พิธา แถลงการณ์ 9 ข้อ สู้คดียุบพรรคก้าวไกล ชี้ “ยุบพรรค” ควรเป็นมาตรการสุดท้าย

พรรคก้าวไกล ชี้ กระบวนการ ขอบเขตอำนาจศาล รธน. และคำร้อง กกต.ไม่ชอบด้วยกฎหมาย กรณียุบพรรคก้าวไกล ย้ำ “โทษยุบพรรคมีได้ แต่ต้องมีไว้เพื่อปกป้องประชาธิปไตย”

วันนี้ (9 มิ.ย.2567) นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล แถลงข่าวกรณีการสู้คดี ล้มล้างการปกครอง ซึ่งอาจมีโทษถึงขั้นยุบพรรคก้าวไกล กรณีมีหลักฐานอันควรเชื่อว่า พรรคก้าวไกล มีพฤติการณ์กระทำการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข 

โดยชี้แจง 9 ข้อต่อสู้คดียุบพรรคก้าวไกล

  • ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีเขตอำนาจพิจารณาวินิจฉัยคดีนี้
  • กระบวนการยื่นคำร้องของ กกต.ไม่ชอบด้วยกฎหมาย 
  • คำวินิจฉัยเมื่อ 31 ม.ค.67 ไม่ผูกพันการวินิจฉัยคดีนี้
  • การกระทำที่ถูกกล่าวหา ไม่ล้มล้าง ไม่อาจเป็นปฏิปักษ์
  • การกระทำตามคำวินิจฉัยเมื่อ 31 ม.ค.67 ไม่ได้เป็น มติพรรค ไม่ได้เป็นนิติบุคคล
  • โทษยุบพรรคต้องเป็นมาตรการสุดท้าย เมื่อจำเป็น ฉุกเฉิน ฉับพลัน และไม่มีวิธีอื่นในการแก้ไขในระบอบประชาธิปไตย
  • ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจตัดสิทธิ กก.บห.
  • จำนวนปีในการตัดสินทางการเมืองต้องได้สัดส่วนกับความผิด
  • การพิจารณาโทษ ต้องสอดคล้องกับชุด กก.บห.ในช่วงระยะเวลาที่ถูกกล่าวหา

พิธา ชี้ กระบวนการ ขอบเขตอำนาจศาล รธน. และคำร้อง กกต.ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ประเด็นแรก ที่ พิธา ชี้แจง คือประเด็นขอบเขตอำนาจ ศาล รธน. มีอำนาจใดในการยุบพรรค และตัดสิทธิ์ทางการเมือง รัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 210 ระบุ

(1) พิจารณาวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมายหรือร่างกฎหมาย 

(2) พิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของสภาผู้แทนราษฎรวุฒิสภารัฐสภาคณะรัฐมนตรีหรือองค์กรอิสระ 

(3) หน้าที่และอำนาจอื่นตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ

ขณะที่หลักเกณฑ์ และวิธี กกต. เปลี่ยนไปเมื่อเดือน ก.พ. 2556 ในระเบียบคณะกรรมการเลือกตั้ง 2556 ข้อ 7  มาตรการ 93 ระบุว่า บุคคล และคณะบุคคลที่นายทะเบียนแต่งตั้ง ต้องให้ผู้ถูกร้อง  หรือพรรคการเมือง (กรณีนี้คือพรรคก้าวไกล) นั้นต้องรับทราบข้อเท็จจริง และให้พรรคการเมืองมีโอกาสชี้แจงข้อเท็จจริง จึงเชื่อว่าการยื่นคำร้องในคดีนี้ไม่ชอบด้วยกฎหมาย 

พิธา ยังอธิบายต่อว่า การยุบพรรคการเมือง ตัดสิทธิ์ทางการเมืองเทียบเท่าโทษทางอาญา ต้องพิสูจน์จนสิ้นสงสัยจึงจะสามารถลงโทษได้ โทษยุบพรรคมีได้ แต่ต้องมีไว้เพื่อปกป้องประชาธิปไตย ปกป้องพรรคการเมืองที่มีส่วนสำคัญในระบอบประชาธิปไตย และเป็นมาตรการสุดท้ายเมื่อไม่มีทางเลือกอื่นเท่านั้น

“ คดียุบพรรคก้าวไกลแตกต่างจาก การยุบพรรคไทยรักษาชาติ และพรรคอนาคตใหม่ กระบวนการยื่นคำร้องของ กกต. ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่มีคำเตือน ไม่เข้าข่ายปฏิปักษ์ต่อระบอบประชาธิปไตย”

พิธาย้ำว่าผู้ถูกร้องไม่มีโอกาสทราบ โต้แย้ง หรือ แสดงพยานหลักฐานของตัวเอง, มีวิธีอื่นในสภาฯ เพื่อใช้พูดคุยแก้ไขได้ ก่อนสั่งยุบพรรคได้, ยกตัวอย่างปี 2017 พรรค NPD ในเยอรมนี มีการแสดงออกด้วยองค์การนาซี ความคิดที่ต้องการจะเอาสิ่งที่ตรงข้ามกับ เสรีนิยม มาหาเสียงในเยอรมนี ศาล รธน. วินิจฉัยว่า ล้มล้างจริง แต่โทษไม่ยุบพรรค ด้วยเหตุผลว่า ไม่มีหลักฐานเป็นรูปธรรม ที่แนวคิดของนาซีจะสำเร็จได้ และไม่มีหลักฐานเพียงพอ จึงเห็นว่าไม่ควรใช้วิธีการยุบพรรคเป็นทางเลือกแรกกับพรรคก้าวไกล

อ่านเพิ่มเติม คำชี้แจงเพิ่มเติม 74 หน้าของ พรรคก้าวไกล

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active