‘คนรุ่นใหม่’ กับความรู้สึกร่วม ‘คดีตากใบ’

มองเหตุการณ์ตากใบ หนึ่งในสมการ จุดชนวนความขัดแย้ง จุดเริ่มฉุดการพัฒนาชายแดนใต้ วอนหาข้อสรุปเดินหน้าสันติภาพจริงจัง หวังกรณีเจ้าหน้าที่รัฐกระทำรุนแรงต่อประชาชน ไม่ควรเกิดขึ้นกับใครอีกแล้ว

The Active พูดคุยกับตัวแทนคนรุ่นใหม่ ที่เข้าร่วมกิจกรรม “20 ปี ตากใบ ความยุติธรรมยังไม่ปรากฏ” ซึ่งจัดขึ้นบริเวณ ลานสัญญา ธรรมศักดิ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เมื่อช่วงเย็นวานนี้ (22 ต.ค. 67) มีหลายแง่มุมที่สะท้อนถึงการรับรู้ในประเด็นตากใบของคนรุ่นใหม่

หันหน้าคุยกัน เพื่อฝันสันติภาพชายแดนใต้

มุมิน เจ๊ะแว นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บอกว่า ทั้งที่ตัวเองเป็นคน จ.นราธิวาส แต่เพิ่งมารู้จักคดีตากใบ เมื่อ 6 ถึง 7 ปีก่อนนี้เอง โดยรับรู้เรื่องราวผ่านทางอินเทอร์เน็ต มากกว่าการบอกเล่าของคนในพื้นที่

“คนในพื้นที่ไม่ค่อยพูดถึงเรื่องตากใบมากขนาดนั้น เพราะว่าอําเภอที่ผมอยู่ เป็นอําเภอที่ค่อนข้างผสมวัฒนธรรมไม่ได้เป็นแบบมุสลิมมากกว่าหรือคนไทยพุทธมากกว่ากัน เลยมีความเป็นชุมชนเมืองมากประมาณหนึ่ง ดังนั้น การจะมานั่งคุยกันเรื่องราวในอดีตมันก็ไม่ค่อยมี เราก็อ่านข่าวมาจากในอินเทอร์เน็ตเห็นข่าวแล้วก็เอามาคุยกับเพื่อน เหมือนคุยว่ามันเกิดอะไรขึ้น”

มุมิน เจ๊ะแว
มุมิน เจ๊ะแว นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะสังคมศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์

มุมิน มองว่า ตากใบเป็นเหตุการณ์หนึ่งที่สําคัญ เขาเคยได้ยินพ่อกับแม่เล่าให้ฟังว่าสมัยก่อนในพื้นที่มีความเจริญแค่ไหน กําลังมีทิศทางในการพัฒนาเป็นอย่างไร สุดท้ายแล้วก็ถูกหยุดชะงักลง เหตุการณ์ตากใบก็เป็นหนึ่งในสมการที่ทําให้การพัฒนาชะลอลงเพราะว่าเกิดความขัดแย้ง ระหว่างรัฐกับกลุ่มผู้เห็นต่าง ซึ่งคิดว่าไม่มีใครถูกหรือผิด สิ่งที่สําคัญที่สุดคือจะพูดคุยอย่างไรให้ได้ข้อสรุปที่ดีที่สุด

“สิ่งสําคัญก็คือต้องถอดบทเรียนให้ได้ว่าเมื่อเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้นแล้ว ใครทําอะไร และผู้คนได้รับผลกระทบอย่างไร แล้วถ้าถอดบทเรียนก็จะนําไปสู่การพูดคุยเจรจากันบนโต๊ะแบบไม่มีใครมีข้อกังขา เมื่อพูดคุยตกลงกันได้แล้ว เชื่อว่าคําที่คนชอบพูดกันว่า สันติสุขชายแดนใต้ จะเกิดขึ้นจริง จึงทำให้สนใจเรื่องราวตากใบเป็นพิเศษ”

มุมิน เจ๊ะแว

ไม่ควรมีใครต้องถูกกระทำอย่างเหตุการณ์ตากใบ

ธีระเทพ จิตหลัง บัณฑิตคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บอกว่า กรณีตากใบสะท้อนถึงการกระทําของหน่วยงานรัฐ ถ้าหากย้อนกลับไปในช่วงโศกนาฏกรรมเดือนตุลาฯ จะมีกลุ่มลูกเสือชาวบ้าน กลุ่มกระทิงแดง และกลุ่มภาคประชาชนที่เป็นคู่ขัดแย้งกับกับนักศึกษา หรือว่าเป็นคู่ขัดแย้งกับกับพรรคคอมมิวนิสต์ แต่ในเหตุการณ์ตากใบ คือการกระทําของหน่วยงานรัฐ ตํารวจ ทหาร ที่กระทําต่อประชาชน จึงเห็นได้ชัดเจนว่าหน่วยงานรัฐพยายามที่จะปกปิดมันไว้ เพราะเป็นการกระทําความรุนแรงที่มาจากรัฐเอง

ธีระเทพ จิตหลัง บัณฑิตคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ม.ธรรมศาสตร์

