ภาคประชาสังคม ยังเหลือให้ ลุ้น สว. ชุดใหม่ ชี้กติกาไม่เอื้อคนตัวเล็กตัวน้อย

ตัวแทนภาคประชาชน ที่ไม่ได้ไปต่อเลือก สว. รับสภาพประชาชนตัวคนเดียว ไปได้ไม่ไกล คะแนนน้อย เชื่อถึงฝ่าด่านเข้าไปได้ ก็ขับเคลื่อนสู่การเปลี่ยนแปลงยาก

วันที่ (26 มิ.ย. 67) ในการเลือกผู้สมัครสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ที่อาคารศูนย์การประชุมอิมแพ็คฟอรัม อาคาร 4 เมืองทองธานี พบว่ามีคนดังหลายซึ่งเป็นที่รู้จักในหลายแวดวง ผ่านการคัดเลือก ในระดับประเทศ รอบแรกไปสู่รอบไขว้ เช่น สมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี, พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล อดีตรอง ผบ.ตร., วีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี อดีตผู้ว่าฯ สมุทรสาคร, บุญรักษ์ ยอดเพชร อดีตเลขาธิการ กพฐ., พล.อ.เกรียงไกร ศรีรักษ์ อดีตแม่ทัพภาคที่ 4, ษิทรา เบี้ยบังเกิด ทนายความคนดัง

ขณะที่ตัวแทนจากภาคประชาสังคมหลายคนก็ยังได้ไปต่อ เช่น บรรจง นะแส เครือข่ายภาคประชาชน จ.สงขลา, รศ.ประภาส ปิ่นตบแต่ง นักวิชาการด้านสังคม, อังคณา นีละไพจิตร อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ, ธัชพงศ์ แกดำ นักเคลื่อนไหวทางการเมือง, นุชนารถ แท่นทอง เครือข่ายสลัมสี่ภาค, ปัญญา โตกทอง ภาคประชาสังคม จ.สมุทรสมคราม, เพียรพร ดีเทศน์ ผอ.รณรงค์ประเทศไทย องค์กรแม่น้ำนานาชาติ, ดิเรก เหมนคร ภาคประชาสังคมด้านสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อม จ.ปัตตานี   

ญาณพัฒน์ ไพรมีทรัพย์ ตัวแทนกลุ่มชาติพันธุ์ที่ต่อสู้เพื่อสิทธิชุมชนแม่ตาว จากผลกระทบของแคดเมียม ในพื้นที่ ต.พระธาตุผาแดง อ.แม่สอด จ.ตาก ซึ่งลงสมัคร สว. ในกลุ่มที่ 15 ผู้สูงอายุ ผู้พิการ และชาติพันธุ์ แต่ไม่ผ่านการคัดเลือกรอบแรกระดับประเทศ เปิดเผยกับ The Active ว่า การได้มาถึงระดับในฐานะของประชาชนตัวเล็ก ๆ ถือว่าเป็นโอกาสอย่างมาก แต่ก็ยอมรับว่าถ้าจะให้มากกว่านี้คงเป็นไปได้ยาก เพราะกระบวนการเลือก สว. ในระดับประเทศ ยอมรับจริง ๆ ว่า ยังไม่เอื้อให้กับคนตัวเล็กตัวน้อยได้เข้าไปสู่ระบบ เพื่อสะท้อนปัญหาเชิงโครงสร้างได้จริง เช่น พบคะแนนมาเป็นกลุ่มก้อน ค่อนข้างชัดเจน 2-3 กลุ่ม ทำให้รู้ว่าถ้าเป็นเพียงประชาชนที่มาคนเดียวโดด ๆ โอกาสได้คะแนนมีน้อยมาก

“ถ้าได้เข้าไปอยู่ในจุดของ สว. อยากให้มีผลการเปลี่ยนแปลง เราเป็นเพียงคนตัวเล็กตัวน้อยถึงเข้าไปได้ แต่เมื่อจำนวนไม่มากพอ ก็ไม่สามารถนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงได้เช่นกัน ถ้าเข้าไปได้ ก็น่าจะเป็นการแบกรับภาระความคาดหวังของคนอื่นไม่น้อย และจะกดทับตัวเองด้วยซ้ำว่า เมื่อเข้าไปแล้ว ถ้าจำนวนไม่มากพอ ก็อาจไม่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอะไร น้ำน้อยย่อมแพ้ไฟอยู่แล้ว”

ญาณพัฒน์ ไพรมีทรัพย์

ไม่ต่างจาก แสงศิริ ตรีมรรคา ผู้สมัคร สว. กลุ่มอาชีพภาคประชาสังคม ที่ผ่านเข้ารอบระดับประเทศ แต่ไม่ผ่านเข้ารอบเลือกไขว้ มองว่า กติกาที่ออกแบบมาเพื่อเปิดทางให้มีการจับกลุ่ม จัดตั้งเพื่อหาคะแนนกันเอง ทำให้คนที่จัดตั้งคนในกลุ่มได้เยอะก็ได้เปรียบ แต่ถามว่าฮั้วหรือไม่ อาจไม่ถึงขนาดนั้น มองว่า คนที่ได้คะแนนผ่านเข้ารอบเลือกไขว้จะมีคะแนนสูง

