มองหาทางไป ‘คดีตากใบ’ ยังไงต่อ ? ถ้า ‘ขาดอายุความ’

‘นักนิติศาสตร์’ ประสานเสียง ต้องแก้กฎหมาย ให้คดีร้ายแรงที่ จนท.รัฐกระทำให้ประชาชนถึงแก่ชีวิต และ คดีทุจริต ต้องไม่มีอายุความ พร้อมขอให้คดีสะดุดหยุดลงได้ หากพบการหลบหนีของจำเลย รับสภาพดึงคดีตากใบสู่สากล ทำได้ในเชิงเทคนิค แต่ในทางปฏิบัติทำยาก  



วันนี้ (20 ต.ค. 67) มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ร่วมกับ ศูนย์นิติศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดเสวนาวิชาการ หัวข้อ “คดีอาญาตากใบขาดอายุความ : ความรับผิดชอบใคร จะดำเนินคดีต่อได้หรือไม่ ?”

รศ.ปกป้อง ศรีสนิท คณบดีคณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ระบุว่า การใช้อำนาจของรัฐ และการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ ต้องคำนึงหลักสิทธิมนุษยชน การรักษาความสงบเรียบร้อยหลายประเทศก็ทำ แต่ต้องคำนึงถึงการเคารพสิทธิมนุษยชน และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ด้วย การที่เจ้าหน้าที่จับกุมคนก็ต้องคำนึงถึงสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ การจับกุมกระทำการทรมาน ตั้งแต่ 22 ก.พ. 2566 ไทยมีกฎหมายฉบับใหม่ ที่ยกระดับคือ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ซึ่งช่วยยกระดับการปกป้องคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ต้องไม่ละเมิดประชาชน แต่กฎหมายฉบับนี้อาจไม่ได้ใช้กับคดีตากใบ

รศ.ปกป้อง ศรีสนิท คณบดีคณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ (ภาพ : Pitv Press)

‘คดีตากใบ’ สู่บทเรียน ‘อายุความ’ ในต่างประเทศ

รศ.ปกป้อง บอกอีกว่า ตอนนี้คดีตากใบสั่งฟ้องแล้ว แต่ไม่มีผู้ต้องหา ถ้าภายในเที่ยงคืนของ วันที่ 25 ตุลาคมนี้ยังไม่ได้ตัวผู้ต้องหา คดีก็ขาดอายุความไป คำถามต่อมาเมื่อคดีขาดอายุความแล้ว ผลที่ตามมาคืออะไร หากพิจารณาตามกฎหมาย คือ คดีอาญาระงับลง การพิสูจน์ความผิด ความจริงต่าง ๆ จะสิ้นสุดลงไปด้วย แต่สิ่งที่พูดมานั้นคือกฎหมายไทย เพราะถ้ามองกฎหายในหลายประเทศ ก็มีลักษณะที่ต่างออกไป

คำถามคือ อายุความคดีอาญาเป็นหลักสากลหรือไม่ คำตอบคือ ไม่ คดีอาญา มีอายุความในทุกฐานความผิด ก็มีเหตุผลของมันเพื่อทำให้พยานหลักฐานไม่สูญหาย เพื่อเร่งรัดกระบวนการยุติธรรรม ทั้งนี้ก็มีอีกกลุ่มประเทศ ที่กฎหมายไม่ได้กำหนดอายุความ โดยเฉพาะคดีความผิดร้ายแรง เช่น คดีฆาตรกรรม ไม่มีอายุความ ถ้ามีหลักฐาน จับผู้ต้องหาได้เมื่อไร ก็จับได้ แต่ที่แน่ ๆ ที่ตรงกันมีอยู่เรื่องเดียว คือความผิดอาญาร้ายแรงสูงสุด 4 ฐานความผิดตามธรรมนูญกรุงโรม ซึ่งเป็นหลักกฎหมายสากลมองว่า ไม่มีอายุความ คือ ความผิดการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์, ความผิดคดีอาชญากรรมมวลมนุษยชาติ, อาชญากรรมสงคราม, อาชญากรรมการรุกราน

