รวมพลังกำจัดขยะ กทม. สร้างแรงจูงใจ สร้างมูลค่า

ภาคีเครือข่ายร่วมหารือร่างแผนจัดการขยะที่ ‘ต้นทาง’ สร้างความตระหนักรู้ในห้องเรียน นำร่องระบบขนถ่ายและการจัดเก็บที่เหมาะสม เปิดเผยข้อมูลทั้งระบบ ด้าน TDRI เสนอ ใช้เทคโนโลยี นวัตกรรมร่วมบริหารจัดการ

วันนี้ (30 มิ.ย. 65) ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยภายหลังหารือถึงร่างแผนปฏิบัติการพัฒนาระบบจัดการมูลฝอยที่แหล่งกำเนิดของ กทม. กับ ดร.สุจิตรา วาสนาดำรงดี สถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และภาคีเครือข่าย ประกอบด้วย กลุ่มวิชาการ/ที่ปรึกษา กลุ่มธุรกิจเพื่อสังคม สตาร์ทอัป ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมและสื่อมวลชน นำเสนอ ว่า โครงการแก้ปัญหามูลฝอยนี้ เริ่มตั้งแต่สมัยผู้ว่าฯ อัศวิน ขวัญเมือง ในการเชิญภาคเอกชนมาร่วมกันดูแลขยะตั้งแต่ต้นทาง วันนี้ถือว่าเป็นนิมิตรหมายที่ดีที่มีการหารือกับ 30 องค์กร การจัดการขยะที่จะให้ได้ผลทั้งภาครัฐและเอกชนต้องร่วมมือกัน ไม่มีทางที่ภาคเอกชนหรือกทม.เพียงอย่างเดียวจะแก้ปัญหาได้

การประชุมครั้งนี้เครือข่ายได้หารือแผนและรายละเอียดหลายส่วน หลักใหญ่ที่ต้องทำ คือ

  1. กทม. และเอกชน ร่วมกันบริหารจัดการขยะในกรุงเทพฯ เพื่อให้เกิดการดูแลที่ยั่งยืนในอนาคต
  2. ทุกภาคส่วนเห็นตรงกันว่า การแยกขยะอินทรีย์ หรือขยะเปียกออกจากขยะแห้ง จะทำให้ขยะที่เหลือมีมูลค่า สามารถนำมา Recycle ได้ง่าย ซึ่งต้องร่วมกันทั้งระบบ กทม. ก็ต้องมีระบบขนถ่ายและการจัดเก็บที่เหมาะสมด้วย แนวคิดจะนำร่องในบางพื้นที่ หรือบางโซนก่อน เพื่อทดสอบระบบและขยายผลต่อไป
  3. ลดการกำเนิดขยะที่ต้นทาง โดยให้ความรู้เกี่ยวกับการ Reduce Reuse Recycle เพื่อให้เกิดการนำมาทำอย่างเป็นรูปธรรม
  4. ข้อมูลความโปร่งใสเป็นสิ่งสำคัญ การจัดการขยะที่ต้นทาง และปลายทางเป็นอย่างไร กทม.ต้องเปิดเผย เพื่อให้ประชาชนทราบว่ากระบวนการทั้งระบบเป็นอย่างไร งบประมาณ ต้นทุน จำนวนขยะ ซึ่งหากเรามีข้อมูลที่ชัดเจน ทุกคนจะเห็นโจทย์ และสามารถหาคำตอบทั้งระบบร่วมกัน เครือข่ายจะแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบตามรายละเอียดของ Action Plan เพื่อให้ผลการชัดเจน

“รายละเอียดหลายส่วนสามารถเริ่มได้เลย ตั้งแต่การให้ความรู้ จัดเป็นหลักสูตรที่อยู่ใน รร.กทม. หรืออาจจะเริ่มจากหน่วยงานในกทม. ก่อน ทั้งการลดขยะ แยกขยะ การนำขยะอินทรีย์มาทำปุ๋ย หลายโครงการไม่ได้ใช้งบประมาณ แต่ที่ผ่านมาเราเน้นที่ปลายทางมาก ทั้งการฝังกลบหรือการเผา แต่พอเป็นต้นทางไม่มีการจัดการที่มีประสิทธิภาพ ทำให้เกิดปัญหาเรื่องการนำกลับไปใช้ใหม่ ครั้งนี้ถือเป็นมิติที่ดี ถ้าเอกชนไม่ร่วมมือกับเราไม่มีทางสำเร็จได้ หรือไม่ไว้ใจกทม. เมื่อแยกขยะแล้ว กทม.จะนำไปร่วมอีก ภาคเอกชนก็จะไม่ทำ ที่ผ่านมาเราใช้เงินจำนวนมากในการบริหารจัดการขยะ และคำตอบปัจจุบันยังไม่ยั่งยืน ความร่วมมือจะทำให้ทุกอย่างยั่งยืนมากขึ้น”

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

ทั้งนี้ ภายหลังการหารือ โครงการมือวิเศษกรุงเทพฯ ได้ส่งมอบชุดสะท้อนแสงเพื่อความปลอดภัยให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เพื่อส่งมอบต่อให้พนักงานรักษาความสะอาด นำร่อง 100 ชุด โดยเป็นชุดที่ผลิตจากกระบวนการรีไซเคิลขวดพลาสติก

