ครช. – Senate67 จัดงาน “แสดงตน ทุกคนเป็นสว.“ จัดกิจกรรมจำลองการเลือก สว. ยังพบความโกลาหล การทำบัตรเสีย พร้อมตั้งคำถาม ข้อมูลประกอบการตัดสินใจเลือก สว. ยังน้อย เสนอเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าไปร่วมตรวจสอบมากกว่านี้
ในวันที่ 11 พฤษภาคม 2567 นี้ สมาชิกวุฒิสภา หรือ สว.ชุดปัจจุบันจะครบวาระ ซึ่งรวมแล้วมีอายุห้าปีนับแต่วันที่มีพระบรมราชโองการแต่งตั้ง หลังจากสิ้นสุดวาระของ สว.ชุดพิเศษ 250 คน ที่มาจากการแต่งตั้งของ คสช. ขณะที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะเปิดรับสมัคร สว.ชุดใหม่ทั่วประเทศ เพื่อให้ได้มา สว. 200 คน ในวันที่ 13 พ.ค.นี้ ซึ่งตามรัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดให้ใช้วิธีการ “เลือกกันเอง” จากกลุ่มผู้สมัครชิงตำแหน่ง สว. จากกลุ่มอาชีพต่าง ๆ
ท่ามกลางการจับตาของฝ่าย คณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน หรือ ครช. และเครือข่าย Senate67 จัดงาน “แสดงตน ทุกคนเป็น สว.“ ให้มีการจำลองเลือกสมาชิกวุฒิสภาชุดใหม่ พร้อมทั้งเป็นการประกาศเจตนารมณ์ในสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น ซึ่งมีประเด็นคำถามถึงการเลือก สว.ว่าเหตุใดการเลือก สว. ครั้งนี้ มีข้อมูลการตัดสินใจน้อย จนนำมาสู่การตั้งข้อสังเกตว่าจะเป็นการเลือกตั้งเงียบที่สุดในโลกหรือไม่
ประภาส ปิ่นตบแต่ง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ยังมีความกังวลกับการเลือก สว.รอบนี้ การที่เราไม่มีข้อมูลเพียงพอในการตัดสินใจจะส่งผลให้เกิดการตัดสินใจที่ไม่รอบด้าน ควรให้มีการเปิดกว้างในการเพิ่มข้อมูลให้มากกว่านี้ ควรเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าไปร่วมตรวจสอบมากกว่านี้ อย่างเช่น ก่อนหน้านี้ หากมีการเลือกไปแล้วการตรวจสอบยากกว่าเดิม ขณะที่การทำแบบจำลอง สว.ครั้งนี้คือยังถือเป็นพื้นที่ให้มีการเกิดแรงกระเพื่อมให้คนสนใจ รับรู้ข่าวสารมากขึ้นแต่ก็อาจยังไม่มากพอ ซึ่งต้องการให้การเลือกตั้งต้องมีความโปรงใส
ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้อำนวยการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชนหรือ ไอลอว์ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้เราเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขไป 26 ฉบับ สว. รับเพียงแค่เรื่องเดียว อีกทั้งเคยเสนอตัดอำนาจของ สว. ชุดนี้ ไป 5-6 ครั้ง ก็ไม่ผ่าน สว.ชุดนี้เลย จากไทม์ไลน์ จะเห็นว่าเราจะเลือก สว.ชุดหน้าภายในวันที่ 2 กรกฎาคม 2567
“จริง ๆ แล้วหากถามว่าเชื่อมั่นในการะบวนการเลือกตั้ง สว.ชุดใหม่ไหม ผมเองยังไม่เชื่อมั่นเลย แต่ยังเชื่อว่าชุดใหม่คงจะมีความหลากหลายกว่าชุดที่แล้ว แต่เชื่อคงมีอุปสรรคที่หลากหลายตั้งแต่ การห้ามคุณสมบัติต่าง ๆ ค่าสมัคร 2,500 บาท ถึงวันนี้ยังไม่รู้ว่าสมัครวันไหน แต่ก็อยู่ในกระบวนการ ซึ่งเวลากระชั้นชิด ข้อมูลก็น้อย”
ขณะในรูปแบบจำลองก็โกลาหลไม่น้อย ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 7 ครั้งที่ 8 แล้ว เพียงแค่การลำลอง ก็ยังมีการทำบัตรเสีย หรือความสับสนไม่น้อย ที่จริงเราอยากเห็น กกต.มีความชัดเจน เพราะมีคำถามต่าง ๆ มากมาย บางครั้งมีคำถามอีกหลากหลาย เราก็ต้องรอ กกต.ชี้แจง ซึ่ง กกต.ต้องฟันธงให้ชัดเจน
