‘Bangkok Budgeting’ ชวน ปชช.ร่วมเป็นส่วนหนึ่ง ในการออกแบบงบฯ

เปิดแพลตฟอร์ม ‘Bangkok Budgeting’ ชำแหละงบฯ กทม. กระตุ้นประชาชน ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการออกแบบงบฯ ให้ตอบโจทย์ความต้องการพื้นที่

วันนี้ (19 ตุลาคม 2567) WeVis ร่วมกับ HAND Social Enterprise และ National Democratic Institute (NDI) จัดเสวนาเชิงปฏิบัติการ เปิดโอกาสให้คนกรุงเทพฯ แลกเปลี่ยนความเห็นประเด็นงบประมาณกรุงเทพมหานคร หวังผลักดันให้ประชาชนมีส่วนร่วมกในการจัดสรรงบประมาณและออกแบบเมือง ชูแพลตฟอร์ม Bangkok Budgeting เป็นเครื่องมือสร้างความโปร่งใสในงบประมาณ สู่การทำงบประมาณแบบมีส่วนร่วม

Bangkok Budgeting: เปิดเผยอย่างโปร่งใส ให้ใคร ๆ ก็มีส่วนร่วมกับงบกรุงเทพฯ ได้

Bangkok Budgeting คือ โครงการพัฒนาแพลตฟอร์มในรูปแบบเทคโนโลยีภาคประชาชน (Civic Tech) ที่มีเป้าหมายสำคัญคือการเปิดเผยข้อมูลงบประมาณของ กทม. ให้ทุกคนในฐานะผู้เสียภาษีได้เข้าใจและเป็นส่วนหนึ่งในการออกแบบงบประมาณ โดยเนื้อหาในแพลตฟอร์มมุ่งตอบคำถาม 3 ข้อสำคัญคือ

  • ปัจจุบันกรุงเทพฯ วางแผนใช้งบฯ เพื่อพัฒนาเมืองอย่างไร
  • ใช้งบประมาณเท่าไหร่
  • ประชาชนมสามารถมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นในเรื่องนี้ได้อย่างไรบ้าง

ในช่วงการเสวนา ศิรินทรีย์ ครุฑสูตร รองผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ กรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า งบประมาณของกรุงเทพมหานครอยู่ภายใต้กฎหมายประเทศ ต้องยึดโยงกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ โดยมีการจัดสรรงบฯ 40% เป็นของบุคลากร, 40% เป็นงบดำเนินการ และอีก 20% เป็นงบฯ ลงทุน โดยทางกทม. ตั้งใจผลักดันให้สัดส่วนงบฯ ลงทุนมีเพิ่มมากขึ้น ให้สอดคล้องกับแนวทางของหลายเมืองที่พัฒนาแล้ว เพื่อเป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเมืองให้แข็งแรง

ที่ผ่านมาทางกรุงเทพฯ ได้ผลักดันนโยบาย 9 ด้าน 9 ดี ของ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ โดยมีสัดส่วนงบฯ ลงทุนในด้านคมนาคม (เดินทางดี) มากที่สุด รองลงมาคือด้านสิ่งแวดล้อม (สิ่งแวดล้อมดี) ขณะที่ ศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ กล่าวเสริมในวงเสวนาถึงแนวทางการผลักดันการมีส่วนร่วมของประชาชนในมิติงบประมาณและนโยบาย โดยอธิบายว่า การจะสร้างเมืองที่ประชาชนมีส่วนร่วมนั้นมีแนวทางอยู่ 3 ระดับด้วยกัน ดังนี้

  1. สอดส่อง ตรวจสอบ แจ้งปัญหา: ศานนท์ ยกตัวอย่างถึงแพลตฟอร์ม Traffy Fondue ที่เอื้อให้ประชาชนสามารถร่วมกันเป็นหูเป็นตา นำปัญหาแจ้งผ่านไลน์ทางการ ส่งต่อให้หน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง ซึ่งตอนนี้ได้ย่นย่อขั้นตอนการร้องเรียนจาก 6 ขั้น เหลือเพียง 3 ขั้น ซึ่งข้อมูลที่ทางกทม. ได้รับจากการร้องเรียน จะช่วยให้การจัดสรรงบฯ เพื่อแก้ไขปัญหาได้อย่างตรงจุด แต่ขั้นนี้ ประชาชนยังไม่สามารถมีส่วนร่วมในการแสดงความเห็นต่อการจัดสรรงบฯ
  2. นำเสนอ ร่วมลงมือทำ: ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ ศานนท์ ระบุว่า กทม. กำลังพัฒนาอยู่ ขณะนี้ได้มีการขับเคลื่อนในหลายกลไก เช่น การนำกระบวนการออกใบอนุญาตต่าง ๆ ขึ้นออนไลน์, สร้างเวทีในการมีส่วนร่วมคิดนโยบายอย่างสภาเมืองคนรุ่นใหม่ ซึ่งจะผลักดันต่อในรูปแบบออนไลน์ และตอนนี้กำลังพัฒนาแพลตฟอร์มในการขอเข้าใช้สิ่งอำนวยความสะดวกในเมือง เช่น พื้นที่แสดงดนตรี ห้องสมุด โรงมหรสพ เป็นต้น
  3. ตัดสินใจได้เอง: ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ ศานนท์ ตั้งใจจะพา กทม. ไปถึงให้ได้ แต่ปัจจุบันยังขาดกลไกอยู่ โดยเฉพาะกลไกการสื่อสารเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมในระดับชุมชน ล่าสุดได้มีการขับเคลื่อนโครงการชุมชนเข้มแข็ง โดยจัดสรรงบประมาณกทม. ราว 4% แจกจ่ายทุกชุมชนจดทะเบียนทั่วกทม. ชุมชนละ 2 แสนบาท เพื่อนำไปพัฒนาหรือจัดซื้อจัดจ้างตามที่คนในชุมชนต้องการ เพื่อทำให้คนภายในเมืองรู้สึกเป็นเจ้าของเมืองแห่งนี้ และถ้าเป็นไปได้ ศานนท์ ก็หวังให้เกิดโครงการคล้ายกับกองทุนหมู่บ้านเพื่อเป็นการหนุนเงินให้ชุมชนสามารถดำเนินโครงการพัฒนาพื้นที่ได้อย่างอิสระ