รศ.ปกป้อง อธิบายอีกว่า ในฝรั่งเศส มีอายุความ 20 ปี แต่อายุความสะดุดหยุดลงได้ เมื่อพนักงานอัยการสั่งฟ้อง อายุความจะสะดุดลง เริ่มนับใหม่ เพราะฉะนั้นอายุความในฝรั่งเศส จะเริ่มนับใหม่ได้ตลอด ผลก็คือว่า อายุความก็จะหยุดทุกครั้งเมื่อมีการดำเนินคดี ซึ่งตรงกันข้ามกับไทย ที่ไม่มีอายุความสะดดุลงเลย เมื่ออัยการสั่งฟ้อง ก็นับต่อ อายุความจะสะดุดลงก็ต่อเมื่อ มีคำสั่งฟ้อง พร้อมด้วยการได้ตัวผู้ต้องหามาศาลเท่านั้น

“ถ้าเราไม่อยากเห็นผู้กระทำความผิดร้ายแรง อาศัยช่องว่างของอายุความหลบหนี ข้อเสนอที่เป็นไปได้ที่สุด คือ ต้องแก้ กฎหมาย ทำอย่างไรให้คดีอาญา อายุความสะดุดบ้าง อย่างใน ญี่ปุ่น ถ้าหากผู้ต้องหาหลบหนีไปต่างประเทศ ก็ให้หยุดนับอายุความ เรื่องนี้ไทยไม่มี แต่ไทยก็อาศัยช่องว่าง พออายุความขาด ก็บินกลับมา เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น”

รศ.ปกป้อง ศรีสนิท

รศ.ปกป้อง บอกด้วยว่า ที่ผ่านมาไทยเองก็เคยแก้กฎหมายเรื่องอายุความ ในปี 2554 คือ กฎหมาย ป.ป.ช. เฉพาะความผิดเจ้าพนักงานทุจริต ดังนั้นข้อเสนอในภาพรวมเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุอาศัยการขาดอายุความแล้วกลับมาลอยนวลนั้น ก็ถึงเวลาที่ประเทศไทยต้องแก้กฎหมายอาญา ควรให้อายุความสะดุดหยุดลงได้ในกรณีที่อัยการสั่งฟ้อง  เพื่อให้เจ้าหน้าที่ร้องขอให้นำตัวผู้ต้องหา ด้วยวิธีการส่งผู้ร้ายข้ามแดนกลับมา จะได้นำตัวเข้ามาสู่กระบวนการยุติธรรม จะได้พิสูจน์ความจริง ไม่ต้องอาศัยเทคนิคการหลุดพ้นอายุความอีกต่อไป

“ในทางทฤษฎีเป็นไปได้ แต่ในทางปฏิบัติทำยาก โดยอีก 5 วันจากนี้ ถ้าว่ากันในทางเทคนิค ความเป็นไปได้ คือ ฝ่ายนิติบัญญัติ และ ฝ่ายตุลาการต้องร่วมมือกันปรับเปลี่ยนอะไรบางอย่าง รัฐบาลถ้าออกกฎหมายหลบหนีไม่มีอายุความภายใน 5 วันนี้ ก่อนคดีขาดอายุความ ขณะเดียวกันต้องเปลี่ยนแนวคำพิพากษาศาลฎีกา ที่จะไม่ย้อนหลังไปใช้กับจำเลยในอดีต จะใช้กับผู้กระทำผิดในช่วงนับตั้งแต่แก้ไขเท่านั้น ซึ่งถ้าแนวคำพิพากษาเป็นแบบนี้จะใช้กับกรณีตากใบคงยาก ในทางทฤษฎีเป็นไปได้ แต่ต้องแก้ออกกฎหมายภายใน 5 วันนี้ ต้องเปลี่ยนแนวคำพิพากษาศาลฎีกาให้ได้ ซึ่งในทางปฏิบัติเป็นไปได้ยาก”

รศ.ปกป้อง ศรีสนิท

จาก ‘คดีตากใบ’ ถึงเวลาแก้กฎหมาย ไร้เงื่อนไข ‘อายุความ’

