‘ประชาชนออกแบบสันติภาพ’ เวทีเปิด รับฟัง-หาทางออก ปัญหาชายแดนใต้

กมธ.สันติภาพชายแดนใต้ ชวนประชาชนสะท้อนมุมมองการแก้ปัญหาความไม่สงบ ภาคประชาสังคมชายแดนใต้ แนะอย่าทิ้งบทเรียน ผลการศึกษาในอดีต ชี้ปากท้องอิ่ม สันติภาพเกิด ตัวแทนนักศึกษา จี้หยุดคุกคามเสรีภาพการแสดงออกพื้นที่มหาวิทยาลัย ขณะที่เหยื่อตากใบ ทวงถามความเป็นธรรม ก่อนคดีสิ้นอายุความ  

เมื่อวันที่ (10 มี.ค. 67) ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา คณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาศึกษา และเสนอแนวทางการส่งเสริมกระบวนการสร้างสันติภาพเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ สภาผู้แทนราษฎร (กมธ.สันติภาพชายแดนใต้) จัดเวทีเปิดรับฟังปัญหา และข้อเสนอจากประชาชนประเด็นการสร้างสันติภาพจังหวัดชายแดนใต้ให้สัมฤทธิ์ผล

จาตุรนต์ ฉายแสง ประธาน กมธ.สันติภาพชายแดนใต้ ระบุว่า การรับฟังความเห็นของประชาชนเป็นเรื่องสำคัญจำเป็น เนื่องจากการพูดคุยสันติภาพนั้นจะมีข้อสรุปข้อยุติอย่างไร หรือเจรจาสำเร็จหรือไม่ ล้วนเกี่ยวกับความต้องการของประชาชน การเจรจาสันติภาพจึงไม่อาจแยกจากการมีส่วนร่วมของประชาชน แต่ยังมีปัญหาอยู่บ้างที่การรับฟังความเห็นไม่เป็นที่รับรู้ของทั้งประชาชนทั่วประเทศหรือแม้กระทั่งประชาชนในพื้นที่ชายแดนใต้มากนัก ดังนั้นการเชื่อมประชาชนกับกระบวนการพูดคุยเจรจาจึงเป็นเรื่องสำคัญ

จาตุรนต์ ฉายแสง ประธาน กมธ.สันติภาพชายแดนใต้

แต่ที่กว้างกว่านั้นคือการสร้างสันติภาพ ไม่ควรหมายถึงเฉพาะแค่กระบวนการพูดคุย แม้ว่าเจรจาได้สำเร็จแล้ว แต่ก็ยังต้องถามหาสันติภาพในความหมายที่ประชาชนได้ประโยชน์ ความขัดแย้งลดน้อยลง

“มากกว่านั้น ในความเห็นผมสันติภาพ คือต้องให้ประชาชนชายแดนใต้มีความรู้สึกเป็นเจ้าของพื้นที่อย่างเท่าเทียมกัน แล้วยังจะต้องรู้สึกเป็นเจ้าของประเทศร่วมกับประชาชนทุกจังหวัดในประเทศไทย”

จาตุรนต์ ฉายแสง

ประธาน กมธ.สันติภาพชายแดนใต้ บอกอีกว่า การรับฟังความเห็นจากประชาชนทุกฝ่าย ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ผู้ได้รับผลกระทบ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง เพื่อไม่ให้เมื่อการเจรจาจบไป แต่พื้นที่ยังจะเกิดเงื่อนไขความขัดแย้งหรือมีปัญหาอยู่ หรือ หากมีความความขัดแย้งใหม่ ก็ต้องมาพูดคุยกันอีกในอนาคต

“ประเด็นที่กรรมาธิการฯ ศึกษาอยู่ และอยากได้รับฟังความเห็นจากประชาชนคือ ท่านคิดเห็นอย่างไรกับการพูดคุยสันติภาพ มีความรับรู้แค่ไหน เห็นว่ามีความเป็นไปได้ที่จะทำให้เกิดสันติภาพขึ้นจริงหรือไม่ มีปัญหาอุปสรรคอย่างไร และอยากให้ประชาชน ทุก ๆ ฝ่ายมีส่วนร่วมแค่ไหน”

จาตุรนต์ ฉายแสง

ส่วนประเด็นที่กว้างกว่านั้นก็คือ สังคมแก้ปัญหาสำคัญเหล่านี้อย่างไร  เช่น การเคารพอัตลักษณ์ยังต้องการอะไร ยังมีปัญหาอย่างไร, การเป็นสังคมพหุวัฒนธรรมที่มีความเข้าใจตรงกันเป็นอย่างไร, ความยุติธรรมความเท่าเทียมยังมีอยู่หรือไม่, ความปลอดภัยสำหรับทุกฝ่ายเกิดขึ้นได้หรือไม่, การพัฒนาในด้านต่าง ๆ ทั้งการพัฒนาด้านเศรษฐกิจเป็นประโยชน์ต่อประชาชนส่วนใหญ่ โดยเฉพาะประชาชนคนยากคนจน คนรากหญ้าหรือไม่ และการพัฒนาที่สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนได้จริงหรือไม่

