มุมคิด ‘ชัยวัฒน์ สถาอานันท์’ ในวันที่สังคมยังต้องการ ‘สันติวิธี’ – ไม่ใช้ความรุนแรง

นักรัฐศาสตร์ นักสันติวิธี ร่วมเสวนารำลึก ศ.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ มองทางไปต่อปฏิบัติการไร้ความรุนแรง หลายมิติในสังคม ย้ำแนวคิด สันติวิธี เกลียดกันได้ แต่ต้องไม่ฆ่ากัน หวังรัฐใช้สันติวิธีเป็นเครื่องมือ ปรับความสัมพันธ์ใหม่กับประชาชน   

วันนี้ (8 ส.ค.67) คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดสัมมนาวิชาการ “ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ : ความรัก ความรู้ โลกปฏิบัติ” เพื่อรำลึกถึงคุณูปการของ ศ.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ ต่อสังคมไทยในหลายมิติ


รศ.ภูริ ฟูวงศ์เจริญ คณบดีคณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ กล่าวเปิดงาน พร้อมร่วมรำลึกถึง อ.ชัยวัฒน์ โดยมองว่า อ.ชัยวัฒน์ ทำให้คณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ เป็นชุมชนที่น่าอยู่ เป็นคณะที่มีความหลากหลาย โดย อ.ชัยวัฒน์ ให้ความสำคัญกับกระบวนการรับอาจารย์เข้ามาสอน ทำให้คณะรุ่มรวยทางวิชาการ มีความเป็นอิสระ ส่งผลต่อเสรีภาพทางวิชาการ เป็นคุณูปการในฐานะครู ที่มาด้วยความเรียบง่ายในห้องเรียน อาจารย์เป็นครูที่มีพลังในห้องเรียน ลึกซึ้ง ลุ่มลึก สอนในแบบเรียบง่าย ให้เห็นมุมมองใหม่ ๆ อยู่เสมอ


“เรามาจดจำรำลึกถึงในความเป็นอาจารย์ชัยวัฒน์ เพื่อก้าวเดินต่อไป คุณูปการ ตัวตนของอาจารย์ยังคงสืบต่อไปข้างหน้า มากกว่าการให้เรารำลึกถึงอย่างเดียว”

รศ.ภูริ ฟูวงศ์เจริญ



ยับยั้งความรุนแรง ภารกิจที่เป็นไปไม่ได้
ทะเลาะ เกลียดกันได้ แต่ต้องไม่ฆ่ากัน



ช่วงแรกคือเวทีว่าด้วยเรื่อง “ปรัชญา-การเมือง” โดย ศ.เกษียร เตชะพีระ คณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ อธิบายถึงมุมมองด้านความรุนแรงในสังคมไทย โดยมองว่า ความรุนแรงคือการต่อต้านการเมืองและต่อต้านอำนาจ เพราะอำนาจคือการให้คนอื่นทำตามที่ตัวเองต้องการ ฉะนั้นฐานคิดคือคนอื่น คือผู้กระทำการที่จะเลือกทำตาม หรือไม่ทำตามก็ได้ แล้วสามารถดลบันดาลใจให้ทำตามการเมือง ซึ่ง อ.ชัยวัฒน์ ต้องการให้เปลี่ยนความคิดคนในการทำการเมือง ไม่ว่าจะคิดถึงเป้าหมายอุดมการณ์ใด แต่ประเด็นสำคัญ คือ ทำให้เขาไม่หันไปใช้วิธีรุนแรง อ.ชัยวัฒน์ ขายวิธีการไม่รุนแรงโดยไม่ได้ขอร้องให้ใครเลิกเชื่อ หรือยับยั้งรัฐไม่ให้ยุ่งกับความรุนแรงซึ่งถือเป็นภารกิจที่เป็นไปไม่ได้ แต่ อ.ชัยวัฒน์ต้องการให้โลกทั้งโลกที่เชื่อเรื่องความรุนแรง หันมาไม่ใช้ความรุนแรง ถ้าทำสำเร็จเปรียบได้กับการอพยพคนจากอีกทวีปไปอยู่อีกทวีป


“อ.ชัยวัฒน์ ไม่ได้โลกสวย หน่อมแน้ม อาจารย์บอกให้เกลียดกันได้แต่ต้องไม่ฆ่ากัน มองว่ารัฐเป็นความขัดแย้งรวมศูนย์ ที่อาจารย์ใช้ทั้งชีวิตทำเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ อ.ชัยวัฒน์ เกิดมาทวนกระแสโลก โดยที่โลกไม่รู้ตัว เชื่อว่าทำไม่สำเร็จ แต่ที่ดื้อทำเพราะความเชื่อ”    

