ย้อนปมไม่ชอบมาพากล เลือก สว. ระดับอำเภอ

5 ผู้สมัคร สว. เล่าประสบการณ์หลังตกรอบแรก พบความผิดปกติ เอื้อคนบางกลุ่ม ขณะที่ เครือข่ายประชาชน ย้ำเลือกระดับอำเภอไม่ยุติธรรมกับผู้สมัคร จี้ กกต. ปรับปรุงหลายประเด็น ฝั่ง นักวิชาการ ชี้ ปัญหาหลักคือตัวระบบบิดเบี้ยว มาตรฐานแต่ละอำเภอต่างกัน

วันนี้ (11 มิ.ย. 67) ที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เครือข่ายภาคประชาชน และนักวิชาการ เปิดพื้นที่เสวนา “เชิญชวนประชาชนรับฟังประสบการณ์ตรงจากผู้สมัคร สว. ที่ตกรอบในระดับอำเภอ ว่าเผชิญกับอะไรบ้างในกระบวนการเลือกกันเองครั้งแรกในโลก”

พร้อมรับฟังเสวนาโดยนักวิชาการและภาคประชาสังคมที่ติดตามการเลือก สว. อย่างใกล้ชิดถึงปัญหาที่พบในการเลือกระดับอำเภอการในช่วงการแถลงปัญหาการเลือก สว. ระดับอำเภอ ของเครือข่ายภาคประชาชน อย่าง Actlab  We Watch และ iLaw ก็พูดถึงคำพิพากษาของศาลฎีกากว่า 300 คดี และผู้สมัครได้สิทธิ์คืน 38 คดี เช่น การถูกกล่าวหาว่าเป็นสมาชิกพรรคการเมือง 

โดยมองว่าการที่ กกต. แถลงว่าการร้องเรียน 22 คำร้อง และการเลือกระดับอำเภอผ่านไปอย่างเรียบร้อย คงไม่ใช่ความจริงทั้งหมด นอกจากนี้ กกต. ยังขาดการประชาสัมพันธ์ในหลายอำเภอด้วย

ทั้งนี้มองว่า การจัดพื้นที่ให้สังเกตการณ์ผ่านจอนั้น บางอำเภอมองภาพไม่ชัด และไม่ได้ยินเสียง ทำให้ไม่สามารถสังเกตหลักฐานได้ นอกจากนี้ยังพบว่าในหลายอำเภอ อาสาสมัครถูกคุกคาม ทำให้อาสาสมัครรู้สึกหวาดกลัว ไม่ปลอดภัย ปัญหาเหล่านี้คงไม่สามารถทำให้เราบอกได้ว่าการเลือก สว.ระดับอำเภอเป็นการเลือกที่โปร่งใสและไม่มีปัญหา

ส่วนมาตรฐานของ กกต. ที่มองว่าแต่ละอำเภอมีมาตรฐานในการเลือกแตกต่างกันนั้น จากการเก็บข้อมูลพบว่า ในหลายพื้นมีลักษณะต่างกัน อาจทำให้ส่งผลต่อการเลือกอย่างมีนัยยะสำคัญ

ในเรื่องการเก็บอุปกรณ์สื่อสาร สิ่งที่เกิดขึ้นของการเก็บของแต่ละอำเภอมีความเข้มงวดต่างกัน บางอำเภอผู้สมัครสามารถนำ หูฟังบลูทูธ นาฬิกา smart watch เข้าไปได้ และเอกสาร คู่มือ สว.3 บางอำเภอให้เอาไปได้ ซึ่งส่งผลต่อการเลือก

“การเลือกระดับอำเภอที่ผ่านมาไม่ยุติธรรมกับผู้สมัคร อยากให้ กกต. ปรับปรุงเรื่องนี้”

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการ iLaw จึงมีข้อเสนอ 3 ข้อ คือ

  • เจ้าหน้าที่ กกต. ควรทำให้กระบวนการรวดเร็วกว่านี้ เนื่องจากบางอำเภอมีกระบวนการล่าช้ามาก หากในระดับจังหวัดถ้าเจ้าที่ล่าช้าก็จะส่งผลกระทบต่อการเลือกด้วย

  • ขอพื้นที่ให้ประชาชนเข้าไปสังเกตการณ์มากกว่านี้

  • ขอความชัดเจนของทุกเรื่องที่ยังไม่ชัดเจน เช่น การพูดคุยกันของผู้สมัครในสถานที่เลือก หาก กกต.ต้องชัดเจนว่าให้ผู้สมัครทำอะไรได้บ้าง และต้องมีมาตรฐานที่เท่ากัน