อีกด้านเหตุการณ์นี้ก็ไม่มีใครอยากพูดถึง เพราะมันเป็นความเจ็บปวดที่ครอบครัว ญาติผู้ถูกกระทำไม่อยากรื้อฟื้น เมื่อมีผู้สูญเสียถึง 85 คน จากการขนย้ายของเจ้าหน้าที่ ถ้าหากว่าใครที่ได้ติดตามเหตุการณ์ตากใบ ก็จะเห็นว่ามีการลําเลียงคนโดยการเอาคนทับซ้อนกันไม่ต่างอะไรกับกับการขนกองฟาง

“ผมคิดว่าการที่จะพูดถึงโศกนาฏกรรมที่มีคนเสียชีวิตจริง มีคนตายจริง มันเป็นเรื่องที่ยากที่จะพูดออกมา อีกด้านหนึ่งผู้ที่ได้รับความสูญเสีย เขาเสียใจจนไม่กล้าที่จะพูดออกมา”

ธีระเทพ จิตหลัง

ธีระเทพ ยังยอมรับด้วยว่า แม้ไม่ค่อยรับรู้ถึงเรื่องราวของเหตุการณ์ แต่พวกเขายังมีความรู้สึกร่วม ยังเห็น ยังเข้าใจถึงความสูญเสียของของครอบครัวที่เกิดขึ้น จนกระทั่งมีความรู้สึกว่า ต้องลุกขึ้นมาทําอะไรสักอย่าง อย่างน้อยที่สุดไม่ใช่เพื่อตัวเอง ไม่ใช่เพื่อครอบครัว แต่เป็นเรื่องของมนุษยธรรม ที่ไม่มีมนุษย์คนไหนควรถูกกระทําแบบนี้ และผู้ที่กระทําถูกปล่อยลอยนวลไปในสังคมซึ่งเป็นเรื่องที่รับไม่ได้

เมื่อช่องทางปกติ ไม่ช่วยคลายปมตากใบ

ขณะที่ รศ.อนุสรณ์ อุณโณ คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ม.ธรรมศาสตร์ ให้ความเห็นว่า หากคดีตากใบหมดอายุความ โดยที่ไม่สารถจะนําใครเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมได้ ก็จะกระทบกับการคลี่คลายเหตุการณ์ความไม่สงบทางภาคใต้ เป็นการชี้ให้เห็นว่าช่องทางตามปกติ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการใช้สิทธิ์ในฐานะพลเมืองในรัฐประชาธิปไตย รวมถึงเรื่องนิติรัฐ ไม่สามารถจะคลี่คลายปัญหาที่เขาเผชิญได้

รศ.อนุสรณ์ อุณโณ คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ม.ธรรมศาสตร์

“หลังจากคดีหมดอายุความ ถ้าถามว่าจะมีความวุ่นวายไหม เชื่อว่าไม่เกิด เพราะลักษณะของคนที่เคลื่อนไหว หมายถึงลักษณะของคนใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ในแง่หนึ่งถ้าไม่คล้ายกับว่าเป็นเหตุการณ์เฉพาะหน้าที่เกิดขึ้นอย่างทันที ก็จะมีลักษณะของการเก็บกดเอาความคับแค้นเอาไว้ แล้วก็จะประทุเป็น แสดงออกในลักษณะต่าง ๆ”

รศ.อนุสรณ์ อุณโณ

ปัญหาชายแดนใต้ ไม่ใช่เรื่องไกลตัว

รศ.อนุสรณ์ ระบุด้วยว่า ในกรณีนี้หากพบแล้วไม่ดําเนินคดี หรือไม่มีใครสามารถจะเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมได้ จะเป็นความคับแค้นที่ลงลึก และขยายวงกว้าง แต่จะไม่ปะทุอย่างฉับพลัน โดยจะเอื้อหรือว่าเกื้อกูลให้กับกลุ่มเคลื่อนไหวนําไปใช้ต่อ หรือจะเป็นตัวกระตุ้น เป็นเงื่อนไขที่ให้คนอีกจํานวนหนึ่งไปเข้าร่วมกับการเคลื่อนไหว คิดว่าส่วนนี้จะเกิดขึ้น แต่ว่ามันจะไม่เห็นภาพของการชุมนุมประท้วงขนาดใหญ่ ถึงแม้ว่าในอดีตเคยมีก็ตาม

“คิดว่าสังคมไทยโดยเฉลี่ยยังไม่ได้มีประสบการณ์ รับรู้หรือว่าสํานึกเดียวกันกับที่คนใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ประสบพบเจอนั้นเป็นอย่างไร อย่างมากเราก็จะเห็นในกลุ่มของนักกิจกรรมหรือว่ากลุ่มเคลื่อนไหวไม่ว่าจะเป็นนักศึกษา หรือว่านักกิจกรรมทางสังคม ถ้าเป็นคนทั่วไปเรื่องนี้ยังอยู่ไกลตัวพวกเขา”

รศ.อนุสรณ์ อุณโณ

ในแง่หนึ่งก็คือสําหรับคนไทยโดยเฉลี่ย เรื่องราวใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ เป็นปริศนา เป็นสิ่งที่หนักเกินกว่าที่จะเข้าใจได้ อยู่ห่างไกลเหลือเกิน ดังนั้นเมื่อเกิดอะไรขึ้น ความรู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน รู้สึกเจ็บช้ำเหมือนกันค่อนข้างที่จะหายาก แต่สิ่งเหล่านี้ ก็ต้องเรียนรู้กันไป

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active