ศ.เกษียร เตชะพีระ

ศ.สมบัติ จันทรวงศ์ อดีตอาจารย์ประจำสาขาการเมืองการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ในฐานะที่ อ.ชัยวัฒน์ เป็นลูกศิษย์ เคยตั้งคำถามว่า เมื่อมาเรียนรัฐศาสตร์มีอะไรที่ติดตัวมาบ้าง ซึ่งสิ่งที่พบคือพื้นฐานทางศาสนาของ อ.ชัยวัฒน์ ที่มีอย่างเข้มข้น มีความจริง มีสัจจะทางศาสนาอย่างเต็มเปี่ยม เมื่อมาปะทะกับปรัชญาการเมือง ที่มีสมรรถนะ การตั้งสมมติฐานถึงความจริงของสังคม ปรัชญาการเมืองทำให้ต้องตั้งคำถามต่อความเชื่อของสังคม แต่ในฐานะที้เป็นนักวิชาการมุสลิม จะตั้งคำถามที่เป็นเรื่องหลักของสังคมไทยได้หรือไม่ แต่ อ.ชัยวัฒน์ ก็มีทางออก เมื่อไม่สามารถตั้งคำถามต่อความยุติธรรมในสังคมไทยได้อย่างสะดวกใจ แต่กลับสามารถตั้งคำถามเรื่องสันติวิธี อ.ชัยวัฒน์ ทำและพูดถึงสันติวิธีที่แตกต่างออกไป โดยทั่วไปเราอาจพูดถึงแต่ความรุนแรงทางตรง ความรุนแรงเชิงโครงสร้าง และความรุนแรงเชิงวัฒนธรรม นี่คือสิ่งที่ยากที่สุดที่จะแก้ไขเปลี่ยนแปลง เพราะเป็นสิ่งที่คนมองไม่เห็น  

“อ.ชัยวัฒน์ ตระหนักถึงข้อจำกัดของตัวเอง การต่อสู้ในใจเพื่อทำให้อิสลามเป็นที่ยอมรับของสังคมโลก และในเมืองไทย ทำให้อิสลามไม่แปลกแยก เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ทำให้ความดีงามทั้งหลายเป็นเรื่องสากล ไม่ใช่เรื่องศาสนาใดศาสนาหนึ่ง”

ศ.สมบัติ จันทรวงศ์

‘สันติวิธี’ ไม่ใช่แค่วิธีของคนยากไร้
ปฏิบัติการไร้ความรุนแรงรัฐก็ต้องใช้เป็นเครื่องมือ

เวทีต่อมาว่าด้วยเรื่อง “สันติวิธี” โดย พระไพศาล วิสาโล เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต จ.ชัยภูมิ ในฐานะพระนักสันติวิธี ร่วมให้มุมมองผ่านคลิปวิดิโอ ย้ำว่า อ.ชัยวัฒน์ เป็นนักวิชาการที่ขยันผลิตผลงาน ภายใต้บทบาทที่หลากหลาย และศักยภาพแห่งสันติวิธี เพื่อลบมายาคติที่บดบังสันติวิธี พบว่า มีอยู่ 4 ประการหลัก คือ

  1. ทำให้ผู้คนรู้จักเข้าใจสันติวิธีในฐานะทางออกจากปัญหา หรือวิธีการจัดการขัดแย้งที่มีประสิทธิภาพ

  2. ทำให้สันติวิธีมีพื้นที่ในมุมวิชาการไทย

  3. อ.ชัยวัฒน์ มีส่วนพัฒนาองค์ความรู้ทฤษฎีสันติวิธี การจัดการความขัดแย้งโดยไม่ใช้ความรุนแรงในสังคมไทย

  4. ทำให้สันติวิธีไม่เป็นเพียงแนวคิด แต่ผลักดันให้เกิดการปฏิบัติของภาคประชาสังคม ภาครัฐ

“คนทั่วไปมักคิดว่าสันติวิธีคือวิธีการที่สงบ ไม่ก่อให้เกิดความขัดแย้ง แต่จริง ๆ วิธีการที่ไร้ความรุนแรงก็ก่อความสงบได้ เพราะฉะนั้น อ.ชัยวัฒน์ นิยมใช้คำว่า การไม่ใช้ความรุนแรง หรือปฏิบัติการไร้ความรุนแรง ปฏิบัติการของสังคม เมื่อไม่ใช้ความรุนแรง ก็ต้องเข้าใจความรุนแรงก่อน ในทัศนะของ อ.ชัยวัฒน์ คือ ความรุนแรงทางตรง  ความรุนแรงเชิงโครงสร้าง ที่คนมองไม่เห็น แต่สร้างผลกระทบผู้คนได้ เช่น นโยบายด้านทรัพยากร ทำให้ทรัพยากรชาวบ้านถูกแย่งชิง นโยบายทำให้คนจนลง รวมทั้งความรุนแรงเชิงวัฒนธรรม ค่านิยม อุดมการณ์ ทำให้เกิดการเอาเปรียบ คนต่างชาติพันธุ์ ต่างศาสนา”

