ปชน. ย้ำ เขียน รธน. ฉบับใหม่ไม่ทันปี 70 ลุยแก้ไขรายมาตรา ผ่านข้อเสนอ ‘7 แพ็กเกจ’

พรรคประชาชน ย้ำ แม้เขียนรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับไม่ทันเลือกตั้ง ’70 ก็ยังแก้ไขรายมาตราได้ เสนอขาย ‘7 แพ็กเกจ’ รักษาผลประโยชน์ของประชาชน ประกาศพักการแก้ไข ‘มาตรฐานจริยธรรม’ เปิดทางทุกพรรคร่วมแก้ไข รธน.

วันนี้ (26 กันยายน 2567) ที่รัฐสภา พรรคประชาชนประกาศเดินหน้าปฏิรูปแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งรายมาตราและฉบับใหม่ โดยเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ “7 แพ็กเกจ” เพื่อผลประโยชน์ของประชาชน เน้นการแก้ปัญหาผลกระทบจากการรัฐประหาร เสริมสร้างกลไกตรวจสอบการทุจริต และคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน

พริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อและโฆษกพรรคประชาชน ระบุว่า รัฐธรรมนูญปี 2560 มีปัญหาเรื่องความชอบธรรมทางประชาธิปไตย ทั้งที่มา กระบวนการ และเนื้อหา การแก้ไขรัฐธรรมนูญจึงเป็นเรื่องสำคัญ แต่การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต้องใช้เวลา 1 – 2 ปีขึ้นไป และเสี่ยงว่าจะไม่ทันเลือกตั้ง 2570 จึงจำเป็นต้องเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราเพื่อทำให้บางปัญหาทางการเมืองได้รับการแก้ไขไปพลางก่อน เพื่อรักษาผลประโยชน์ของประชาชน

เปิด ‘7 แพ็กเกจ’ แก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา ควบคู่เขียนใหม่ทั้งฉบับ

พรรคประชาชน ยืนยันว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญแบบรายมาตราและการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่สามารถทำควบคู่กันได้ เพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้ทันที ขณะเดียวกันก็วางรากฐานให้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่เกิดขึ้นอย่างยั่งยืนและมีความเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง โดย 7 แพ็กเกจที่พรรคประชาชนเสนอประกอบด้วยประเด็นสำคัญหลายด้าน ดังนี้

  • แพ็กเกจที่ 1 “ลบล้างผลพวงรัฐประหาร” เช่น
    • ยกเลิกยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีและแผนปฏิรูปประเทศที่ถูกสร้างขึ้นภายใต้การกำกับของคณะรัฐประหาร
    • ยกเลิกมาตรา 279 ที่ให้ความชอบธรรมต่อประกาศและคำสั่งของ คสช.
    • เพิ่มกลไกในการป้องกันการรัฐประหารในอนาคต เช่น การเพิ่มสิทธิของประชาชนในการต่อต้านการรัฐประหาร และกำหนดบทลงโทษที่ชัดเจนต่อผู้ก่อรัฐประหาร

  • แพ็กเกจที่ 2 “ตีกรอบอำนาจศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ” เช่น
    • ยกเลิกการผูกขาดการตีความเรื่องมาตรฐานจริยธรรม ลดการใช้ดุลยพินิจตามอำเภอใจ และการกลั่นแกล้งกันทางการเมือง
    • เสนอให้ปรับปรุงกฎหมายพรรคการเมืองเพื่อส่งเสริมความยั่งยืนของพรรคการเมือง ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการจัดตั้งพรรคและการดำเนินงานของพรรคได้มากขึ้น
    • ทำให้พรรคการเมืองตายยากโดยการทบทวนฐานความผิดและอัตราโทษให้มีความเหมาะสมและได้สัดส่วน

“มีการบังคับใช้มาตรฐานจริยธรรมอย่างไม่เป็นธรรม เช่น กรณีอดีตรัฐมนตรีคนหนึ่งที่วันนี้นายกรัฐมนตรีแพทองธาร ชินวัตรไม่กล้าแต่งตั้งเพราะกลัวขัดจริยธรรม แต่รัฐมนตรีคนเดียวกันนี้ อดีตนายกรัฐมนตรีประยุทธ์ จันทร์โอชา กลับแต่งตั้งได้โดยไม่ลังเลและไม่นำไปสู่ปัญหาใด ๆ”

