เตรียมยื่น ‘สมุดปกขาว’ ฝากความหวังประชาชน ให้ สว.ชุดใหม่สานต่อ

Policy Forum เปิดวงเสวนาระดมความคิดก่อนเลือก สว.ระดับประเทศ นักวิชาการย้ำปัญหาหลัก สว. ชุดใหม่ เป็นตัวแทนของใคร ? ด้านเครือข่ายประชาชน ชี้ “พวกพ้อง” สำคัญต่อการเลือกกันเอง ระบบเอื้อให้เกิดกลุ่มจัดตั้ง

วันนี้ (18 มิ.ย. 2567) ไทยพีบีเอสร่วมกับสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า และสำนักเลขาธิการวุฒิสภา จัดเวที “Policy Forum ครั้งที่ 13 : โค้งสุดท้าย สว. โอกาสเปลี่ยนประเทศไทย” เพื่อเป็นพื้นที่ในการแลกเปลี่ยน และรวบรวมความคิดเห็นของภาคประชาสังคมและนักวิชาการจากทั่วภูมิภาค

โดยงานเสวนาในครั้งนี้ ได้มีเสียงสะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมโยงระหว่าง 3 คดีร้อนทางการเมืองไทยล่าสุด ทั้งการนัดพิจารณายุบพรรคก้าวไกล การพิจารณาถอดถอนนายเศรษฐา ทวีสิน ให้พ้นจากตำแหน่งนายกฯ และการลงมติว่ากฎหมายลูกในการเลือก สว.ว่าจะขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งทั้งหมดนี้ต่างโยงถึงการเปลี่ยนแปลงการเมืองไทยในอนาคต โดยเฉพาะการคัดเลือก สว. ที่เป็นความหวัง ว่าจะสร้างประวัติหน้าใหม่ของไทยได้หรือไม่ หลังจากมีการวินิจฉัยเกี่ยวกับระเบียบการเลือก สว. 4 มาตรา แล้วหนทางการเลือกสว.จะเป็นอย่างไรต่อ ? 

สว.

ก่อนหน้านี้ ไทยพีบีเอสได้เปิดเวทีแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับเรื่องการเลือกสว.ใน 4 จังหวัด จาก 4 ภูมิภาคผ่านรายการฟังเสียงประเทศไทย ซึ่งเป็นการฟังเสียงสะท้อนจากประชาชนเกี่ยวกับการเลือกสว. ซึ่งสรุปมาได้ว่าในทุกเวทีมีคนพูดทำนองเดียวกันว่า “การเลือก สว.ครั้งนี้ คือห้องทดลองประชาธิปไตย” และความเห็นของคนทุกภาคมองว่า สว. คือตัวแทนของประชาชน และมองเห็นว่า สว. ก็คือนักการเมือง แม้ไม่ได้สังกัดพรรคการเมือง 

นอกจากนี้ยังมีผู้ร่วมแลกเปลี่ยนภาควิชาการ และภาคประชาชนในสื่อภูมิภาค ร่วมเสวนาผ่านระบบ ZOOM  โดย ผศ.ดร.ณัฐกร วิทิตานนท์ อาจารย์ประจำสำนักวิชาการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ บอกว่า เท่าที่ดูรายชื่อของภาคประชาสังคมคนที่ได้ไปต่อจำนวน 1 ใน 4 ยังถือว่ามีความหวัง ต่อจากนี้คือการรอให้มี สว.ชุดใหม่เข้ามาทำหน้าที่โดยเร็ว เพื่อเป็นตัวแทนของคนภาคเหนือ รวมถึงคนกรุงเทพฯ ด้วย เพราะ พ.ร.บ.อากาศสะอาดที่กำลังรอให้ สว.เข้ามาพิจารณา ถ้าช้ากว่านี้อาจจะไม่ทันต่อสถานการณ์ที่จะเจอในต้นปี

ขณะที่ วิศรุต สมงาม เครือข่ายเยาวชน กลุ่มพลเมืองลิง มองว่า แม้รูปแบบการเลือก สว.ครั้งนี้จะผิดเพี้ยนตรงที่ประชาชนไม่มีสิทธิเลือก แต่สิ่งที่เห็นได้คือ เรื่องนี้กลับสร้างความตื่นตัวของคนรุ่นใหม่ ทำให้เกิดการตั้งคำถามมากมาย และเป็นเหตุผลที่ทำให้พวกเขาต้องขยับอยู่ตลอด นั่นหมายความว่า การตื่นตัวส่งผลต่อการทำงานของ กกต. ด้วย  ดังนั้น จึงเชื่อว่าคำตอบสุดท้ายของว่าที่ สว. 200 คน จะดีกว่าชุดก่อน และนี่ถือเป็นการเปิดประตูสู่ความหวังสุดท้ายต่อการแก้รัฐธรรมนูญ

