รับสภาพ สว.ฝั่งประชาสังคม เหนื่อย! แต่ยังเชื่อ ฝากความหวังได้

อดีตผู้สมัคร สว. ยอมรับตัวแทนภาคประชาชน ฝ่าด่านเข้าไปได้น้อย โจทย์แก้รัฐธรรมนูญ แก้ปัญหาเชิงประเด็นจึงไม่ง่าย ขณะที่ ว่าที่ สว.ใหม่ รับผิดหวังระบบ กีดกันกลุ่มคนทำงานประเด็นสาธารณะ เข้ามาได้ยาก   

วันนี้ (27 มิ.ย. 67) ผู้สื่อข่าว Thai PBS รายงานว่า ภายหลัง แสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประกาศเริ่มการลงคะแนนรอบ 2 แบบไขว้ในการเลือก สว. ระดับประเทศ ตั้งแต่เวลาประมาณ 19.50 น. ของคืนวันที่ 26 มิ.ย. 67 โดยใช้เวลาในการลงคะแนนประมาณ 2  ชั่วโมง จากนั้นเข้าสู่ขั้นตอนการนับคะแนน ในเวลาประมาณ 22.00 น. ซึ่งเป็นการนับคะแนนทุกสายพร้อมกันทีละกลุ่ม ทำให้ต้องใช้เวลานานกว่า 5 ชั่วโมง กระบวนการนับคะแนนของทุกสายทุกกลุ่มอาชีพจึงเสร็จสิ้นในเวลาประมาณ 03.30 น. ที่ผ่านมา โดยภาพรวมแล้วกระบวนการเลือก สว. ระดับประเทศ ในครั้งนี้ใช้เวลาทั้งหมด 18 ชั่วโมง

สำหรับผลการเลือก สว.ในครั้งนี้ พบว่า คนดังและตัวเต็งหลายคนตกรอบ อย่าง สมชาย วงษ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี ไม่ผ่านแม้กระทั่งเป็นตัวสำรอง ได้เพียง 4 คะแนน โดยเจ้าตัวเดินออกจากห้องทันที ไม่ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน

ขณะที่ พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล อดีตรอง ผบ.ตร. ได้บัญชีรายชื่อเป็นตัวสำรอง เช่นเดียวกับ ษิทรา เบี้ยบังเกิด ทนายความชื่อดัง ได้บัญชีรายชื่อเป็นตัวสำรองอันดับ 4

สำหรับคนดังที่เป็นที่รู้จักในหลายแวดวง ซึ่งผ่านการเลือกได้เป็น สว. เช่น พล.อ.เกรียงไกร ศรีรักษ์ อดีตแม่ทัพภาค 4, วีรศักดิ์ วิจิตรแสงศรี อดีตผู้ว่าฯ สมุทรสาคร และอ่างทอง, รศ.นันทนา นันทวโรภาส นักวิชาการด้านการเมืองการปกครอง, ผศ.วราวุฒิ ติรนันทน์ อดีตรองเลขาฯ กกต., อังคณา นีละไพจิตร อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ, ผศ.ประภาส ปิ่นตบแต่ง นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ สังคม, ศาสตราภิชาน แล ดิลกวิทยรัตน์ นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์และแรงงาน, นพ.เปรมศักดิ์ เพียยุระ อดีต สส.พรรคไทยรักไทย

พล.อ.เกรียงไกร ศรีรักษ์ อดีตผู้ช่วย ผบ.ทบ. และอดีตแม่ทัพภาคที่ 4 ระบุว่า ยินดีที่ได้รับเลือกเป็น สว. ขอให้รอการประกาศอย่างเป็นทางการของ กกต. ส่วนตัวยืนยันมีความตั้งใจเข้ามาทำหน้าที่ดูแลประชาชน โดยเฉพาะเรื่องจังหวัดชายแดนภาคใต้ และขอขอบคุณทุกคนที่ไว้วางใจเลือกให้เข้ามาเป็น สว. ครั้งนี้

