เศรษฐา พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มีมติ 5:4 ให้ ‘เศรษฐา ทวีสิน’ พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี กรณีตั้ง ‘พิชิต ชื่นบาน’ เป็นรัฐมนตรี จากเหตุรู้อยู่แล้วว่าขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ

เศรษฐา

วันนี้ (14 ส.ค. 2567) เมื่อเวลา 15.00 น. ศาลรัฐธรรมนูญ ออกนั่งบัลลังก์อ่านคำวินิจฉัยคดีถอดถอน เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีภายหลังนัดประชุมเพื่อลงมติชี้ขาด กรณีประธานวุฒิสภา ส่งคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 ว่าความเป็นรัฐมนตรีของ เศรษฐา ทวีสิน และ พิชิต ชื่นบาน รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (4) และ (5) หรือไม่ ตามที่ สว. จำนวน 40 คน ร่วมกันเข้าชื่อตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82

โดยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก 5:4 วินิจฉัยว่าความเป็นรัฐมนตรีของ เศรษฐา ทวีสิน สิ้นสุดลงเฉพาะตัว เนื่องจากไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ขาดคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญ ฝ่าฝืนและไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง

ซึ่งผลจากคำวินิจฉัยดังกล่าวทำให้คณะรัฐมนตรีต้องพ้นจากตำแหน่งไปด้วย โดยตุลาการเสียงข้างมาก 5 คน ประกอบไปด้วย ปัญญา อุดชาชน, อุดม สิทธิวิรัชธรรม, วิรุฬห์ แสงเทียน, จิรนิติ หะวานนท์ และบรรจงศักดิ์ วงศ์ปราชญ์ ส่วนตุลาการเสียงข้างน้อย 4 คน คือ นครินทร์ เมฆไตรรัตน์, นภดล เทพพิทักษ์, อุดม รัฐอมฤต และสุเมธ รอยกุลเจริญ

นักวิชาการประเมินการเมืองหลังคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ

สติธร ธนานิธิโชติ ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า ให้สัมภาษณ์รายการตรงประเด็น ทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ระบุว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ส่งผลให้ความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อรัฐบาลเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ ภายหลัง สวนดุสิตโพล เปิดเผยผลสำรวจ เรื่อง สถานการณ์การเมืองไทย เมื่อวันที่ 11 ส.ค. ที่ผ่านมา โดย คำถาม “ประชาชนมีความเชื่อมั่นต่อการทำงานของ รัฐบาลเศรษฐา มากน้อยเพียงใด” อันดับ 1 ไม่ค่อยเชื่อมั่น 63.73% อันดับ 2 ค่อนข้างเชื่อมั่น 36.27% รวมถึงคำถาม “ประชาชนสนใจ ข่าวการเมือง เรื่องใดเป็นพิเศษ” อันดับ 1 ยุบพรรคก้าวไกล 75.65% อันดับ 2 เงินดิจิทัลวอลเล็ต 66.49% อันดับ 3 นโยบายเศรษฐกิจและการแก้ปัญหาปากท้องของรัฐบาล 54.71% นั้น

สติธร มองว่าทั้งผลสำรวจและคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในวันนี้ ไม่ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงอะไรมากนักในสถานการณ์การเมืองไทยในภาพรวม เนื่องจากการเดินหน้าพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ 68 ยังคงดำเนินต่อไป เพราะด้านหนึ่ง แม้มีคำวินิจฉัยยุบพรรคก้าวไกล และกลายมาเป็นพรรคประชาชน ไม่มี สส. แตกแถว นั่นเท่ากับว่าเสียงในสภาฯ ยังเหมือนเดิม ซึ่งผลโพลที่ชี้ว่าประชาชนให้ความสนใจข่าวการเมืองเรื่องยุบพรรคก้าวไกลมากกว่านั้นไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะเป็นจังหวะที่พรรคเพิ่งถูกยุบ แต่โจทย์ที่พรรคประชาชนจะต้องพิสูจน์นับจากนี้ คือ การเลือกตั้งซ่อมและการเลือกตั้งท้องถิ่นซึ่งเป็นธงทางการเมืองมาตั้งแต่อดีตพรรคอนาคตใหม่และพรรคก้าวไกลมาตั้งแต่ต้น

ขณะที่พรรคเพื่อไทย แม้จะมีความเปลี่ยนแปลงผู้นำรัฐบาล แต่ก็มีสิ่งที่ต้องพิสูจน์ตัวเองเช่นกัน โดยเฉพาะโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท เพราะหากทำได้ตามที่พรรคเพื่อไทยหาเสียงไว้ กระแสทางการเมืองและความสนใจของประชาชนอาจพลิกและเปลี่ยนไปจากปัจจุบัน

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active