หวัง ‘พล.อ. พิศาล’ จำเลย ‘คดีตากใบ’ ใช้สามัญสำนึก เมินเอกสิทธิ์ สส. ไปศาลพรุ่งนี้

เชื่อเป็นโอกาสพิสูจน์ความบริสุทธิ์ ขณะที่ ประธานสภาฯ ย้ำ กรณีศาลขอสอบสวน หรือ ตำรวจขอดำเนินคดี สส.ระหว่างเปิดสมัยประชุม ตาม ม.125 ให้เป็นเอกสิทธิ์ ห้ามจับกุม หรือ หมายเรียก สส. โยนขอมติสภาฯ อนุญาต พล.อ. พิศาล ไปศาลหรือไม่ แต่ที่ผ่านมาไม่เคยอนุญาต

วันนี้ (11 ก.ย. 67) ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอส รายงานว่า ระหว่างการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ช่วงวาระการหารือของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร รอมฎอน ปันจอร์ สส. พรรคประชาชน ลุกขึ้นหารือ ประเด็นหนังสือร้องเรียนที่ทำถึง วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร โดยอ้างอิงว่า อีก 44 วันนับจากนี้หรือ ในวันที่ 25 ตุลาคมนี้ จะครบรอบ 20 ปีเหตุการณ์ตากใบ และจะเป็นวันสิ้นสุดอายุความคดีอาญา แต่ความคืบหน้าคดีศาลประทับรับฟ้อง โดยโจทก์ประชาชน 44 คนฟ้องเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งหนึ่งนั้นคือ พล.อ. พิศาล วัฒนวงษ์คีรี สส.พรรคเพื่อไทย ในฐานะอดีตแม่ทัพภาคที่ 4 ซึ่งถือเป็นจำเลยที่ 1 ในคดีนี้ จึงปรึกษาว่า ในวันพรุ่งนี้ (12 ก.ย. 67) ที่ศาลนัดเบิกคำให้การของจำเลยครั้งแรก โดยภาคประชาชนขอให้ประธานสภาฯ อำนวยความยุติธรรม อนุญาตให้ พล.อ.พิศาล เดินทางไปศาลในวันที่ 12 กันยายนนี้ และในวันถัดไป

ขณะที่ ประธานสภาฯ ชี้แจงว่า ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 125 กำหนดไว้ว่าระหว่างสมัยประชุม ห้ามไม่ให้จับคุมขังหรือหมายเรียก สส. หรือ สว. ไปทำการสอบสวน ชี้เป็นเอกสิทธิ์ที่สมาชิกรัฐสภาได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ แต่วิธีปฏิบัติที่เคยปฏิบัติกันมา กรณีที่ศาลมีความจำเป็นขอสอบสวน หรือตำรวจขอดำเนินคดีระหว่างเปิดสมัยประชุม ก็ขอมาที่ประธานรัฐสภา แต่ประธานรัฐสภา ไม่ได้มีอำนาจ แต่สภาฯ จะเป็นผู้พิจารณาว่าสมควรอนุญาตหรือไม่ ซึ่งที่ผ่านมาเคยมีกรณีที่เจ้าหน้าที่ของรัฐขอตัว หรือเจ้าตัวสมาชิกรัฐสภา ขอไปดำเนินคดีด้วยตัวเองด้วยเห็นว่าไม่ต้องการให้คดียืดเยื้อ แต่ที่ผ่านมาตามวิธีปฏิบัติของรัฐสภาจะลงมติไม่อนุญาต

“อยากจะเรียนต่อรอมฎอน และพี่น้องประชาชนที่รับฟัง ไม่ได้หมายความว่ารัฐสภาของเราทั้งสองสภา จะไม่เห็นใจเจ้าหน้าที่ที่ดำเนินคดี แต่สภาฯ เห็นว่าเพื่อพิทักษ์เอกสิทธิ์ของสมาชิก เราเกรงว่าสมาชิกฝ่ายค้าน จะมีการกลั่นแกล้งเหมือนสมัยก่อนฟ้องคดีอาญา แล้วให้ตำรวจเรียกไปสอบสวน ไม่สามารถมาปฎิบัติหน้าที่ได้ โดยเฉพาะดาวสภาฯ ทั้งหลาย แต่ที่เขาพูดกันยังไม่เคยเกิดขึ้น เพื่อปกป้องในกรณีที่จะมีการกลั่นแกล้งกับฝ่ายที่ไม่ถูกกับรัฐบาลเพราะรัฐบาลมีอำนาจให้ตำรวจเรียกไปไต่สวน” วันมูหะมัดนอร์ มะทา