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เปิดเผยข้อมูลว่า ในปัจจุบัน ศูนย์กำจัดขยะทั้ง 3 แห่งของ กทม. มีศักยภาพในการรองรับขยะมูลฝอยรวมอยู่ที่ 8,700 ตันต่อวัน โดยแบ่งเป็นศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยอ่อนนุช 3,100 ตันต่อวัน ศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยหนองแขม 3,600 ตันต่อวัน และศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยสายไหม 2,000 ตันต่อวัน ในทางปฏิบัติขยะประมาณ 500 ตันต่อวันถูกนำเข้าเตาเผาขยะที่ศูนย์กำจัดขยะหนองแขม และขยะประมาณ 1,600 ตันต่อวันถูกนำไปเข้าโรงงานหมักปุ๋ย  

อย่างไรก็ตาม กว่าร้อยละ 80 ของขยะมูลฝอยที่เกิดขึ้นในพื้นที่กรุงเทพฯ ถูกนำไปฝังกลบที่จังหวัดอื่นทั้งนครปฐมและฉะเชิงเทรา ซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบเชิงลบต่อคนในพื้นที่เหล่านั้น ทั้งปัญหากลิ่นและผลกระทบต่อสุขภาพอนามัย  นอกจากนี้ แนวทางการจัดการขยะมูลฝอยโดยใช้วิธีการฝังกลบไม่ใช่วิธีการที่ยั่งยืน เนื่องจากในอนาคตหลุมฝังกลบทั้งสองแห่งก็จะถูกใช้เต็มศักยภาพ ไม่สามารถรองรับขยะมูลฝอยเพิ่มเติมได้

ปัญหาขยะมูลฝอยยังก่อให้เกิดภาระด้านงบประมาณในการจัดการต่อ กทม. สูงมาก โดยค่าใช้จ่ายในการเก็บขนและกำจัดขยะมูลฝอยระหว่างปี 2557-2563 อยู่ประมาณ 6-7 พันล้านบาทต่อปี หรือประมาณร้อยละ 8 ของงบประมาณของ กทม. ในขณะที่จัดเก็บค่าธรรมเนียมการให้บริการในการจัดการสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอยได้เพียงประมาณ500 ล้านบาทต่อปี  ส่วนต่างดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่าค่าใช้จ่ายในการเก็บขนและกำจัดขยะมูลฝอยสูงมากตามปริมาณขยะมูลฝอย ในขณะที่ค่าธรรมเนียมต่ำเกินไปและไม่สะท้อนต้นทุน โดยมีข้อเสนอในการแก้ปัญหา ดังนี้

  1. ใช้ข้อมูลอย่างเป็นระบบ ซึ่งนอกจากข้อมูลประเภทหรือปริมาณขยะในภาพรวมแล้ว จะต้องมีข้อมูลลักษณะและพฤติกรรมในการทิ้งขยะในแต่ละชุมชน เพื่อให้สามารถวางแผน จัดสรรทรัพยากรและสื่อสารในระดับชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  2. พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบการจัดการขยะตั้งแต่ต้นทาง กลางทางและปลายทาง ให้เอื้อต่อการแยกขยะในทิศทางเดียวกัน เช่น จัดให้มีอุปกรณ์เก็บขยะโดยแยกประเภทในระดับชุมชนอย่างทั่วถึง และมีรถและอุปกรณ์เก็บขยะที่แบ่งตามประเภทของขยะ ซึ่งจะช่วยลดภาพจำว่า “แยกขยะไป ก็ถูกนำไปรวมกันอยู่ดี” และจะช่วยกระตุ้นให้เกิดการแยกขยะที่ต้นทางมากขึ้น
  3. เน้นการมีส่วนร่วมของชุมชน สถานประกอบการหรืออาคารที่อยู่อาศัยขนาดใหญ่ในการแก้ไขปัญหา โดยทำงานร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และสร้างความรู้สึกรับผิดชอบร่วมกัน
  4. ใช้เทคโนโลยีและแรงจูงใจที่เหมาะสมในการจัดการขยะ ทั้งต้นทาง กลางทาง และปลายทาง เช่น ในส่วนต้นทาง อาจทำระบบการแยกขยะต้นทางเพื่อแลกแต้ม สร้างจุดไดร์ฟทรูเพื่อทิ้งขยะที่คัดแยกแล้วในแต่ละเขต และร่วมมือกับแพลตฟอร์มสำหรับเรียกซาเล้งให้มารับขยะที่ผ่านการคัดแยกแล้ว  ในส่วนกลางทาง ควรดำเนินการทางกฎหมายอย่างเคร่งครัดกับผู้ลักลอบทิ้งขยะ โดยอาจลงทุนเพิ่มในเทคโนโลยีที่สามารถตรวจจับการลักลอบทิ้งขยะแบบเรียลไทม์ เช่น CCTV หรือแอพลิเคชั่นรายงานการลักลอบทิ้งขยะ โดยสร้างแรงจูงใจให้เกิดการแจ้งเบาะแสจากประชาชนทั่วไป  ในส่วนปลายทาง ควรใช้เทคโนโลยีอื่นในการจัดการขยะแทนการฝังกลบ เช่น ใช้ขยะผลิตไฟฟ้าโดยมีการจัดการที่ได้มาตรฐาน ไม่สร้างผลกระทบต่อชุมชนรอบข้าง

Author

Alternative Text
AUTHOR

พิชญาพร โพธิ์สง่า

นักข่าวเล่าเรื่อง ที่เชื่อว่าการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์จะช่วยจรรโลงสังคมได้