ตามคาด! สว. แก้เสียงประชามติ ใช้เสียงข้างมาก 2 ชั้น

สว.เสียงข้างน้อย ‘นันทนา นันทวโรภาส’ ตั้งข้อสังเกต สว. กลับมติ จากที่เคยเห็นชอบร่างฯ ของ สส. ตามใบสั่งหรือไม่ ขณะที่ ‘กฤช เอื้อวงษ์’ กมธ.สัดส่วน ครม. มอง ส่อสิ้นเปลืองงบฯ ‘นิกร จำนง’ ชี้ กลับมติกระทบหัวใจสำคัญของการแก้ กม. อาจทำให้ กม.ถูกแขวนไว้ 

วันนี้ (30 ก.ย. 67) ที่อาคารรัฐสภา มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พิจารณา ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. วาระ 2-3  ที่กรรมาธิการวิสามัญพิจารณาเสร็จแล้วโดยมี มงคล สุระสัจจะ ประธานวุฒิสภา ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม  โดย พล.ต.ต.ฉัตรวรรษ แสงเพชร ประธานกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ กล่าวรายงาน ว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้มีทั้งหมด 12 มาตรา โดยกรรมาธิการ ได้แก้ไข 1 มาตรา คือ มาตรา 7 ที่แก้ไขมาตรา 13 เกี่ยวกับเสียง ที่ถือว่ามีข้อยุติในการจัดทำประชามติ ตามที่กรรมาธิการเห็นชอบตามที่มีผู้ขอเสนอแปรญัตติ พิสิษฐ์ อภิวัฒนาพงศ์ เสนอแก้จากที่ ร่างของ สส. กำหนดว่าใช้เสียงข้างมากของผู้มีสิทธิออกเสียงในการทำประชามติ แก้กลับไปใช้เสียงข้างมาก 2 ชั้น หรือ ดับเบิ้ลมาจอลิตี้ 

นันทนา นันทวโรภาส สมาชิกวุฒิสภา กรรมาธิการเสียงข้างน้อย ที่สงวนความเห็น อภิปรายคัดค้านการปรับแก้ของกรรมาธิการว่า กรรมาธิการที่เป็นนักวิชาการ ได้ชี้ถึงข้อดีของการใช้เสียงข้างมากชั้นเดียว พร้อมอ้างอิงคำถึงสัมภาษณ์ของหัวหน้าพรรคการเมืองหนึ่งที่ระบุว่า “ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ” จึงตั้งข้อสังเกตว่า อาจเป็นเหตุที่ทำให้กรรมาธิการวิสามัญกลับมติที่ได้เห็นชอบไปแล้วตามร่างของสภาผู้แทนราษฎร และมีการกลับมติโดยพร้อมเพรียงกัน 17:1 หรือไม่

นันทนา นันทวโรภาส สมาชิกวุฒิสภา

มันไม่งาม ชาวบ้านจะนินทาว่า การลงมติครั้งนี้เป็นไปตามใบสั่ง เมื่อเป็นกรรมาธิการเสียงข้างน้อยขอปกป้องสิทธิ์ในการอภิปราย ว่าหลักการสำคัญเสียงข้างมากชั้นเดียวมีประโยชน์อะไรบ้าง 1. การเลือกตั้งทุกประเภทในไทยใช้เสียงข้างมากชั้นเดียว เหตุใดการทำประชามติถึงแหวกขนบใช้ดับเบิ้ลสแตนดาร์ด เหตุใดไม่ใช้มาตรฐานเดียวการเลือกตั้งทั่วไป 2. การทำประชามติรัฐธรรมนูญ 2550 และ 2559 ใช้เสียงข้างมากชั้นเดียว ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนกติกา 3. การทำประชามติ ประเทศต่าง ๆในโลกนี้ก็ใช้เสียงข้างมากชั้นเดียว 4. การทำประชามติควรเป็นเรื่องที่ง่ายประชาชนเข้าถึงได้ไม่ซับซ้อน 5. การทำประชามติเสียงข้างมากสองชั้นทำให้เสียงของคนไม่ออกมาใช้สิทธิ์มีอำนาจเหนือคนที่ออกมา 6. การทำประชามติไม่ควรใช้กฎการประชุมเจ้าของร่วมอาคารชุด 7. การปรับปรุงประชามติทำตามข้อเสนอสภาฯ เพื่อให้ทันกรอบเวลาทำประชามติพ่วงการเลือก อบจ. หากผู้ที่สภาเห็นชอบร่างของสภาจะเป็นการหน่วงเวลาให้ยืดเยื้อในที่สุดไม่สามารถพ่วงกับการเลือก อบจ. ทำให้เสียงบประมาณมากขึ้น”

