กทม. เปิดประชุมครั้งแรก เตรียมเก็บภาษีรถที่ปล่อยมลพิษเยอะ

ชัชชาติ เร่งหารือทุกหน่วยงาน หลังพบฝุ่น กทม. หนาแน่น พบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นทุกวัน เตรียมเดินหน้าตามแผนวาระแห่งชาติ เพื่อแก้ปัญหาฝุ่นให้ลดลงในระยะยาว แก้ปัญหารถเก่าก่อมลพิษ การเผาชีวมวล​เพิ่มพื้นที่ปลอดภัยในชุมชน ห้องเรียนปลอดฝุ่น

เมื่อวันที่ ​3 ก.พ. 66​ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) ในกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 1/2566 เพื่อหาแนวทางแก้ปัญหาฝุ่นให้ลดลงในระยะยาว

ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า หน่วยงานต่าง ๆ ได้มาประชุมติดตามความคืบหน้า โดยดำเนินการตามแผนวาระแห่งชาติซึ่งทุกหน่วยงานดำเนินการอยู่ คาดว่าในวันที่ 5 ก.พ. 66 สถานการณ์ฝุ่น PM2.5 จะดีขึ้น เนื่องจากได้รับรายงานจากกรมฝนหลวงและการบินเกษตรว่าได้มีการทำฝนหลวงใน จ.ระยอง อาจจะส่งผลให้มีฝนตกในกรุงเทพฯ พื้นที่เขตลาดกระบัง ประเวศ บางนา ซึ่งอาจจะช่วยบรรเทาสถานการณ์ฝุ่นให้ดีขึ้น คาดการณ์ว่าฝนตกและความชื้นที่เพิ่มขึ้นจะช่วยบรรเทาความรุนแรงของฝุ่นลงได้

“ด้านกองทัพภาคที่ 1 มีการฉีดละอองน้ำตามจุดต่าง ๆ ส่วนสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม(สมอ.) ได้ร่างระเบียบการออกรถยนต์ใหม่โดยใช้มาตรฐาน ยูโร 5 ซึ่งปล่อยไอเสียน้อยกว่าเดิม 10 เท่า และกรมธุรกิจพลังงานได้ปรับเปลี่ยนน้ำมันรองรับเครื่องยนต์ใหม่อีกด้วย นอกจากนี้ กรมสรรพสามิต ซึ่งสามารถคิดภาษีในการออกรถ เช่น รถที่ปล่อยมลพิษน้อยคิดภาษีน้อย รถที่ปล่อยมลพิษเยอะคิดภาษีเยอะ ในอนาคตอาจจะออกข้อบัญญัติเก็บภาษีกับรถที่ปล่อยมลพิษเยอะในรายปี”

ในส่วนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้เน้นการกวดขันวินัยจราจร เพื่อให้การจราจรไม่ติดขัด ก็จะช่วยลดฝุ่นได้ ด้านการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้เน้นย้ำการลดฝุ่น โดยทำความสะอาดในไซต์ก่อสร้าง คืนพื้นผิวการจราจรในเส้นทางการสร้างรถไฟฟ้าที่แล้วเสร็จเพื่อลดปัญหาการจราจร สำหรับสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ให้เร่งทบทวนแผนแม่บทการย้ายท่าเรือคลองเตยไปท่าเรือแหลมฉบัง จ.ชลบุรี ซึ่งจะช่วยลดจำนวนรถบรรทุกกว่า 2 ล้านเที่ยวต่อปีในท่าเรือคลองเตย และจะส่งผลถึงการลดปัญหาฝุ่น PM2.5 ในกรุงเทพฯ ได้ นอกจากนี้ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ที่มีรถกว่า 2,000 คันซึ่งยังใช้น้ำมันดีเซล ได้ขอความร่วมมือเปลี่ยนเป็นรถไฟฟ้าทั้งหมด

ส่วนเรื่องการฉีดพ่นน้ำลดฝุ่นละอองนั้น มองว่าเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ เนื่องจากฝุ่นมีปริมาณมาก​ จะได้ผลบ้างก็ต่อเมื่อฉีดพ่นน้ำอยู่กับที่​ เช่น​ อาคาร​ โรงเรียน​ และต้องใช้น้ำสะอาดเมื่อฉีดพ่นในที่มีคนสัญจร​หรือชุมชน ซึ่งได้ประสานเรื่องน้ำกับการประปาบ้างแล้ว จึงอยากให้ประชาชนได้ทราบถึงสถานการณ์และกำจัดต้นตอฝุ่นให้ได้มากที่สุด เช่น Work from Home ที่ทำให้ปัญหาการจราจรลดน้อยลงปริมาณฝุ่นก็จะน้อยลงตามด้วย โดยในตอนนี้ฝุ่นไม่ได้หนักแค่เพียงในกรุงเทพฯ เท่านั้น แต่หนักตั้งแต่ภาคกลางถึงภาคเหนือ ส่วนหนึ่งคาดว่าสาเหตุเกิดจากการเผาชีวมวล

