จะได้รับการสนับสนุนความนิยม ไม่ต่างจาก 2 พรรคเดิม เพราะจุดยืน อุดมการณ์ชัดเจน แต่จะยื้อกระแสความนิยมได้นานถึงเลือกตั้งปี 70 หรือไม่ ขึ้นอยู่กับความจริงจัง ในการผลักดันนโยบายสาธารณะที่ยึดโยงกับประชาชน
วันนี้ ( 10 ส.ค.2567 ) หลังประกาศเปิดตัวพรรคประชาชนอย่างเป็นทางการ นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ในฐานะหัวหน้าพรรคพร้อมด้วยแกนนำได้จัดกิจกรรมเปิดรับสมาชิก พร้อมรับบริจาคเงินอุดหนุนพรรคการเมืองที่ Stadium One ถนนบรรทัดทอง เป็นวันแรกโดยแบ่งเป็นจุดให้บริการทั้งการรับสมัครออนไลน์ และแบบ walk in โดยมีประชาชนให้ความสนใจมารอต่อแถว ตั้งแต่ยังไม่เริ่มทำกิจกรรม ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่ที่มาสมัครสมาชิกล้วนแต่เคยเป็นสมาชิกพรรคอนาคตใหม่และพรรคก้าวไกลมาก่อน
โดยนายณัฐพงษ์ ได้ขอบคุณประชาชนที่ร่วมกิจกรรม พร้อมแสดงออกผ่านการบริจาคซึ่งขณะนี้ทะลุ 16 ล้านบาทแล้ว รวมถึง ยอดสมัครสมาชิกที่เกิน 26,000 คนแล้ว เป็นการแสดงออกว่าพรรคประชาชนเป็นของประชาชน เพื่อประชาชนจริงๆ พร้อมย้ำเป้าหมายต้องการสร้างแนวร่วมให้มากที่สุด สู่การเลือกตั้งในปี 2570 ที่ อยากสร้างรัฐบาลแบบใหม่
รศ.โอฬาร ถิ่นบางเตียว อาจารย์ประจำภาควิชารัฐศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ ม.บูรพา วิเคราะห์ถึงกรณีการเปิดตัวพรรคประชาชน ภายใต้การนำของนายณัฐพงษ์ หรือ สส.เท้ง หัวหน้าพรรคว่า จากกระแสสองวันที่ผ่านมา ที่เพียงคืนเดียวมีประชาชนแห่บริจาคให้พรรคทะลุ 10 ล้านบาทว่า สะท้อนถึงอาการความรู้สึกไม่พอใจของประชาชนค่อนข้างมาก ไม่ใช่แค่การยุบพรรค แต่คือการแสดงออกในเชิงอารยขัดขืนแบบใหม่ คือพร้อมสนับสนุนพรรคในรูปของการสนับสนุนงบประมาณ ในการระดม เพื่อให้เห็นถึงความไม่พอใจของประชาชน
“ นี่คือความผิดพลาดมากของอำนาจเก่า ที่คิดใช้วิธีการยุบพรรค เพราะกลายเป็นว่า ไปทำให้อีกฝ่ายหนึ่งที่กระแสเริ่มนิ่ง กลับมามีกระแสสูงขึ้นมาทันที “
ทั้งนี้การสนับสนุนของประชาชนจะทำให้พรรคเติบโตไปมาก และถ้าเกิดว่าบรรดา 14 แกนนำโดนตัดสิทธิทางการเมือง หลังจาก ปปช.ชี้มูลความผิดเรื่องจริยธรรมร้ายแรง มันจะยิ่งทำให้กระแสของพรรคประชาชนยิ่งจะสูงขึ้นไปอีก ซึ่งวันนั้นถ้าเกิดว่า พรรคประชาชน เขาระดมแบบใหม่ ให้ประชาชน 60 ล้านคน บริจาคให้พรรค คนละ 1 บาท เพื่อเป็นเจ้าของพรรคในการคว้าชัยชนะในการเลือกตั้งปี 70 ก็มีความเป็นไปได้อย่างมาก
และเมื่อดูท่าทีของหัวหน้าพรรค นายณัฐพงษ์ หรือ สส.เท้ง ที่แม้ดูอายุยังน้อย แต่หากดูจุดยืน และความแข็งกร้าวทางการเมือง คิดว่ามีความเข้มข้นขึ้นมากแน่นอน เพราะประกาศชัดเจนว่าการแก้ไขมาตรา 112 ยังดำเนินไปเหมือนเดิม แต่ต้องสุขุมรอบคอบมากขึ้น แต่เป็นหนึ่งในนโยบาย ที่ปฏิเสธหรือว่าไม่ทำไม่ได้
“ ผมคิดว่า ท่าทีที่แข็งกร้าว เป็นคนหนุ่ม แต่มีท่าทีทางการเมืองจุดยืน ค่อนข้างชัดเจนในนโยบายหลัก คือ เรื่องมาตรา 112 ทำให้ตัวเขาสร้างคะแนนนิยมจากตัวเขาเองด้วย บวกกับความรู้ความสามารถที่เขามี ที่ประสบความสำเร็จในการบริหาร ทั้งในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับประสบการณ์ทางการเมืองที่ผ่านมา ซึ่งผมเชื่อว่าเขาน่าจะเป็นผู้นำที่ดีได้ และน่าจะรักษาคะแนนนิยมได้ครองใจประชาชนในการเลือกตั้งครั้งหน้า “