รศ.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ มองว่า ถ้าดูคำสั่งศาลนราธิวาส ศาลสรุปว่า เจ้าหน้าที่ควบคุมตัวผู้ชุมนุม ขนย้ายผู้ชุมนุม ด้วยการจับมัดมือ ให้นอนกองซ้อนกัน ถือเป็นการประมาทขั้นแรกให้ผู้ชุมนุมถึงแก่ความตาย เป็นเหตุผลให้ศาลประทับรับฟ้อง ศาลก็ให้เอาตัวจำเลยมาขึ้นศาล เมื่อจำเลยไม่มาก็กลายเป็นหมายจับ แต่ถ้าเอาตัวมาไม่ได้ภายใน 25 ตุลาคมนี้ ก็ขาดอายุความ ปัญหาของไทย คือ อายุความเขียนไว้ในทางที่เอื้อส่งเสริมให้มีการหนี หนีให้ขาดแล้วกลับมาแบบลอยนวล ซึ่งไม่ถูกต้อง ดังนั้นเฉพาะในข้อหาร้ายแรง ฆ่าคน คอร์รัปชัน นี่คือตัวอย่างคดีที่ไม่ควรมีอายุความเลยได้ไหม ถ้าอายุความยังมีก็ต้องใช้วิธีการทำให้อายุความสะดุดลงได้

รศ.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์(ภาพ : Pitv Press)

“สมมติถ้าแก้กฎหมายทัน ศาลฎีกาจะเดินตามแนวเดิมหรือไม่ เพราะหากพิจารณาจาก มาตรา 29 ของรัฐธรรมนูญ บุคคลจะรับผิดทางอาญาตามที่กฎหมายบัญญัติในขณะนั้น มีแค่เรื่องโทษ ไม่เกี่ยวอายุความ เขาไม่ให้ย้อนหลังที่เป็นความผิด และโทษ อายุความไม่ใช่ความผิดและโทษ สมมติอายุความขาดแล้ว ไม่ใช่ว่าจำเลย จะพ้นผิด อย่างคดีตากใบ ถ้าขาดอายุความ พล.อ. พิศาล วัฒนวงษ์คีรี และจำเลยทุกคน ยังผิดอยู่ แต่ลงโทษไม่ได้ ดำเนินคดีต่อไม่ได้ ถ้าแก้กฎหมายทัน รัฐธรรมนูญ มาตรา 29 วางหลักเอาไว้แล้ว”

รศ.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล

คำถามที่ว่า หากถึงวันที่ 25 ตุลาคมนี้ จะยังไงต่อ รศ.ปริญญา บอกว่า ขั้นต่ำสุดจากการคาดหวังรัฐบาล คือ เรื่องแบบนี้ต้องไม่เกิดขึ้นอีก ดังนั้นต้องแก้กฎหมาย ผลักดันเรื่องการทำให้คดีไม่มีอายุความ โดยเฉพาะคดีที่เจ้าหน้าที่รัฐทำให้ประชาชนถึงแก้ความตาย คดีคอร์รัปชันต้องไม่มีอายุความ หรือ ต้องให้อายุความสะดุดลงได้ ความจริงหลัก ๆ ก็แค่การจะได้ตัวจำเลยมาขึ้นศาล ถ้ารัฐบาลแสดงให้เห็นว่าได้ดำเนินการอย่างเต็มที่ ผู้คนก็วิจารณ์ลำบาก แต่ถ้าผ่านวันที่ 25 ตุลาคมไปแล้ว รัฐบาลไม่ได้แสดงให้เห็นถึงความพยายาม มองว่าทำไม่เต็มที่ ช่วยเหลือกันหรือไม่ อันนี้ก็ต้องรับเสียงวิจารณ์ไปเต็ม ๆ

