‘แอมเนสตี้’ จี้ทางการไทย อย่าปล่อยจำเลยคดีตากใบ ‘ลอยนวลพ้นผิด’

หวังให้ทำทุกวิถีทางที่จำเป็น เอาตัวผู้ต้องสงสัยตามหมายจับในคดีอาญา และถูกกล่าวหาละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นร้ายแรง เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม

ชนาธิป ตติยการุณวงศ์ นักวิจัยประจำประเทศไทย แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล สำนักงานภูมิภาคเอเชียตะวันออก เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และแปซิฟิก ระบุถึงเหตุการณ์ตากใบ ว่า ทางการไทยต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน ก่อนที่จะสายเกินไป เพื่อมอบความยุติธรรมให้กับผู้เสียหายที่ถูกเจ้าหน้าที่รัฐละเมิดสิทธิมนุษยชนมายาวนาน จากการใช้ความรุนแรงในการสลายการชุมนุมประท้วงในอำเภอตากใบ เมื่อ 20 ปีก่อน

ชนาธิป ตติยการุณวงศ์ นักวิจัยประจำประเทศไทย แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล
สำนักงานภูมิภาคเอเชียตะวันออก เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และแปซิฟิก

“คำสั่งศาลให้รับฟ้องคดีที่ยื่นโดยผู้เสียหายและครอบครัวเมื่อเดือนสิงหาคม ถือเป็นสัญญาณแห่งความหวัง ท่ามกลางการลอยนวลพ้นผิดที่ฝั่งรากลึกในประเทศไทย หลังจากการละเมิดสิทธิของผู้ชุมนุมประท้วง แต่คดีที่ผู้เสียหายยื่นฟ้องกำลังตกอยู่ในความเสี่ยง เนื่องจากอีกไม่กี่วันคดีนี้จะหมดอายุความ จำเลยในคดีนี้ ล้วนเป็นอดีตหรือเจ้าหน้าที่ระดับสูงของหน่วยงานรัฐในปัจจุบัน อีกทั้งยังมีบุคคลที่เกี่ยวข้องในคดีที่คาดการณ์ว่า ตอนนี้อยู่ในญี่ปุ่น และสหราชอาณาจักร ซึ่งยังไม่ได้เข้ามาปรากฏตัว ต่อศาลตามการนัดหมาย หากคดีนี้ไม่มีจำเลยอย่างน้อยหนึ่งคนมาปรากฏตัวต่อหน้าศาลภายในวันที่ 25 ตุลาคม 2567 คดีจะถูกพิจารณาให้เป็นอันยุติการสอบสวนในกระบวนการยุติธรรมและจะถูกยกฟ้องในที่สุดตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง”

ชนาธิป ตติยการุณวงศ์

แอมเนสตี้ จึงเรียกร้องให้ทางการไทยต้องดำเนินการทุกวิถีทางที่จำเป็น และทุกขั้นตอนที่เกี่ยวข้องในกระบวนการยุติธรรม เพื่อทำให้แน่ใจว่า ผู้ต้องสงสัยที่มีความผิดในคดีทางอาญา เพราะละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นร้ายแรงในคดีนี้จะไม่ลอยนวลพ้นผิด ทางการไทยจะต้องบังคับใช้หมายจับที่มีอยู่ และนำตัวผู้ต้องสงสัยทั้งหมดเข้าสู่กระบวนการพิจารณาคดีในชั้นศาลภายในวันที่ 25 ตุลาคม 2567 เพื่อมอบความยุติธรรม กับผู้เสียหายและครอบครัว และทำให้พวกเขามีโอกาสเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมทางอาญา โดยสามารถทวงถามความรับผิดชอบและความเป็นธรรมในคดีนี้ได้อย่างเต็มที่


ข้อมูลพื้นฐานจากแอมเนสตี้ ระบุว่า เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547 ผู้ประท้วงกว่า 2,000 คนได้รวมตัวกันหน้าสถานีตำรวจภูธรตากใบ จ.นราธิวาส เพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัวชายมุสลิมเชื้อสายมลายู 6 คน ซึ่งพวกเขาเชื่อว่าถูกทางการไทยควบคุมตัวโดยพลการ

