ปิดคดีอ่าวมาหยา ศาลพิจารณาตั้งคณะทำงานฟื้นฟูพื้นที่

23 ปี คดีฟ้องร้อง กรณีถ่ายหนังระดับโลก กระทบพื้นที่อ่าวมาหยา ชายหาดเว้าโค้งผิดรูปน้ำกัดเซาะ และพืชประจำถิ่นถูกทำลาย ศาลฎีกา พิจารณาให้ฟื้นฟูธรรมชาติ แต่ไม่ต้องชดใช้ 100 ล้านตามที่ถูกฟ้อง

วันนี้ (13 ก.ย. 65) ศาลฎีกา ได้อ่านคำพิพากษาคดีอ่าวมาหยา ระหว่าง อบจ.กระบี่ อบต.อ่าวนาง อ.เมืองกระบี่ และพวกรวม 19 คน ยื่นฟ้อง รัฐมนตรีว่าว่าการเกษตรและสหกรณ์ จำเลยที่ 1 กรมป่าไม้ จำเลยที่ 2 อธิบดีกรมป่าไม้ จำเลยที่ 3 บริษัทซันต้า อินเตอร์เนชั่นแนล โปรดักชั่น จำกัด จำเลยที่ 4 และบริษัททเวนตี้ เซนจูรี่ ฟอกซ์ จำกัด จำเลยที่ 5 เพื่อเรียกค่าเสียหายจากการกระบวนการฟื้นฟูสภาพแวดล้อม บนอ่าวมาหยา จากการทำลายอ่าวมาหยา ในปี 2541 เพื่อถ่ายภาพยนต์เรื่อง The Beach โดยฟ้องเรียกร้องขอให้ชดเชยค่าเสียหายเป็นเงิน 100,000,000 บาท

โดย ศาลฎีกา ได้พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ในคำวินิจฉัยศาลฎีกา ระบุว่า “ศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งให้จำเลยที่ 2 รับผิดในการปรับปรุงแก้ไขหาดมาหยาให้กลับคืนสภาพเดิมตามธรรมชาติ โดยการแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อทำแผนการฟื้นฟูและการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนอ่าวมาหยา สอดคล้องกับภารหน้าที่ของจำเลยที่ 2 ที่ต้องปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายและอยู่ในขอบเขตแห่งคำฟ้องและคำข้อท้ายฟ้อง” และศาลยังวินิจฉัยต่อไปว่า “คำแก้ฎีกาของจำเลยที่ 2 ประการสุดท้ายหยิบยกปัญหาข้อเท็จจริงขึ้นโต้แย้งอ้างว่า ปัจจุบันหาดมาหยามีสภาพตามธรรมชาติดังเดิมแล้วเพราะได้มีการปิดอ่าวและปล่อยให้ธรรมชาติได้เยียวยาตนเองแล้ว จึงไม่จำเป็นต้องบังคับคำขอถ่ายคำฟ้อง

ศาลเห็นว่า ข้ออ้างนี้ฟังไม่ขึ้น เนื่องจากข้อเท็จจริงที่จำเลยที่ 2 ยกขึ้นมาลอย ๆ ในคำแก้ฎีกาแต่เพียงฝ่ายเดียว ไม่มีพยานหลักฐานอื่นมาสนับสนุนให้เชื่อถือได้ แต่อย่างไรก็ตามการนำสืบคู่ความทั้งสองยอมรับตรงกันว่า เมื่อกาลเวลาผ่านไปสภาพแวดล้อมและระบบนิเวศบริเวณอ่าวมาหยาจะสามารถฟื้นฟูได้เองตามธรรมชาติ ประกอบกับข้อพิพาทในคดีนี้เกิดขึ้นมานานเป็นเวลากว่า 20 ปีแล้ว อันเป็นระยะเวลายาวนานพอสมควร เพื่อให้การบังคับตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นสอดคล้องกับสภาพตามจริงในปัจจุบันและเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม จึงเห็นควรแก้ไขเพิ่มเติมคำสั่งในคำพิพากษาชั้นต้นดังกล่าวให้เหมาะสมแก่สถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 มานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ที่ 1 และที่ 2 และคำแก้ฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังขึ้นบางส่วน คำแก้ฎีกาจำเลยที่ 2 ข้ออื่นนอกจากนี้ไม่เป็นสาระสำคัญ อันจะทำให้ผลคำพิพากษาเปลี่ยนแปลงไป จึงไม่จำเป็นต้องวินิฉัย” พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

ทั้งนี้ จนกว่าหาดมาหยาจะกลับมามีสภาพเดิมตามธรรมชาติ ตามที่จำเลยที่ 2 และคณะทำงานเพื่อทำแผนการแก้ไขฟื้นฟูและการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนบริเวณอ่าวมาหยาเห็นชอบร่วมกันหรือตามศาลเห็นสมควรในกรณีที่จำเลยที่ 2 และคณะทำงานดังกล่าวไม่สามารถเห็นชอบร่วมกันได้ นอกจากนั้นที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

สำหรับอ่าวมาหยา สถานที่ท่องเที่ยวทางทะเลที่โด่งดังที่สุดแห่งหนึ่งของไทย อ่าวมาหยาได้ชื่อว่าอ่าวที่มีความสวยงามมาก ด้วยหน้าผาที่โอบล้อม มีตะกอนทรายละเอียด สีขาว และจุดเริ่มต้นที่ทำให้อ่าวมาหยาโด่งดังไปทั่วโลก เพราะหนังเรื่อง The Beach ซึ่งทำให้นักท่องเที่ยวรู้จักอ่าวมาหยา แต่การถ่ายทำหนังเรื่องเดอะบีช ซึ่งมีการใช้แพขนานยนต์ไปเทียบ เพื่อขนย้ายเครื่องจักรกลขนาดใหญ่ขึ้นฝั่ง เมื่อปี 2542 พบว่าสันทรายเกิดรอยเว้า ถูกน้ำทะเลกัดเซาะนอกจากนี้การปรับพื้นที่ปลูกต้นมะพร้าว และสร้างที่พักชั่วคราว ยังทำลายพืชประจำถิ่น ทำลายความสวยงามมาจนถึงปัจจุบัน

อบจ.กระบี่ และ อบต.อ่าวนาง อ.เมืองกระบี่ จึงได้ยื่นฟ้องผู้อนุญาตให้ “ทเวนตี้ เซ็นจูรี่ ฟ็อกซ์” บริษัทสร้างภาพยนตร์เรื่อง เดอะบีช เพื่อเรียกค่าเสียหายจากการกระบวนการฟื้นฟูสภาพแวดล้อม บนอ่าวมาหยา อ่าวที่สวยงามที่สุดบนเกาะพีพีเล ต.อ่าวนาง อ.เมืองกระบี่ โดยฟ้องขอให้ชดเชยค่าเสียหายเป็นเงิน 100,000,000 บาท

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active