ยื่น กกต. ตรวจสอบบล็อกโหวต

รศ.นันทนา นันทวโรภาส ผู้ได้รับการเลือกเป็น สว. กลุ่ม18 กลุ่มสื่อสารมวลชนฯ เปิดใจว่า ได้รับเลือกเป็น สว. ด้วยคะแนนเป็นลำดับที่ 9 ของกลุ่ม ตั้งข้อสังเกตว่า มีการบล็อกโหวตที่จะต้องมีการยื่น กกต. ตรวจสอบ ซึ่งตอนนี้มีผู้สมัครล่ารายชื่อเพื่อจะดำเนินการยื่นร้องต่อ กกต. ให้ตรวจสอบ จำนวนกว่า 100 คน เพราะเห็นว่า ผู้ที่ได้คะแนนสูงสุดในแต่ละกลุ่มอาชีพใน 7 ลำดับแรก จะมาเป็นกลุ่มก้อน และจะได้รับคะแนนสูงทิ้งห่างคนอื่น โดยผู้สมัครกลุ่มดังกล่าวจะไม่พูดคุยกับคนอื่น อยู่รวมตัวกันเฉพาะกลุ่ม และมีคะแนนที่ได้มาในลักษณะเหมือนกัน ซึ่งส่วนตัวเห็นว่าจะเป็นปัญหาที่ใหญ่มากหากปล่อยให้มีการบล็อคโหวตและกลายเป็น สว.ที่ถูกเรียกว่า สว. ล็อกโหวต ไม่ตอบโจทย์กับ สว. ที่ต้องเข้ามาทำหน้าที่ในฝ่ายนิติบัญญัติ

รศ.นันทนา นันทวโรภาส ว่าที่ สว.

รศ.นันทนา ชี้แจงว่า ที่ยื่นขอให้ กกต. ตรวจสอบการบล็อคโหวต ไม่ได้ต้องการให้การเลือกเป็นโมฆะทั้งหมด เพราะประชาชนไม่ต้องการให้ สว. ชุดปัจจุบันอยู่รักษาการต่อไป แต่อยากให้มีการตรวจสอบกระบวนการของกลุ่มบุคคลดังกล่าว พร้อมทั้งอยากทักท้วงว่า กระบวนการคัดเลือกซับซ้อน และพิสดารไม่เกิดประโยชน์แก่ประชาชน ทำให้ไม่ได้ตัวแทนที่มีคุณภาพ เข้าไปทำหน้าที่ สว. จึงควรจะมีการเปลี่ยนวิธีการเลือก สว. ควรจะเป็นการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน

ผิดหวังภาคประชาสังคม เจอด่านยาก ไปไม่ถึงฝัน

ขณะที่ อังคณา นีละไพจิตร ว่าที่ สว. จากกลุ่มที่ 17 ให้สัมภาษณ์ภายหลังการนับคะแนนแล้วเสร็จ ระบุว่า ในส่วนของภาคประชาสังคม ผ่านเข้ามา 3 คน และมีสำรอง ส่วนตัวรู้สึกผิดหวังกับระบบของการเลือก เพราะมาด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจ แต่ระบบที่มีบางคนกลับมีคะแนนสูงลิ่ว และภาคประชาชนที่กระจายในกลุ่มต่าง ๆ มีน้อยมากที่จะสามารถเข้ามาได้ ก็จะทำให้เห็นว่ารัฐธรรมนูญที่เขียนเพื่อที่จะให้ทุกคนมีส่วนร่วม แต่จริง ๆ มีปัญหาอุปสรรคมาก ที่จะทำให้คนธรรมดาได้เข้ามาทำหน้าที่ สว.

อังคณา นีละไพจิตร ว่าที่ สว.

“เราคุยกันในหมู่ภาคประชาสังคม เห็นว่าเราพร้อมที่จะเข้ามาทำงาน แต่พอมาเจอวิธีการก็รู้สึกผิดหวัง ว่า มันเป็นพื้นที่มีการจองไว้สำหรับคนบางคน และภาคประชาสังคมก็เข้ามาได้น้อยมาก และในกลุ่ม 17 ก็มีทุกรูปแบบ เช่นนักธุรกิจ อสม. รวมถึงคุณสมบัติที่มีการเขียนไว้บรรทัดเดียว แต่ก็สามารถเข้ามาในรอบสุดท้ายได้ ขณะที่เพื่อน ๆ น้อง ๆ ที่ทำงานหนักกลับต้องตกรอบไปตั้งแต่รอบที่ผ่านมา”

อังคณา นีละไพจิตร

มองโอกาส สว. ตัวแทนภาคประชาสังคม

สอดคล้องกับความเห็นของ สมบูรณ์ คำแหง อดีตผู้สมัคร สว. ในฐานะ ประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนระดับชาติ (กป.อพช.) เปิดเผยกับ The Active ถึงการมีตัวแทนภาคประชาสังคมเข้าไปทำหน้าที่ สว.ครั้งนี้ โดยเห็นว่า เวลาพูดว่าตัวแทนภาคประชาสังคม กลุ่ม 17 ส่วนตัวมองว่า คือ คนที่ทำงานขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาสังคม ความเดือนร้อนในหลากหลายประเด็นให้กับประชาชน ซึ่งอาจจะมีโจทย์การทำงานที่มากกว่าการตีความภาคประชาสังคมว่าเป็นตัวแทนจากแวววงอาสาสมัครขององค์กรรัฐ