พระไพศาล วิสาโล

พระไพศาล ระบุด้วยว่า อ.ชัยวัฒน์ พยายามทลายมายาคติ ซึ่งแพร่หลายมานานที่มองว่า มนุษย์นิยมความรุนแรง แต่ อ.ชัยวัฒน์ บอกว่า ไม่ใช่ ความรุนแรงไม่ใช่ธรรมชาติของมนุษย์ การใช้สันติวิธี ปฏิบัติการไร้ความรุนแรงหลายครั้งเกิดการสูญเสียน้อยกว่า เมื่อใช้สันติวิธี หรือปฏิบัติการไร้ความรุนแรงแล้ว จะไม่ถูกตอบโต้ด้วยความรุนแรง แต่ทำให้ปฏิบัติการไร้ความรุนแรงมีพลังมากขึ้น ดังนั้นสันติวิธีจะมีประสิทธิภาพต้องไม่ใช่ชนะลูกเดียว ซึ่ง อ.ชัยวัฒน์ มองว่า แม้ใช้วิธีรุนแรง ความรุนแรงก็มีความเสร็จแค่ 50% เพราะมีคนแพ้ คนชนะ แต่ถ้าใช้สันติวิธี ถ้าไม่บรรลุ คนก็เหมารวมว่าสันติวิธีนั้นล้มเหลว คนเข้าใจว่าสันติวิธีจะต้องสำเร็จ 100% นั้นไม่ใช่ อ.ชัยวัฒน์ จึงไม่เพียงพยายามท้าทายความคิดของผู้คนที่เชื่อเรื่องความรุนแรงเท่านั้น แต่ยังท้าทายคนที่เชื่อเรื่องสันติวิธีด้วย  

“เวลา อ.ชัยวัฒน์ สอนสันติวิธีไม่ได้สอนเทคนิค แต่ชี้ให้เห็นกระบวนทัศน์เบื้องหลัง เมื่อเรียนสันติวิธีคือการซักถาม การตั้งคำถาม เพื่อชี้ให้เห็นข้อจำกัดของกรอบความคิด อ.ชัยวัฒน์ ทำให้เห็นกรอบความคิดนักศึกษาที่ถี่ถ้วน รอบด้าน การตั้งคำถามทำให้นักศึกษา รู้จักหาทางออกนอกกรอบความคิด อีกประเด็นที่เป็นลักษณะพิเศษทำให้สันติวิธี ไม่ใช่แค่วิธีการเฉพาะของคนยากไร้ แต่ อ.ชัยวัฒน์ บอกว่า แม้กระทั่งรัฐก็ควรใช้สันติวิธีด้วย ปฏิบัติการไร้ความรุนแรง เป็นเครื่องมือของรัฐได้ด้วย มองในแง่นี้เท่ากับว่า อ.ชัยวัฒน์ ได้ดึงเอาสันติวิธีออกจากกรอบศาสนา กรอบคุณธรรม ให้มาอยู่ในการเมือง ให้เห็นว่าสันติวิธี เป็นปฏิบัติการของการเมืองได้ ชี้ว่าสันติวิธีมีพลังทางการเมือง มีอำนาจ ตรงข้ามกับความรุนแรง ดังนั้นสันติวิธีคือการปฏิเสธการยอมรับของผู้มีอำนาจ นี่คือพลังการเมืองของสันติวิธี”  

พระไพศาล วิสาโล

‘สันติวิธี’ กับพลังทางการเมือง

พระไพศาล ยังชี้ให้เห็นว่า การนำเสนอสันติวิธีในฐานะพลังทางการเมือง อ.ชัยวัฒน์ให้ความสำคัญอย่างมาก พยายามชี้ให้เห็นว่า สันติวิธี เป็นเครื่องมือปรับเปลี่ยนความสัมพันธ์ของรัฐกับประชาชนได้ เมื่อความรุนแรงเชิงโครงสร้างเกิดจากความสัมพันธ์ที่ไม่เท่าเทียมกันระหว่างรัฐ กับประชาชน แต่ อ.ชัยวัฒน์ มองว่า สันติวิธีเป็นวิธีปรับเปลี่ยนความสัมพันธ์ เช่น ให้ประชาชนมีอำนาจมากขึ้น สันติวิธีจึงเป็นเครื่องมือของรัฐได้ ในการสร้างสังคมที่สงบสุข นี่คือสิ่งที่ อ.ชัยวัฒน์ พยายามนำเสนอสันติวิธีให้ภาครัฐ เพื่อแปรเปลี่ยนแนวคิดนี้ในเชิงนโยบาย