พริษฐ์ วัชรสินธุ
  • แพ็กเกจที่ 3 “เพิ่มกลไกตรวจสอบการทุจริต” เช่น
    • เสนอให้มีการป้องกันการสมคบคิดระหว่างรัฐบาลกับ ป.ป.ช.
    • เพิ่มอำนาจประชาชนในการร้องเรียนนักการเมืองแบบช่องทางเร่งด่วน (Fast-track) ผ่าน ป.ป.ช.
    • ส่งเสริมการเปิดเผยข้อมูลของรัฐอย่างโปร่งใส และการคุ้มครองผู้แจ้งเบาะแสการทุจริต
    • เพิ่มกลไกคุ้มครองผู้แจ้งเบาะแสและผู้เปิดโปงการทุจริต
  • แพ็กเกจที่ 4 “คุ้มครองสิทธิเสรีภาพประชาชน” เช่น
    • ขยายสิทธิเรียนฟรีที่ถูกรับประกันในรัฐธรรมนูญจาก 12 ปี เป็นอย่างน้อย 15 ปี
    • รัฐธรรมนูญมีความเสมอภาคทางเพศ ปรับข้อความจาก “ชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน” มาเป็น “บุคคลทุกคน ไม่ว่าเพศ เพศสภาพ เพศวิถี หรืออัตลักษณ์ทางเพศใด มีสิทธิเท่าเทียมกัน”
    • แก้ไขมาตรา 34 – 36 ของรัฐธรรมนูญ เพื่อรับรองสิทธิในการแสดงความคิดเห็น การชุมนุมอย่างสันติ และสิทธิในการแสดงออกอย่างเสรีมากยิ่งขึ้น
    • เพิ่มกลไกคุ้มครองสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะในกรณีที่รัฐละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน เช่น การเพิ่มบทลงโทษต่อเจ้าหน้าที่รัฐที่ละเมิดสิทธิเหล่านี้

  • แพ็กเกจที่ 5 “ปฏิรูปกองทัพ” ได้แก่
    • ยกเลิกบังคับเกณฑ์ทหาร
    • กำหนดให้อำนาจศาลทหารจำกัดอยู่เฉพาะในยามที่มีการประกาศสงคราม

  • แพ็กเกจที่ 6 “ยกระดับประสิทธิภาพรัฐสภา” ได้แก่
    • ปลดล็อกอำนาจของคณะกรรมาธิการในการออกคำสั่งเรียกเอกสารหรือบุคคลภายนอกมาชี้แจง เพื่อดำเนินการสอบสวนข้อเท็จจริง
    • ปลดล็อกความเป็นไปได้ที่ประธานสภาฯ หรือรองประธานสภาฯ จะมาจากพรรคการเมืองฝ่ายค้าน
    • ปลดล็อกให้ สส. เสนอร่างกฎหมายการเงินเข้าสู่การพิจารณาในสภาฯ โดยไม่ต้องมีคำรับรองจากนายกรัฐมนตรี

  • แพ็กเกจที่ 7 “ปรับเกณฑ์เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ”
    • สามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ หากได้รับเสียงเกินกึ่งหนึ่งของรัฐสภา (สส. + ส.ว.) และ 2 ใน 3 ของสภาผู้แทนราษฎร โดยไม่จำเป็นต้องได้รับความเห็นชอบจากเสียง 1 ใน 3 ของวุฒิสภาเป็นเงื่อนไขเฉพาะ
    • การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะต้องมีการทำประชามติก็ต่อเมื่อ เป็นการแก้ไขเกี่ยวกับเกณฑ์เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือการแก้ไขเพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เท่านั้น

พร้อมพักการแก้ไข ‘มาตรฐานจริยธรรม’ เปิดทางทุกพรรคร่วมแก้ไข รธน.

พริษฐ์ ยืนยันว่าการแก้ไขเรื่องมาตรฐานจริยธรรมไม่ได้เป็นการแก้ตัวให้พรรค แต่เป็นความพยายามยุติการผูกขาดอำนาจในการกำหนดมาตรฐานจริยธรรมที่อยู่กับศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ ซึ่งอาจถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง ทำให้เสถียรภาพและความชอบธรรมของระบบการเมืองถูกกระทบ ส่งผลต่อสภาพเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ

แม้หลายพรรคเคยเห็นพ้องว่าประเด็นนี้เป็นปัญหา แต่ในปัจจุบันยังไม่มีพรรคใดที่ต้องการแก้ไขอย่างจริงจัง พรรคประชาชนจึงยืนยันที่จะอธิบายและชี้แจงต่อสังคมถึงความจำเป็นในการยุติการผูกขาดอำนาจดังกล่าว แต่เพื่อให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญในมาตราอื่น ๆ ดำเนินไปได้ พรรคประชาชนพร้อมที่จะพักการผลักดันร่างแก้ไขมาตรฐานจริยธรรมไว้ก่อน จนกว่าจะสามารถสร้างความเข้าใจกับพรรคร่วมรัฐบาลและสังคมได้มากขึ้น

พรรคประชาชนยังคงเดินหน้าเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญอีก 6 แพ็กเกจ โดยหวังว่าพรรคการเมืองจะร่วมมือในการเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน เพื่อให้มีรัฐธรรมนูญที่ชอบธรรมและทำให้ระบบการเมืองมีเสถียรภาพมากขึ้น

“ยิ่งในวันนี้ที่การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มีความเสี่ยงจะเสร็จไม่ทันการเลือกตั้งครั้งถัดไป พรรคการเมืองยิ่งควรจะเห็นความจำเป็นในการร่วมมือกันเดินหน้าแก้ไขรายมาตราที่เป็นประโยชน์กับประชาชนโดยเร็ว เพื่อให้เรามีรัฐธรรมนูญที่มีความชอบธรรมทางประชาธิปไตยมากขึ้น”

พริษฐ์ วัชรสินธุ

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active