พบสารพิษตกค้างยาวนานในไข่เป็ดรอบโรงงานรีไซเคิลฯ

ทีมวิจัยไทย-เช็ก เก็บตัวอย่างไข่เป็ดที่เลี้ยงอิสระรอบโรงงานรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์ จ.ฉะเชิงเทราและจุดลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรม จ.ปราจีนบุรี พบสารพิษตกค้างยาวนาน(POPs) ในปริมาณสูง อันตรายต่อมนุษย์ในระยะยาว จี้หน่วยงานรัฐเพิ่มมาตรการควบคุม

ทีมวิจัยจากมูลนิธิบูรณะนิเวศและสมาคมอาร์นิก้า สาธารณรัฐเช็ก แถลงผลการศึกษาที่ตรวจพบสารพิษตกค้างยาวนานหรือสาร POPs (Persistent Organic Pollutants) หลายชนิดในพื้นที่รอบโรงงานรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์ ต.เขาหินซ้อน อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา และบริเวณพื้นที่จุดลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมใน ต.หาดนางแก้ว อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี โดยลงพื้นที่เก็บตัวอย่างเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ซึ่งเก็บตัวอย่างดิน ตะกอนดิน ฝุ่นและไข่เป็ด นำส่งไปตรวจวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการที่ เช็กและเยอรมนี


ยินดริช เพเทอร์ลิก(Jindrich petrlik) ผู้เชี่ยวชาญจากสมาคมอาร์นิก้า และผู้วิจัยในครั้งนี้ เปิดเผยผลการตรวจวิเคราะห์ว่า พบการปนเปื้อนของสารพิษตกค้างยาวนานทั้ง 3 พื้นที่โดยค่าการปนเปื้อนที่สูงที่สุดพบในตัวอย่างไข่เป็ด ที่เก็บจากหมู่บ้านหนองกก หมู่ที่ 9 ต.เขาหินซ้อน ซึ่งตั้งอยู่ใกล้โรงงานรีไซเคิล โดยพบสารตกค้างยาวนานจำพวกไดออกซิน/ฟิวแรนอยู่ในระดับสูงสุดและเทียบกับต่างประเทศที่เคยลงพื้นที่ศึกษาพบว่าอยู่ในอันดับ10 เทียบกับประเทศอื่น ๆ ในทวีปเอเชีย ประเภทในไข่สัตว์ปีก และสูงสุดเป็นอันดับ 2 เท่าที่เคยตรวจพบในประเทศไทย ขณะที่จุดลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมทั้งสองจุด ยังพบการปนเปื้อนอย่างรุนแรงของสารพิษตกค้างยาวนานชนิด เอสซีซีพี (SCCPs) ทั้งที่หนองกกและหาดนางแก้ว จากข้อค้นพบนี้สามารถสรุปได้ว่ากระบวนการรีไซเคิลวัสดุที่มาจากพลาสติกขยะอิเล็กทรอนิกส์ กากอุตสาหกรรมที่เป็นอันตราย

ขอบคุณภาพ: Jindrich Petrlik Arnika Association
ขอบคุณภาพ: Jindrich Petrlik Arnika Association

“ระดับของสารพิษตกค้างยาวนานจำพวกไดออกซิน/ ฟิวแรนที่มีองค์ประกอบของโบรมีนในไข่จากหนองกกถือว่าสูงเป็นอันดับ 6 เมื่อเทียบกับไข่สัตว์ปีกเลี้ยงแบบอิสระที่พบในแหล่งมลพิษทั่วโลก นอกจากนี้ระดับของสารไดออกซิน ฟิวแรน และสารตกค้างยาวนานจำพวกพีซีบีที่คล้ายไดออกซินในตัวอย่างไข่เป็ดจากหนองกกถือว่าสูงเกินมาตรฐานสูงสุดที่สหภาพยุโรปกำหนดไว้ถึง 24 และ 14 เท่า” 

ขณะที่มีบางหน่วยงานตั้งคำถามต่อกรณีการเก็บตัวอย่าง  ยินดริช ในฐานะผู้วิจัยชี้แจงเพิ่มเติมว่า กรณีไข่เป็ดมีการเก็บทั้งหมด 6 ใบ ในบ้านหลังเดียวกัน ซึ่งเพียงพอที่จะเป็นภาพแทนสถานการณ์การปนเปื้อนในครั้งนี้ได้ จึงเสนอให้มีการควบคุมสารพิษดังกล่าวด้วยการเพิ่มค่ามาตรฐานจากแหล่งกำเนิด เช่น เตาเผาขยะ และให้รัฐบาลไทยซึ่งมีข้อจำกัดด้านงบประมาณขอความช่วยเหลือจากประเทศสมาชิกในอนุสัญญาสตอกโฮล์ม เพื่อการเฝ้าระวังตั้งแต่ต้นทาง 

