Post Election ชายแดนใต้ ฝัน ‘การเมือง’ นำการทหาร สู่ ‘สันติภาพ’ แท้จริง

ชวนมองภาพอนาคต ยุติกฎหมายพิเศษ ลดอำนาจทหาร สร้างความเท่าเทียม เป็นธรรม ย้ำต้องหนุนชุมชนเข้มแข็ง ลดเหลื่อมล้ำระบบสาธารณสุข การพัฒนาต้องคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก เปิดพื้นที่เรียนรู้หลากหลาย สร้างสรรค์เพื่อเยาวชน รับฟังคนเห็นต่าง

วันนี้ (1 เม.ย.66) ไทยพีบีเอส และภาคีเครือข่าย ร่วมกันจัดเวที Post Election ภาพอนาคตหลังเลือกตั้ง เวทีที่ 7 จ.ปัตตานี โดยมีตัวแทนภาคประชาสังคม นักกิจกรรมในพื้นที่ชายแดนใต้ ไม่น้อยกว่า 50 คน มองภาพอนาคตหลังเลือกตั้ง และภาพอนาคตอีก 10 ข้างหน้า ใน 6 กลุ่มประเด็น ประกอบด้วย การศึกษา, สุขภาพ, เศรษฐกิจ, สังคม, สิ่งแวดล้อม และ รัฐ ราชการ ความมั่นคง

สำหรับกระบวนการมองภาพอนาคต (Scenario) หลังเลือกตั้ง และในอีก 10 ปี ข้างหน้านั้นได้กำหนดให้ผู้เข้าร่วมเวทีแต่ละคน สามารถเลือกประเด็นที่สนใจ และแบ่งกลุ่มย่อยใน 6 ประเด็นดังกล่าว พร้อมทั้งให้เปรียบการมองภาพอนาคตเป็น ‘ต้นไม้’ โดยรอบแรก ให้ร่วมกันมองภาพอนาคตที่อยากเห็น เปรียบเสมือน ‘ใบ’ จากนั้นในรอบที่ 2 ให้ผู้เข้าร่วมเวทีสลับกลุ่มย่อย เพื่อชวนมองภาพความจริงปัจจุบันของประเด็นที่เลือก เปรียบเสมือน ‘ราก’ ส่วนในรอบสุดท้าย ให้ผู้เข้าร่วมเวทีแต่ละคน กลับคืนกลุ่มเดิม เพื่อร่วมกันมองว่าใครต้องทำอะไรบ้าง นั่นคือส่วนของ ‘ลำต้น’ เพื่อขับเคลื่อนให้รากไปถึงใบ

ทั้งนี้หลังใช้เวลาแบ่งกลุ่มย่อย นำไปสู่ข้อสรุปภาพอนาคตทั้ง 6 ประเด็น โดยตัวแทนของแต่ละกลุ่มย่อยได้ร่วมกันนำเสนอ

เพิ่มโอกาสการศึกษาเด็กชายแดนใต้

ประเด็นด้านการศึกษา มองว่า ปัจจุบันเด็กยังขาดทักษะภาษาอังกฤษ ทำให้ต่อยอดได้ยาก ก้าวช้ากว่าคนอื่น ๆ  ขาดการเรียนรู้ข้อมูลท้องถิ่น ขาดการติดตามประเมินผลโรงเรียน หลักสูตร นอกจากนี้เห็นว่าโครงการเรียนฟรี 15 ปี ไม่มีคุณภาพ อาหารกลางวันยังไม่มีคุณภาพ และครูส่วนหนึ่งยังไม่มีคุณภาพ

สำหรับภาพอนาคตเรื่องการศึกษานั้น อยากเห็นโรงเรียนดีใกล้บ้าน การเรียนรู้ตลอดชีวิต การศึกษาทักษะชีวิตชุมชน การศึกษาเพื่อการใช้ชีวิตรอด เรียนในสิ่งที่สามารถนำไปใช้ต่อยอดอาชีพได้ นอกเหนือจากหลักสูตรทั่วไป ทำให้เด็กได้เรียนในสิ่งที่อยากเรียน เพิ่มโอกาสเรื่องทุนการศึกษาที่มากขึ้น เพราะเชื่อว่าเด็กชายแดนใต้เก่ง แต่ยังขาดโอกาส ขณะที่การพัฒนาทักษะต้องมีความยืดหยุ่น ที่สำคัญคือต้องทำให้การศึกษาเท่าเทียม ลดความเหลื่อมล้ำ มีช่องทางให้เด็กได้เข้าถึงการศึกษาที่หลากหลาย

