‘กมธ.สันติภาพ’ ห่วง ทหารยึดภาพ ‘อูลามะ’ เพิ่มชนวนขัดแย้ง พื้นที่ชายแดนใต้

วอน ‘หน่วยงานความมั่นคง’ ทบทวนการกระทำ หวั่นกระทบเสรีภาพ การแสดงออกของผู้คน เตรียมเรียก กอ.รมน. หารือ นำความเห็นต่าง ไปสู่ทิศทางการแก้ปัญหาให้ตรงกัน    

จากกรณีที่ปรากฎภาพผ่านสื่อมวลชน ภาคประชาสังคม และประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ต่อเหตุการณ์ในกิจกรรมการสืบสานประเพณีวัฒนธรรมที่ตำบลโคกสะตอ อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 7 กันยายน ที่ผ่านมา โดยมีทหารในพื้นที่ เข้ายึดอุปกรณ์ของผู้เข้าร่วมเดินขบวนพาเหรด เช่น ธงสัญลักษณ์ปาเลสไตน์, รูปอูลามะ หรือ ผู้รู้ในทางศาสนา ซึ่งการกระทำดังกล่าวของทหาร นำไปสู่กระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง

ล่าสุด วันนี้ (11 ก.ย. 67) คณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาศึกษาและเสนอแนวทางการส่งเสริมกระบวนการสร้างสันติภาพเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่สามจังหวัดใช้แดนภาคใต้ (กมธ.สันติภาพชายแดนใต้) แถลงการณ์แสดงความวิตกกังวลต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

จาตุรนต์ ฉายแสง ประธาน กมธ.สันติภาพชายแดนใต้ ระบุว่า การดำเนินการดังกล่าวแม้จะเป็นความพยายามปฏิบัติหน้าที่เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้จัดงานสามารถรักษารูปแบบงานให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของผู้จัด แต่การยึดรูปของผู้นำด้านศาสนา ซึ่งไม่ได้เป็นไปตามข้อตกลงของคณะผู้จัด และการยึดธงปาเลสไตน์ในขบวนพาเหรดที่เป็นการแสดงออกอย่าง สันติ เป็นการละเมิดสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออก การเก็บรูปภาพบุคคลในงานพาเหรดโดยเฉพาะบุคคลสำคัญในอดีตที่เป็นที่รู้จักกันดี และเป็นผู้นำด้านจิตใจ เช่น หะยีสุหลง รวมถึงการติดตามไปพบปะเยาวชนถึงบ้านโดยทหาร ตลอดจนการเชิญตัวไปพบเจ้าหน้าที่ ส่งผลให้เกิดความหวาดกลัวโดยเฉพาะในหมู่เยาวชนอย่างมาก

ถือว่าไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ 2560 ในมาตรา 25 และ มาตรา 19 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ที่ระบุถึง เสรีภาพในการแสดงออก สิทธิในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร และการคุ้มครองสิทธิของบุคคลทุกคนที่จะมีความคิดเห็นโดยปราศจากการแทรกแซง การกระทำของเจ้าหน้าที่ทหารส่งผลให้มีการตีความ และเกิดการเข้าใจผิดต่อบทบาทของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง และต่อแนวทางการทำงานคลี่คลาย ความขัดแย้งของฝ่ายต่าง ๆ

ในแถลงการณ์ ยังระบุว่า ประเทศไทยได้ให้การรับรองรัฐปาเลสไตน์เป็นรัฐอธิปไตยในวันที่ 18 มกราคม ค.ศ. 2012 (recognition) และไทยยังได้ร่วมสนับสนุนทางด้านมนุษยธรรมแก่ประชาชนชาวปาเลสไตน์ด้วย การห้ามถือธงชาติปาเลสไตน์ในจังหวัดชายแดนใต้จึงเป็นเรื่องที่ควรชี้แจง และภายใต้รัฐธรรมนูญและกฎหมายไทยก็มิได้ห้ามการจัดแสดงรูปภาพของบุคคลสำคัญในพื้นที่

ภายใต้สถานการณ์ความขัดแย้งที่รุนแรงอยู่แล้ว การกระทำของเจ้าหน้าที่ทหารในครั้งนี้จะทำให้เข้าใจไปได้ว่าทหารปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน ในขณะที่รัฐบาล และฝ่ายนิติบัญญัติต่างพยายามที่จะนำเสนอวิธีการแก้ปัญหาด้วยแนวทางสันติวิธีและการเคารพในหลักสิทธิมนุษยชน คณะกรรมาธิการฯ จึงมีความวิตกกังวลเป็นอย่างยิ่งกับทิศทางของการดำเนินการเช่นนี้ ด้วยเหตุนี้คณะกรรมาธิการฯ จึงขอเรียกร้องให้หน่วยงานทหารได้ทบทวน และแสวงหาแนวทางปฏิบัติที่เคารพเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนในจังหวัดชายแดนใต้

แต่คณะกรรมาธิการฯ อีกส่วนหนึ่งก็กังวล และตั้งคำถามว่าการปล่อยให้มีการจัดกิจกรรม หรือมีการเคลื่อนไหวของกลุ่มที่ไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงของผู้จัดกิจกรรม และหน่วยงานรัฐในลักษณะเช่นนี้ จะขัดต่อกฎหมายฉบับอื่น ๆ หรือไม่

ดังนั้นในการประชุมกรรมาธิการฯ สัปดาห์หน้า (18 ก.ย. 67) จะได้เชิญหน่วยงานด้านความมั่นคง คือ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) มาหารือ เพื่อเป็นพื้นที่กลางที่นำความคิดเห็นที่แตกต่างหลากหลายได้มาอธิบายและถกเถียงกัน โดยเฉพาะในห้วงเวลาของการเปลี่ยนผ่านของทั้งรัฐบาลและเจ้าหน้าที่ในพื้นที่จึงต้องทำความเข้าใจต่อทิศทางในการแก้ปัญหาให้ตรงกัน

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active