มัดรวมข้อกังวล สว. ถกงบฯ 68 – นโยบายเร่งด่วน นายกฯ อุ๊งอิ๊ง ที่หายไป ?

สว. ถาม ‘แก้รัฐธรรมนูญ’ ไม่เร่งด่วนตรงไหน ? มองเศรษฐกิจก็สำคัญ แต่รัฐธรรมนูญ คือต้นตอของโจทย์การเมืองจนถึงวันนี้ ทวงถาม นโยบายดับไฟใต้ ก็ยังไม่ชัดเจน ห่วงปราบปรามยาเสพติด ซ้ำรอยฆ่าตัดตอนยุคทักษิณ ขณะที่สภาฯ ถกงบฯ 68 สว. ติงเงินหมื่นดิจิทัล-ซอฟต์พาวเวอร์-แก้หนี้ ยังไร้ยุทธศาสตร์

วันนี้ (9 ก.ย. 67) สมาชิกวุฒิสภา ประชุมเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2568 โดย สว. หลายคนร่วมถกถึงแผนนโยบายของรัฐบาลภายใต้การนำของ แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ทั้งนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต, การแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน, การส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์ และ การปราบปรามยาเสพติด ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นนโยบายที่มุ่งเน้นแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ แต่ก็มีหลากหลายข้อกังวลจาก สว. บางคน เกี่ยวกับแนวทาง และกรอบเวลาในการดำเนินงาน รวมถึงในระยะยาวของนโยบาย ดังนี้

ปฏิมา จีระแพทย์ สมาชิกวุฒิสภา

นโยบายดิจิทัลวอลเล็ต

ปฏิมา จีระแพทย์ สมาชิกวุฒิสภา แสดงความกังวล ต่อแผนการจ่ายเงินดิจิทัลวอลเล็ตของรัฐบาล โดยระบุว่า นโยบายนี้ยังขาดการกำหนดกรอบเวลาที่ชัดเจนในการดำเนินการ ยังไม่ทราบว่าขั้นตอนการจ่ายเงินดิจิทัลวอลเล็ตจะมีรายละเอียดอย่างไร แม้ว่าจะเป็นโครงการที่ประชาชนให้ความสนใจอย่างมาก แต่ควรมีการวางแผนที่เป็นรูปธรรมเพื่อให้เห็นผลอย่างชัดเจน

สอดคล้องกับ รศ.นันทนา นันทวโรภาส สมาชิกวุฒิสภา เสริมในประเด็นเดียวกันว่า แม้นโยบายดิจิทัลวอลเล็ตจะได้รับการผลักดันอย่างต่อเนื่อง แต่ยังคงต้องติดตามว่ารูปแบบการดำเนินงานจะมีผลกระตุ้นเศรษฐกิจได้จริงหรือไม่ จะเป็นพายุหมุน หรือแค่ลมพัด แต่ทั้งนี้ สว. คงจะให้ผ่านร่างงบฯ ปี 2568 คงจะไม่ไปฉุดรั้งให้กระบวนการของงบประมาณเดิมต่อไปไม่ได้

นโยบายแก้หนี้ครัวเรือน

สว.ปฏิมา ย้ำถึงความจำเป็นในการเร่งแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน โดยเน้นว่าหลายประเทศ เช่น สิงคโปร์ และจีน ได้ดำเนินมาตรการลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อลดภาระประชาชน รัฐบาลควรเร่งดำเนินการแก้ปัญหานี้เพื่อช่วยประชาชนอย่างทันท่วงที

ขณะที่ สว.นันทนา เห็นว่า การกระจายงบประมาณไม่มียุทธศาสตร์ที่ชัดเจนในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทำให้นโยบายแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอาจไม่ได้ผลอย่างที่ควร

รศ.นันทนา นันทวโรภาส สมาชิกวุฒิสภา

นโยบายซอฟต์พาวเวอร์

สว.นันทนา แสดงความคิดเห็นว่า นโยบายซอฟต์พาวเวอร์ของรัฐบาลเป็นหนึ่งในโครงการที่ได้รับงบประมาณจำนวนมาก แต่นโยบายนี้ยังคงต้องพิสูจน์ว่าสามารถส่งผลกระทบต่อการพัฒนาเศรษฐกิจในระยะยาวได้หรือไม่ สว. หลายคนยังติดตามการดำเนินการของรัฐบาลในเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด เพื่อให้มั่นใจว่านโยบายดังกล่าวจะสร้างผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม

