‘ศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ’ รายงานสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ในทุกภูมิภาค พบมีค่าเกินมาตรฐานหลายพื้นที่ ด้าน ‘Air4Thai’ ตรวจพบ กทม. – ปริมณฑล ฝุ่นเกินมาตรฐานทุกพื้นที่ แจ้งเตือนประชาชนงดกิจกรรมกลางแจ้ง 9 – 11 เม.ย. นี้
วันนี้ (10 เม.ย. 2565) ศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ แจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลางและตะวันตก ภาคตะวันออก กรุงเทพฯ และปริมณฑล ควรเฝ้าระวังสุขภาพ หลีกเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้งหรือใช้อุปกรณ์ป้องกันตนเองหากมีความจำเป็น ระหว่างวันที่ 9-11 เม.ย. 2565 เนื่องจากพบค่าฝุ่น PM 2.5 เกินมาตรฐานในหลายพื้นที่ ดังนี้
- ภาคเหนือ ตรวจวัดได้ 44 – 101 มคก./ลบ.ม.
- ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตรวจวัดได้ 48 – 110 มคก./ลบ.ม.
- ภาคกลางและตะวันตก ตรวจวัดได้ 57 – 94 มคก./ลบ.ม.
- ภาคตะวันออก ตรวจวัดได้ 49 – 68 มคก./ลบ.ม.
- ภาคใต้ ตรวจวัดได้ 11 – 18 มคก./ลบ.ม.
- กรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยสถานีตรวจวัดของ คพ. ร่วมกับ กทม. ตรวจวัดได้ 58 – 99 มคก./ลบ.ม.
ขณะที่เว็บไซต์ air4thai รายงานสถานการณ์คุณภาพอากาศพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ตรวจพบค่าฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) ระหว่าง 56-99 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (µg/m3) อยู่ในระดับ เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพถึงมีผลกระทบต่อสุขภาพ และเกินมาตรฐานทุกพื้นที่ที่มีเครื่องตรวจวัด โดยพื้นที่ที่มีฝุ่น PM2.5 มากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่
- ริมถนนเพชรเกษม เขตภาษีเจริญ 99 มคก.ต่อ ลบ.ม. อยู่ในระดับ มีผลกระทบต่อสุขภาพ
- ริมถนนพุทธมณฑล 1 เขตตลิ่งชัน 87 มคก.ต่อ ลบ.ม. อยู่ในระดับ เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ
- ริมถนนลาดกระบัง เขตลาดกระบัง 86 มคก.ต่อ ลบ.ม. อยู่ในระดับ เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ
- แขวงหิรัญรูจี เขตธนบุรี 85 มคก. ต่อ ลบ.ม. อยู่ในระดับ เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ
- ริมถนนเจริญนคร เขตคลองสาน 85 มคก. ต่อ ลบ.ม. อยู่ในระดับ เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ
สนธิ คชวัฒน์ นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม อธิบายว่า ช่วงนี้ในกรุงเทพฯ ลมค่อนข้างสงบ และสภาพอากาศปิดตัว เนื่องจากความกดอากาศสูงจากประเทศจีนแผ่มาปกคลุมประเทศไทย มีกำลังอ่อนลง และลมพัด จากกลางเมืองไปสะสมทางตะวันตก เช่น บางขุนเทียน บางบอน ทำให้โซนนี้มีฝุ่นสะสมมากกว่าพื้นที่อื่น แต่ที่แปลก คือ ปกติเดือนเมษายน ฝุ่น PM 2.5 จะน้อย แต่ปีนี้กลับสูงกว่าปกติ ซึ่งอาจเกี่ยวข้องสภาวะโลกร้อน และต้องการให้รัฐแก้ปัญหาที่แหล่งกำเนิดฝุ่นอย่างจริงจัง ซึ่งมาจากรถยนต์และการก่อสร้าง
ทั้งนี้ การเพิ่มสูงขึ้นของค่าฝุ่น ศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ รายงานว่ามีสาเหตุจากแหล่งกำเนิดในพื้นที่รวมถึงพบจุดความร้อนกระจายตัวอยู่ทั้งในประเทศและประเทศอนุภูมิภาคแม่โขง ได้แก่ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เมียนมา เวียดนาม กัมพูชา ประกอบกับสภาพอุตุนิยมวิทยาไม่เอื้อต่อการระบายของฝุ่นในพื้นที่ สภาพอากาศที่นิ่ง ลมอ่อน และไม่มีฝนตกในระยะนี้ ซึ่งคาดการณ์ว่าจะมีแนวโน้มดีขึ้นหลังวันที่ 11 เม.ย. เป็นต้นไป เนื่องจากสภาพอากาศนิ่งลดลงประกอบกับพลังงานการยกตัวของมวลอากาศสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