วันมูหะมัดนอร์ มะทา

ประธานสภาฯ บอกด้วยว่า ยังมีหลายคดีที่สมาชิกมาขอไปเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมแต่สภาฯ ไม่อนุญาต เพราะจะเกิดบรรทัดฐาน ซึ่งเท่าที่จำได้ 40 กว่าปีที่ผ่านมาในสภาฯ ไม่เคยมี

จากนั้น รอมฎอน หยิบยกวรรคท้ายของรัฐธรรมนูญมาตรา 125 ที่ระบุว่า “ในกรณีที่มีการฟ้อง สส.หรือ สว. ในคดีอาญา ไม่ว่าฟ้องนอกหรือในสมัยประชุม ศาลจะพิจารณาระหว่างสมัยประชุมก็ได้แต่ต้องไม่เป็นการขัดขวางต่อสมาชิกผู้นั้นไปประชุมสภาฯ” พร้อมถามถึงแนวปฏิบัติ

พล.อ. พิศาล วัฒนวงษ์คีรี สส.พรรคเพื่อไทย

โดย ประธานสภาฯ ชี้แจงว่า ศาลจะพิจารณาได้หากไม่เกี่ยวกับสมาชิกนั้นต้องไปถูกไต่สวนในบางครั้ง เช่น สมาชิกเป็นโจทย์ก็ไม่ต้องไป และไม่มีกฎหมายที่กำหนดว่าจะต้องนำตัวไป สมาชิกมอบหมายให้ทนายดำเนินคดีแทนได้ และกรณีที่ศาลเห็นว่า คดีนี้ไม่มีคนคัดค้าน และจำเลยต้องการให้จบเร็ว ฝ่ายโจทก์ไม่ถูกบังคับให้ไปไต่สวน เป็นเรื่องของทนายก็มีหลายคดีที่เป็นในลักษณะนี้ คือศาลเห็นว่าสามารถดำเนินคดีได้โดยที่สมาชิกไม่ต้องไปชี้แจงในศาลในวันใดก็แล้วแต่

ขณะที่ อดิศร  เพียงเกษ สส.พรรคเพื่อไทย ระบุว่า ศาลอาญาได้พิจารณาคดีของตนเอง ซึ่งเป็นจำเลยในกรณีผู้บงการให้เกิดเหตุการณ์ที่พัทยา เป็นการสืบพยานโจทก์แต่เป็นการพิจารณาลับหลัง และตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมาตรา 125 วรรคสุดท้าย ศาลจะพิจารณาในคดีนั้นระหว่างสมัยประชุมก็ได้ ซึ่งตนเองก็ไม่ได้ไปมอบมอบหมายทนายความ แต่หากศาลขอมา สภาฯ มีประเพณี คือไม่ให้ไปไม่ว่ากรณีใดโดยเด็ดขาด ก่อนจะทิ้งท้ายว่าทุกคนถ้าไม่จำเป็นไม่ต้องไปศาลเด็ดขาด

ทางฝั่ง กมลศักดิ์ ลีวาเมาะ สส.นราธิวาส พรรคประชาชาติ ลุกขึ้นอภิปรายหารือเกี่ยวกับการใช้เอกสิทธิ์ของ สส. ว่า ในวันพรุ่งนี้ศาลจะนัด สอบคำให้การวันแรกโดยจะครบอายุความในวันที่ 25 ตุลาคมนี้ ซึ่งการนับอายุความต้องนับ 20 ปี เมื่อได้ตัวผู้ต้องหาจำเลยไปศาล นั่นหมายความว่าหากในวันพรุ่งนี้ สส. ใช้เอกสิทธิ์ตามรัฐธรรมนูญไม่ไปศาลเป็นเรื่องของสภาฯ

“เข้าใจว่าประธานสภาฯ มีอำนาจแต่เป็นเรื่องของสภาผู้แทนราษฎร ที่จะให้ใช้เอกสิทธิ์หรือไม่ในการคุ้มครองผู้นั้น แต่ในเรื่องนี้ขึ้นอยู่กับสามัญสำนึกของผู้ที่ถูกกล่าวหา ตามที่ศาลประทับรับฟ้องจะไปเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์หรือไม่

กมลศักดิ์ ลีวาเมาะ

ในช่วงท้าย ประธานสภาฯ อ้างอิงข้อบังคับสภาผู้แทนราษฎร ข้อ 187 ระบุว่า “ในกรณีที่เรื่องที่จะต้องพิจารณาเกี่ยวกับการอนุญาต หรือไม่อนุญาตในการจับกุมคุมขัง หรือหมายเรียกตัวสมาชิก ไปทำการสอบสวนในฐานะเป็นผู้ต้องหาในคดีอาญาระหว่างสมัยประชุมตามมาตรามาตรา 125 ของรัฐธรรมนูญ ให้ประธานสภาบรรจุในระเบียบวาระการพิจารณา” แต่ยังไม่มีเรื่องมาถึงประธานสภาฯ จึงแจ้งให้ทราบ

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active