“ณัฐพงษ์” ย้ำ จุดยืนไม่เปลี่ยน พร้อมเดินหน้าทำหน้าที่ฝ่ายค้านผลักดันความเปลี่ยนแปลง พร้อมร่วมมือทุกฝ่ายแก้ไขรัฐธรรมนูญ-ทบทวนอำนาจหน้าที่ศาลรัฐธรรมนูญ-องค์กรอิสระ เปลี่ยนเงื่อนไขยุบพรรคสอดคล้องหลักสากล
วันนี้ (15 ส.ค. 2567) ที่อาคารรัฐสภา ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชน พร้อม สส. ร่วมแถลงจุดยืนพรรคประชาชนต่อการเลือกนายกรัฐมนตรี ที่คาดว่าจะเข้าสู่การพิจารณาในสภาผู้แทนราษฎรในวันพรุ่งนี้ (16 ส.ค.)
ณัฐพงษ์ กล่าวว่า ขอยืนยันอุดมการณ์และจุดยืนทางการเมืองของพรรคประชาชน ยังมั่นคงเหมือนเดิมที่เคยให้ไว้กับประชาชน เมื่อ 1 ปีที่แล้ว รัฐสภามีการพิจารณาให้ความเห็นชอบ เศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งเคยสื่อสารกับประชาชนในฐานะอดีตพรรคก้าวไกล ว่าไม่เชื่อว่าการจัดตั้งรัฐบาลที่เกิดขึ้นจากการผสมผสานของพรรคการเมืองที่มีความเชื่อและอุดมการณ์ต่างขั้ว จะสามารถผลักดันนโยบายที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนได้ จากการประเมินการทำงานของรัฐบาลที่ผ่านมาตลอด 1 ปี ทั้งในเรื่องการแก้ปัญหาเศรษฐกิจปากท้อง การแก้ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน รวมถึงการยกระดับประชาธิปไตย ยังคงยืนยันคำเดิม
แม้วันนี้ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจำเป็นต้องมีการเปลี่ยนคน แต่จากข่าวที่ปรากฏพรรคร่วมรัฐบาลชุดเดิมมีความประสงค์จะเดินหน้าเป็นรัฐบาลร่วมกันต่อ โดยการร่วมกันเสนอชื่อ ชัยเกษม นิติสิริ ตัวแทนจากพรรคเพื่อไทย ที่มีจำนวน สส. มากที่สุดในบรรดาพรรคร่วมรัฐบาล มาเป็นนายกรัฐมนตรีแทนเศรษฐา ทวีสิน
ดังนั้น พรรคประชาชนขอยืนยันว่าเราจะเดินหน้าทำหน้าที่ต่อในฐานะแกนนำพรรคฝ่ายค้านโดยไม่มีส่วนในการโหวตสนับสนุน ชัยเกษม นิติสิริ เป็นนายกรัฐมนตรี เนื่องจากเป็นหน้าที่ของพรรคร่วมรัฐบาล ที่ต้องร่วมกันเสนอชื่อและคาดว่าได้มีการตกลงกันเรียบร้อยแล้ว
ณัฐพงษ์กล่าวต่อว่า แม้พรรคประชาชนไม่สามารถเสนอชื่อบุคคลที่จะดำรงตำแหน่งนายกฯ ในนามของตนเองได้ แต่ตนมีความพร้อมเข้ามาทำหน้าที่ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร โดยต้องการผลักดันอีกหลายเรื่อง ที่ไม่เพียงแต่ตรวจสอบรัฐบาลอย่างเข้มข้นเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประชาชน แต่จะเดินหน้าใช้กลไกสภาฯ อย่างเต็มที่เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงต่อจากนี้
“แม้เราจะเป็นพรรคฝ่ายค้าน แต่เรายังมีอีกหลายภารกิจในการสร้างการเปลี่ยนแปลงระบบการเมืองในระบอบประชาธิปไตย มีอีกหลายวาระที่เราจำเป็นต้องผลักดันร่วมกับพรรคร่วมรัฐบาล”
หัวหน้าพรรคประชาชน ยกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมา ตอกย้ำให้สังคมเห็นความจำเป็นของการเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญ และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ เพื่อทบทวนขอบเขตอำนาจหน้าที่และโครงสร้างของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ ทบทวนเรื่องมาตรฐานทางจริยธรรมให้เป็นเรื่องของความรับผิดรับชอบทางการเมือง ให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสิน ไม่ใช่กลุ่มคนเพียงไม่กี่คนเป็นผู้ตัดสิน ทบทวนเงื่อนไขการยุบพรรคให้สอดคล้องกับหลักสากล ซึ่งสามารถดำเนินการได้คู่ขนานกับการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดย สสร. ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนทั้งหมด โดยจะเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้องผ่านกลไกรัฐสภา และหวังเป็นอย่างยิ่งว่ารัฐบาลและนายกรัฐมนตรีคนใหม่ จะให้ความร่วมมือในภารกิจดังกล่าว เพื่อทวงคืนอำนาจสูงสุดที่เป็นของประชาชนทุกคน