งานวิจัย ชี้คนไทยเผชิญ “มลพิษอากาศ – PM2.5” หนัก ทำอายุสั้นลง เกือบ 2 ปี

ผลศึกษา Air Quality Life Index (AQLI) มหาวิทยาลัยชิคาโก สหรัฐฯ พบ คนไทยเผชิญมลพิษทางอากาศหนักกว่าเกณฑ์ที่ WHO กำหนดถึง 5 เท่า ห่วงยิ่งปล่อยไว้ ไม่แก้จริงจัง ประชาชนเจอปัญหาสุขภาพเพิ่มขึ้น อายุสั้นลง   

วานนี้ (4 มี.ค.65) Thailand Can, เครือข่ายอากาศสะอาด จัดเวทีเสวนาออนไลน์ เปิดพื้นที่การศึกษาและปัญหาผลกระทบด้านสุขภาพจากไทยและต่างประเทศ ผลักดันให้รัฐบาลทุกประเทศให้ความสำคัญและตระหนักถึงผลกระทบด้านสุขภาพจากมลพิษทางอากาศในหัวข้อ “สู้เพื่อลมหายใจของเรา ร่วมกันสร้างอากาศที่จะหายใจได้อีกครั้ง” มีวิทยากรจากหลากหลายประเทศเข้าร่วมเสนอข้อมูลทางวิชาการ

Dr.Kenneth Lee ผู้อำนวยการ Air Quality Life Index (AQLI) มหาวิทยาลัยชิคาโก  ซึ่งศึกษาเรื่องมลพิษทางอากาศหลายปีที่ผ่านมา พบว่า อายุของประชากรลดลงเมื่อฝุ่น PM2.5 เพิ่มมากขึ้น ถือเป็นปัญหาของทั่วโลก ซึ่งพบมากสุดที่ South Asia, South east Asia, และ Asia โดยเฉพาะประเทศที่ยังไม่พัฒนา จะไม่ตระหนักกับปัญหานี้และความเชื่อมโยงของ PM2.5 ยังเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

Dr.Kenneth Lee ผู้อำนวยการ Air Quality Life Index (AQLI) มหาวิทยาลัยชิคาโก

การพัฒนา AQLI  จึงเริ่มขึ้น และเริ่มจากการศึกษาระดับมลพิษทางอากาศจากทั่วโลก จากนั้นเอาข้อมูลดังกล่าวมาตอบคำถามที่ว่า หากสามารถปรับปรุงและลดปัญหามลพิษทางอากาศในพื้นที่ต่าง ๆ ได้แล้ว จะช่วยคืนอายุขัยให้ประชากรได้มากน้อยแค่ไหน

ในปี 2020 ระดับมลพิษในประเทศไทย เพิ่มขึ้นจากช่วงปี 2019 ถึง 10.8% ส่งผลให้ไทย อยู่ในอันดับ 4 ของภูมิภาค และเมื่อดูในระยะยาวจะเห็น ว่า ระดับ PM2.5 ในไทยเพิ่มขึ้น 22.7% จากปี 2000 และอยู่ในระดับที่สูงกว่า Guideline ของ WHO ถึง 5 เท่า เจาะลึกลงในระดับภาค จะเห็นว่า ภาคเหนือเป็นภาคที่มีมลพิษทางอากาศสูงที่สุด ตามมาด้วยภาคอีสาน ภาคกลาง และภาคใต้ ส่วนแหล่งกำเนิด PM2.5 ในประเทศไทย หลัก ๆ มาจากมลพิษจากยานพาหนะ โรงงาน และการเผาทางการเกษตร 

“หากมองถึงผลกระทบต่ออายุขัยของประชากร ปัญหามลพิษทางอากาศ ส่งผลกระทบต่ออายุขัยมากกว่าสาเหตุอื่น ๆ การแก้ปัญหาทำได้จริง แต่ต้องทำในระดับนโยบาย ซึ่งมีตัวอย่างให้เห็นแล้วในประเทศจีน เมื่อทำจริงจัง”

มลพิษทางอากาศ บั่นทอนสุขภาพ – อายุสั้นลง

ผู้อำนวยการ AQLI มหาวิทยาลัยชิคาโก บอกด้วยว่า มีการวิจัยในประเทศจีนเกี่ยวกับอายุขัยที่ลดลงของการเพิ่มขึ้นของฝุ่น PM2.5 และนำมาเทียบเคียงกับประเทศไทย จะเห็นว่า หากไทยสามารถลดระดับมลพิษลงได้ 40% จะสามารเพิ่มอายุขัยเฉลี่ยให้ประชากรไทยได้ โดยเฉลี่ยคนละประมาณ 1 ปี  ถ้าภาคเหนืออยู่ที่ 1.3 ปี กล่าวโดยสรุปคือ คนไทย 68 ล้านคน อาศัยอยู่ในพื้นที่ทีมีมลพิษทางอากาศสูงกว่าที่ WHO แนะนำ อายุขัยของประชากรไทย ปัจจุบันถูกลดลงถึง 1.8 ปี ด้วยปัญหาดังกล่าว

Dr.Sumi Mehta นักระบาดวิทยาอาวุโส Vital Strategies มีประสบการณ์ในด้านการสาธารณสุขในหลายภูมิภาคทั่วโลก ระบุว่า  ผลวิเคราะห์ที่Dr.Kenneth Lee นำเสนอ เป็นเครื่องบ่งชี้ถึงปัญหาดังกล่าว วิธีการตีความผลงานวิจัย คือ ทารกแรกเกิดที่เกิดมาในประเทศไทยในสภาวะมลพิษในปัจจุบัน จะมีชีวิตเฉลี่ยสั้นกว่าที่ควรจะเป็นเกือบ 1 ปี และปัญหาของไทยไม่มีทีท่าว่าจะลดลง และมีแนวโน้มสูงกว่าที่ WHO แนะนำ ถึง 5 เท่า และได้พบว่า การเพิ่มขึ้นของประชากรมีปัญหาสุขภาพเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากเจอกับมลพิษทางอากาศ 

“ประเทศไทยควรเริ่มใช้มาตรฐานมลพิษในเชิงผลกระทบต่อสุขภาพอย่างจริงจัง เราทราบดีว่าแหล่งกำเนิดมาจากไหน เรารู้ดีว่าต้องแก้ยังไง ดังนั้นการแก้ไขปัญหาต้องอาศัยระดับนโยบายอย่างจริงจัง” 

เสนอเร่งศึกษาหลักฐานเชิงประจักษ์ ตัวช่วยรับมือพิษ PM2.5

ขณะที่ นพ.วิรุฬ ลิ้มสวาท ผู้อำนวยการสำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งเครือข่ายอากาศสะอาด (ประเทศไทย) ระบุว่า มีหลักฐานมากมายจากทั่วโลกถึงความเชื่อมโยงระหว่างมลพิษกับปัญหาทางสุขภาพ แต่ในประเทศไทยไม่มีหลักฐานเชิงประจักษ์เรื่องนี้มากนัก มีเพียงตัวอย่างบางกรณี ที่ต้องการพัฒนาความเชื่อมโยงระหว่างปัญหามลพิษกับปัญหาสุขภาพที่ชัดเจนขึ้นกว่านี้ 

“สิ่งที่เราพยายามคือรวบรวมหลักฐานของผลกระทบจากมลพิษต่อสุขภาพในด้านต่าง ๆ การใช้ AQLI จะเป็นตัวช่วยที่ดีในการสร้างความชัดเจนของผลกระทบจากมลพิษดังกล่าว เราทราบกันดีว่า PM2.5 อันตราย แต่สิ่งที่อันตรายมากกว่าคือสารต่าง ๆ ที่มากับฝุ่น ดังนั้นจึงเป็นการสำคัญที่เราจะต้องศึกษาโดยละเอียดถึงแหล่งกำเนิดในพื้นที่ต่าง ๆ และผลกระทบที่แท้จริงต่อปัญหาของประชาชน”

บทเรียนอินโดนิเซีย กระตุกรัฐใส่ใจปัญหามลพิษทางอากาศ

Mr.Fajri Fadhillah นักกฎหมายสิ่งแวดล้อม Indonesian Center for Environmental Law  ที่มีบทบาทผลักดันเรื่องสิ่งแวดล้อมและการควบคุมมลพิษทางอากาศในประเทศอินโดนีเซีย และมีบทบาทในการฟ้องร้องประธานาธิบดีอินโดนิเซีย จากกรณีการไม่แก้ปัญหามลพิษทางอากาศ เมื่อปีที่แล้ว ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ว่า ปัญหามลพิษทางอากาศในจาการ์ต้า ปี 2017 สิ่งที่ท้าท้ายอย่างแรกคือการสร้างพลังร่วม ผลักดันการแก้ปัญหาจากภาคประชาชน โดยในช่วงแรกยังไม่ได้รับการสนับสนุนจากประชาชนเท่าที่ควร เพราะไม่รู้และไม่ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว จากนั้นจึงเริ่มพัฒนาหลักฐานที่ชัดเจนถึงปัญหามลพิษทางอากาศในจาการ์ต้า ในช่วงแรกเนื่องจากไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนทำให้ภาครัฐสามารถปฏิเสธปัญหาได้  

“มลพิษในจาการ์ต้ามีสาเหตุมาจากหลายแหล่งไม่ใช่เฉพาะยานพาหนะเท่านั้น ซึ่งส่วนใหญ่คนยังไม่รู้ ดังนั้นการวิเคราะห์รายละเอียดแหล่งมลพิษและผลกระทบจึงสำคัญ  ตัวอย่างของอินโดนีเซียในการฟ้องร้อง คือ การเริ่มหาเครื่องวัดค่าฝุ่น PM2.5 ในช่วงแรกของการทำแคมเปญ คือ เน้นประชาชนและทำงานร่วมกับองค์กร NGO หลายองค์กร ในช่วงปี 2018/2019 กระบวนการฟ้องร้องรัฐ เริ่มในช่วงฤดูแล้ง ที่มีปัญหามลพิษสูง ทำให้ได้ประชาชนจำนวนมาก เราเน้นการแก้ปัญหามาจากภาคประชาชน ไม่ใช่รัฐหรือหน่วยงานใด” 

สำหรับการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศของประเทศไทย ภาคประชาชนหลายเครือข่ายรวมถึงพรรคการเมือง พยายามเสนอให้มีการบังคับใช้กฎหมายอากาศสะอาด ซึ่งประเด็นนี้ในวงเสวนาได้แลกเปลี่ยนเพิ่มเติม ว่า การมีกฎหมายเฉพาะ จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้าง เพราะที่ผ่านมาไม่สามารถควบคุมแหล่งกำเนิดได้เพราะนโยบายไม่จริงจัง ชัดเจนมากพอ อีกทั้งการศึกษาปัญหาด้านสุขภาพของไทยที่เป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ยังน้อยมาก จึงส่งผลต่อการผลักดันในเชิงนโยบายโดยเฉพาะการผลักดันให้มีดัชนีชี้วัดสุขภาพด้านผลกระทบที่เกิดจากมลพิษทางอากาศ

Author

Alternative Text
AUTHOR

อรวรรณ สุขโข

นักข่าวที่ราบสูง ชอบเดินทางภายใน ตั้งคำถามกับทุกเรื่อง เชื่อในศักยภาพมนุษย์ ขอเพียงมีโอกาส