ด้าน เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณนิเวศ ระบุว่า ระบบการจัดการของเสียและกากอุตสาหกรรมของประเทศไทยมีความบกพร่องและหละหลวมอยู่มากส่งผลให้ปัจจุบันมีการลักลอบทิ้งกากของเสียอันตรายในพื้นที่ต่าง ๆ ในขณะเดียวกันโรงงานรีไซเคิลหลายแห่งมีการดำเนินการกิจการโดยไม่ปฏิบัติตามมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ทำให้มลพิษที่เป็นอันตรายรั่วไหลสู่สิ่งแวดล้อมและสะสมในห่วงโซ่อาหาร

“โรงงานรีไซเคิลไม่ต้องประเมินผลกระทบ EIA EHIA ทั้งที่เป็นแหล่งกำเนิดที่ก่อให้เกิดมลพิษต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อม เสนอให้รัฐบาลเพิ่มระดับการควบคุมการปล่อยสู่สิ่งแวดล้อมและกำหนดนโยบายให้ชัดเจนในการเลิกใช้สารกลุ่มนี้ในกระบวนการผลิต”

เพ็ญโฉม ย้ำเพิ่มเติมว่า รัฐบาลไทย หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเร่งปฏิบัติตามพันธกิจของอนุสัญญาสตอกโฮล์มโดยเพิ่มระดับการควบคุมการปล่อยมลพิษสู่สิ่งแวดล้อมโดยกำหนดให้มีการจัดทำระบบ PRTR หรือทำเนียบการปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายสารมลพิษ เพื่อเก็บข้อมูลรวบรวมสารเคมีและการเคลื่อนย้าย เพื่อยกระดับการปกป้องดูแลสุขภาพประชาชนและสิ่งแวดล้อม

ขณะที่ตัวแทนจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม ระบุว่า ที่ผ่านมาโรงงานไม่เคยนิ่งนอนใจในการควบคุมมลพิษในกระบวนการผลิต และมีการรวมตัวดำเนินกิจการให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและมีมาตรการทางกฎหมายที่ต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด แต่กรณีที่ลักลอบทิ้ง เป็นปัญหาที่อยากให้มูลนิธิบูรณะนิเวศติดตามตรวจสอบ และจะทำอย่างไรให้โรงงานที่อยู่นอกเหนือนิคมอุตสาหกรรมเข้ามามีส่วนกับการควบคุมกระบวนการผลิตภายใต้กฎหมายที่เข้มงวด ซึ่งมีมาตรฐานซึ่งปัจจุบันมีกฎหมายที่เข้มงวดมากอยู่แล้ว 

“การกำหนดมาตรฐานเป็นสิ่งที่ดี แต่ต้องสมดุล หากมากเกินไปถ้าทำไม่ได้จะเกิดการลักลอบมากขึ้น และอาจจะสูญเสียทรัพยากรมากเกินไป”

  

ด้านกรมควบคุมมลพิษ ระบุว่ากรมควบคุมมลพิษ มีความพยายามในการกำกับติดตามตรวจสอบแหล่งกำเนิด  ซึ่งขณะนี้กำลังมีการปรับปรุง พ.ร.บ. ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ  เพิ่มหมวดให้อำนาจกระทรวง ในการใช้กฎหมาย ควบคุมแหล่งกำเนิด ขณะนี้อยู่ระหว่างการกำหนดสารเคมีประเภทโรงงาน ที่ต้องรายงานตามหลักของกฎหมาย PRTR อยู่แล้ว  ข้อดีของการมีกฎหมายก็ดี แต่กฎหมายPRTR เป็นเพียงแค่ทางออกเดียว ที่ยังไม่สามารถจะแก้ปัญหาได้ทั้งหมด เพราะการตรวจสอบวัตถุดิบจากต้นทางก็ยังไม่ครอบคลุมในเรื่องนี้  ที่ผ่านมามีการแบนขยะอิเล็กทรอนิกส์ พลาสติกแล้ว มีเพียงบางส่วนที่ยังจำเป็นต้องต่อสัญญาอีก 2 ปีเฉพาะในพื้นที่กันชนเท่านั้น 

ด้าน ดร.นุจรินทร์ รามัญกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านวิจัย ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ ระบุว่า ข้อมูลจากการศึกษาที่การนำเสนอในวันนี้เป็นข้อมูลที่มีประโยชน์ และสร้างการตระหนักต่อพิษภัยที่กำลังเกิดขึ้น และยังสะท้อนให้เห็นว่าที่ผ่านมาผู้ใช้สารเคมียังคงขาดความรู้ถึงพิษภัยที่เกิดขึ้นจากสารเหล่านี้ การส่งเสริมให้ตระหนักต่อการใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และปฏิเสธการซื้อสินค้าจากแหล่งผู้ผลิตที่ทำลายสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องที่ควรตระหนักร่วมกัน เพราะหากโรงงานเลือกผลิตสินค้าที่ด้อยคุณภาพ การทำธุรกิจเช่นนี้ก็ไม่สามารถยั่งยืนได้ 

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active