ถอดรหัส ถ้อยแถลง ‘นายกฯ อุ๊งอิ๊ง’ มุมท้าทาย สร้างประเทศแห่งโอกาส–ความหวัง–เท่าเทียม

นักวิชาการ ขอนายกฯ พิสูจน์ฝีมือ เดินหน้าประเทศ สร้าง พัฒนาคนให้กล้าคิด กล้าฝัน ออกแบบอนาคตตัวเอง เชื่อจุดขายเป็นคนรุ่นใหม่ ยังพอมีหวัง แต่ต้องลบภาพจำ ‘ทักษิณ’ คอยชี้ทาง ย้ำ หลักคิดมองผลประโยชน์ประเทศที่ตั้ง ตัวช่วยกรองเรื่องไหน ควรทำ ไม่ควรทำ   

วันนี้ (18 ส.ค. 67) ภายหลังมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม แต่งตั้ง แพทองธาร ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี คนที่ 31 ไปแล้วนั้น แพทองธาร ได้แถลงอย่างเป็นทาง โดยขอบคุณสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ที่ได้มอบความเชื่อมั่นและความไว้วางใจ ให้ได้มีโอกาสทำหน้าที่นายกรัฐมนตรีคนที่ 31 ของประเทศไทย พร้อมทั้งย้ำว่า

“ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี มีความรับผิดชอบอันยิ่งใหญ่ ที่จะนำพาประเทศไทยเดินหน้า ฝ่าฟันทุกอุปสรรค แก้ไขปัญหาความเดือดร้อน แก้ไขปัญหาปากท้องเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชน

3 ปีที่เหลือตามวาระของรัฐสภา ในฐานะหัวหน้าฝ่ายบริหาร จะขอทำหน้าที่ร่วมกับฝ่ายนิติบัญญัติ ด้วยหัวใจที่เปิดกว้าง เปิดพื้นที่ในการรับฟังทุกความเห็น เพื่อร่วมกันพัฒนาประเทศให้ก้าวไปข้างหน้าด้วยกันอย่างมั่นคง

ภารกิจที่ยิ่งใหญ่นี้ ไม่อาจสำเร็จได้ด้วยการทำงานของนายกรัฐมนตรีเพียงคนเดียว จึงมีความมุ่งหวังที่จะประสานพลังของคนทุกรุ่น ประสานพลังของบุคคลที่มีความสามารถในประเทศไทยจากทุกภาคส่วน ทั้งคณะรัฐมนตรี พรรคร่วมรัฐบาล ข้าราชการ เอกชน และพี่น้องประชาชน

โดยจะส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพและทักษะของคนไทยทุกคน และทำให้ทุกตารางนิ้วบนแผ่นดินไทย เป็นพื้นที่ให้คนไทยได้กล้าฝัน กล้าสร้างสรรค์ และกล้ากำหนดอนาคตของตัวเอง

แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี (ภาพ : พรรคเพื่อไทย)

นายกรัฐมนตรี ยังย้ำอีกว่า จะรับผิดชอบหน้าที่นี้ให้ดีที่สุด ทำให้ประเทศไทย เป็นประเทศแห่งโอกาส เป็นประเทศแห่งความหวัง เป็นประเทศแห่งความสุข ของคนไทยทุกคนอย่างเท่าเทียม

The Active ชวนถอดรหัสถ้อยแถลงของนายกรัฐมนตรี คนที่ 31 ผ่านมุมมองของ ผศ.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยชวนให้พิจารณาถ้อยแถลงจากหลังไปข้างหน้า จะพบว่า มีคำสำคัญ ๆ ประกอบด้วย การทำให้ไทยเป็นประเทศแห่ง “โอกาส” “ความหวัง” “ความสุข” และ “ความเท่าเทียม” ประโยคเหล่านี้ดูเหมือนเป็นการเซ็ตโทนของนโยบาย หรืออาจเป็นพิมพ์เขียวการพัฒนาบริหารประเทศนับจากนี้ ในมุมมองของนายกฯ คนรุ่นใหม่

โจทย์ยากถ้าผู้คนยังอยู่อย่างไร้ ‘อนาคต’

สำหรับความพิเศษของถ้อยแถลงนายกฯ วันนี้ ก็ทำให้เห็นว่าถ้าเทียบกับคำแถลงของนายกฯ ที่ผ่าน ๆ มา อาจไม่ได้อยู่ในสภาพที่เจอแรงกัดดันหลายอย่างพร้อม ๆ กัน เหมือนในยุคนี้ ส่วนใหญ่มีเรื่องปากท้อง ความยากจน แต่ปัจจุบันกลับมีประเด็นปัญหาที่แหลมคมมากกว่า ถึงขั้นที่มีคำพูดในช่วงหลัง ว่า “คนไทยมองไม่เห็นว่าอนาคตของประเทศ อนาคตของตัวเองจะเป็นยังไง” คำพูด ความรู้สึกเหล่านี้ถือว่ากระเทือนความหวังการขับเคลื่อน การพัฒนาประเทศอย่างมาก เพราะต้องยอมรับว่า การจะให้ประเทศมีหวังได้ ต้องทำให้คนเชื่อมั่นในนโยบาย เพราะถ้าผู้คนไม่เชื่อมั่นก็ลำบาก

