จับตา สภาฯ ถกงบฯ 68 หวั่นโครงการใหญ่เดินหน้า ไม่สนเสียงค้าน!

ภาคประชาชน ห่วงจัดงบฯ ส่งสัญญาณเปิดทางโครงการใหญ่ อย่าง “แลนด์บริดจ์” ไฟเขียวเงินเวนคืนที่ดิน ไม่แคร์ประชาชน – ผลกระทบ ขณะที่ EnLAW ชี้ งบฯ จำเป็นฉุกเฉิน รับมือจัดการอุบัติภัยจากมลพิษ อาจไม่ถูกเมิน  

วันนี้ (19 มิ.ย. 67) ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีวาระการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมานรายจ่ายประจำปีงบประมาณปี 2568 วงเงิน 3.75 ล้านล้านบาท ซึ่งไม่ใช่แค่การอภิปรายกันในสภาฯ แต่ด้านนอกสภาฯ ตัวแทนภาคประชาชนกลุ่มต่าง ๆ ก็จับตาการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ครั้งนี้เช่นกัน  

สมบูรณ์ คำแหง ประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) เปิดเผยกับ The Active ว่า งบฯ ที่เป็นภาพโครงการขนาดใหญ่ ที่จะส่งผลกระทบต่อชุมชนหลายโครงการ จะต้องถูกจับตาเป็นพิเศษว่าจะมีการตั้งงบฯ ในรอบนี้ด้วยหรือไม่ โดยเฉพาะโครงการที่ส่งผลกระทบและความกังวลกับประชาชนในพื้นที่ภาคใต้มาโดยตลอด คือ โครงการแลนด์บริดจ์ ที่ตอนปี 2567 ได้มีการอภิปรายงบประมาณ ทราบว่ารัฐบาลต้องการที่จะใส่งบฯ เรื่องเวนคืนที่ดินโครงการแลนด์บริดจ์ ช่วงจังหวัดระนอง-ชุมพร มาตลอดเส้นทางโครงการ ตอนนั้นน่าจะตั้งประมาณ 6-7 พันล้าน  แต่เข้าใจว่าสุดท้ายไม่สามารถใส่งบฯ ส่วนนี้ไปได้ทัน เพราะฉะนั้นในปีงบประมาณ 2568 จึงกังวลว่ารัฐบาลจะเอางบส่วนนี้ใส่ไป จึงต้องจับตาเป็นพิเศษ

สมบูรณ์ คำแหง ประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน

“เพราะว่าจริง ๆ ในกระบวนการศึกษาโครงการก็ยังไม่แล้วเสร็จ และก็รูปแบบวิธีการในการลงทุน เขียนว่าต่างชาติต้องลงทุน 100% นั่นหมายความว่า ถ้ารัฐบาลตั้งงบประมาณสำหรับการเวนคืนที่ดิน เพื่อสร้างแรงจูงใจให้กับนักลงทุนต่างชาติก่อน เพื่อจะบอกเป็นหลักประกัน ว่า รัฐบาลเอาแน่กับโครงการนี้ ซึ่งการศึกษายังไม่เสร็จ เอาเข้าจริง ไม่รู้ว่าโครงการจะเดินได้หรือไม่ ผมคิดว่าอันนี้ก็จะเป็นความเสียหายในการใช้งบประมาณจึงต้องจับตาเป็นพิเศษ“

สมบูรณ์ คำแหง 

สมบูรณ์ ยังกล่าวเพิ่มเติม ว่า มีอีกหลายเรื่องที่ต้องระวัง เช่น งบฯ ป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง ซึ่งก็ถูกทักท้วงในสมัยที่แล้ว ว่าเป็นโครงการที่ต้องศึกษาพอสมควร แต่จะมีการตั้งงบฯ ในปีนี้ด้วยหรือไม่ และอีกหลายโครงการ อย่างนิคมอุตสาหกรรมกรรมจะนะ ในระหว่างตอนท้ายของการทำ SEA ซึ่งถ้าเกิดว่ากระบวนการเหล่านี้ถูกจัดการ เอางบประมาณใส่ลงไป หมายความว่า เป็นการเดินหน้าโครงการเหล่านี้ เรื่องนี้จึงต้องช่วยจับตาและส่งเสียงไปยังสภาฯ ที่กำลังพิจารณาขณะนี้

ขณะที่ สุภาภรณ์ มาลัยลอย ผู้จัดการมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) ย้ำถึงสถานการณ์มลพิษประเทศไทย เกิดขึ้นต่อเนื่องสั่งสมมายาวนาน เช่น ถ้ารุนแรงมากก็มลพิษ PM2.5 ที่ยังไม่เห็นงบประมาณที่มาจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ภาคประชาชนต้องฟ้องร้อง อย่างเช่น ภาคเหนือมีการฟ้องแผนฉุกเฉิน ที่จะต้องมีระบบในการจัดการคุ้มครองสุขภาพของประชาชน ดังนั้นตรงนี้ก็จับตาดูอยู่ว่าจะมีแผนงบประมาณปรากฎในปี 2568 หรือไม่ 

สุภาภรณ์ มาลัยลอย ผู้จัดการมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) 

อีกหนึ่งสถานการณ์ฉุกเฉินอุบัติภัยที่ร้ายแรงในรอบ 2-3 เดือนที่ผ่านมา คือเรื่องสารเคมีที่ไม่ถูกจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ แล้วสิ่งเหล่านี้ก็ปนเปื้อนระยะยาว และที่ผ่านมา แม้ว่าจะมีคำพิพากษา แต่ก็ต้องไปตั้งของบประมาณเป็นรายครั้งในการจัดการฟื้นฟูการปนเปื้อนมลพิษ เรื่องนี้จึงสำคัญที่ควรตั้งงบประมาณเพื่อมาจัดการปัญหานี้

“การปนเปื้อนมลพิษมีอยู่หลายพื้นที่ และสถานการณ์ฉุกเฉินเราไม่สามารถรับมือได้อย่างทันท่วงที ดังนั้นงบประมาณในการจัดการอุบัติภัยฉุกเฉินกับการแก้ไขปัญหาระยะยาว ในการฟื้นฟูการปนเปื้อนมลพิษในสิ่งแวดล้อม จะเป็นสิ่งใหม่ในรัฐสภา ถ้าให้ความสำคัญและตั้งเรื่องนี้ เพราะที่ผ่านมาไม่เคยเห็นพูดถึงงบประมาณเรื่องนี้อย่างชัดเจน ที่ผ่านมาจะเป็นงบประมาณในฐานการจัดการทรัพยากร การจัดการมลพิษในภาพรวมให้หน่วยงาน จึงต้องตั้งงบเฉพาะ เพราะสิ่งสำคัญของสิทธิในการมีชีวิตอยู่ การมีสิ่งแวดล้อมที่ดี การมีสุขภาพที่ดี ดังนั้นรัฐต้องให้ความสำคัญและตั้งวาระหนึ่งในการมีงบประมาณเรื่องนี้“ 

สุภาภรณ์ มาลัยลอย  

ผู้จัดการ EnLAW ยังมองว่า  อาจไม่ใช่แค่เรื่องงบประมาณที่ต้องจับตา แต่ต้องรวมไปถึงการติดตามการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่นการเร่งออกออกกฎหมาย อย่าง กฎหมายปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายมลพิษ หรือ PRTR ที่ภาคประชาชนเสนอเข้าไปด้วย

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active