ที่สำคัญ สส.เท้ง คือคนที่มีความใกล้ชิดกับนายธนาธร ซึ่งเป็นจิตวิญญาณของพรรค เท่ากับว่าแม้ไม่มีนายพิธา แต่มีเท้ง มีอุดมการณ์ทางความคิด จุดยืนทางการเมือง เป็นแบบเดียวกับธนาธร ทำให้อุดมการณ์ทั้ง 3 พรรค ยังยืนหยัดในหลักการเดิม
“ ที่ผมตกใจ คือ สส.เท้ง แยกขั้วชัด แยกศัตรูชัด ฝ่ายอนุรักษ์ก็ฝ่ายนึง นักการเมืองกลุ่มนึง ฝ่ายเขากลุ่มนึง ทำให้เห็นว่า การเมืองไทย มันมี 3 กลุ่มชัดเจน เหมือนเป็นเด็กแต่พูดชัดเจน คือประมาทไม่ได้ เรียกว่าฆ่าไม่ตาย ตาย 10 เกิดแสน “
นอกจากนี้ยังมองเรื่องของวิธีการสื่อสารของ สส.เท้ง ที่แม้มีความจริงจัง แต่ก็มีมุมสะท้อนความนอบน้อม ความสุขุม ไม่แสดงความทะเยอทะยาน เพราะสิทธิการเป็นแคนดิเดต เป็นสิทธิของเขาโดยตรงโดยชอบอยู่แล้ว แม้เขาจะไม่พูด แต่ยิ่งสื่อสารในทำนองที่มีการอ่อนน้อมถ่อมตน ว่า การเป็นนายกฯ ต้องพร้อมทุกด้าน พร้อมพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้นนั้น ผมคิดว่ามันลงตัวกับวิถีชีวิต และวัฒนธรรมการเมืองแบบไทย ที่ชอบผู้นำที่มีความอ่อนน้อมถ่อมตนไม่แข็งกร้าวจนเกินไป และมีความทะเยอทะยาน จนมองว่าตัวเองกระหายอำนาจ
ส่วนจะพาพรรคประชาชน สร้างกระแสนิยมครองใจไปจนถึงการเลือกตั้งปี 2570 ได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับปัจจัยในการเดินหน้านโยบายสาธารณะที่ยึดโยงประชาชน คือแกนนำที่โดนยุบพรรคตัดสินไป ก็ต้องออกมาทำงานการเมืองที่ให้เห็นว่า ตัวเขาเองก็ทำงานคู่ขนานกันไป อย่างเช่น แกนนำที่โดนตัดสิทธิ์ไปก็ต้องไปลงพื้นที่ลงพบปะผู้คนมากขึ้นในการเร้าอารมณ์รู้สึกคน เพื่อรักษาคะแนนนิยมคู่ขนานกันไป และถ้าจัดแคมเปญขอบริจาคคนละบาท เพื่อเป็นเจ้าของพรรคตัวจริงแล้วไปเลือกตั้ง ก็คือเปลี่ยนวิธีคิดจากพรรคการเมืองซื้อเสียง ให้ประชาชนเป็นเจ้าของพรรค ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการใช้โอกาส ว่ารักษาคะแนนนิยมได้มากแค่ไหน เพราะนี่ถือว่าโอกาสมาแล้ว
นอกจากการทำงานคู่ขนาน ประเด็นถัดมา คือ ตัวคนที่ยังเป็นสมาชิกพรรคประชาชน สส. หรือว่าบรรดาคนที่โดนตัดสิทธิ์ไปแล้ว ต้องลงไปขลุกกับปัญหามากขึ้น เพราะตอนนี้มีปัญหาเยอะมาก ทั้ง ปัญหาภาพรวม ปัญหาสาธารณะต่างๆ ถ้าเปลี่ยนวิธีคิดให้คนกลุ่มนี้ลงไปขลุกปัญหา ที่ประชาชนเดือดร้อน อย่างโครงการแลนด์บริดจ์ โครงการ EEC ปัญหาขยะ ปัญหาปลาหมอคางดำ และประเด็นชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง จะเพิ่มคะแนนสูงขึ้น
“ เพราะประเด็นอย่างกลุ่มชาติพันธุ์ ชนเผ่าพื้นเมือง และอีกหลายประเด็น ที่เป็นสาธารณะเหล่านี้ เป็นประเด็นที่นักการเมืองแบบเดิมเขาไม่ให้ความสำคัญ คือจะวิ่งไปหานักการเมืองแต่ละจังหวัด หรือบ้านใหญ่ แต่ถ้าพรรคประชาชนจะเปลี่ยน กลับมาเปลี่ยนใหม่ ก็ด้วยการวิ่งไปหาประเด็นปัญหาสาธารณะ พบพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ชนเผ่าพื้นเมือง พบกลุ่ม LGBT พบคนพิการ พบปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้น และใช้บุคลากรส่วนหนึ่งที่โดนตัดสิทธิ์ไปทำงานคู่ขนานไปกับสภา จะยังสามารถรักษาคะแนนนิยมได้ “
รศ.โอฬาร ระบุว่า นี่คือสิ่งที่สะท้อนว่า พรรคประชาชน ไม่ได้มีเฉพาะนโยบายการแก้มาตรา 112 แต่ยังมีนโยบายด้านอื่น ๆ อีกมาก จึงคิดว่านี่คือโอกาสที่เป็นไปได้ ที่จะเกิน 300 ที่นั่งในปี 2570