ผู้สมัคร สว. ตกรอบ ย้อนปมไม่ชอบมาพากล

จากนั้นเวทีเสวนาได้ร่วมกันฟังประสบการณ์จากผู้สมัคร สว. ที่ตกรอบ โดย ณัฏฐธิดา มีวังปลา ผู้สมัครจาก อ.เมือง จ.จันทบุรี กลุ่มสาธารณสุข บอกว่า ในการรับสมัครเจ้าหน้าที่ตรวจสอบเอกสารนานเกือบ 2 ชั่วโมง และเกิความติดขัดเพราะถูกกล่าวหาว่าปลอมแปลงเอกสาร ส่วนในใบ สว.3 เห็นว่า ข้อมูลแต่ละคนไม่มีการกรอกเบอร์โทรศัพท์ ทำให้สื่อสารกันได้ยาก

นอกจากนี้ยังถูกล่าวหาจากผู้สมัครคนอื่นว่าเป็นคนที่พรรคการเมืองจัดตั้งมา และเมื่อถึงการเลือกรอบไขว้ บัตรเสียเยอะมากเนื่องจากไม่รู้จักใครเลย

พัชรี พาบัว อ.เมือง จ.ลพบุรี กลุ่มประชาสังคม ทราบว่าใน จ.ลพบุรี มีผู้สมัครไปรับใบสมัครมากที่สุดในประเทศ โดยในวันที่ไปรับเอกสาร สว.3 รู้สึกว่าข้อมูลไม่เพียงพอ เพราะมีแค่ 5 บรรทัด ไม่มีช่องติดต่อเพียงพอกับผู้สมัครคนอื่น ๆ

มีบางคนมีประวัติการทำงานสั้น ๆ แต่พัชรีก็พยายามทำความรู้จักกับผู้สมัครคนอื่น แต่เข้าใจว่าผู้สมัครคนอื่นมาด้วยกัน และรู้จักกันอยู่แล้ว นอกจากนี้ในวันเลือกเห็นว่าผู้สมัครกับเจ้าหน้าที่รู้จักกัน มีผู้สมัครจดโพยว่ารู้จักใครบ้าง และจะเลือกใครอย่างเปิดเผย และความอิสระค่อนข้างน้อย เหมือนตั้งใจมาเลือกคนอื่นโดยเฉพาะ

สากล พูนกลาง อ.แคนดง จ.บุรีรัมย์ กลุ่มอาชีพอิสระ บอกว่า ก่อนลงสมัครศึกษาข้อมูลด้วยตัวเอง เลือกลงสมัครในกลุ่มอิสระ ในวันเลือกระดับอำเภอ สังเกตเห็นความผิดปกติหลายอย่าง เช่น มีกลุ่มคนที่รู้จักกัน และมาเตรียมกันหน้างานว่าใครอยู่กลุ่มอาชีพใด ใครจะเป็นผู้รับรอง นอกจากนี้ยังพบคนที่ไม่ใช่ผู้สมัครเข้าไปจัดแจงการเลือกตลอดทั้งวันอีกด้วย

อาจมีการตั้งกลุ่มบล็อกโหวต เช่น กลุ่ม อสม. กลุ่มสตรี แต่เมื่อตนจะไปร้องเรียน กกต. กลับถูกเจ้าหน้าที่ประกบติดตามตัว สากล ยังเผยอีกว่า มีหลักฐานการทุตริตในการเลือกระดับอำเภอและจะดำเนินการร้องเรียนต่อ กกต.

เกรียงไกร สันดิพจนา อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี กลุ่มศิลปะวัฒนธรรม เล่าประสบการณ์ก่อนจะถึงวันเลือกตั้ง จนถึงบรรยากาศการเลือก และยังพบการฮั้วกันแบบนัดแนะในกลุ่มไลน์ผู้สมัคร การจับคู่บัดดี้เพื่อขอคะแนนเสียงต่อกัน 