ทั้งนี้มองว่างบประมาณปี 2568 เป็นงบฯ ที่จัดตั้งโดยไม่มียุทธศาสตร์ ที่เพิ่มขึ้นตามสัดส่วนของงบประมาณ ไม่ได้กระตุ้นเศรษฐกิจอย่างแท้จริง ส่วนใหญ่เป็นงบฯ ประจำ รวมทั้งไม่มีทิศทางจัดการงบฯ ที่จะเข้าไปแก้ไขเศรษฐกิจ เน้นทุ่มไปที่งบฯ โครงการดิจิทัลวอลเล็ต และซอฟท์พาวเวอร์

นโยบายปราบปรามยาเสพติด

ขณะที่ อังคณา นีละไพจิตร สมาชิกวุฒิสภา แสดงความกังวลต่อนโยบายปราบปรามยาเสพติดแบบเด็ดขาดของรัฐบาลแพทองธาร เนื่องจากเคยมีกรณีที่นโยบายนี้ในอดีตสมัยรัฐบาล ทักษิณ ชินวัตร ส่งผลให้เกิดการฆ่าตัดตอนจำนวนมาก สว.อังคณา เน้นว่าการปราบปรามยาเสพติดควรพิจารณาถึงศักยภาพของชุมชนในการดูแลผู้เสพที่ถือเป็นผู้ป่วย และควรหลีกเลี่ยงการใช้กำลังที่รุนแรง

อังคณา นีละไพจิตร สมาชิกวุฒิสภา

นอกจากนี้ ยังอภิปรายถึงแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติที่ไม่สอดคล้องต่อการใช้งบฯ โดยเฉพาะกระทรวงกลาโหมที่ยังเน้นการใช้งบประมาณไปที่ความมั่นคงมากกว่าการส่งเสริมความเท่าเทียม

การจัดเก็บรายได้และการควบคุมรายจ่ายภาครัฐ

วิธาวีร์ ประทุมสวัสดิ์ สมาชิกวุฒิสภา ได้ตั้งคำถามถึงความเพียงพอของแผนการจัดเก็บรายได้และความสามารถในการบริหารจัดการหนี้ของภาครัฐ

เช่นเดียวกับ นรเศรษฐ์ ปรัชญากร สมาชิกวุฒิสภา เสนอให้รัฐหยุดรับตำแหน่งข้าราชการบางตำแหน่ง และพิจารณาใช้หน่วยงานภายนอก (Outsource) เพื่อลดภาระด้านบำเหน็จบำนาญและค่ารักษาพยาบาล และยังเสนอให้รัฐเปลี่ยนแนวทางการลงทุนจากโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นมาเป็นการสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่ยั่งยืน

‘แก้รัฐธรรมนูญ’ อยู่ไหน ? ในนโยบายเร่งด่วน นายกฯ อุ๊งอิ๊ง

ขณะที่ เทวฤทธิ์ มณีฉาย สมาชิกวุฒิสภา เปิดเผยกับ The Active ถึงการแถลงนโยบายเร่งด่วน 10 นโยบายของ นายกฯ แพทองธาร มองว่า จากภาพรวมที่มองเข้าไปใน 10 นโยบาย คือเน้นไปที่การเร่งเศรษฐกิจเป็นหลัก และเมื่อเปรียบเทียบกับ รัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน สิ่งที่หายไปจากนโยบายเร่งด่วนคือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทำให้เกิดความกังวล เพราะช่วงรัฐบาลเศรษฐา ที่จัดทำเป็นนโยบายเร่งด่วน ก็แทบจะไม่มีความคืบหน้า ซึ่งการที่รัฐบาลมองโจทย์เรื่องเศรษฐกิจเป็นหลักเป็นเรื่องสำคัญเร่งด่วนก็จริง แต่เรื่องการแก้รัฐธรรมนูญ เป็นโจทย์การเมือง ที่ควรเป็นเรื่องเร่งด่วนเช่นกัน ซึ่งการแก้ไขรัฐธรรมนูญ สามารถแก้ไขรายมาตราได้ โดยเฉพาะหมวดเรื่องจริยธรรม ที่นำมาใช้กับองค์กรอิสระ จะเป็นประโยชน์ทางการเมือง ซึ่งพรรคเพื่อไทย ต้องจัดสรรรัฐมนตรีอย่างยากลำบาก และเสี่ยงต่อการถูกถอดถอน ที่สำคัญสมการที่หายไปเลยหลังการเลือกตั้ง คือ ประชาชน ที่พวกเขาไม่มีส่วนในการกำกับทิศทางรัฐบาลที่พวกเขาเลือก

