กมธ.สันติภาพฯ จี้ ‘ภูมิธรรม-รัฐบาล’ เร่งเยียวยาชาวบ้านมูโนะ

ผ่านมาเกือบปี หลังเหตุโกดังพลุระเบิด ชาวบ้านได้บ้านใหม่แค่ 2 หลัง จากที่พังยับถึง 82 หลัง พบเป็นความบกพร่องของรัฐ ติดขั้นตอนระบบราชการ ซับซ้อน ทำเรื่องล่าช้า เสนอเยียวยาที่มากกว่าหลักเกณฑ์

วันนี้ (4มิ.ย.67) จาตุรนต์ ฉายแสง คณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาและเสนอแนวทางการส่งเสริมกระบวนการสร้างสันติภาพเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ สภาผู้แทนราษฎร (กมธ.สันติภาพชายแดนใต้) แถลงข่าวกรณียื่นหนังสือต่อ ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี เพื่อเสนอแนะเร่งด่วนเกี่ยวกับกรณีมาตรการช่วยเหลือและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุโกดังเก็บดอกไม้เพลิงระเบิดที่ตลาดมูโนะ ต.มูโนะ อ.สุไหง-โกลก จ.นราธิวาส เนื่องจากรองนายกรัฐมนตรี เตรียมจะลงพื้นที่ชายแดนภาคใต้ในวันพรุ่งนี้ (5 มิ.ย.67)

จาตุรนต์ ระบุว่า จากการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นทุกภาคส่วน จ.นราธิวาส ของ กมธ.สันติภาพฯ เมื่อวันที่ 31 พ.ค.-2 มิ.ย.ที่ผ่านมา และได้ลงพื้นที่เพื่อให้กำลังใจชาวมูโนะ ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์โกดังเก็บพลุดอกไม้ไฟระเบิด เมื่อวันที่ 29 ก.ค. 2566 ซึ่งมีผู้ได้รับผลกระทบมากถึง 2,513 คน ใน 682 ครัวเรือน มีผู้บาดเจ็บ 389 คน และเสียชีวิต 11 คน รวมทั้งมีบ้านเรือนเสียหาย 649 หลัง โดยเสียหายทั้งหลัง 82 หลัง ทั้งนี้ได้มีการช่วยเหลือโดยคณะกรรมการกองทุนช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณภัย สำนักนายกรัฐมนตรีสำหรับค่าซ่อมบ้านตามหลักเกณฑ์ของกฎหมายเป็นจำนวนเงิน 49,500 บาทต่อคน

ทั้งนี้ภายหลังเหตุการณ์ผ่านไปเกือบ 1 ปี กลับพบบ้านที่เสียหายทั้งหลัง มีการเซ็นสัญญาสร้างบ้านกับรัฐไปเพียง 2 หลังเท่านั้น จาก 82 หลัง ส่วนบ้านที่เสียหายบางส่วนประชาชนซ่อมบ้านด้วยตนเองไปกว่า 368 หลัง จากเงินที่รัฐให้จำนวนเพียง 49,500 บาท รวมกับเงินที่ได้รับการบริจาคของประชาชนทั่วประเทศและองค์กรอื่น ๆ จำนวน 34 ล้านบาท ที่มีจังหวัดรับเป็นศูนย์กลางในการรับเงินช่วยเหลือ แม้องค์กรที่หลากหลายนี้เข้ามาช่วยเหลือเป็นเรื่องที่น่ายินดี แต่พบว่าการช่วยเหลือนี้มีลักษณะต่างกัน ทั้งในแง่ความเร็วช้า วงเงินในการเยียวยา การรวบรวมข้อมูลผู้เสียหาย และไม่มีหน่วยงานมาจัดการภาพรวม ทำให้ประชาชนที่ได้รับการช่วยเหลือช้าหรือบางส่วนตกหล่นไม่รู้จะไปเสนอปัญหากับใคร

ทั้งนี้เงินจากภาครัฐโดยคณะกรรมการกองทุนช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณภัย สำนักนายกรัฐมนตรีมีการอนุมัติตั้งแต่เหตุการณ์เกิดขึ้นใหม่ ๆ ไปแล้ว 107 ล้านบาท แต่กลับไม่สามารถใช้ได้เนื่องจากขัดระเบียบ ทำให้มีการเรียกร้องให้ยกเว้นระเบียบมาโดยตลอด จนกระทั่งเหตุการณ์ผ่านไปถึง 9 เดือนจึงมีการเห็นชอบยกเว้นหลักเกณฑ์โดย สมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น เป็นประธาน เมื่อ 17 เม.ย. ที่ผ่านมา