นอกจากนี้ยังมองว่า หน่วยงานภาครัฐ ทั้ง กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวง อว. ต้องเข้าใจบริบทพื้นที่ ปรับการทำงานให้จริงจังกว่าเดิม ในส่วนท้องถิ่นต้องปรับระบบใหม่ เพราะที่ผ่านมาการทำงานยังไม่เชื่อมโยงกันจริง ๆ อีกทั้งต้องลดบทบาทฝั่ง กอ.รมน. ไม่ต้องเกี่ยวข้องกับการศึกษา

ลดเหลื่อมล้ำ-ระบบบริการสาธารณสุขมาตรฐานเดียว

ประเด็นสาธารณสุข และสุขภาพ มองว่า รากของปัญหาคือนโยบายด้านสุขภาพในทางปฏิบัติไม่ได้เกิดขึ้นจริง เช่น นโยบายสร้างนำซ่อม และการเข้าถึงระบบสุขภาพยังมีรอยต่อ การสนับสนุนงบฯ วิจัยด้านสุขภาพ ยังต่างคนต่างทำ ไม่สามารถผลักดันนโยบายไปได้ด้วยตัวเอง ชาวบ้านในชุมชนยังไม่รับรู้สิทธิการรักษาพยาบาล

ดังนั้นภาพอนาคตจึงอยากเห็น ประชาชนมีสุขภาวะที่ดี ลดความเหลื่อมล้ำในระบบบริการสาธารณสุขที่ไม่ได้เป็น มาตรฐานเดียวกัน อยากให้สุขภาวะเด็กได้รับการดูแลอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งมิติของเด็ก เยาวชนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรง ประชาชนต้องตื่นตัวเรื่องการจัดการตนเอง ผู้สูงอายุได้รับการดูแล มีระบบดูแลผู้สูงอายุในภาวะพึ่งพิง อยากให้มีความเท่าเทียมด้านสวัสดิการผู้สูงอายุ อนามัยแม่และเด็ก ภาวะทุพโภชนาการ ดูแลการตั้งครรภ์ไม่พร้อม อยากให้มีกองทุนฉุกเฉิน กระจายมาสู่ท้องถิ่น สร้างเมืองสุขภาวะที่เอื้อต่อกิจกรรมทางกาย เพื่อสุขภาวะ รัฐและท้องถิ่นต้องไม่ทำงานแยกส่วนกัน

สร้างชุมชนเข้มแข็งด้วยเศรษฐกิจฐานราก

ประเด็นเศรษฐกิจ มองว่ารากของปัญหา คือ ความไม่จริงจังการทำงานของภาครัฐ คุณค่าของแรงงานถูกลดทอน ผู้ประกอบการถูกกดทับอยู่กับนโยบายรัฐที่ไม่ตอบสนองในพื้นที่ ทักษะชุมชน ชาวบ้าน การตลาด การประกอบอาชีพ การเงิน การบัญชี ยังมีน้อย สถาบันการเงินการกู้ยืมทุน การเข้าถึงแหล่งทุน เงินกู้ของชาวบ้านรากหญ้ายังมีน้อย และเข้าถึงได้ยากด้วยเงื่อนไขต่าง ๆ   

ดังนั้นภาพอนาคต จึงอยากให้ ชุมชนสามารถพึ่งพาเศรษฐกิจได้ด้วยตัวเอง โดยไม่ต้องรอรัฐ คนรุ่นใหม่ต้องทำงานที่บ้านได้ โดยมีฐานการผลิตแปรรูปที่ชุมชน สร้างเศรษฐกิจจากฐานราก เน้นทรัพยากรในชุมชน การเพิ่มคุณค่าให้กับผลผลิตในพื้นที่ การมีวัฒนธรรมร่วมของพื้นที่ชายแดนใต้ สามารถเชื่อมโยงส่งออกวัฒนธรรมไปสู่ต่างประเทศ ทำให้ภาคเอกชนเข้มแข็งมากขึ้น นอกจากนี้การลงทุนต่าง ๆ ต้องไม่กระทบสิ่งแวดล้อม ต้องขับเคลื่อนไปสู่การเป็นพื้นที่แหล่งอาหารฮาลาลของโลก

“อยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องปรับการทำงานเชิงรุก เข้าไปหาชาวบ้าน ให้ช่วยออกแบบนวัตกรรมด้วยบทบาทของหน่วยงานที่มีอยู่แล้ว รัฐเองมีความรู้ แต่การสื่อสารระหว่างเจ้าหน้าที่กับชาวบ้านยังไม่เห็นผล จึงอยากให้มีตัวกลาง เข้ามาหนุนเสริมชาวบ้าน เพิ่มช่องทางการตลาดให้มากกว่านี้ ทำให้เกษตรกรรักษาคุณภาพสินค้า พัฒนาสินค้าต่อไปได้ และต้องทำให้ประชาชนเข้าไปตรวจสอบการทำงานของรัฐอย่างโปร่งใสด้วย

ดูแลสังคม ไม่เลือกปฏิบัติ

ในส่วนประเด็นสังคม มองภาพอนาคต ว่า การพัฒนาต้องเกิดขึ้นจากข้างล่างจริง ๆ ประชาชนทุกระดับต้องมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง ไม่ใช่แค่ผิวเผิน ประชาชนต้องมีอำนาจจัดการทรัพยากรของตัวเอง ชุมชนออกแบบกำหนดวิถีชีวิตของตัวเองได้ ประชาชนรู้สึกเป็นเจ้าของพื้นที่อย่างปลอดภัย สังคมชุมชนต้องได้รับการดูแลอย่างเป็นระบบต่อเนื่อง โดยไม่ถูกเลือกปฏิบัติ ชุมชนเข้มแข็ง พึ่งพาตัวเองได้ คนจนมีที่อยู่อาศัยอย่างมั่นคง

ทั้งนี้เห็นว่า คณะกรรมการอิสลามแต่ละจังหวัดควรมีบทบาทร่วมในการกำหนดแนวทางการพัฒนา หน่วยงานภาครัฐ ต้องกระจายอำนาจอย่างแท้จริง จริงใจ สถาบันการศึกษาในพื้นที่ต้องกำหนดหลักสูตรที่สอดรับกับการพัฒนาในพื้นที่

“สังคมยังไม่เข้มแข็ง ยังไม่มีทางออก ยังขาดตกบกพร่อง รัฐต้องปรับปรุงให้มากกว่านี้จึงจะนำไปสู่สังคมที่คาดหวังได้ แต่หลังการเลือกตั้งต้องได้รัฐบาลที่เปิดใจ ไม่บังคับโน่นนี่ ไม่อย่างนั้นเราไม่เอา”

โครงการพัฒนารัฐต้องไม่กระทบชาวบ้าน

ขณะที่ ประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม อยากเห็นการ พัฒนาที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริง อยากให้เยาวชนสนใจสิ่งแวดล้อมที่บริสุทธิ์ ทำให้ชุมชนสนใจการพัฒนาสิ่งแวดล้อม โดยการมีส่วนร่วม ทั้งนี้ยอมรับว่าที่ผ่านมาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่เข้ามาส่งเสริมการพัฒนาต่าง ๆ ใช้กรอบกติกาแบบตายตัว ไม่ยืดหยุ่น และไม่นำทางเลือกใหม่ ๆ มาสู่การพัฒนาในพื้นที่

“มิติสิ่งแวดล้อม คือฐานรากของทั้งหมด ตอนนี้โครงการพัฒนาของรัฐส่งผลกระทบ ทำให้ชาวบ้านไม่มีที่หากิน  
ดังนั้นจึงยังต้องพูดเรื่องเดิม ๆ เพราะที่ผ่านมานโยบายต่าง ๆ ยังไม่ได้ทำให้เป็นรูปธรรม”

