‘สมศักดิ์’ ไม่ตอบ ข้าว 10 ปี กินได้ไหม ? พร้อมตรวจคุณภาพ 7 วันรู้ผล

นักวิชาการด้านเกษตร ให้ข้อมูล ระบุข้าวเก่ามีเชื้อรา แบคทีเรีย ชี้ขายให้คน สัตว์กิน ได้ไม่คุ้มเสีย แนะใช้ผลิตแอลกอฮอล์ – น้ำส้มสายชู แทนนำมาบริโภค 

สมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.กระทรวงสาธารณสุข

วันนี้ (8 พ.ค. 2567) สมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงประเด็นคุณภาพข้าวในโครงการจำนำข้าวที่เก็บมานานกว่า 10 ปี และกำลังจะถูกนำออกมาประมูล ว่า หากสงสัยก็ส่งกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ใช้เวลา 7 วัน ตรวจก็รู้ผลเลย แต่ต้องเก็บพยานหลักฐานเยอะ ไม่ใช่เก็บมาจากข้างบ้านแล้วพูดผิดๆ ถูกๆ ไม่ได้

เมื่อถามว่าข้าว 10 ปีนี้ ควรบริโภคหรือไม่ รมว.สธ. บอกว่า ไม่มีข้อมูล โดยยอมรับว่า เป็นเรื่องใหม่ คนอื่นคงตอบได้ แต่ตนไม่กล้าตอบ

“หากพูดถึงข้าว เรื่องความชื้นของข้าวใหม่ จะมีความชื้นประมาณ 35% เก็บไว้ 1 ปี ความชื้นเหลือ 17% เก็บ 10 ปี ความชื้นอาจจะเหลือ 1 หรือ 2% เปลี่ยนแปลงไปตามภูมิศาสตร์ อุณหภูมิ มันเก็บเป็น 10 ปีแล้ว ความเหมือนคงไม่เหมือนกับข้าว 1 ปี คงไม่เหมือนกัน”

สมศักดิ์ เทพสุทิน
ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และ รมว.กระทรวงพาณิชย์ นำสื่อมวลชนพิสูจน์ข้าวเก่า 10 ปี
จากโครงการรับจำนำข้าว จ.สุรินทร์ ที่เตรียมนำออกประมูล (6 พ.ค. 67)

ด้าน รศ.พันทิพา พงษ์เพียจันทร์ ที่ปรึกษาฝ่ายวิจัยและวิชาการ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โพสต์ระบุ “กรณีที่เอาข้าวเก่า ค้าง 10 ปี มาหุงรับประทานโชว์กัน ขอบอกว่า ท่านได้รับสารพิษจากเชื้อราไปแล้วไม่น้อย หลายตัวหลายชนิดด้วย และใครที่ไปร่วมชิมเป็นสักขีพยาน ว่า ข้าวนั้นกินได้ ก็รับเคราะห์ไปด้วย”

  1. ปกติอาหารสัตว์ เราจะเก็บพวกธัญเมล็ดต่าง ๆ (รวมถึงข้าว)ได้อย่างมาก 1 ปี ที่อุณหภูมิห้อง เช่นเดียวกับที่โรงสีที่โชว์เก็บ แต่ก่อนเก็บนอกจากรมควันแล้ว ความชื้นในเมล็ดธัญพืชจะต้องไม่เกิน 12% เพราะพวกนี้สามารถดูดซึมน้ำกลับได้ ซึ่งสภาพการเก็บของโรงสีที่เห็น ใส่ในกระสอบป่าน โอกาสดูดซึมน้ำกลับ ทำให้ความชื้นของเมล็ดข้าวสูงขึ้นแน่นอน หากจะเก็บไว้นานกว่านี้ต้องเก็บในสภาพเย็นแบบแห้ง (Cold dry processing) อุณหภูมิต้องไม่เกิน 13 °C ทำให้แมลงไม่ฟักออกเป็นตัว

  2. กระสอบป่านที่เก็บข้าว สภาพที่เห็น วางทับซ้อนกันสูงมาก อากาศไม่ถ่ายเท ส่งเสริมการดูดซึมน้ำกลับ ความชื้นในเมล็ดข้าวสูงขึ้น ส่งเสริมการเจริญของมอดแมลงต่างๆ

  3. แม้จะรมยาแต่สถาพการวางทับกระสอบ รมยาไม่ทั่วถึงแน่นอน เพราะข้าวที่เอามาหุงแสดง ขณะล้างฟ้องอยู่แล้วว่ามีมอดข้าว ด้วง 

  4. การที่เมล็ดข้าวมีความชื้น ส่งเสริมการเติบโตของมอด แมลงต่างๆ หลักฐานประจักษ์ขณะซาวข้าว (15ครั้ง ตามข่าว ซึ่งข้าวปกติล้างไม่ถึง 3 ครั้ง)

  5. การมีมอดแมลง มูลของแมลงเหล่านี้นำมาซึ่งการเจริญของเชื้อรา และแบคทีเรีย ทำให้เน่าได้รับสารพิษโดยไม่รู้ตัว

  6. จากสภาพข้าวที่หุงออกมา จะมีข้าวจำนวนไม่น้อย ที่มีสีน้ำตาลตรงปลายเมล็ด นั่นคือเม็ดข้าวที่ขึ้นรา อย่างน้อยต้องตรวจพบสารพิษอะฟลา 1 ตัว ตรวจง่าย ๆ โดยใช้เทคนิค บี จี วาย ฟลูโอเรสเซนท์ (Bright Greenish-Yellow Fluorescent) ซึ่งสารนี้ทนอุณหภูมิได้ถึง 250°C และยังจะมีสารพิษอื่น ๆ ตามมาอีกหลายตัว อุณหภูมิข้าวที่หุงน้ำเดือด 100°C ไม่สามารถทำลายพิษจากเชื้อราได้ อาจได้แค่แบคทีเรียจากมูลของแมลง

รศ.พันทิพา ยังแสดงความเห็นให้คำแนะนำ ดังนี้

  1.  อย่าขายให้คนหรือสัตว์นำไปบริโภค ได้ไม่คุ้มเสีย เพราะจะมีคนป่วยด้วยมะเร็งมากขึ้น สำหรับผู้บริโภคโดยตรง 

  2. กรณีนำไปเลี้ยงสัตว์ จะได้ผลิตภัณฑ์ เนื้อ นม ไข่ ที่มีสารพิษจากเชื้อราตกค้างในอาหาร ทำให้เพิ่มโอกาสเป็นมะเร็งมากขึ้น

  3. การนำไปขายให้อัฟริกา ชื่อเสียงข้าวเน่าเสียของไทยจะกระจายไปทั่วโลก คู่แข่งจะได้เปรียบ กว่าจะกู้ชื่อเสียงกลับคืนมาคงหลายปี เสียตลาดข้าวให้คู่แข่ง โดยเขาไม่ต้องออกแรงเลย และที่สำคัญบาปตกอยู่กับผู้คิด ผู้ขาย แน่นอน

  4. ขอแนะนำให้นำข้าวเหล่านี้ ไปผลิตเป็นแอลกอฮอล์ หรือน้ำส้มสายชู จะดีกว่า สอบถามนักวิชาการด้านวิทยาศาสตร์การอาหารต่อไป

รศ.พันทิพา หมายเหตุด้วยว่า การตรวจสอบสารพิษเหล่านี้ มีตามมหาวิทยาลัยที่มีห้องแลปตรวจอาหารทั่วไปหรือกรมปศุสัตว์หรือบริษัทรับตรวจสารพิษในอาหาร

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active