ด้าน ผู้ร่วมวงเสวนาอย่าง ศ.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แม้กระบวนการได้มาซึ่ง สว. ตัวระบบมีข้อชำรุด ต้องบอกว่าเป็นไปตามการวางแผนของคนร่าง ซึ่งวัตถุประสงค์นี้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของเขา

“เขาออกแบบระบบนี้มาเพื่อจะตัดประชาชนออกจากห่วงโซ่ของความรับผิดชอบ เพราะไม่ไว้ใจพรรคการและนักการเมือง แต่ในที่สุดคุณก็จะได้นักการเมืองเข้ามา เป็นนักการเมืองที่อิงกับพรรคต่าง ๆ ด้วย ถึงจะออกแบบมาเพื่อไม่ต้องการให้ประชาชนเป็นคนเลือก”

ปัญหาหลักคือ สว.ชุดนี้ จะเป็นตัวแทนของใคร แม้จะบอกว่าเป็นแทนกลุ่มอาชีพ เพราะกลุ่มอาชีพเลือกมา แต่ระดับสุดท้ายคือการเลือกไขว้ ไม่ได้มาจากกลุ่มอาชีพของตัวเองอีก สิ่งนี้จะกลายเป็นปัญหาใหญ่ของ สว.ชุดนี้ เมื่อ สว.ไม่ได้มาจากประชาชน จะตอบโจทย์ ตอบสนองประชาชนไหม?

สมบูรณ์ คำแหง ประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน มีข้อสังเกตว่า ในการคิดค้นกระบวนการนี้มีเจตนาไม่อยากให้ สว. เหมือนกับ สส. แต่ระเบียบกระบวนการนี้เหมือนบอกให้เราจัดตั้งทีมฟุตบอล เพื่อให้ผ่านเข้าไปได้ จึงมองว่าเป็นการบังคับให้เราจัดตั้ง แต่ต้องดูว่านัยยะการจัดตั้งคืออะไร 

“ระบบการเมืองครั้งนี้ กำลังบอกว่า ถ้าคุณจะได้ตำแหน่ง คุณจะต้องตั้งทีมฟุตบอล ถ้าคุณหัวเดียวกระเทียมลีบ คุณหมดสิทธิ์เลย นอกจากคุณแน่จริง แต่ถึงจะแน่จริงแต่ไม่จัดตั้งอะไรเลย ผมคิดว่ายากมาก”

ณัชปกร นามเมือง เครือข่ายรณรงค์รัฐธรรมนูญ บอกว่า “พวกพ้อง” คือสิ่งที่สำคัญสำหรับวิธีการเลือกกันเอง ใครที่หาพวกพ้องไม่ได้ต้องไปหาเครือข่ายนอกกลุ่ม เพื่อที่จะเข้าไปรอบต่อไป พวกพ้องแบบแรกคือมีอุดมการณ์เหมือนกัน แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีการให้สินจ้างกันจริง

ส่วนเรื่องที่อยากขอคือต้องรู้หน้าที่ว่า จะเข้าไปทำหน้าที่อะไร บางคนมองว่าจะเข้าไปปกป้องกลุ่มอาชีพตัวเอง แต่ว่ามันไม่ได้มีแค่นั้น ต้องเข้าใจว่าคุณกำลังแบกความคาดหวังของสังคมแบบไหน และต้องตีโจทย์สถาการณ์การเมืองไทยให้ถูก ซึ่งเรื่องรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องหลักผมเชื่อว่าเรื่องรัฐธรรมนูญอาจจะเป็นหัวใจของการเลือกสว.ระดับประเทศ

บรรหาร กำลา ผู้อำนวยการสำนักการประชุม สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา พูดถึงกฎหมายร้อนที่จะเข้าสู่การพิจารณาของ สว.ชุดใหม่ว่ามีอะไรบ้าง ซึ่งร่างกฎหมายอีกหลายฉบับที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร เช่น ร่าง พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2568 ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.ก.การประมง ฯลฯ 

ส่วนการแก้รัฐธรรมนูญ มีหน้าที่เสนอบัญญัติขอแก้ไขรัฐธรรมนูญ สว. ร่วมกับ สส.ไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา และพิจารณาบัญญัติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ในวาระที่ 1 ชั้นรับหลักการ และในวาระที่ 3 ขั้นสุดท้ายจะต้อง มีคะแนนเสียงเห็นชอบ ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดที่มีอยู่ของทั้งสองสภา และในจำนวนนี้ต้องมี สว.เห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดที่มีอยู่ของวุฒิสภาด้วย