‘การเมือง’ นำ ‘การทหาร’ สู่สันติภาพชายแดนใต้

สำหรับ ประเด็นรัฐ ราชการ ความมั่นคง มองว่าในตอนนี้ ในพื้นที่มีทหารเยอะมาก จำเป็นต้องลดอำนาจลง สำหรับการพูดคุยสันติภาพที่เกิดขึ้นที่ผ่านมา แต่ยังไม่เห็นดอกผลที่ชัดเจน มองว่ารัฐยังไม่จริงใจมากนัก ยังกดขี่ อัตลักษณ์ของผู้คน ความไม่ไว้วางใจยังมีอยู่ ความรุนแรงยังเกิดขึ้นเรื่อย ๆ

ดังนั้นภาพอนาคต จะไปสู่การสร้างสันติภาพให้เป็นจริงได้ กระบวนการพูดคุยต้องปรับจากการใช้ทหารนำ มาใช้การเมืองนำ ลดอำนาจทหารลงบางส่วน ไม่ให้ครองอำนาจมากเกินไป ยกเลิกกฎหมายพิเศษต่าง ๆ และที่ฝันไกลที่สุดคือต้องนำไปสู่การมี พ.ร.บ.สันติภาพ ให้เกิดขึ้นจริง

“ถามว่าใครต้องทำอะไร ถ้าพูดอย่างตรงไปตรงมา กระทรวงมหาดไทย เกี่ยวข้อง เรื่องความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ต้องทำให้ประชาชนมีความปลอดภัย ต้องกระจายอำนาจ ต้องคิดถึงแนวทางเขตปกครองพิเศษ ต้องมีนโยบายเลือกตั้งผู้ว่าฯ ส่วนกระทรวงกลาโหม ต้องลดอำนาจทหารลง สำหรับคณะรัฐมนตรี ต้องมีบทบาทการผลักดันให้เกิดกฎหมายว่าด้วยกระบวนการสันติภาพต้องเกิดขึ้นจริง ส่วนสภาความมั่นคงแห่งชาติ ต้องปรับกระบวนการพูดคุย กระบวนการยุติธรรม ต้องสามารถคุ้มครองสิทธิ ต้องสร้างกระบวนการความรู้ ความเข้าใจ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในพื้นที่ ขณะที่เรื่องอัตลักษณ์ ความไม่เข้าใจ ต้องให้บทบาทกระทรวงวัฒนธรรมสร้างให้เกิดความเข้าใจ การอยู่ร่วมกัน”

ขณะที่ ผศ.วีระศักดิ์ พุทธาศรี รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ มองว่า ข้อเสนอภาพอนาคตบางเรื่องต้องปรับโครงสร้าง บางเรื่องทำได้เร็ว อย่างเรื่องสุขภาพ ภาพอนาคตอยากเห็นสุขภาวะที่ดี การมีสุขภาพดีที่ต้องสร้างเอง ถือเป็นโจทย์ท้าทาย รวมถึงการพัฒนาจุดแข็งของพื้นที่ เช่น ประเด็นเรื่องของการผลิตอาหาร

ณาตยา แวววีรคุปต์ ผอ.ศูนย์สื่อสารวาระทางสังคมและนโยบายสาธารณะ ไทยพีบีเอส บอกว่า ชายแดนใต้เป็นพื้นที่แรกของ Post Election ที่วาดภาพอนาคตออกมาเป็นภาพต้นไม้ ทั้งเรื่องของสิ่งที่อยากเห็นในอนาคต สิ่งที่เผชิญ แล้วใครต้องทำอะไร เพื่อต่อยอดถึงความฝัน ดังนั้นการรับฟังเสียงผู้คนในชายแดนใต้ทุกมิติ จะนำไปสังเคราะห์ร่วมกับภาคอื่น ๆ เพื่อนำไปสู่ข้อเสนอภาพอนาคต แล้วส่งมอบให้กับทุกภาคส่วน นำไปสู่การปฏิบัติ ซึ่งเร็ว ๆ นี้ จะได้ร่วมกันสรุปภาพอนาคตประเทศไทยที่ทุกคนอยากเห็น

“ต้องทำให้เสียงของทุกคน เป็นภาพอนาคตของคนไทยได้จริง Post Election ไม่ใช่แค่วันเลือกตั้งเท่านั้น แต่ต้องทำสิ่งที่ฝันให้เป็นจริงให้ได้หลังการเลือกตั้ง”   

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active