“จำเลยยังเป็นผู้บริสุทธิ์ อยู่เสมอตามรัฐธรรมนูญ เรื่องของเรื่องศาลรับฟ้องเพื่อให้มาแก้ข้อกล่าวหา ศาลขอให้มาเข้าสู่กระบวนการเพื่อให้สิ้นสงสัย ในเมื่อญาติฟ้องจนศาลรับฟ้องแล้ว ศาลท่านก็ต้องเอาตัวผู้ถูกกล่าวหา เข้าสู่กระบวนการ ความคาดหวัง คือ ขอให้จำเลยเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม สู้กันด้วยข้อกฎหมาย ต้องเข้าใจว่าการแก้กฎหมายที่ยากไม่ใช่แค่กระบวนการ แต่ที่ยากคือความเห็นที่ยังไม่ลงตัวกัน ในทางทฤษฎีดูง่ายแต่ทางปฏิบัติไม่ง่ายเลย”

รศ.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล

หวังกลไก สภาฯ ตัวกลางเปิดเวทีค้นหาความจริง

รศ.ปริญญา ย้ำว่า สันติภาพ และความยุติธรรม เป็นเรื่องเดียวกัน ถ้าต้องการสันติภาพ แล้วไม่มีความยุติธรรม ก็ยาก ดังนั้นขอให้ใช้กระบวนการยุติธรรมในชายแดนใต้อย่างแท้จริง และอย่าให้เหตุการณ์อย่างกรณีตากใบเกิดขึ้นอีก

“ถ้าจนถึงวันที่ 25 ตุลาคมแล้วไม่มีใครมาศาล คดีขาดอายุความ อยากขอให้สภาผู้แทนราษฎร ช่วยเปิดเวทีไต่สวนสาธารณะได้ไหม แม้ว่าลงโทษใครไม่ได้ แต่ให้เป็นพื้นที่เปิดความจริงให้ปรากฏออกมา ซึ่งเป็นต้นเรื่องที่ประชาชน ผู้สูญเสียต้องการรับรู้มากที่สุด แล้วถ้าวันที่ 25 ตุลาคมผ่านไป โดยทำอะไรไม่ได้เลย ขั้นต่ำที่สุด รัฐบาลต้องขอโทษประชาชนที่เจ้าหน้าที่รัฐล้มเหลว เป็นรัฐบาลที่บังคับบัญชาสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แต่ไม่สามารถใช้อำนาจหน้าที่เอาคนผิดมาลงโทษได้ เราไม่ได้มาล้างแค้น แต่ต้องการความเป็นธรรมเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์นี้อีก”

รศ.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล

ขอ ‘ความยุติธรรม’ ทุกคดีการตายจาก จนท.รัฐ

อับดุลกอฮาร์ อาแวปูเตะ ทนายความในคดีตากใบ ระบุว่า คดีตากใบ เป็นคดีสัญลักษณ์ของความไม่เป็นธรรมในชายแดนใต้ ในรอบ 20 ปี วันนี้สังคมส่วนใหญ่ให้ความสนใจเหตุกาณณ์ตากใบ มีปัญหาความไม่เป็นธรรมในพื้นที่ ในฐานะทำงานในพื้นที่ กลไกกระบวนการยุติธรรมไม่สามารถอำนวยการในพื้นที่ได้ อย่าง คดีไต่สวนการตาย มีหลายกรณีที่ไต่สวนแล้วคนกระทำผิดลอยนวล  

อับดุลกอฮาร์ อาแวปูเตะ ทนายความในคดีตากใบ(ภาพ : Pitv Press)

“กลไกกฎหมายจะทำอย่างไรให้สามารถลงโทษผู้กระทำผิดได้ ทุกคดีการตายในค่ายทหารของผู้ต้องสงสัยคดีความมั่นคง แพทย์ไม่สามารถระบุสาเหตุการตายได้เลย เราก็ทำอะไรต่อไม่ได้ ถ้าเป็นเมื่อก่อนจะตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง แต่ก็ทำอะไรไม่ได้เลย กลไกกระบวนการยุติธรรมมีปัญหา เราไม่ต้องรอให้ประชาชนลุกขึ้นมาแบบนี้ แค่สร้างความเชื่อมั่นก็พอแล้ว ในชายแดนใต้ปัญหามีเยอะ แต่ความยุติธรรม คือปัญหาหลักที่สะท้อนออกมา”

