BRN เผยคุย ไทย ยุติเป็นปรปักษ์ต่อกัน! ดึงผู้คนร่วมสร้างสันติภาพชายแดนใต้

‘คณะพูดคุยสันติสุขระดับเทคนิคฝ่าย BRN’ เปิดใจ แนวโน้มพูดคุยก้าวหน้าอย่างมีนัยยะสำคัญ เดินตามแผน JCPP เล็งตั้งทีมจากส่วนกลาง และในพื้นที่ ติดตามลดความรุนแรง และแนวทางการปรึกษาหารือ

ภายหลังการหารือของเจ้าหน้าที่ระดับเทคนิคของคณะพูดคุยสันติสุข ทั้งฝ่ายไทยและบีอาร์เอ็น ที่ประเทศมาเลเซีย เมื่อวันที่ 19 – 21 พ.ค.ที่ผ่านมา

ล่าสุด สำนักข่าว Wartani ได้เผยแพร่คลิปสัมภาษณ์ อุสตาส คอลิบ อับดุลเลาะ ตัวแทนคณะพูดคุยระดับเทคนิคของบีอาร์เอ็น ความยาว 8.35 นาที ซึ่งได้รับการแปลเนื้อหาโดย ฮารา ชินทาโร่ ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษามาลายู

อุสตาส คอลิบ อับดุลเลาะ ตัวแทนคณะพูดคุยระดับเทคนิค บีอาร์เอ็น

อุสตาส คอลิบ ระบุว่า การพูดคุยมีความก้าวหน้าอย่างมีนัยยะสำคัญ มากกว่าการประชุมในระดับเทคนิคครั้งที่ผ่าน ๆ มา โดยได้หารือในกรอบการทำงานตามแผนปฎิบัติการร่วมเพื่อสร้างสันติสุขแบบองค์รวม (JCPP) ในประเด็นการลดความรุนแรง และการปรึกษาหารือ

ในเรื่องการลดความรุนแรง แม้จะยังไม่ได้มีข้อตกลงเรื่องระยะเวลาว่าจะเป็น 1 เดือน 2 เดือน หรือ 3 เดือน แต่มีความตั้งใจจะลดความรุนแรงเป็นระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว

นอกจากนี้ยังได้เห็นชอบร่วมกันในการตั้งทีมติดตาม ทั้งในประเด็นการลดความรุนแรง และการปรึกษาหารือ ซึ่งทีมติดตามจะมี 2 ทีมหลัก คือ ทีมศูนย์กลาง และทีมติดตามระดับพื้นที่

  • ทีมศูนย์กลาง ประกอบด้วย ผู้อำนวยความสะดวกฝ่ายมาเลเซีย, บีอาร์เอ็น, ทางการไทย และผู้แทนจากอาเซียน 2 คน รวมถึงผู้เชี่ยวชาญด้านสันติภาพอีก 2 คน

  • ทีมระดับพื้นที่ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จะมีจังหวัดละ 6 คน และ จ.สงขลา 4 คน 
อุสตาส คอลิบ อับดุลเลาะ ตัวแทนคณะพูดคุยระดับเทคนิค บีอาร์เอ็น

“ทั้ง 2 ฝ่ายยังได้หารือที่จะยุติการเป็นปรปักษ์กัน และมีการปรึกษาหารือ โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อให้มีการสื่อสารกับคนในพื้นที่ให้ได้เข้ามามีส่วนร่วมกับกระบวนการสันติภาพ ซึ่งหากกระบวนการสันติภาพเดินไปได้โดยไม่มีอุปสรรค เราจะเดินหน้าต่อเพื่อสร้างสันติภาพอย่างแท้จริง ตามความใฝ่ฝันของประชาชนในพื้นที่” 

อุสตาส คอลิบ อับดุลเลาะ


สำหรับในมุมมองของบีอาร์เอ็น เห็นว่า การปรึกษาหารือมี 3 ระดับ คือ การปรึกษาแต่เพียงฝ่ายเดียว, การปรึกษาร่วมระหว่างบีอาร์เอ็น และทางการไทย รวมถึง การปรึกษาขององค์กรภาคประชาชน หรือ องค์กรภายนอกที่ปรึกษากันเป็นประจำ อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เจ้าหน้าที่ระดับเทคนิคได้ตกลงกัน ก็ยังต้องได้รับยินยอมจากโต๊ะเจรจาอย่างเป็นทางการอีกครั้ง

ขณะเดียวกันก่อนหน้านี้ สำนักงานผู้อำนวยความสะดวกมาเลเซีย ได้ออกแถลงการณ์ ระบุเช่นกันว่า การประชุมร่วมกันครั้งนี้ เกิดขึ้นท่ามกลางบรรยากาศที่เป็นมิตร และคณะตัวแทนจากทั้ง 2 ฝ่ายก็แลกเปลี่ยนความเห็นเชิงลึกเกี่ยวกับรายละเอียดและกิจกรรมลดการใช้ความรุนแรง การเป็นปรปักษ์กัน รวมถึงกลไกการติดตาม และข้อกำหนดสำหรับทีมติดตาม ซึ่งทางคณะผู้อำนวยความสะดวกพอใจกับความคืบหน้านี้

 

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active