จับตา สว. ชุดใหม่ เชื่อมโยงฐานการเมืองระดับชาติ

‘สติธร’ วิเคราะห์ผลเลือก สว. กลุ่มคะแนนนำโด่ง วางยุทธศาสตร์การโหวตเป็นระบบมาก่อน เชื่อส่งผลถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เลือกกรรมการในองค์กรอิสระ ชี้ต้องปรับแก้ตั้งแต่รอบระดับอำเภอ

วันนี้ (27 มิ.ย.2567) แสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แถลงสรุปภาพรวมการเลือก สว.ระดับประเทศ ว่าทุกอย่างก็ผ่านไปด้วยความเรียบร้อย ในส่วนของการจัดงานเลือก สว. ได้มีการประกาศผลคะแนน สว. แล้ว กลุ่มละ 10 คน และมีสำรองกลุ่มละ 5 คน รวมจำนวน 200 กับ 100 คน ในฐานะผู้อำนวยการระดับประเทศก็ได้แจ้งผล ไปยัง กกต.แล้วในวันนี้ ในช่วงเวลา 06:00 น ที่ผ่านมา เพื่อรายงานต่อกกต. ตามมาตรา 42 ของ กกต.ก็จะต้องพิจารณาประกาศผล แต่ก็ต้องรอไว้ไม่น้อยอีก 5 วัน หรือตั้งแต่วันที่ 3 กรกฎาคมเป็นต้นไป ซึ่งยังไม่แน่ชัดว่าจะเป็นวันไหน

สติธร ธนานิธิโชติ ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า ให้สัมภาษณ์กับ The Active วิเคราะห์ถึงภาพรวมการเลือก สว. ว่าในกลุ่มที่มีคะแนนนำโด่ง อาจเป็นทีมเดียวกันที่มีการจัดตั้งกันมาอย่างเป็นระบบ มีการวางแผนยุทธศาสตร์การโหวตร่วมกัน อีกทั้งมีกระแสว่าเป็นคนที่มีความเชื่อมโยงกับพรรคการเมืองที่ครองท้องถิ่นนั้นอยู่ ซึ่งถ้าสังเกตจากจังหวัดสำคัญ ๆ ก็จะสอดคล้องกับพรรคที่มี สส. อยู่

ส่วนกรณี สมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรีไทย ที่ตกรอบในระดับประเทศ สามารถมองได้สองแบบ ในมุมการเมืองฝั่งสีแดงอาจออกแรงน้อยเกินไปก็ต้องทำใจ ทำให้ตัวเต็งพลาดไปได้ ถ้าเทียบกับอีกฝั่งหนึ่งที่เป็นระบบมากกว่า ปริมาณคนเลยเข้ารอบมากกว่า เพราะระบบการเลือกนี้คนเข้ารอบมากได้เปรีย หรือถ้ามองอีกมุมที่การตกรอบนี้ หรือการออกแรงน้อย อาจเป็นความตั้งใจไม่ใช่มองเกมพลาด อีกฝั่งอาจไม่อยากเห็นสีแดงมีอำนาจมากเกินไป ที่จะครองทั้งสภาสูงและสภาล่าง ทำให้ต้องยอมถอยในเกมนี้   

อย่างไรก็ตาม การเมืองระดับชาติไม่ได้เชื่อมโยงกับการเมืองท้องถิ่นเสียทีเดียว แต่อาจจะมีร่องรอยบ้าง อย่างเช่น หากย้อนไปตอนที่ สมชาย วงศ์สวัสดิ์ สมัคร สว. ที่อำเภอแม่ริม ในกลุ่ม 1 แล้วดูว่าคนส่วนใหญ่ที่สมัครแล้วโหวตให้เป็นใคร ก็พบว่าเป็นข้าราชการมาก่อน เป็นคนทำงานในเทศบาล อบต. ก็เป็นส่วนหนึ่ง ถ้าใครมีคุณสมบัติตรงกับกลุ่มก็ชักชวนมาได้ แต่ไม่ใช่ในรุปแบบการเมืองท้องถิ่นช่วยการเมืองระดับชาติจัดตั้งขนาดนั้น แต่การเมืองระดับชาติอาศัยเครือข่ายกับฐานเสียงที่มีอยู่แล้ว ซึ่งก็อาจจะคลุมการเมืองท้องถิ่น หรือธุรกิจในจังหวัดนั้น เนื่องจาก สว.ต้องการกลุ่มที่หลากหลายก็ต้องเอาหลาย ๆ กลุ่มมาประสานกัน