นันทนา นันทวโรภาส

นันทนา จึงเรียกร้องให้ สว. กล้าหาญตัดสินใจด้วยวิจารณญาณของตัวเอง ไม่ต้องเกรงอำนาจอิทธิพลใดให้ตัดสินถึงผลประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง และวอนอย่าทำตัวเป็น สว. ความจำสั้น เพราะเมื่อวันที่ 27 ส.ค. ที่ผ่านมา หน้าที่ประชุมแห่งนี้ได้ลงมติรับร่าง พ.ร.บ.นี้ในวาระ 1 อย่างท่วมท้น 179 เสียง หวังว่ายังจำได้

“รัฐธรรมนูญที่มีปัญหาย่อมนำมาซึ่งการเมืองที่ไร้เสถียรภาพ การเมืองที่ไร้เสถียรภาพย่อมนำมาซึ่งเศรษฐกิจที่ล้มเหลว การแก้รัฐธรรมนูญคือคำตอบของการแก้ปัญหาเศรษฐกิจเรามาช่วยปลดล็อคกฎหมายประชามติเพื่อเป็นหินก้อนแรกที่จะสร้างถนนแห่งประชาธิปไตย”

นันทนา นันทวโรภาส
กฤช เอื้อวงษ์ กรรมาธิการสัดส่วน ครม.

เช่นเดียวกับ กฤช เอื้อวงษ์ กรรมาธิการสัดส่วน ครม. ที่ขอสงวนความเห็น ระบุ 5 เหตุผล ที่เห็นว่าควรใช้เสียงการทำประชามติเสียงข้างมากธรรมดา ตามร่างของสภาผู้แทนราษฎร ดังนี้

  1. ดับเบิ้ลมาจอริตี้ ส่วนใหญ่จะใช้ในประเทศที่มีหลายมลรัฐ สวิตเซอร์แลนด์ สหรัฐอเมริกา ออสเตรีเลีย แต่ของไทยเป็นรัฐเดียว ที่ผ่านมาออกเสียงมาแล้ว 2 ครั้งใช้เสียงข้างมากธรรมดา

  2. รัฐธรรมนูญปี 2560 การออกเสียงประชามติใช้เสียงข้างมากธรรมดา

  3. ไทยมีการออกเสียงประชามติหลายครั้ง

  4. การกลับมติในร่างใช้เสียงข้างมาก 2 ชั้น จะเกิดผลที่แปลก

  5. การทำประชามติรับรัฐธรรมนูญใหม่ต้องทำ 3 ครั้ง ตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ แม้มีเพียงครั้งใดครั้งหนึ่งไม่ผ่านเกณฑ์ดับเบิ้ลมาจอลิตี้ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนั้นจะไม่ผ่านก็จะทำให้เสียงบประมาณแต่ละครั้งมากกว่า 3,000 ล้านบาทสูญเปล่า 

“ผู้มีสิทธิออกเสียง 52 ล้านคน มาใช้สิทธิออกเสียงเกินกึ่งหนึ่ง คือ 26 ล้าน บวก 1 หากใช้เกณฑ์ดับเบิ้ลมาจอริตี้ ต้องมีผู้มาลงคะแนนเห็นชอบเกิน 13 ล้านคน หากในข้อเท็จจริง 26 ล้านเสียง เห็นชอบ 12 ล้าน ไม่เห็นชอบ 9 ล้าน งดออกเสียง 2 ล้าน ไม่มาออกเสียง 3 ล้าน ระหว่างตัวเลขเห็นชอบ 12 ล้านกับไม่เห็นชอบ 9 ล้าน ผลของการออกเสียงตามตัวเลขที่ปรากฏ คือ เห็นชอบ นั่นแปลว่า 9 ล้านชนะ 12 ล้านใช่ไหม อยากให้สมาชิกได้พิจารณาประกอบก่อนการตัดสินใจลงมติ”