ในการชุมนุมประท้วงนั้น เจ้าหน้าที่ได้ใช้แก๊สน้ำตา ปืนฉีดน้ำแรงดันสูง และกระสุนจริง ส่งผลให้ผู้ประท้วงเสียชีวิตทันที 7 คน โดย 5 คนถูกยิงเสียชีวิต หลังการสลายการชุมนุม เจ้าหน้าที่ได้ขนย้ายชายมุสลิมเชื้อสายมลายูประมาณ 1,370 คนไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร จ.ปัตตานี ซึ่งห่างออกไป 150 กิโลเมตร พวกเขาถูกบังคับให้นอนทับซ้อนกันในรถบรรทุกทหาร ทำให้มีผู้เสียชีวิต 78 คนจากการถูกกดทับหรือขาดอากาศหายใจระหว่างการเดินทาง ผู้รอดชีวิตหลายคนได้รับบาดเจ็บสาหัสและบางคนกลายเป็นผู้พิการถาวร

คณะกรรมการอิสระสอบข้อเท็จจริงกรณีมีผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์อำเภอตากใบ ซึ่งจัดตั้งโดยรัฐบาลในขณะนั้น ได้ประณามการใช้กำลังเกินกว่าเหตุและความประมาทในการขนส่งผู้ถูกควบคุมตัว แม้ว่าจะมีการจ่ายค่าชดเชยให้ผู้เสียหาย แต่เจ้าหน้าที่ที่ถูกระบุว่ามีส่วนรับผิดชอบตามความเห็นของคณะกรรมการยังไม่ได้เข้าสู่กระบวนการไต่สวน

ในเดือนสิงหาคม 2567 ศาลจังหวัดนราธิวาสได้เห็นชอบตามคำร้องของผู้เสียหายและครอบครัวที่ยื่นฟ้องทางอาญาเพื่อเอาผิดต่อเจ้าหน้าที่ที่ต้องสงสัยว่ามีส่วนรับผิดชอบต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนในเหตุการณ์ชุมนุมประท้วงที่ อ.ตากใบ ซึ่งรวมถึงอดีตเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารระดับสูง

จากเจ้าหน้าที่ 9 คนที่ถูกฟ้อง ศาลเห็นว่ามีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ 7 คน ในข้อหา ฆ่าคนตายโดยเจตนา พยายามฆ่า และควบคุมตัวบุคคลโดยมิชอบ แม้จะมีหมายเรียก แต่ไม่มีเจ้าหน้าที่คนใดจากทั้ง 7 คนมาปรากฏตัวต่อศาลจังหวัดนราธิวาส เพื่อเข้ารับการสืบพยานและตรวจสอบพยานหลักฐาน ศาลจึงได้ออกหมายจับบุคคลทั้ง 7 รวมถึงผู้ที่คาดว่าอยู่ในญี่ปุ่นและสหราชอาณาจักร

ในคดีที่เกี่ยวข้องแต่เป็นการฟ้องแยกต่างหาก เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2567 สำนักงานอัยการสูงสุด ได้มีความเห็นให้สั่งฟ้องเจ้าหน้าที่ความมั่นคง 8 คนที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนย้ายผู้ถูกควบคุมตัวในข้อหาฆ่าคนตายโดยเจตนา ต่างจากคดีที่ฟ้องโดยผู้เสียหาย คดีนี้มีจำเลยเป็นเจ้าหน้าที่ระดับล่าง และไม่มีจำเลยคนใดในคดีนี้มาปรากฏตัวต่อศาลเช่นกัน

อายุความในคดีนี้จะสิ้นสุดลงในวันที่ 25 ตุลาคม 2567 โดยต้องมีจำเลยอย่างน้อย 1 คนมาปรากฏตัวต่อศาล เพื่อรับทราบข้อกล่าวหา จึงจะทำให้กระบวนการไต่สวนเริ่มขึ้นได้ ทั้งนี้ตามมาตรา 95 ของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล มีข้อสังเกตว่า ไม่ควรมีอายุความสำหรับการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง หรือความผิดตามกฎหมายระหว่างประเทศ เช่น การสังหารนอกกระบวนการยุติธรรมและการทรมาน

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active