ขณะเดียวกันผู้คนในสังคมเอง ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา ถือว่ามีความขัดแย้ง ความแตกต่างกันทางความคิดที่ค่อนข้างรุนแรงมาก ใครมองต่างจะถูกกีดกันออกไปทันที ไม่ต่างอะไรกับประเทศที่แตกแยก ดังนั้นสิ่งที่นายกฯ แพทองธาร ระบุว่า จะพยายามเปิดพื้นที่ให้คนทุกรุ่นมาคุยกัน มาหาจุดร่วมกัน ก็ถือเป็นโทนการสื่อสารที่ต่างจากก่อนหน้านี้ที่เน้นแต่การสร้างความสามัคคี ปรองดอง แต่ยังเป็นแนวคิดกว้าง ๆ เท่านั้น

พัฒนา-เพิ่มขีดความสามารถคน เรื่องใหญ่รอพิสูจน์ฝีมือ

ส่วนถ้อยแถลงที่ระบุ การส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพและทักษะของคนไทยทุกคนนั้น ผศ.เกียรติอนันต์ มองว่า เรื่องนี้แน่นอนว่าพุ่งเป้าไปที่การพัฒนาคน ซึ่งการสร้างความสามารถของคนเป็นสำคัญ เพราะหากคนมีทักษะ ไม่มีความสามารถออกแบบความต้องการของตัวเองได้แล้ว การไปถึงประเทศแห่งโอกาสก็คงเป็นไปได้ยาก ส่วนผู้คนเองก็ต้องมีความสามารถที่จะไขว่คว้าโอกาสด้วย

ผศ.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว

ดังนั้นความสามารถในการสร้างทักษะคน ให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี การทำงานร่วมกับ AI คนก็ต้องมีความคิดสร้างสรรค์ ต้องสร้างโอกาสใหม่ ๆ ให้เกิดขึ้นได้ ถ้าส่วนนี้เชื่อมร้อยกันก็จะตอบโจทย์ การเป็นประเทศที่มีความหวัง ด้วยการมีผู้คนที่ได้รับการพัฒนาเพิ่มขีดความสามารถชั้นสูง เป็นอีกเรื่องที่นายกฯ คนใหม่ต้องพิสูจน์ตัวเอง ด้วยแนวทาง นโยบายที่ชัดเจน เพราะถือเป็นความท้าทายอย่างมาก

สร้าง ‘ความเป็นธรรม’ เรื่องใหญ่ที่ห้ามลืม

ผศ.เกียรติอนันต์ ยังให้ความเห็นด้วยว่า นอกจาก โอกาส ความหวัง ความสุข และความเท่าเทียม ที่นายกฯ แพทองธารเน้นย้ำแล้ว อยากให้เพิ่มอีกคำ คือ “ประเทศแห่งความเป็นธรรม” ก็จะต่อจิกซอว์นี้อย่างสมบูรณ์ เพราะหากผู้คนมีโอกาสเติบโต ด้วยความหวัง ได้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ผู้คนมีแต่ความสุข อยู่ด้วยความเท่าเทียม สามารถลดความเหลื่อมล้ำได้อย่างเป็นรูปธรรม แต่อีกสิ่งสำคัญผู้มีอำนาจก็ต้องปกครอง ต้องบริหารงานด้วยความเป็นธรรมเช่นกัน

สิ่งนี้อาจเป็นนามธรรม แต่เป็นคำใหญ่ หากประเทศไทยเป็นธรรมได้ การดีไซน์ประเทศจะเท่าเทียมกัน ทุกคนอยู่ด้วยกันภายใต้กฎหมายอย่างเหมาะสม เมื่อคนในประเทศได้รับความเป็นธรรม แน่นอนว่า จะก้าวไปสู่การเป็นประเทศที่มีโอกาส ความหวัง ความสุข ความเท่าเทียมเกิดขึ้นได้จริง นี่คือสิ่งที่นายกฯ ต้องพิสูจน์ตัวเอง และใช้จุดแข็งของการเป็นผู้นำรุ่นใหม่ สลัดภาพการเมืองเดิม ๆ ออกไปให้ได้  

ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี – แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี (ภาพ : พรรคเพื่อไทย)

นายกฯ แพทองธาร ขึ้นมาพร้อมกับภาพจำมี อดีตนายกฯ ทักษิณ คอยชี้ทาง จึงต้องรีบสลัดภาพนี้ออกไปให้เร็วที่สุด เพราะนายกฯ มีจุดแข็งอยู่แล้วจากการเป็นคนรุ่นใหม่ และสามารถเป็นสะพานเชื่อมคนหลายรุ่นได้ ถ้าบริหารจัดการดี ๆ มีท่าทีที่เหมาะสมก็จะไปได้ แต่ที่สำคัญคือต้องชัดเจน ต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าสิ่งที่ทำไปนั้นไม่ได้ทำเพื่อใครคนใดคนหนึ่ง”