นอกจากนี้สว.ยังต้องทำหน้าที่แสดงความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบบุคคลดำรงตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญช่วงปี 2567-2571 ทั้งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ผู้ตรวจการแผ่นดิน เป็นต้น

และมองว่าการทำงานของสว.ยุคใหม่หรือในอนาคต การตรวจสอบของภาคประชาชนเป็นสิ่งที่มีประสิทธิภาพมากที่จะติดตามการทำงานของประชาชน โดยกระบวนการที่พยายามจะเปิดเผยกับประชาชนมากที่สุด

ด้าน สติธร ธนานิธิโชติ ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า เปิดเผยด้วยว่า จากผลสำรวจความเห็นของประชาชน สิ่งสำคัญหลัก ๆ ที่ประชาชนอยากเห็นต่อจากนี้พบว่า คือการกลั่นกรองกฎหมาย การให้ความเห็นชอบในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ การตรวจสอบรัฐบาลผ่านการตั้งกระทู้และเปิดอภิปราย รวมถึงการใช้อำนาจกรรมาธิการแก้ไขปัญหาให้ประชาชน 

ส่วนในการให้ความเห็นชอบแต่งตั้งกรรมการองค์กรอิสระนั้น เป็นเสียงส่วนที่ประชาชนอยากให้ สว.เข้าไปทำมากที่สุด นั่นหมายความว่าประชาชนอยากได้ตัวแทนประเทศที่เป็นเสียงให้กับพวกเขาอย่างแท้จริงได้

อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ได้สว. ชุดใหม่แล้วจะมีการเข้าไปปฐมนิเทศให้ สว. ชุดใหม่ ก็จะใช้โอกาสนั้น ในการยื่น “สมุดปกขาว” ที่รวบรวมข้อมูล ความคิดเห็น พร้อมข้อเสนอแนะ ของประชาชนทั่วประเทศ ที่ฝากความหวังไว้กับ สว. ชุดใหม่ในการเข้าไปปฏิบัติหน้าที่ซึ่งมีความสำคัญต่อทิศทางการเมืองนับจากนี้ต่อไป

ตัวแทนเยาวชนคนรุ่นใหม่ อย่าง ฐิรวัฒน์ แทบทับ ที่ปรึกษาประธานสภานิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะเยาวชนที่ติดตามการเมืองมาโดยตลอด และอายุไม่ถึง 40 ปี มองประเด็นเรื่องการถูกกีดกันออกจากระบบการเลือกสว.หรือไม่ โดยมองว่า กลุ่มเยาวชนที่อายุไม่ถึง 18 ปี หรือคนอายุ 40 ปีลงมา อาจจะไม่ใช่ประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ แต่ว่าเราได้รับผลกระทบจากการทำงานของรัฐสภาทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็นอำนาจหน้าที่ของ สว. ที่มีส่วนร่วมในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือในส่วนของการแต่งตั้งองค์กรอิสระที่จะมีผลกระทบลงมาจนถึงทุกระดับของประชาชน อันนี้จึงเป็นส่วนที่น่ากังวลและเป็นที่น่าน้อยใจ


สำหรับช่วงสุดท้ายของการเสวนา ก่อเขต จันทเลิศลักษณ์ ผู้อำนวยการสำนักข่าว ไทยพีบีเอส กล่าวสรุปว่า แม้รูปแบบการเลือก สว. จะดู “ไม่ค่อยน่ารัก” แต่ยังมีความหวัง โดยมีคีย์เวิร์ดหนึ่งที่ขอยกขึ้นมาจากวงเสวนาครั้งนี้สะท้อนให้เห็นว่า “อย่าทำให้เราผิดหวัง” แสดงว่ายังมีความหวัง ส่วนเรื่องการมีบ้านใหญ่ และการจัดตั้ง ในตอนแรกคิดว่าคงไม่มีใครให้ความสนใจ แต่สิ่งที่เห็นในปัจจุบันกลับพบว่าตอนนี้หลายฝ่ายให้สนใจกับประเด็นนี้ และกล่าวปิดท้ายว่า เวทีนี้ให้ความสำคัญกับกระบวนการ แต่ก็คาดหวังว่า ว่าที่ สว.จะพูดคุยกันว่าจะทำอะไร สะท้อนวิสัยทัศน์ออกมา ซึ่งถือเป็นความคาดหวัง และเป็นแนวโน้มที่ดี

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active