จาตุรนต์ ระบุว่า จากการลงพื้นที่ยังพบว่า มีข้อมูลตกหล่น ประชาชนบางรายมาให้ข้อมูลโดยตรงว่าใช้เงินตนเองซ่อมบ้านไปแล้วล้านกว่าบาท แต่ยังไม่ได้รับเงินจากทางราชการเลย หลายคนทำอาชีพขายของในตลาดเมื่อเกิดเหตุการณ์จึงสูญเสียอาชีพไปเป็นปี และปัจจุบันต้องใช้เงินตนเองไปเช่าบ้านเองหรือได้รับเงินบริจาคก็มาล่าช้ากว่าการจ่ายค่าเช่าบ้าน และประชาชนบางส่วนไม่สามารถเข้าถึงการพูดจากับผู้รับผิดชอบระดับสูง เช่น เมื่อคณะกรรมาธิการฯ ไปรับฟังถึงพืนที่ ชาวบ้านบางส่วนต้องหาทางซิกแซกเพื่อมาพบกับ กมธ.

“หลักการสำคัญอย่างหนึ่งก็คือเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องภัยธรรมชาติและไม่ใช่เรื่องของความไม่สงบที่เกิดขึ้นใน 3 จังหวัด ดังนั้นการไปใช้หลักเกณฑ์แบบการช่วยเหลือผู้ประสบภัยธรรมชาติก็ดีผู้ประสบผลกระทบกับความไม่สงบก็ดี เป็นการช่วยเหลือที่ไม่เพียงพอ เนื่องจากว่าความเสียหายครั้งนี้เกิดขึ้นเกิดขึ้นจากการที่โกดังพลุดอกไม้ไฟซึ่งเป็นวัตถุระเบิด ลักลอบเก็บโดยไม่ได้รับอนุญาต เจ้าหน้าที่รัฐไม่สามารถตรวจสอบควบคุมได้ ดังนั้นเหตุการณ์ครั้งนี้จึงเป็นความบกพร่องของรัฐจะมารับผิดชอบตามหลักเกณฑ์แค่ 50,000 บาทไม่ได้ แต่ต้องมีการรับผิดชอบขั้นต่ำคือเท่ากับความเสียหายที่เกิดขึ้น กฎหมายระเบียบอะไรที่ยกมาใช้ได้ต้องเอามาใช้ให้หมด ความจริงจะใช้งบกลางในกรณีฉุกเฉินก็ได้ แต่ที่สำคัญคือต้องทำให้เร็ว และครอบคลุมครบถ้วน”

จาตุรนต์ ฉายแสง

ขณะที่ รอมฎอน ปันจอร์ รองประธาน กมธ.สันติภาพฯ บอกว่า ประเด็นนี้ถือเป็นเรื่องแรก ๆ ที่สภาผู้แทนราษฎรตั้งกระทู้สดอภิปรายกันในสภาอย่างเข้มข้นและกรรมาธิการหลายชุดติดตามเรื่องนี้มาโดยตลอด จึงอยากจะให้ทางรัฐบาลช่วยยกระดับของการแก้ไขปัญหาที่สลับซับซ้อนนี้ ที่สำคัญก็คือมีมาตรการช่วยเหลือจากองค์กรนอกภาครัฐด้วย ทั้งเครือข่ายช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมของจุฬาราชมนตรี หรือมูลนิธิคนช่วยคน แต่เราพบว่าการความช่วยเหลือนั้นยังไม่เห็นมีภาพรวม และมีช่องว่างอยู่ไม่น้อยทีเดียว จึงสมควรที่จะตั้งคณะทำงานระดับชาติขึ้นมาโดยรัฐบาลเอง

“อีก 2 เดือนเหตุการณ์จะครบ 1 ปี ท่านจะเห็นเลยว่ายังไม่ได้มีการฟื้นฟูอย่างที่ควรจะเป็น ไม่นับรวมกับวิถีชีวิตตลาดนัดชายแดน ที่แต่เดิมมูโนะเป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวจากมาเลเซีย ตอนนี้สภาพเปลี่ยนไปอย่างมาก การที่รัฐบาลจ้องการเสนอผลักดันเรื่องเศรษฐกิจและการค้าชายแดน รวมทั้งกิจกรรมการท่องเที่ยวจ่างๆ ที่ทางรัฐบาลชุดนี้ก็พยายามส่งเสริมมันแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยถ้าสัญลักษณ์ของการค้าชายแดนและการท่องเที่ยวอย่างมูโนะอยู่ในสภาพอย่างที่เห็นในปัจจุบัน ท่านรองนายกเดินทางลงไปในพื้นที่จะแวะไปที่ด่านสุไหงโกลก และพอจะมีเวลาสักเล็กน้อยอาจจะแวะไปดูที่ตลาดด้วย”

รอมฎอน ปันจอร์

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active