เท่าที่รู้ตัวแทนของภาคประชาสังคมที่ได้รับเลือกเข้าไปทำหน้าที่ สว. โจทย์หนักพอสมควร เพราะอาจไม่ใช่แค่ฝ่าย เรียกร้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือเรื่องอื่นเกี่ยวกับประชาธิปไตย แต่ยังมีโจทย์ในระดับภูมิภาคที่ท้าทาย ว่า จะนำปัญหาของประชาชน เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ไขปัญหาในกลไก สว. ได้อย่างไร

แต่อย่างน้อยก็มีความหวังกับหลาย ๆ ที่ได้เข้าไปทำหน้าที่ เช่น ผศ.ประภาส ปิ่นตบแต่ง ถือเป็นคนที่สัมพันธ์กับปัญหาของพี่น้องประชาชนทุกภูมิภาค คุณอังคณา นีละไพจิตร ก็มีบทบาทที่สังคมเห็นอยู่ชัดเจนว่าพยายามเรียกร้อง ผลักดันประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนการผลักดัน พ.ร.บ.อุ้มหาย ส่วนภาคประชาสังคมกลุ่มอื่น ๆ ยังไม่แน่ใจ ว่ามีใครได้เป็นตัวแทนบ้าง แต่อย่างน้อย ๆ ก็ขอให้ สว. ตัวแทนภาคประชาสังคมเกาะกลุ่มกัน เพื่อผลักดันเชิงประเด็นให้เกิดขึ้นได้จริง

“สว. ทั้ง 200 คน ต้องช่วยกันทำภาพของวุฒิสภาให้น่าเชื่อถือ เชื่อมั่นให้มากขึ้น เพราะยุคที่ผ่านมา แคมเปญยกเลิก สว. เยอะมากสะท้อนภาพลักษณ์ของ สว.ชุดที่ผ่านมาได้อย่างดี สว. ชุดใหม่ จึงต้องเร่งปรับภาพลักษณ์ให้ดีขึ้น”

สมบูรณ์ คำแหง

ฝากความหวัง สว.ชุดใหม่ แม้ดูแล้วเหนื่อย

เช่นเดียวกับ สุภาภรณ์ มาลัยลอย อดีตผู้สมัคร สว. ในฐานะของผู้จัดการมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLaw) ยอมรับว่า เห็น สว. ชุดใหม่เริ่มเป็นรูปเป็นร่างแล้วรู้สึกเหนื่อยแทน เพราะจากความคาดหวังในมุมของภาคประชาสังคม คือ คนที่ตั้งใจเข้าไปเปลี่ยนหลักการในระบอบประชาธิปไตยที่ไม่เป็นธรรมต่าง ๆ การเข้าไปมีบทบาทกลั่นกรองกฎหมาย ที่มีปัญหามายาวนาน การคัดเลือก รับรอง องค์กรอิสระ ซึ่งคาดหวังว่าบทบาทของ สว.ชุดใหม่นี้ จะทำหน้าที่ตรวจสอบได้ดีกว่า สว. 250 คน ชุดก่อน แต่จากที่ดูคร่าว ๆ แล้ว คนที่เข้าไปไม่เป็นที่รู้จักเยอะมาก โดยเฉพาะสัดส่วนของคนทำงานประเด็นสาธารณะ ดูแล้วเหนื่อยแทน ที่เห็นบทบาทของภาคประชาสังคมเข้าไปได้น้อย พอเห็นสัดส่วนภาพรวม การเป็นทีม สว. สองร้อยคนถ้าแตกต่างกันมาก การทำงานก็จะเหนื่อย ในการตรวจสอบกระบวนการต่าง ๆ ในรัฐสภา

“ขอบคุณทุกคนที่ฝ่าฟันกลไกซับซ้อนเข้ามาได้ แม้ตัวแทนภาคประชาสังคมจะมีน้อย แต่ในฐานะคนทำงานประเด็นสาธารณะเชื่อว่า จะไม่ปล่อยให้ สว. ทำงานอย่างเดียว ภาคประชาชนจะคอยทำงานด้วยกันพร้อมสนับสนุนการทำงานด้วยกัน เราก็พร้อมเป็นทีมร่วมกับ สว. ไม่แค่ฝากความหวังไว้เท่านั้น”

สุภาภรณ์ มาลัยลอย

ติดตามรายงานผลการนับคะแนนเลือก สว. ระดับประเทศ

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active