จับตากลุ่มอำนาจ แย่งเก้าอี้ สว.ด่านสำคัญสู่รัฐธรรมนูญใหม่

นักวิชาการ ชี้เลือก สว.จากกลุ่มอาชีพเป็นช่องโหว่ใหญ่ กติกาสุดซับซ้อนหวังสกัดประชาชนให้มีส่วนร่วม ด้านเครือข่ายเยาวชน ยอมรับมีกลุ่มอิทธิพลบ้านใหญ่ไม่กลัว กกต. ระดมคนไปสมัครหวังล็อบบี้ ย้ำ สว.มีบทบาทสำคัญแก้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ชวนประชาชนตื่นตัวจับตาการคัดเลือกในครั้งนี้

เมื่อวันที่ 4 มิ.ย. 2567 ไทยพีบีเอส จัดงานเสวนาฟังเสียงประเทศไทย “เลือกตั้ง สว. 2567” เสียงสะท้อนความหวังของประชาชน (ภาคกลาง) สว. แบบไหนที่เราอยากเห็น ณ หอประชุม 1 มหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี จ.ลพบุรี โดยตัวแทนภาคประชาชนมองว่า สภาชิกวุฒิสภา (สว.) ต้องมาจากการเลือกของประชาชน เพื่อให้หลุดพ้นจากระบอบเดิม ๆ ซึ่งคุณสมบัติ สว.ที่อยากได้นั้น ต้องเป็นบุคคลที่ประชาชนยอมรับ เป็นคนดี มีผลงานที่เป็นรูปธรรม มีความซื่อสัตย์สุจริต มีความเสียสละ และมีความจริงใจในการนำพาประเทศไทยก้าวไปข้างหน้า รวมถึงต้องเคารพเสียงของประชาชนด้วย ซึ่งหลักพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตย

ขณะที่ประชาชนบางส่วนมองว่า การคัดเลือก สว. ในครั้งนี้ไม่มีความโปร่งใส และอยู่ในกรอบของผู้มีอำนาจ หวังใช้พวกพ้องเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ และอำนาจ

ปุรวิชญ์ วัฒนสุข อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ที่ปรึกษาด้านวิชาการของ We Watch ได้ตั้งข้อสงสัยถืงระบบการคัดเลือก สว.ที่ต้องมาจาก 20 กลุ่มอาชีพนั้น ไม่ได้แบ่งบนหลักการพื้นฐานอะไร อีกทั้งคุณสมบัติของผู้สมัครก็ขาดความน่าเชื่อถือ เพราะให้ใครเซ็นรับรองก็ได้ จึงไม่มีอะไรยืนยันได้ว่าผู้สมัครทำอาชีพที่กล่าวอ้างจริง ๆ ซึ่งถือเป็นช่องโหว่ใหญ่ของระบบในการคัดเลือกครั้งนี้ ในขณะที่การออกแบบกติกาก็มีความซับซ้อน สะท้อนว่ามีเจตนาไม่อยากให้ประชาชนมีส่วนร่วมด้วย

ทั้งนี้กรณี สมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา (สว.) อ้างว่ามีโพยผู้สมัคร สว. 149 คน ที่จะผ่านคัดเลือกในรอบประเทศออกมานั้น อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ มองว่า เรื่องดังกล่าวหากทำให้การคัดเลือก สว. มีความยื้ดเยื้อยาวนาน และยังไม่มี สว.ชุดใหม่ออกมาทันวันที่ 2 ก.ค. 2567 ก็เท่ากับว่า สว.ชุดเก่ายังคงอยู่รักษาการต่อไป เพียงแค่ไม่มีอำนาจโหวตนายกรัฐมนตรี ส่วนร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ หาก สว.ชุดเก่ายังรักษาการอยู่ อาจเป็นอุปสรรคในการแก้กฎหมายทำประชามติ ที่ต้องผ่านการลงมติของ สว. ซึ่งเป็นประตูปลดล็อกอันแรกที่จะนำไปสู่การปฏิรูปประชาธิปไตย

อย่างไรก็ตามอยากให้ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แก้กฎระเบียบที่ห้ามประชาชนเข้าไปสังเกตการในพื้นที่คัดเลือก สว. เพราะในรัฐธรรมนูญปี 60 บัญญัติไว้ว่าห้ามประชาชนเข้าไปในพื้นที่คัดเลือก ยกเว้น กกต.จะอนุญาต อีกทั้ง กกต.เคยแถลงไว้ว่าจะมีพื้นที่ให้สังเกตการณ์ได้ แต่ก็ยังไม่มีความคืบหน้า