“การที่ อ.ชัยวัฒน์ เชื่อในสันติวิธี ทำให้เป็นคนส่วนน้อย เพราะคนรอบตัว กระแสสังคม คนรุ่นหลังโน้มเอียงไปในทางความรุนแรง จึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะรักษาจุดยืนของคนที่เชื่อเรื่องสันติวิธี ปัจจุบันสันติวิธีอยู่ในช่วงขาลง เพราะที่ไหน ๆ ก็ใช้ความรุนแรงแก้ปัญหา ทำให้สันติวิธีไม่อยู่ในสายตาของผู้คน โดยเฉพาะในบ้านเรา คนทั้ง 2 ฝ่ายเชื่อความรุนแรงมากขึ้น มองว่าสันติวิธีเป็นเรื่องของคนไม่เข้าใจการเมือง แต่ อ.ชัยวัฒน์ ยืนยันว่าสันติวิธีเป็นทางออก เช่น กรณีชายแดนใต้ ความขัดแย้งทางการเมืองของคน 2 ฝ่ายในสังคม แม้ อ.ชัยวัฒน์ ถูกมองเป็นคนส่วนน้อยที่พูดเรื่องสันติวิธี แต่ก็ไม่ท้อแท้ โดดเดี่ยว เพราะ อ.ชัยวัฒน์ มีความหวัง มีศรัทธาในมนุษย์ และศรัทธาอนาคต ก็หวังว่าความหวังศรัทธาจะมีสืบต่อไป”

พระไพศาล วิสาโล

ขณะที่ รศ.มารค ตามไท ภาควิชาสันติศึกษา มหาวิทยาลัยพายัพ บอกว่า ได้ทำงานกับ อ.ชัยวัฒน์ มานาน คุยกันมาเป็นเวลาหลายปีมาก มีหลายเรื่องที่ช่วยกันผลักดัน มีทั้งขยับบ้าง ไม่ขยับบ้าง แต่ก็พยายามทำต่อไปด้วยความหวังว่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้คน โดยมี 7 เรื่องที่เคยคุยกับ อ.ชัยวัฒน์ และจะขับเคลื่อนต่อ ประกอบด้วย

  1. การเข้าใจความยากของการทำงานด้านปฏิบัติไร้ความรุนแรงในสังคมไทย World bank ออกรายงานเรื่องความเหลื่อมล้ำไทยอยู่อันดับหนึ่ง ปัญหาคือความเหลื่อมล่ำอยู่ด้านบน นั่นคือกลุ่มคนที่ต้องพูดให้ถึงเรื่องการไม่ใช้ความรุนแรง

  2. ยุทธศาสตร์หรือคุณค่าอันไหนสำคัญกว่าในการผลักดันสันติวิธี ถ้าบอกกับผู้มีอำนาจ ว่า อย่าใช้ความรุนแรง ถ้าไม่ได้ผลก็อาจเป็นทางเลือก…ปัญหาคือปัจเจกเปลี่ยนตลอด ไม่สามารถเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กรได้

  3. ความลำบากใจในการขับเคลื่อนสันติวิธี ในความปลอดภัยของมหาวิทยาลัย ต้องขีดเส้นตรงนี้ ถ้าหากเกินไปก็จะยาก เป็นปัญหาของงานแบบนี้

  4. แลกเปลี่ยนความเศร้าปรับทุกข์กัน เวลาคนที่ทำงานจากไป นี่คือความทุกข์ของการทำงานสันติวิธี ก็ตั้งคำถามกับตัวเองว่าทำอะไรอยู่

  5. การรักษาความห่างกับอำนาจ พอเข้าไปใกล้กับอำนาจอุดมการณ์เจือจางไป เป็นปัญหาการทำงานว่าจะช่วยกันยังไง

  6. ปัญหาเรื่องของงานวิจัย บางงานวิจัยสันติวิธีก็ทำให้อึดอัด การเจรจาในระยะยาวทำให้สูญเสียคน การทำงานสันติวิธี เถียงกับข้อมูลไม่ได้ เป็นไปได้มั้ยถ้ายอมให้ใช้ความรุนแรงอนาคตจะดีกว่า เลือกไม่ได้ว่าแนวไหนจะดีกว่าในสังคม

  7. อ.ชัยวัฒน์ เป็นคนเขียนเยอะ เป็นคนชอบเขียน และตั้งคำถาม มองว่า เราต้องตั้งคำถามหลายอย่างในบริบทสังคมไทย ใช้หลักสากลไม่ได้ทั้งหมด

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active