ไม่ต่างจาก พนิดา บุญเทพ อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี กลุ่มประชาสังคม บอกว่า ตัวเองตกตั้งแต่รอบกลุ่ม ไม่ได้เข้าไปเลือกในรอบไขว้ สังเกตเห็นความผิดปกติหลายอย่างเกี่ยวการตั้งคำถามแปลก ๆ ของผู้สมัครคนอื่น ๆ ในวันรับสมัคร และเมื่อเข้ากลุ่มไลน์ของผู้สมัครใน อ.คลองหลวง จาก 16 คน แต่มีผู้มาแสดงตัวแค่ 4 คน นอกจากนี้ยังเล่าถึงบรรยากาศการเลือกในระดับอำเภอ รู้สึกว่าถึงความอึดอัดในกลุ่มอาชีพของตัวเอง

นักวิชาการ ชี้กระบวนการเลือก สว. บิดเบี้ยว

ช่วงสุดท้ายยังมีเสวนา “ติดตามผลและปัญหาการเลือก สว.” จากนักวิชาการ โดย ผศ.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล คณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มองว่า ระบบเลือกนี้เป็นระบบที่ใช้ไม่ได้ และการลงกลุ่มอาชีพนั้นก็มีปัญหามาก จะทำอย่างไรให้การเลือกระดับจังหวัดไม่มีปัญหา

ส่วนการร้อง กกต. มีเวลาแค่ 3 วันถึงวันที่ 12 มิ.ย.67 เท่านั้น หากผู้ที่ผ่านระดับจังหวัดเข้ามามีความไม่ชอบด้วยกฎหมาย เมื่อไปถึงระดับประเทศก็จะมีปัญหา ดังนั้น ระบบจึงร้องเป็นรอบ รอให้ทุกอย่างเสร็จสิ้นแล้วค่อยไปร้องเรียนจึงไม่ทัน

นอกจากนี้ยังเสนอว่าการเลือกในรอบที่จะถึงนี้ ต้องมีการรู้จักกัน อยากให้มีการแนะนำตัวให้เต็มที่ อย่าให้สมาชิกวุฒิสภามาจากการฮั้วกัน และอย่างน้อยที่พูดมาก็มีน้ำหนักที่ กกต. รับฟัง

“ระบบนี้เป็นระบบที่อาศัยต้องอาศัยดวงในเป็น สว.”

ผศ.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล

ขณะที่ ปุรวิชญ์ วัฒนสุข คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บอกว่า เมื่อมีกระบวนการเลือกแบบนี้จะนำไปสู่การได้มาซึ่งสว. แบบไหน? และก็พอจะเห็นภาพแล้วว่า จะได้ สว. แบบไหนจากที่ผู้สมัครเล่ามา เนื่องจากกระบวนการบิดเบี้ยว ถ้าไม่อยากให้มีการจัดตั้ง ก็ต้องเปิดพื้นที่ให้ประชาชนมีส่วนร่วม

สำหรับการปฏิบัติหน้าที่ของ กกต. ที่มีแนวปฏิบัติ และมาตรฐานไม่เหมือนกันนั้น เห็นว่าเป็นปัญหาหลักเสมอมาในการเลือกตั้ง จึงขอให้ทำแต่ละพื้นที่มาตรฐานเท่ากัน

เช่นเดียวกับ รศ.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ย้ำว่า การเลือกตั้ง สว. ในครั้งนี้มีการฮั้วกันจริง แต่ไม่ใช่ทุกพื้นที่ เนื่องจากบางพื้นที่อยู่ในเครือข่ายของบางหน่วยงาน แต่หลายพื้นที่เป็นไปอย่างอิสระ โดยอาศัยการแนะนำแลกเปลี่ยนกัน ชี้ว่าระบบการเลือกตั้งแบบนี้แม้ยังไม่สมบูรณ์ แต่ยังดีกว่าเอาปืนมาจี้ประชาชน แล้วมีการแต่งตั้ง สว. เหมือนครั้งที่ผ่านมา

จึงมีข้อเสนอแนะเพื่อให้ กกต. ไปปรับ แต่ก็มีคนบางกลุ่มที่อาศัยข้อบกพร่องของการเลือกเพื่อให้การเลือกล่ม หรือข้อร้องเรียน หากใครมีเจตนาแบบนี้ข้อให้เลิกความคิดนี้ แล้วหันมาช่วยกันตรวจสอบแทน ทั้งนี้มีความเป็นไปได้ว่าใครที่ได้เข้าไปเป็น สว. แล้วอาจโดนภาคประชาชน เก็บหลักฐานแล้วนำไปร้องเรียน ทำให้ สว. หลุดออกจากตำแหน่งได้ในภายหลัง

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active