อับดุลกอฮาร์ อาแวปูเตะ

เมื่อ ‘ความเจ็บปวด’ ไม่เคยมีอายุความ

ขณะที่ ตัวแทนญาติผู้สูญเสียจากเหตุการณ์ตากใบ ยอมรับว่า กรณีตากใบเป็นประวัติศาตร์ที่เจ็บปวด ที่รอคอยความยุติธรรมมา 20 ปี แค่ต้องการความยติธรรม ให้คนผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม แม้ว่าโทษจะเป็นอย่างไร แต่อย่างน้อยก็ได้รับรู้ว่าคนที่ตายไป ไม่ใช่แค่สาเหตุการขาดอากาศหายใจ แต่ที่อยากรู้คือใครทำ ซึ่งก็หนีไม่พ้นเจ้าหน้าที่รัฐเองที่กำกับดูแล

“ความรู้สึกญาติเหมือนเหตุการณ์เพิ่งเกิดเมื่อวาน พูดทีไรก็เจ็บปวด เห็นภาพวิดีโอการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ คนที่ไปประท้วง เพื่อต้องการความยุติธรรม แต่กระทำกับเขาเหมือนไม่ใช่คน เรายังเกิดคำถามคาใจมากมาย ยิ่งอายุความจะหมดแล้ว เหมือนกับว่ารัฐบาลไม่จริงใจแก้ปัญหา แค่ยื้อเวลาให้หมดไป ไม่ต้องมีใครมารับผิดชอบเลย แม้กฎหมายไทยหมดอายุความ แต่ความเจ็บปวดไม่มีอายุความ ความรู้สึกก็ยิ่งเจ็บปวด”

ตัวแทนญาติผู้สูญเสียจากเหตุการณ์ตากใบ
ตัวแทนญาติผู้สูญเสียจากเหตุการณ์ตากใบ(ภาพ : Pitv Press)

ตัวแทนญาติผู้สูญเสีย ยอมรับด้วยว่า รู้สึกเจ็บปวดในการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐที่โยนไปโยนมาปัดความรับผิดชอบ ไม่จริงใจหาผู้กระทำความผิด ศาลนราธิวาสออกหมายจับแล้ว แต่เจ้าหน้าที่ก็เพิกเฉย ขนาดรองนายกฯ ภูมิธรรม ยังออกมาบอกว่าไม่ได้เกี่ยวข้อง ไม่รู้ ไม่เห็น คำตอบแบบนั้นประชาชนเขารู้ เขาติดตามข่าว ถึงแม้วันที่มาชูใบลาออกของ พล.อ. พิศาล ก็มาด้วยหน้าตายิ้มแย้มแจ่มใส ทั้งที่ประชาชนผู้สูญเสียได้รับความเจ็บปวด เดือดร้อน ไม่มีอำนาจอะไรมาต่อสู้ ต้องการแค่ความยุติธรรมเท่านั้น

“อยากให้รัฐบาลออกมาขอโทษจากใจจริง ในการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐ ในกำกับของรัฐบาล แม้จะอ้างว่าคนนั้นคนนี้ แม้ที่ผ่านมาทักษิณเคยออกมาขอโทษ แต่มีใครกี่คนที่ได้ยิน ขอโทษแบบลมปาก พูดไปก็เท่านั้น เหมือนไม่จริงใจจะขอโทษ หากปราศจากความยุติธรรมในพื้นที่ชายแดนใต้ ก็ไม่ต้องหวังว่าจะเกิดความสงบสุข สันติภาพในชายแดนใต้ จะเกิดยังไงถ้าประชาชนยังไม่ไว้ใจเจ้าหน้าที่รัฐ อายุความสำหรับประชาชน คือความเจ็บปวด อยู่ตลอดชั่วชีวิต ทำไมถึงถูกกระทำเหมือนไม่ใช่คน หรือเพราะเราเป็นคนมลายู”