ปุรวิชญ์ กล่าวต่อว่า หากถาม สว.ควรมีหรือไม่ ส่วนตัวไม่คัดค้านหากจะมี สว. แต่ต้องไม่ให้อำนาจมากเกินไป เพราะหากมีอำนาจมาก การได้มา สว.ก็ต้องมีความชอบธรรมที่สูงตามไปด้วยเหมือนในรัฐธรรมนูญ ปี 40 ซึ่งก็ยังมีปัญหาเรื่อง สว.โดนครอบงำ ดังนั้นควรให้อำนาจแค่การกลั่นกรองกฎหมายเท่านั้น  เพราะเมื่อมีอำนาจน้อยก็จะไม่มาแย่งกันเป็น ลดความสำคัญในเรื่องที่มาของ สว.ได้

“ผมเชื่อว่าจะมีกลุ่ม สว. อิสระจำนวนหนึ่ง ที่สามารถหลุดเข้าไปได้ แต่มากน้อยต้องขอประเมินทีละรอบก่อน แต่เชื่อว่ามันมี แต่ก็ต้องเผชิญกับการกว้าน การจัดตั้ง การบล็อก ไม่ได้เกิดแค่ระดับอำเภอ และประเทศ แต่หลังจากเข้าเป็น สว. ยังมีบล็อกได้อีก มันเคยเกิดขึ้นมาแล้วช่วงรัฐธรรมนูญปี 40 ฉะนั้นผมคิดว่าบริบททางการเมืองปัจจุบันมันเปลี่ยนไปจากยุคปี 40 พอสมควรแล้ว

ผมเชื่อว่าประชาชนไม่น้อยเห็นปัญหาการเมืองไทย ปัญหาของรัฐธรรมนูญว่ามันจะต้องไม่เป็นอย่างนี้ต่อไป ถ้ามันจะเป็นอย่างนี้เราจะส่งต่อประเทศแบบนี้ให้กับลูกหลานของเราแบบนี้ใช่ไหม

ผมเชื่อว่าจะมีคนจำนวนหนึ่งพยายามจะสร้างความหวังให้มันเกิดขึ้น มันเหมือนการวิ่งมาราธอน ไม่มีทางจะจบในการเลือกตั้ง สส. 1 ครั้ง เลือก สว. 1 ครั้ง มันต้องเลือกหลาย ๆ ครั้ง ผมพูดในทางวิชาการเลย การเปลี่ยนผ่านประชาธิปไตยในโลกนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงการเลือกตั้งครั้งเดียวจบ มันเลือกประมาณ 4-5 ครั้ง  เลือกบนกติการัฐธรรมนูญที่ร่าง ภายหลังรัฐประหารด้วยซ้ำ”

ด้าน วรวิทย์ วงษ์สุวรรณ์ อดีตสมาชิกวุฒิสภาจังหวัดลพบุรี กล่าวว่า ตนหมดหวังกับการคัดเลือก สว.ครั้งนี้ เพราะมีช่องโหว่เดียวคือไม่ได้มาจากประชาชน จึงเป็นสาเหตุที่ตนไม่ลงสมัคร แต่ยังยืนยันว่า สว.ควรมีอยู่ เพื่อทำหน้าที่กลั่นกรองกฎหมาย และตรวจสอบฝ่ายบริหารได้ ผ่านอำนาจแต่งตั้งบุคคลในองค์กรอิสระ ที่จะทำหน้าที่ตรวจสอบรัฐบาล

“ณ วันนี้ผมยังยืนยันว่า สว.ควรมีอยู่ ไม่ใช่ไม่มี เพราะหน้าที่ของ สว. คือกลั่นกรองกฎหมาย และก็ตรวจสอบฝ่ายบริหารทั้งหมด เพราะฉะนั้น สว. มีหน้าที่ในการแต่งตั้งองค์กรอิสระทั้งหมดที่จะมาตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล  เพราะฉะนั้นจึงมีพรรคการเมืองบางพรรค ที่คิดจะเอา สว. มาเป็นพวกของตนเอง เพื่อที่จะสรรหาคนพวกนี้มาเป็นของตัวเอง และทางการเมืองแบบนี้เขาเรียกว่า การเมืองแบบไร้อุดมการณ์”

ส่วนการที่ กกต.เพิ่งมาเปลี่ยนบัตรโหวตเลือกไขว้ สว.นั้น ถือว่าเวลากระชั้นชิดเกินไป อาจทำให้เกิดบัตรเสียมากกว่าเดิม เพราะผู้สมัครจะต้องเขียนตามแบบที่กำหนด อย่างไรก็ตามก็เห็นใจ กกต. เพราะกฎหมายมีความคลุมเครือ ทำให้มีการร้องเรียนจำนวนมาก อีกทั้งการเลือกตั้งครั้งนี้ประชาชนก็รับรู้น้อยมาก ซึ่งอาจทำให้ กกต. มีสิทธิติดคุกได้

สำหรับกรณีที่ สว.ต้องมาจากกลุ่มอาชีพ  อดีตสมาชิกวุฒิสภาจังหวัดลพบุรี มองว่า จะช่วยให้การกลั่นกรองกฎหมายมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะเป็นผู้ที่มีความรู้ในแต่ละกลุ่มอาชีพ แตกต่างจาก สว.ที่มาจากเลือกตั้ง จะไม่เชี่ยวชาญในบางสาขาอาชีพ แต่อย่างไรก็ตาม ควรมี สว.ที่มาจากการเลือกตั้งด้วยส่วนหนึ่ง เหมือนในรัฐธรรมนูญปี 50 ถือว่าดีที่สุด