“เป็นเกมที่การเมืองระดับชาติโดยพรรค เป็นคนคุมวิธีการ ส่วนพื้นที่นั้นเป็นเครื่องไม้เครื่องมือในการไปดำเนินการตามที่แกนกลางเป็นคนคิด”

สติธร ธนานิธิโชติ

สติธร ตั้งข้อสังเกตอีกว่า จังหวัดไหนที่พรรคการเมืองที่มีฐานเสียงแน่นหนา จะมีคนลงสมัครแบบเป็นกลุ่มก้อน แล้ววางระบบได้ชัดเจน จึงไปเห็นผลในตอนจบว่าหลาย ๆ คนมีความเชื่อมโยงอย่างนั้นจริง เช่น ที่มีการพูดถึงกลุ่มสื่อมวลชน ที่มีกรณีที่ไม่น่ามีคุณสมบัติเป็นสื่อมวลชน ปรากฏว่ามีพื้นฐานมาจากจังหวัดที่มีพรรคการเมืองคุมพื้นที่นั้น ๆ อยู่ ที่สำคัญคือมาจากกลุ่มไหน หากมีชื่อเสียงโด่งดัง แต่อยู่ฝั่งสีแดงก็อาจจะติดสำรองหรือไม่ก็หลุดไปเลย ส่วนคนที่มีชื่อเสียงรองลงมาแต่อยู่สีน้ำเงินก็อาจเข้ารอบอย่างขาดลอย หรือถ้าอยู่สีส้มก็อาจตกรอบไป ดังนั้น กลายเป็นว่าพรรคการเมืองก็มีส่วนสำคัญ

ณ วันนี้ฝั่งสีน้ำเงินเป็นฝ่ายคุมเกม เรื่องไหนแก้ได้หรือแก้ไม่ได้ ถ้าพอใจให้แก้รัฐธรรมนูญได้ก็อาจไฟเขียว เพราะวันนี้สีส้มที่มีจุดยืนการแก้รัฐธรรมนูญชัดกว่ากลุ่มอื่น มีคนผ่านเข้ารอบไม่พอแค่ 20 กว่าคน แก้รัฐธรรมนูญไม่ได้ เพราะต้องการ 67 เสียงเป็นอย่างน้อยจากฝ่าย สว.การเลือกองค์กรอิสระก็เช่นเดียวกัน ต้องใช้เสียง 100 เสียง เกินครึ่งหนึ่งของสภาฯ ซึ่งตอนนี้สีน้ำเงินก็น่าจะเกิน แปลว่าเขาจะเป็นคนเปิดไฟเขียวไฟแดงให้กับคนที่จะไปเป็นกรรมการในองค์กรอิสระ 

“ถ้าเป็นประเด็นที่กลุ่มพรรคร่วมรัฐบาลเห็นตรงกันว่าอยากแก้ ก็มีโอกาสแก้ได้ แต่ถ้ากลุ่มสีส้มกลุ่มเดียวอยากแก้ก็เป็นไปได้ยากมาก เพราะเสียงไม่พอ”

สติธร ธนานิธิโชติ

สติธร มองว่าปัญหาระบบเลือกกันเองน่าจะอยู่ในรอบอำเภอมากกว่า ผลลัพธ์ที่ออกมา มันเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นตั้งแต่รอบอำเภอแล้ว รอบประเทศที่ผ่านมาแก้อะไรไม่ได้แล้ว จะเจอแต่ปัญหาจุกจิก ไม่ใช่สาระสำคัญ ต่อให้เมื่อวานไม่มีช่องโหว่ ก็แก้ผลลัพธ์ไม่ได้ เพราะผิดตั้งแต่คนรับสมัครแล้วยอมให้เขาเข้ากลุ่มนี้แล้ว ถ้าระบบนี้จะปรับให้ดีขึ้น ต้องไปปรับที่ระดับอำเภอ เช่น กระบวนการการรับสมัคร ทำอย่างไรให้คนที่ลงสมัครได้ในแต่ละกลุ่ม เป็นตัวจริงของกลุ่มนั้นก็ยังมีข้อครหา