ส่วนประเด็นคือปกติเวลาเราเลือกตั้ง สส. จะรู้ว่าใครลงสมัคร แต่สำหรับ สว.ตกลงมีใครสมัครบ้างยังเป็นเรื่องจำกัด เพราะคนที่จะรู้ก็จะมีแค่คนที่สมัครเท่านั้น ที่จะรู้มันยังดูไม่เปิดกว้าง ซึ่งเรื่องนี้ต้องให้มีการรับรู้มากขึ้น
20 กลุ่มอาชีพ ประกอบด้วย
- กลุ่มการบริหารราชการแผ่นดินและความมั่นคง เช่น อดีตข้าราชการ อดีตเจ้าหน้าที่ของรัฐ
- กลุ่มกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม เช่น ผู้ที่เป็นหรือเคยเป็นผู้พิพากษา อัยการ ตำรวจ หรือผู้ประกอบวิชาชีพด้านกฎหมาย
- กลุ่มการศึกษา เช่น เช่น ผู้เป็นหรือเคยเป็นครู อาจารย์ นักวิจัย ผู้บริหารสถานศึกษา บุคลากรทางการศึกษา
- กลุ่มการสาธารณสุข เช่น แพทย์ทุกประเภท พยาบาล เภสัชกร
- กลุ่มอาชีพทำนา ปลูกพืชล้มลุก
- กลุ่มอาชีพทำสวน ป่าไม้ ปศุสัตว์ ประมง
- กลุ่มพนักงานหรือลูกจ้างของบุคคล ซึ่งมิใช่ส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐ
- กลุ่มผู้ประกอบอาชีพด้านสิ่งแวดล้อม ผังเมือง อสังหาริมทรัพย์และสาธารณูปโภค ทรัพยากรธรรมชาติ พลังงาน
- กลุ่มผู้ประกอบกิจการขนาดกลางและขนาดย่อมตามกฎหมาย (SME) และ ผู้ประกอบกิจการอื่นๆ
- กลุ่มผู้ประกอบกิจการอื่นนอกจากข้อ (9)
- กลุ่มผู้ประกอบธุรกิจหรืออาชีพด้านการท่องเที่ยว เช่น มัคคุเทศก์ ผู้ประกอบกิจการหรือพนักงานโรงแรม
- กลุ่มผู้ประกอบอุตสาหกรรม หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน
- กลุ่มผู้ประกอบอาชีพด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การสื่อสาร การพัฒนานวัตรกรรม หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน
- กลุ่มสตรี
- กลุ่มผู้สูงอายุ คนพิการหรือทุพพลภาพ กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มอัตลักษณ์อื่น
- กลุ่มศิลปะ วัฒนธรรม ดนตรี นักกีฬา การแสดงและบันเทิง
- กลุ่มประชาสังคม องค์กรสาธารณประโยชน์
- กลุ่มสื่อสารมวลชน ผู้สร้างสรรค์วรรณกรรม
- กลุ่มผู้ประกอบวิชาชีพ ผู้ประกอบอาชีพอิสระ
- กลุ่มอื่นๆ
คุณสมบัติ
- ต้องเป็นผู้มีสัญชาติไทยโดยกำเนิด
- ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 40 ปี ในวันที่สมัครรับเลือก
- มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ หรือทำงานในด้านที่สมัครไม่น้อยกว่า 10 ปี ไม่นับรวมผู้สมัครกลุ่มสตรี กลุ่มผู้สูงอายุ คน
- พิการหรือทุพพลภาพ กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มอัตลักษณ์อื่น ต้องมีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้
* เกิดในอำเภอที่ลงสมัครรับเลือก
* มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านของอำเภอที่ลงสมัครรับเลือก เป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าสองปีนับถึงวันที่สมัคร
* เคยทำงานอยู่ในอำเภอที่สมัครรับเลือก เป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าสองปีนับถึงวันที่สมัคร
* เคยทำงานหรือเคยมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านอยู่ในอำเภอที่สมัครรับเลือก แล้วแต่กรณี เป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าสองปี
* เคยศึกษาในสถานศึกษาที่ตั้งอยู่ในอำเภอที่สมัครรับเลือกเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า สองปีการศึกษา