วิศรุต สมงาม เครือข่ายเยาวชน กลุ่มพลเมือง และคนรุ่นใหม่ที่ลุกขึ้นมาจับตาการเลือกตั้ง ระบุว่า ที่รณรงค์ให้ประชาชนที่อายุ 40 ปี ขึ้นไป เข้าลงสมัคร สว. เพราะอยากให้เป็นส่วนหนึ่งในการร่วมโหวต เพื่อให้ได้รัฐธรรมนูญที่มาจากประชาชน

ขณะที่ในช่วงการรับสมัคร สว. จำนวน 5 วัน เชื่อว่าเป็นการออกแบบกติกาเป็นยุทธศาสตร์ เพื่อเว้นช่วงให้คนหลาย ๆ กลุ่มเข้าไปลงสมัครได้ จากที่สังเกตการณ์ในจังหวัดลพบุรี มีอัตราการสมัครเพิ่มขึ้นหลัก 100 ต่อวัน และจากสัมภาษณ์เจ้าหน้าที่ มีการระดมคนกลุ่มใหญ่ และนายหน้าเข้ามาจัดการ เรียกว่ากลุ่มจัดตั้ง สะท้อนว่ามีการระดมคนจากกลุ่มการเมือง ขั้วอำนาจเก่า หรือบ้านใหญ่ แต่เมื่อ กกต.ประกาศห้ามฮั้วกัน กลุ่มคนเหล่านั้นก็เปลี่ยนรูปแบบใหม่เป็นแบบกระจายตัวออกไป และนั่งห่าง ๆ กัน สะท้อนให้เห็นว่ามีกลุ่มจัดตั้งชัดเจน  

วิศรุต สมงาม เครือข่ายเยาวชน กลุ่มพลเมือง และคนรุ่นใหม่ที่ลุกขึ้นมาจับตาการเลือกตั้ง

ทั้งนี้ ยอมรับว่าในภาคกลางมีกลุ่มผู้มีอิทพลบ้านใหญ่จำนวนมาก เช่น ในลพบุรีก็มีหลายบ้าน ทำให้ผู้สมัคร สว. ที่เป็นกลุ่มคนอิสระ ไม่กล้าเปิดเผยตัวตน เพราะกลัวถูกข่มขู่ และซื้อตัว ทำให้ภูมิภาคนี้จึงมีการระดมคนจำนวนมากมาสมัคร สว.

อย่างไรก็ตาม หากจะได้รัฐธรรมนูญที่ประชาชนมีส่วนร่วมมากที่สุด จะต้องฝ่าด่าน 5 คูหา โดยคูหาที่ 1 คือ การได้มาของ สว. จากนั้นคูหาที่ 2 ทำประชาชนมติครั้งที่ 0 เพื่อถามประชาชนก่อนว่า เห็นด้วยหรือไม่ว่าจะแก้วิธีการแก้รัฐธรรมนูญ เพราะว่าในมาตรา 256 เขียนไว้ว่าวิธีการแก้ต้องทำประชามติก่อน ส่วนคู่หาที่ 3 หลังทำประชามติครั้งที่ 1 เพื่อถามประชาชน ซึ่งต้องไปถกเถียงกันว่าชุดคำถามจะเป็นอย่างไร ถัดมาคู่ที่ 4 เรื่องสรรหาสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ถือเป็นสิ่ง ทีคาดหวังอย่างยิ่งว่า สสร.ต้องมาจากการเลือกตั้งของประชาชนจริง ๆ และสุดท้ายคู่หาที่ 5 ทำประชามติ เพื่อรับรองรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งจุดยืนนี้ทุกพรรคการเมืองเห็นด้วยกับการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ จึงอยากเชิญชวนประชาชนให้มามีส่วนร่วมในการเลือก สว. เป็นโอกาสที่ดีมากที่จะได้เห็นการตื่นตัวของประชาชนคนรุ่นใหม่ และมีความหวังเป็นอย่างยิ่งว่าอนาคตที่จะฝากไว้ที่รุ่นลูก จะไม่บิดเบี้ยวอีกต่อไป

“สังคมไทยมาไกลเกินกว่าจะไม่มีความหวัง เราต้องกล้ายอมรับความขัดแย้ง กล้าที่จะสลายความขัดแย้งให้ได้ ภายใต้กติกาที่เป็นธรรม ผ่านการหารือกัน มันเป็นบรรยากาศที่ดีมาก ถ้าเราอยากจะเป็นประเทศที่สมาทานประชาธิปไตย ให้เป็นระบบการปกครอง เราต้องเชื่อว่าความขัดแย้งมันมีอยู่แล้ว มันเกิดแน่นอน”

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active