้ไขปัญหาไฟป่าได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเร่งประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจแก่ประชาชน ให้ตระหนักถึงผลกระทบจากการเผาป่า พร้อมทั้งขอความร่วมมือส่วนราชการและประชาชนช่วยกันสอดส่องดูแลพื้นที่เสี่ยงป้องกันการเกิดปัญหาไฟป่า หมอกควัน ด้านข้อมูลการขออนุญาตบริหารจัดการเชื้อเพลิงผ่านแอพพลิเคชัน Fire-D เบื้องต้นในปี 2566 มีการลงทะเบียนยื่นคำร้องขออนุญาตแล้ว จำนวน 69,998.5 ไร่ (981 รายการ) ได้รับการอนุมัติไปแล้ว 18,323.1 ไร่ (26%) และรายงานผลการดำเนินงานกลับมาแล้ว 280.3 ไร่ (5.0%)

ด้าน รศ.เศรษฐ์ สัมภัตตะกุล ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้สัมภาษณ์กับมูลนิธิพัฒนาภาคเหนือว่า ค่าฝุ่นที่เกินค่ามาตรฐานในหลายๆ จุด ได้มีการประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาไฟป่าและฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ระดับจังหวัด มีการสั่งการจากรองผู้ว่าราชการ จ.เชียงใหม่ ให้ระงับการบริหารจัดการเชื้อเพลิง หมายถึงว่าที่ได้ลงทะเบียนไว้ในแอพลิเคชัน Fire-D ก็จะหยุดไปก่อน เพื่อบรรเทาการสะสมตัวของฝุ่นที่เกิดขึ้นตอนนี้เพราะฉะนั้นตอนนี้ถ้าพื้นที่ดำเนินการตามคำสั่ง ก็จะลดพื้นที่ในการเผาในที่โล่งไป แต่ว่ากรณีนี้จะเป็นในพื้นที่ที่ทำการเกษตร ส่วนในพื้นที่ที่เป็นป่าก็ยังมีการลักลอบการเผาอยู่ บางจุดก็ดับได้ บางจุดก็ยังดับไม่ได้ และก็ยังมีลุกลามไปอยู่

“เพราะฉะนั้นในช่วงนี้อากาศก็ยังระบายตัวไม่ดี และการสะสมตัวของฝุ่นก็จะอยู่ค่อนข้างหนาแน่น แล้วถ้าในพื้นที่ใดที่ไม่มีลมเลย ฝุ่นก็จะสูงมาก บางจุดเราก็เห็นข้อมูลว่า ค่าฝุ่นเฉลี่ยไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร บางจุดก็ 200 – 300 ไปแล้ว แต่ในเมืองเชียงใหม่ก็จะประมาณ 80 – 90 หรือประมาณหนึ่งร้อยนิดๆ …ที่ผ่านมาเรายังแบ่งโซนกันอยู่ เป็นคนในพื้นที่ป่า คนบนดอย คนในเมือง คือวิถีมันแตกต่างกันซึ่งแต่ละคนจะทำให้เกิดแหล่งกำเนิดฝุ่นควันแตกต่างกัน เพราะฉะนั้น ถ้าไม่ฟังกัน ไม่ช่วยเหลือกัน เราก็จะโบ้ยว่า คนนี้เป็นคนสร้างแหล่งกำเนิด คนนี้ก็ต้องแก้ไขสิ เราก็เจอปัญหานี้มาเป็นสิบๆ ปีแล้วก็ยังแก้ไขไม่ได้ เพราะเราไม่ยอมเอาข้อมูล เอาความจริงมาวาง แล้วคุยกันจริงๆ จังๆ ว่าจะช่วยกันแก้ไขปัญหาได้อย่างไร”

รศ.เศรษฐ์ กล่าวย้ำว่า ควรมีการพิจารณาการใช้ที่ดินในพื้นที่ป่า เพราะบางพื้นที่ชาวบ้านได้สิทธิในที่ดินทำกิน เขาก็ต้องดูแลในพื้นที่ของเขาเหมือนกัน เช่น ในเมื่อเขาได้สิทธิทำกินไปแล้ว เขาจะทำเกษตรแบบที่ไม่เผาได้หรือไม่ หรือกรณีชุมชนที่อยู่ใกล้ป่าและสามารถดูแลป่าได้ เขาจะได้รับการสนับสนุนจากคนในเมืองได้อย่างไรบ้าง

“จริงๆ เราทราบอยู่แล้วว่าในช่วงนี้เป็นช่วงที่สภาพอากาศเป็นแบบนี้ ไม่ได้เอื้ออำนวยต่อการจัดการเชื้อเพลิงแบบเผาในที่โล่ง แต่ก็อาจจะมีความจำเป็นของพื้นที่ ชาวบ้านมีเหตุผลในการใช้ไฟ ถ้าให้ประเมินสถานการณ์นี้ (คำสั่งงดเผา) เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นค่อนข้างซ้ำเดิม เป็นปัญหาเดิม เป็นวิธีการเดิมๆ ผลที่เกิดขึ้นมาก็เหมือนเดิม เพราะว่าเรายังไม่ได้หาวิธีการใหม่ๆ ที่จะไปช่วยชาวบ้าน ซึ่งบางพื้นที่อาจเป็นการทำการเกษตรแบบอื่นที่มีการบูรณาการเรื่องเครื่องจักร มีบริษัทเอกชนเข้ามาช่วยในการจัดการเศษวัสดุทางการเกษตร หรือว่านำเศษวัสดุทางการเกษตรไปใช้ประโยชน์ให้มากขึ้น เมื่อชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่ในการทำการเกษตรได้รับความช่วยเหลือ มีทางออก เขาก็อาจไม่เผาก็ได้ แต่ปัจจุบันไม่ได้มีทางออกแบบนั้น“

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active