กฤช เอื้อวงษ์

ขณะที่ นิกร จำนง กรรมาธิการเสียงข้างน้อย ขอสงวนความเห็น โดยยืนยันว่า ไม่เห็นด้วยกับการเพิ่มหลักการใหม่ ถือเป็นการแปลงแก้ไขหัวใจสำคัญที่สุดของการแก้ไขร่างกฎหมายว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ซึ่งจากการศึกษา ชี้ว่า กฎหมายประชามติฉบับปัจจุบันเป็นอุปสรรคในการจัดทำประชามติ เพราะไม่สามารถทำดับเบิ้ลมาจอริตี้ได้

“การที่ที่ประชุมวุฒิสภากลับมติ ส่งผลกระทบต่อหัวใจสำคัญในการทำกฏหมายฉบับนี้ โดยมีเป้าประสงค์เพื่อทำรัฐธรรมนูญประชาชนขึ้นมา หากที่ประชุมวุฒิสภาเห็นชอบตามกรรมาธิการเสียงข้างมาก ขั้นตอนต่อไปต้องส่งสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งสภาก็ต้องยืนตามร่างเดิม ทำให้ต้องมีการตั้งกรรมาธิการร่วมขึ้นมา ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 137 ซึ่งในท้ายที่สุดหากสภาใดสภาหนึ่งไม่เห็นด้วย ร่างกฎหมายฉบับนี้จะถูกแขวนไว้ 6 เดือน หลังจากนั้นสภาผู้แทนราษฎรจะยืนตามร่างเดิมด้วยเสียงเกินกึ่งหนึ่ง  ดังนั้นสามารถกลับไปใช้ร่างที่ส่งมาตั้งแต่ต้นได้เลย แต่ไม่ต้องการให้เป็นเช่นนั้น เนื่องจาก สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาจะกระทบกับรัฐธรรมนูญฉบับของประชาชน ที่วางไว้ว่า จะทำประชามติเลือกตั้ง กับการเลือก อบจ. ในวันที่ 2 ก.พ. 2568 หากมีการแก้ไขก็จะไม่สามารถดำเนินการได้ทัน จะเกิดค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันก็ไม่สามารถทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้แล้วเสร็จภายในสภาผู้แทนราษฎรชุดปัจจุบัน 

นิกร จำนง

นิกร ยังไล่เรียงเหตุการณ์ หลัง สว. เห็นชอบร่างของ สส. แล้วถูกส่งกลับสู่การพิจารณาในวันที่ 9 ต.ค. หากต่างเห็นชอบ ก็จะเข้าสู่การตั้งกรรมการร่วมในวันที่ 15 ต.ค. จากนั้น วันที่ 16 – 24 ต.ค. ทั้ง 2 สภาจับมือกันหาทางออก จากนั้นในวันที่ 24 ต.ค. กรรมาธิการส่งให้ที่ประชุม 2 สภาฯ จากนั้นในวันที่ 28 ต.ค. วุฒิสภาให้ความเห็นชอบตามร่างของกรรมาธิการร่วม และวันที่ 30 ต.ค. สส. จะให้ความเห็นชอบและประชุมร่วมกันในวันที่ 31 ต.ค. สามารถดำเนินการได้ทันในสมัยประชุมนี้ ถ้าเลยจากนั้นก็จะอยู่ในช่วงปิดสมัยประชุม 