ตัวแทนญาติผู้สูญเสียจากเหตุการณ์ตากใบ

มองทางไปต่อ ‘คดีตากใบ’ สู่ความยุติธรรมในระดับสากล

สัณหวรรณ ศรีสด คณะกรรมการ นักนิติศาสตร์สากล ย้ำว่า ในเรื่องการปรับแก้กฎหมายเรื่องอายุความ จำเป็นต้องรวมกรณีที่รัฐเป็นผู้ต้องสงสัยเรื่องการอุ้มหาย การวิสามัญฆาตรกรรม ด้วยซึ้งในประเทศอย่างละตินอเมริกา ไม่มีอายุความกับคดีแบบนี้ ส่วนการให้คดีสะดุดลง นอกจากคดีที่จำเลยหลบหนี ยังต้องรวมถึงคดีที่เจ้าหน้าที่รัฐความล้มเหลวในการดำเนินคดีด้วย

ส่วนคำถามที่ว่าถ้าคดีในประเทศขาดอายุความ หรือเดินต่อยาก จะสามารถทำอะไรได้อีกไหม นักนิติศาสตร์สากล บอกว่า ถ้าเป็นกลไกอื่น ๆ นอกประเทศ ในทางเทคนิคเป็นไปได้ แต่ก็ยากมาก อย่าง ศาลโลก (ICJ) ฟ้องรัฐ เหมือนกรณีแกมเบีย เคยฟ้องศาลโลกว่าเมียนมาล้มเหลวในการคุ้มครองโรฮิงยา ซึ่งกระบวนการก็ไม่ใช่ง่าย ขณะที่ ศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) ซึ่งฟ้องระหว่างบุคคล ก็เป็นอีกช่องทางที่เป็นไปได้ในเชิงเทคนิค  

สัณหวรรณ ศรีสด คณะกรรมการ นักนิติศาสตร์สากล(ภาพ : Pitv Press)

ส่วนการฟ้องศาลต่างประเทศ ก็มองว่าเป็นไปได้ เพราะทุกประเทศทั่วโลกรวมถึงไทย มีกลุ่มความผิดกลุ่มหนึ่ง ที่ระบุว่า ไม่ว่าความผิดนี้เกิดขึ้นที่ไหนของโลก ศาลมีสิทธิพิจารณาคดี  แล้วมีความพยายามใช้กลไกนี้ไหม ก็ต้องบอกว่ามี อย่างในเมียนมา โดยนำสิ่งที่เกิดขึ้นในเมียนมาไปฟ้องต่อศาลต่างประเทศ ถ้าคดีตากใบของเราหมดอายุความในประเทศไปแล้ว พอจะไปฟ้องศาลต่างประเทศได้ไหม ก็ได้ แต่ในเชิงเทคนิค ยังมีอีกหลายกระบวนการที่ต้องดำเนินการ

‘ไทย’ กับ บาดแผล ‘สิทธิมนุษยชน’ ในสายตาโลก

คราวนี้ถ้าไม่ใช่ศาล อย่างมาตรการคว่ำบาตร ในหลายประเทศ ทั้งที่อังกฤษ และอเมริกา ก็มีข้อกำหนดกฎหมายภายใน สามารถคว่ำบาตรบุคคล บริษัทได้ ถ้าละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง ก็ให้ทุกประเทศออกกฎหมาย ไปออกมาตรการคว่ำบาตร ถ้ามีบุคคลที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรง แต่ไม่ยอมได้รับโทษ ก็สามารถคว่ำบาตรได้ แต่การคว่ำบาตรจะเกิดขึ้นเฉพาะตัวบุคคลเท่านั้น

“เชื่อว่าสิ่งที่จะเกิดขึ้นเบาที่สุด หากคดีตากใบขาดอายุความ คือ การวิพากษ์วิจารณ์ในระดับสากล โดยเฉพาะในเดือนพฤศจิกายนนี้ ที่ไทยต้องทบทวนสถานการณ์การซ้อมทรมาน และกรณีลอยนวลพ้นผิด ซึ่งคิดว่ากรณีตากใบจะถูกหยิบยกมาพูดถึงแน่นอน และภายในเดือนธันวาคมนี้ จะมีกรณีตากใบเฉพาะเจาะจงรวมอยู่ด้วยในรายงานแน่นอน”

สัณหวรรณ ศรีสด

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active