เทวฤทธิ์ มณีฉาย สมาชิกวุฒิสภา (แฟ้มภาพ)

“ประชาชนไม่มีเสียงเลย กลายเป็นนักร้อง องค์กรอิสระ ที่มีเสียง แทนที่รัฐบาลจะมาคิดว่าจะทำอย่างไรให้รอดจากการตรวจสอบของประชาชน จะทำอย่างไรเพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชน ประชาชนหายไปเลย กลายเป็นเพียงผู้รอรับผลจากนโยบายเท่านั้น”

เทวฤทธิ์ มณีฉาย

ขณะเดียวกัน สว.เทวฤทธิ์ ยังมองว่าอีกเรื่องที่หายไปในนโยบายเร่งด่วน คือ สวัสดิการผู้สูงอายุ ซึ่งในช่วงการหาเสียงเลือกตั้งเรื่องนี้เป็นนโยบายที่ทุกพรรคมี และพรรคเพื่อไทยก็มี แต่กลับหายไป ถูกดองไว้ตั้งแต่รัฐบาลเศรษฐา ทั้งที่เป็นประเด็นที่ทั้งฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาลมองเห็นตรงกัน จึงมองว่า การแก้ปัญหาใน 10 นโยบายเร่งด่วน เป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า และเชื่อว่า ปัญหาเฉพาะหน้าเหล่านี้จะเกิดใหม่ หากไม่แก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง เช่น รัฐบาลจะแก้ปัญหาอาชญากรรมไซเบอร์ แต่ไม่แก้เรื่องสวัสดิการ เรื่องค่าแรง ทำให้ปัญหาเหล่านี้จะไม่มีวันหายไป ดังนั้น เรื่องเร่งด่วนต้องแก้ไปควบคู่กับปัญหาเชิงโครงสร้าง

จริงจังแก้ปัญหาชายแดนใต้ – ห่วงนโยบายปราบปรามยาเสพติด

ไม่ต่างจาก สว.อังคนา ที่ให้ความเห็นต่อการเตรียมแถลงนโยบายรัฐบาลในวันที่ 12-13 กันยายนนี้ โดยมองว่า การจัดลำดับความสำคัญของนโยบายแก้ปัญหาความไม่สงบสามจังหวัดภาคใต้ ยังน่าเป็นห่วง เพราะไม่ได้จัดไว้ในลำดับความจำเป็นเร่งด่วน จึงอยากเห็นการทำงานของ นายกฯ แพทองธาร แก้ปัญหาชายแดนใต้อย่างจริงจัง ส่วนภาพรวมนโยบายไม่ได้ต่างจาก สมัย นายกฯ ทักษิณ และ นายกฯ เศรษฐา ยังไม่เห็นอะไรใหม่

ทั้งนี้ยังเน้นย้ำความกังวลนโยบายปราบปรามยาเสพติดแบบเด็ดขาด ว่าจะกลับมาเหมือนช่วง ปี 2545-2546 ที่มีการทำสงครามกับยาเสพติด และเกิดการฆ่าตัดตอนจำนวนมาก ซึ่งในขณะนี้ก็มีกฎหมายผู้เสพเป็นผู้ป่วยแล้ว ก็ห่วงว่าสังคม-ชุมชน จะมีศักยภาพเพียงพอในการดูแลไม่ให้เกิดปัญหาหรือผลกระทบหรือไม่ และช่วงที่ผ่านมามองว่ารัฐบาลทักษิณ ก็ล้มเหลวในเรื่องนโยบายปราบปรามยาเสพติดในอดีต เพราะมีการปราบปรามโดยใช้กำลังปราบปรามและคนทำผิดลอยนวลจนคดีหมดอายุความ

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active