ส่วน พิสิษฐ์ อภิวัฒนาพงศ์ สมาชิกวุฒิสภา ที่แปรญัตติ ปรับแก้มาตรา 13 ให้กลับไปใช้เสียงข้างมาก 2 ชั้น ดับเบิ้ลมาจอริตี้ กล่าวว่า ในการทำประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญ การแสดงความเห็นว่าการทำประชามติรัฐธรรมนูญ 2550 และ 2560 ไม่ได้กำหนดหลักเกณฑ์ดับเบิ้ลมาจอริตี้ หากนำหลักการมาเทียบเคียง จะชี้เห็นว่า การทำประชามติเมื่อวันที่ 19 ส.ค. 2550 ผู้มีสิทธิ์ออกเสียง 45 ล้านคน โดยผู้ออกมาใช้สิทธิ์ 25.5 ล้านคน ซึ่งก็เกินกึ่งหนึ่ง และผลลงมติ 14.7 ล้านคน ซึ่งก็เกินกว่ากึ่งหนึ่งของผู้ออกมาใช้สิทธิ์ ส่วนการทำประชามติ รัฐธรรมนูญปี 2560 ที่มีคำถามพ่วง หากเทียบเคียงใช้หลัก ดับเบิ้ลมาจอริตี้คะแนนเสียงก็ยังผ่านความเห็นชอบได้ 

“ที่กล่าวอ้างว่ามันยากมันไม่จริง อย่าปิดหูปิดตาประชาชน ยกเว้นจะทำประชามติที่ร่างรัฐธรรมนูญสวยหรูอ้างว่าทำรัฐธรรมนูญประชาชน แต่สิ่งที่ผมเห็นในสื่อในข่าว คุณกำลังจะแก้ประมวลจริยธรรมนักการเมือง  ผมถามคุณว่ามันถูกต้องไหมแล้วเกี่ยวอะไรกับประชาชน”

พิสิษฐ์ อภิวัฒนาพงศ์

พิสิษฐ์ ได้หยิบยกหนังสือสื่อสารการเมืองที่เขียนโดย นันทนา ที่ระบุถึง หลักเสียงข้างมากระบอบประชาธิปไตย คือ การใช้เสียงข้างมาก เป็นหลักในการปกครองโดยทั่วไปแล้วใช้เสียงข้างมากธรรมดา คือเสียงเกินกึ่งหนึ่งซิมเปิ้ลมาจอริตี้ จึงตั้งคำถามว่า “อาจารย์นันทนา เห็นชอบอย่างไรกับร่างที่ผู้ออกมาใช้สิทธิ์ 4 คน เห็นชอบแค่ 2 คนงดออกเสียง 1 คน ไม่เห็นชอบ 1 คน จากผู้มีสิทธิ์ 50 ล้านคน หากมีข้อกังวลว่ากฎหมายประชามติจะเสร็จแล้วไม่ทันการเลือก อบจ. ที่จะพ่วงการทำประชามติด้วยนั้น จึงแนะให้ทำประชามติได้เลยโดยใช้กฎหมายปี 2564 อย่างชี้ว่าการแก้รัฐธรรมนูญปี 2560 ยังมีประชาชนอ้างว่ากฎหมายมีปัญหาแต่อย่างใด มีเพียงการเสนอแก้จริยธรรมของนักการเมือง” 

ช่วงท้าย พล.ต.ต.ฉัตรวรรษ แสงเพชร ประธานกรรมาธิการฯ ชี้แจงว่า ให้ความเป็นกลางกับทุกฝ่ายที่แสดงความเห็น และไม่ได้รวบรัด โดยเป็นการพิจารณาหารือประชุมอย่างรอบด้าน ซึ่งเสียงส่วนใหญ่ 17 ต่อ 1 เห็นว่าควรมีการแก้ไขมาตรา 7 

จากนั้นที่ประชุมลงมติในรายมาตราที่มีการแก้ไข มาตรา 7 วาระ 2 แบบรายมาตรา มีมติเห็นด้วย 164 ไม่เห็นด้วย 21 งดออกเสียง 9 ไม่ลงคะแนน 0 ก่อนที่ประชุมจะให้ความเห็นชอบร่างทั้งฉบับวาระ 3 ด้วยมติเห็นชอบ 167 ไม่เห็นด้วย 19 งดออกเสียง7 และไม่ลงคะแนน 2  ซึ่งขั้นตอนต่อไปวุฒิสภาจะจะส่งร่างกฎหมายกลับไปยังสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา หากยืนตามร่างฯ ของสภาผู้แทนราษฎร ก็จะเข้าสู่การตั้งกรรมาธิการพิจารณาร่วมกัน

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active