ดังนั้นจึงขอความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งในการแก้ไขระยะยาวจะมีการปรับมาตรฐานรถให้มีคุณภาพดีขึ้น เพิ่มมาตรการดูแลแก้ไขปัญหารถเก่าที่ก่อมลพิษ ส่งเสริมให้ประชาชนมาใช้บริการขนส่งมวลชนเพิ่มมากขึ้น ส่งเสริมการปลูกต้นไม้ที่ต้องมีการจดบันทึกและได้รับการดูแล เพื่อให้ต้นไม้ได้เติบโตเป็นพื้นที่สีเขียว เป็นแนวป้องกันฝุ่นได้ในอนาคต รวมถึงต้องมีการรับผิดชอบในแต่ละพื้นที่ อาทิ การเผาชีวมวลในปริมณฑล ก็ต้องขอความร่วมมือจากจังหวัดข้างเคียง ส่วนการเผาชีวมวลในประเทศเพื่อนบ้าน ก็ต้องขอความร่วมมือผ่านเวทีอาเซียน นอกจากนี้จะต้องมีการให้ความรู้เรื่องฝุ่น PM2.5 แก่ประชาชนเพื่อให้ประชาชนมีความตระหนักรู้มากขึ้น

ในการนี้ กรมอนามัยได้แนะนำว่า เด็กในชุมชนยังขาดความรู้เรื่องฝุ่น ซึ่งส่งผลต่อระบบหัวใจในระยะยาว จึงต้องเพิ่มการทำพื้นที่ปลอดภัยในชุมชนและโรงเรียน เช่น ห้องเรียนปลอดฝุ่น ซึ่งจะต้องทำให้มากขึ้นโดยใช้งบกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

“ในส่วนของตัวเลขผู้ป่วยทางเดินหายใจจากสำนักอนามัย กทม. พบว่าเพิ่มขึ้นวันละ 25 คน มีอาการระคายเคืองตา เกิดโรคผิวหนัง โรคทางเดินหายใจ เป็นต้น ซึ่งหน้ากากอนามัยเป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่สามารถป้องกันฝุ่น PM2.5 ได้ โดยฝุ่นในกรุงเทพฯ จากรถยนต์ทำให้เกิดฝุ่นในสภาวะอากาศเปิด 30 มคก./ลบ.ม. ในสภาพอากาศปิดจะเพิ่มเป็น 60 มคก./ลบ.ม. ยิ่งมีการเผาชีวมวลก็จะเพิ่มปริมาณฝุ่นขึ้นอีก เป็น 90 มคก./ลบ.ม.”

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรง อาทิ กรมอุตุนิยมวิทยา กรมควบคุมมลพิษ ได้มีพัฒนาศักยภาพการพยากรณ์ฝุ่น PM2.5 ที่มีความแม่นยำมากขึ้น ทำให้กทม.สามารถเตือนภัยได้อย่างแม่นยำผ่านแอปพลิเคชัน AirBKK หรือผ่าน Line Alert เพื่อให้ประชาชนได้เตรียมการป้องกัน เช่น การ Work from Home เป็นต้น

“ทั้งนี้ กทม.ได้เปิดคลินิกมลพิษทางอากาศเพิ่มเป็น 6 โรงพยาบาล ได้แก่ โรงพยาบาลกลาง โรงพยาบาลตากสิน โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ โรงพยาบาลราชพิพัฒน์ โรงพยาบาลสิรินธร และล่าสุดคือโรงพยาบาลหลวงพ่อทวีศักดิ์ฯ ทุกหน่วยงานทำงานเต็มที่ ตามแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง ซึ่งเชื่อว่าเมื่อทุกคนทำเต็มที่แล้ว ในระยะยาวฝุ่นจะลดลงได้”

การประชุมครั้งนี้มี จักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ขจิต ชัชวานิชย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร พลตรีพิสิฐ์ มหิงษ์ ที่ปรึกษากองทัพภาคที่ 1 รองเลขานุการศูนย์อำนวยการจิตอาสาพระราชทานภาค 1 กองทัพภาคที่ 1 ศาสตราจารย์ญาณวิทย์ ศิวัช พงษ์เพียจันทร์ ผู้อำนวยศูนย์วิจัยและพัฒนาการป้องกันและจัดการภัยพิบัติ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ภิมุข สิมะโรจน์ เลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ​ชาตรี วัฒนเขจร รองปลัดกรุงเทพมหานคร พรพรหม ณ.ส.วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ​ประพาส เหลืองศิรินภา ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม ผู้บริหารสำนักสิ่งแวดล้อม สำนักอนามัย สำนักการจราจรและขนส่ง สำนักการแพทย์ ขสมก. สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กองบังคับการตำรวจจราจร ศูนย์โอโซนและรังสี กรมอุตุนิยมวิทยา กรมควบคุมโรค กรมควบคุมมลพิษ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จังหวัดนครปฐม จังหวัดปทุมธานี จังหวัดนนทบุรี จังหวัดสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรสาคร สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ และคณะกรรมการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม ณ ห้องประชุม ชั้น 8 อาคารธานีนพรัตน์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ดินแดง และประชุมผ่านระบบออนไลน์

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active