“ปัญหาสำคัญที่เราเจอเกี่ยวกับการสร้างการมีส่วนร่วม คือ คนในชุมชนขาดความรู้สึกร่วม ไม่รู้สึกว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของเขตพื้นที่นั้น ๆ ดังนั้น การจะสร้างการมีส่วนร่วมให้เกิดขึ้น ในฐานะ กทม. ก็ต้องทำให้เขารู้สึกว่าตัวเองเป็นเจ้าพื้นที่ก่อน แล้วการทำ ‘งบประมาณแบบมีส่วนร่วม’ จึงจะเห็นผล”

ศานนท์ หวังสร้างบุญ

งบประมาณแบบมีส่วนร่วม สู่การเปิดการทำงานภาครัฐให้โปร่งใส

Participatory Budgeting (PB) หรืองบประมาณแบบมีส่วนร่วม เป็นกระบวนการที่ให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมโดยตรงในการเข้าถึงทรัพยากรและตัดสินใจจัดสรรงบประมาณสอดคล้องกับความต้องการของประชาชนเอง โดยมีตัวอย่างเมืองที่เคยเกิดขึ้นแล้ว เช่น เมือง Porto Alegre ประเทศ Brazil ให้คนยากจนและผู้ที่มักถูกกีดกันทางการเมือง เข้ามามีบทบาทด้วยจัดสรรงบประมาณได้มาสู่ส่วนที่จำเป็นหรือเหมาะสมมากที่สุด

ณัฐภัทร เนียวกุล หัวหน้าฝ่ายข้อมูลเปิดเพื่อความโปร่งใสและการมีส่วนร่วม HAND Social Enterprise กล่าวเสริมในวงเสวนาว่าการสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน ควรเริ่มจาก ‘3 เปิด’ ได้แก่

  1. การเปิดเผยข้อมูล: ในสองปีที่ผ่านมาช่วงการบริหารของชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ตนเห็นการเปิดเผยมากขึ้น ทั้งยังมีการปรับปรุงเว็บไซต์การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการเปิดเผยข้อมูล และย้ำเสริมว่า การจะเปิดเผยข้อมูลต้องเปิดทั้งหมด ไม่จำเป็นต้องคิดว่า ‘ประชาชนควรรู้อะไร’ แล้วจึงค่อยเปิด และคำนึงถึงการเอาไปใช้งานต่อ
  2. เปิดพื้นที่: ให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการออกความเห็นทางนโยบาย โดยการเปิดเวทีไม่ใช่แค่งานอีเวนต์ แต่การเปิดพื้นที่ต้องมีการให้ Feedback กลับไปยังภาครัฐด้วย แต่ส่วนใหญ่การเปิดพื้นที่ไม่ค่อยมีการรับฟัง และการเปิดพื้นที่ต้องเอื้ออำนวยความสะดวก ต้องมีต้นทุนที่ต่ำ ใช้เอกสารให้น้อย ใช้เวลาให้น้อย
  3. เปิดใจ: ซึ่งเป็นประเด็นที่สำคัญ​ ณัฐภัทร มองว่า หลายหน่วยงานรัฐผู้บริหารมีไอเดียดี มีความคิดอยากเปิดพื้นที่ แต่ระดับปฏิบัติภายในยังมีความเข้าใจไม่ตรงกัน ทำให้ต้องใช้ต้นทุนมากเพิ่มขึ้นซ้ำซ้อนไปอีก จึงหวังว่า กทม. จะเป็นจุดเริ่มต้นของหน่วยงานรัฐในไทยที่ใสามารถสร้างการมีส่วนร่วมอย่างมีความหมายได้ทัดเทียมกับนานาประเทศ

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active