ทั้งนี้ยังได้ตั้งคำถามถึงการจัดกลุ่มอาชีพ “ภาคประชาชนสังคม” มีคำนิยามว่าอย่างไรกันแน่ เนื่องจากเห็นว่ามีสโมสรโรตารี (Rotary) มีอาสาสมัคร อปพร. มาสมัครกลุ่มนี้และเข้ารอบ ขณะที่ผู้สมัคร สว. ภาคประชาสังคมที่เป็นที่รู้จักในสังคมอย่างกลับได้เข้ารอบแบบคะแนนเฉียดฉิว เช่น รศ.ประภาส ปิ่นตกแต่ง, อังคณา นีละไพจิต, นุชนารถ แท่นทอง

เมื่อถามถึงคาดหวัง สว. ชุดใหม่นั้น แสงศิริ อยากให้มีความตั้งใจเข้าไปแก้ไขรัฐธรรมนูญ และต้องมองไกลไปมากกว่าตัวเอง มองไปถึงการสร้างความเปลี่ยนแปลง อย่างไรก็ตามยังไม่หมดหวังกับ ผู้สมัคร สว. คนอื่น ๆ ที่ได้เข้ารอบไป

“จากประสบการณ์ลงสมัคร สว. รอบนี้ ได้เห็นคนเสียสละมอบคะแนนเสียงที่สามารถเลือกตัวเองได้ มอบให้คนที่มีความสามารถ มีอุดมการณ์ที่จะเข้าไปในรอบสุดท้าย แต่ก็ไม่วายเจอคนสับขาหลอก”

แสงศิริ ตรีมรรคา
แสวง บุญมี เลขาธิการ กกต.

ขณะที่ แสวง บุญมี เลขาธิการ กกต. แถลงผลดำเนินการจัดเลือก สว. ระดับประเทศวันนี้ นับตั้งแต่ให้มีการรายงานตัวและเริ่มกระบวนการเลือกรอบแรกในกลุ่มเดียวกัน 20 กลุ่ม ผู้ไม่มารายงานตัว 6 คน ทำให้เหลือมีผู้มีสิทธิ์ 2,989 คนที่เข้าสู่กระบวนการ ยอมรับว่า กระบวนการเลือก 20 กลุ่มสาขาอาชีพล่าช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้ พร้อมกล่าวขอโทษต่อผู่สมัคร สว. โดยบรรยากาศในสถานที่เลือก และได้กล่าวขอบคุณผู้สมัคร สว. ให้ความร่วมมือทำให้กระบวนการเลือกดำเนินไปเรียบร้อย ภายใต้การสังเกตการณ์ จากภาคประชาสังคม คณะตัวแทนสถานเอกอัครราชทูตที่ประจำในประเทศไทย องค์กรระหว่างประเทศ ผู้ตรวจการเลือกตั้ง

“กระบวนการนับคะแนนวันนี้มีทักท้วง แต่เป็นการท้วงหลังจากที่ทราบคะแนนแล้ว ไม่ใช่การทักท้วงระหว่างการนับคะแนน โดยทางสำนักงานแนะให้ผู้สมัคร สว. ไปใช้สิทธิ์ร้องคัดค้านต่อศาลฎีกาได้ตามกระบวนการของกฎหมาย และยืนยันว่ากระบวนการของเจ้าหน้าที่มีบันทึกภาพและเหตุการณ์เหตุการณ์ไว้ทั้งหมดเพื่อเป็นหลักฐานที่เป็นประโยชน์ของผู้สมัคร สว. และ กกต.”

แสวง บุญมี

เลขาธิการ กกต. ยังระบุเกี่ยวกับการแต่งกายของผู้สมัคร สว. บางกลุ่มที่แต่งตัวสไตล์เดียวกันสะท้อนถึงความผิดปกติหรือไม่นั้น เหมือนกับวันสมัครที่คนมาจากหมู่บ้านเดียวกัน หรือว่ามาจากบริษัทเดียวกัน หรือใส่ชุดเหมือนกันไม่ได้ผิดกฎหมาย ส่วนจะผิดหรือไม่เกี่ยวกับกระบวนการเลือกอยู่ที่ข้อเท็จจริง

“20 โรงแรมที่อยู่ในบัญชีของเรา เราบอกว่าเรารวบรวมพยานหลักฐาน การพูดไปอาจเป็น หลักฐานวิทยาศาสตร์ อาจจะทำให้มีการไหวตัวก่อนก็ได้ว่าใครเป็นคนจองโรงแรม ใครเป็นคนสั่งอาหารใครเป็นคนประสานงาน ใครเป็นคนลงทะเบียน เราจะต้องไปทำงานกับโรงแรมพวกนี้อีกรอบหนึ่ง ผมคิดว่าโรงแรมคงไม่แก้หลักฐานอะไร ซึ่งมันมีการให้เงินและการจัดเลี้ยงมันใช่หรือไม่เพราะการเลี้ยงคือผิด กฎหมายที่กำหนดไว้ห้ามจัดเลี้ยง ถ้ามีการจัดเลี้ยงก็ผิดกฎหมายอยู่แล้ว หรือหากมีการให้ประโยชน์หรือทรัพย์สินอื่นใดเราต้องไปตามในเรื่องนี้ทำให้เราต้องใช้เวลาในการรวบรวมพยานหลักฐาน ส่วนรวบรวมได้แค่ไหนจะมาตอบคำถามว่าใช้กฎหมายอะไร”

แสวง บุญมี

ส่วนกฎหมายว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว. มาตรา 60 กำหนดไว้ว่า เมื่อประกาศผลเลือกไปแล้วหากผู้สมัครหรือผู้ใดทำให้การเลือกตั้งไม่สุจริตและเที่ยงธรรม เราต้องส่งศาลฎีกา และเมื่อศาลรับคำคัดค้านไว้ หากเป็นส สว จะต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ หากเป็นบัญชีสำรองจะต้องลบชื่อออก





Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active