ด้าน ปริญญา เทวานฤมิตรกุล ผอ. ศุูนย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ เสรี สุวรรณภานนท์ ประธานกรรมาธิการการพัฒนาการเมืองฯ วุฒิสภา ได้ร่วมพูดคุยในรายการ “ตอบโจทย์” ทาง Thai PBS เมื่อวันที่ 26 มิ.ย. โดยได้พูดถึงประเด็น ความคาดหวังต่อสมาชิกวุฒิสภาชุดใหม่ 200 คน จาก 20 กลุ่มอาชีพ และภารกิจสำคัญเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงประเทศ

ปริญญา พูดถึงสิ่งที่ผู้ร่างอยากให้เกิดและไม่อยากให้เกิด แต่สิ่งที่ไม่อยากให้เกิดนั้นได้เกิดขึ้นแล้ว คือ สว.ที่อยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับบทที่เป็นถาวร 200 คน มาจากการเลือกกันเอง ซึ่งการเลือกกันเองไม่ใช่การเลือกตั้ง แม้จะเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย สิ่งนี้เป็นข้อปัญหาโดยหลักการ ในความเป็นตัวแทนกลุ่มอาชีพก็เป็นปัญหาอยู่แล้ว 

“ต่อให้เทียบกับชุดของอาจารย์เสรี ที่มี 50 คนที่ คสช. เลือก แต่อีก 200 คนที่มาก็ยังดีกว่า เพราะให้สมาคมอาชีพเสนอชื่อได้ จุดเริ่มต้นให้เข้ามาเลือกกันเองเลยเปิดกว้าง  แต่รอบนี้ต้องสมัครและเสียเงินเข้ามา ผมคิดว่าจุดเริ่มต้นก็ผิด”

ปริญญา เทวานฤมิตรกุล

ปริญญา กล่าวอีกว่า สภาสูงกับสภาล่างไม่เหมือนกัน สภาล่างมีรัฐบาลเป็นประธาน แต่สภาสูงไม่มีใครที่ได้คะแนนเกินครึ่ง ต่อให้กลุ่มเครือข่ายจัดตั้งเข้ามา ดังนั้น ต้องรอดูหน้าตาของชุดใหม่ก่อน ถ้าคาดการณ์ก็อยู่ที่ว่าจะเกิดการตกลงกันหรือไม่ กลุ่มที่ได้เปรียบคือกลุ่มบ้านใหญ่ที่มีเครือข่ายกับกลุ่มเครือข่ายจัดตั้งของราชการหรืออดีตราชการ ก็ขึ้นอยู่กับกลุ่มเหล่านี้จะรวมกันได้ไหม แต่ตัวแปรก็คือเสียงที่เป็นอิสระที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่มจัดตั้งของใคร

ด้าน เสรี ระบุว่า ในประเด็นที่มีการเปรียเทียบกันระหว่างสว.ชุดเก่ากับชุดใหม่ เสรี ชี้ว่าขึ้นอยู่กับความเข้าใจส่วนตัว และการบอกกับสาธารณชนว่าอย่างไร เนื่องจากสิ่งที่ถูกครหานั้นถูกพูดถึงมานานแล้วว่า มาจากการแต่งตั้งของคสช. ไม่ได้มาจากประชาชน ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง จึงได้พิสูจน์ตัวเองในสิ่งที่ทำงานมาว่าทำประโยชน์ได้เยอะ และมีอิสระพอสมควร  ดังนั้น มองว่าการเข้ามาของชุดใหม่ก็ถูกครหาแล้วเหมือนกัน ว่าเป็นสว.ชุดฮั้วกัน 

“ในการเมืองบ้านเรา ใช้วาทกรรมเยอะมาก ถ้าจะพูดให้ใครเสียหาย พูดไปเรื่อย ๆ ซ้ำ ๆ เดี๋ยวคนก็พูดตาม”

เสรี สุวรรณภานนท์

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active