ผศ.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว

ยึดหลักนิติธรรม ปราบคอร์รัปชัน ปมท้าทายผู้นำคนรุ่นใหม่ 

ขณะที่ เสาวรัจ รัตนคำฟู ผู้อำนวยการวิจัยด้านนโยบายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) แสดงความเห็นว่า หากนายกฯ แพทองธาร ทำได้อย่างที่พูดจะดีมาก แต่ที่ต้องให้ความสำคัญไม่แพ้กัน คือ การสร้างหลักนิติธรรมให้เกิดขึ้นจริง เพราะในช่วงที่ผ่านมาสังคมไทยตั้งคำถามกับหลักนิติธรรมเยอะมาก เช่นเดียวกับกรณีการแก้ปัญหาคอร์รัปชัน ซึ่งเป็นหนึ่งในประเด็นที่คนรุ่นใหม่ทนไม่ได้ และต้องการให้หมดไปจากสังคมไทย ดังนั้นในฐานะผู้นำคนรุ่นใหม่ เรื่องนี้ก็น่าจะต้องให้ความสำคัญและทำให้เกิดการเปลี่ยนอย่างชัดเจน จะยิ่งสร้างความเชื่อมั่น ความน่าเชื่อถือไว้วางใจได้มาก

ส่วนประเด็นอื่น ๆ ทั้งเรื่อง เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ถือเป็นความท้าทายสำหรับนายกฯ ทุกคนที่เข้ามาบริหารประเทศ โดยเฉพาะในยุคนี้ที่ต้องเร่งสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ เพราะต้องยอมรับว่า ปัจจุบันเศรษฐกิจไทยอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับหลายประเทศในอาเซียน อาจมากกว่าบางประเทศแต่ก็ไม่มาก สิ่งนี้เป็นโจทย์ท้าทายมาก ๆ ที่นายกฯ ซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ ต้องมีแผนที่ชัดเจน

เสาวรัจ รัตนคำฟู

ยึดประโยชน์ประเทศเป็นที่ตั้ง 

สำหรับประเด็นทางสังคม ผู้อำนวยการวิจัยด้านนโยบายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน TDRI มองว่า นอกจากการดูแลแก้ปัญหาปากท้องให้กับประชาชนแล้ว ต้องเร่งหาแนวทางลดความแตกแยกในสังคม ทำอย่างไรให้เกิดความเชื่อถือ เข้าใจกันของกลุ่มคนที่เห็นต่างกัน เช่นเดียวกับส่งที่นายกฯ แพทองธาร ย้ำถึงการรวมพลังของคนทุกรุ่น ทุกกลุ่ม ซึ่งถือเป็นการสร้างพลังในทางที่ดี และสร้างสรรค์ ถ้าทำได้จริงจะดีมาก เพื่อสร้างสรรค์ให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศ ไม่ต่างจากนโยบายสิ่งแวดล้อม ซึ่งในฐานะผู้นำรุ่นใหม่ก็ต้องให้ความสำคัญไม่แพ้กัน โดยเฉพาะการรับมือความเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การจัดสรรทรัพยากรให้ทั่วถึง ไม่เกิดการเอื้อประโยชน์ให้ใคร เรื่องเหล่านี้จำเป็นต้องมีเป้าหมาย มีแผนงานที่ชัดเจน

“นี่คือสิ่งที่นายกฯ แพทองธาร ต้องพิสูจน์ตัวเอง ว่ากับสิ่งที่พูด รับปากกับประชาชนจะทำได้จริงหรือไม่ เพราะต้องไม่ลืมว่าการเข้ามาอยู่ตรงนี้ คือ การเป็นนายกฯ ของประเทศไทย จึงต้องมองประเทศ มองประชาชนเป็นที่ตั้ง ถือว่ามาถึงขนาดนี้แล้วก็ต้องทำเพื่อพิสูจน์ตัวเอง”

“ในมุมเศรษฐศาสตร์ ต้องมองประโยชน์สาธารณะเป็นที่ตั้ง ถ้าเห็นว่าเรื่องไหนที่สาธารณะได้ประโยชน์มากกว่าก็ทำสิ่งนั้น ในฐานะนายกฯ ต้องเอาประโยชน์ประเทศชาติเป็นที่ตั้ง ถ้าใช้หลักคิดนี้ได้อย่างน้อยจะช่วยกรองว่าสิ่งไหนควรทำ ไม่ควรทำอะไร ถ้าประเทศ ประชาชนไม่ได้ประโยชน์ก็ไม่ควรทำ”  

เสาวรัจ รัตนคำฟู

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active