“ถ้าเราอยากสร้างสันติภาพ สันติสุขที่ยั่งยืน เราต้องหาคำตอบในการแก้ปัญหาสำคัญ ๆ ที่เป็นต้นเหตุ เป็นรากเง่าของความขัดแย้งให้หมดไป นี่คือโจทย์ใหญ่ของคณะกรรมาธิการฯ ที่ต้องศึกษาและทำเป็นข้อเสนอ ก็หวังว่าจะได้รับฟังความเห็นของท่านทั้งหลายอย่างเต็มที่”

จาตุรนต์ ฉายแสง

สำหรับเวทีเปิดเพื่อรับฟังความเห็นครั้งนี้ ถูกกำหนดขึ้นภายใต้ชื่อ ‘ประชาชนออกแบบสันติภาพ’ โดยมีตัวแทนจากภาคส่วนต่าง ๆ ในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้เข้าร่วม พร้อมทั้งประชาชนทำแบบสอบถามผ่านระบบออนไลน์ว่า ถ้านึกถึงสันติภาพ คุณนึกถึงอะไร ? นอกจากนั้นยังเปิดโอกาสให้ประชาชนร่วมแลกเปลี่ยน สะท้อนมุมมอง ผลกระทบ และข้อเสนอเพื่อไปสู่สันติภาพอย่างยั่งยืน

ย้ำใช้บทเรียน-ผลศึกษาในอดีต เปิดประตูสันติภาพ

มันโซร์ สาและ ตัวแทนภาคประชาสังคมชายแดนใต้ บอกว่า ขอบคุณนักการเมืองที่ให้ความสนใจเรื่องนี้ และขับเคลื่อนกลไกการแก้ไขปัญหาผ่านบทบาทของสภาฯ ซึ่งเรื่องกรสร้างสันติภาพเป็นสิ่งที่ประชาชนในพ้นที่เฝ้ารอมานานแล้ว แม้จะเริ่มตอนนี้ก็ไม่สายเกินไปที่อำนาจนิติบัญญัติจะเข้ามามีส่วนร่วม ในฐานะของคนรุ่นเก่าที่ผ่านกระบวนการจัดทำข้อเสนอสันติภาพมาในอดีตก็อยากให้กรรมาธิการฯ หยิบยกข้อมูล ข้อเสนอที่เคยเกิดขึ้นก่อนหน้านี้มาใช้ให้เกิดประโยชน์ด้วย

นอกจากนี้เห็นว่าสิ่งสำคัญที่สุด คือ ต้องยอมรับว่าทุกฝ่ายต่างก็ต้องการอำนาจ รัฐไทยก็ต้องการอำนาจ ฝั่งผู้เห็นต่างก็อยากได้ ขณะที่ประชาชนเองก็อยากมีสิทธิจัดการ หรืออยากมีโอกาสออกแบบบ้านของตัวเอง จึงอยากให้การเจรจาสัมฤทธิ์ผลโดยเร็วที่สุด พร้อมทั้งเห็นว่าการพูดคุยปัญหาชายแดนใต้ ต้องใช้ปรัชญาความเป็นเพื่อนบ้าน เป็นเครือญาติกับทางมาเลเซีย เรื่องนี้ถือว่าก็มีความสำคัญเพื่อให้การพัฒนาในอนาคตเชื่อมโยงกันให้ประชาชนได้รับประโยชน์

ดูแลทรัพยากร คนปากท้องอิ่ม สันติภาพเกิด

ขณะที่ ตัวแทนกลุ่มประมงพื้นบ้าน อย่าง สะมะเเอ เจะมูดอ ที่ปรึกษาประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย ยอมรับว่า อาหารการกิน ทรัพยากรทางทางทะเล เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างสันติภาพ เพราะถ้าคนปากท้องอิ่ม ก็จะเกิดแต่เรื่องดี ๆ ขึ้น แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงตอนนี้ คือร่าง พ.ร.บ.ประมง ฉบับใหม่ ซึ่งไม่ได้คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม และการแบ่งปันทรัพยากรอย่างเป็นธรรม ขณะเดียวกันยังเป็นกฎหมายที่ไม่ได้เปิดโอกาสให้ประชาชน ชาวประมงพื้นบ้านเข้าไปมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง จึงอยากให้กรรมาธิการฯ ช่วยสะท้อนปัญหา และข้อกังวลนี้ อยากให้การออกกฎหมายฟังชาวบ้านให้มากขึ้นด้วย

สะมะเเอ เจะมูดอ ที่ปรึกษาประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย

เช่นเดียวกับ

เช่นเดียวกับ มะรอนิง สาและ สมาคมประมงพื้นบ้านจังหวัดชายแดนภาคใต้ เห็นว่า สันติภาพไม่ใช่เส้นทางตรง มีซ้ายมีขวา จึงต้องดูให้รอบ ๆ เพราะมีผู้คนระหว่างทางเต็มไปหมด เช่น คนกรีดยางกำลังร้องไห้ ประมงพื้นบ้านกำลังลำบาก สันติภาพจึงไม่สามารถมองแค่ทางตรงได้เพียงทางเดียว สันติภาพต้องกินได้ แต่ไม่ใช่พูดคุยอย่างเดียว จะต้องหาทางแก้ปัญหาปากท้องคนที่กำลังหิว กฎระเบียบต่าง ๆ ที่กดทับผู้คน อย่างประมงพื้นบ้านให้ตายลูกเดียว

คืนอัตลักษณ์ ‘มลายู’ ผ่านห้องเรียน-ชีวิตจริง

ขณะที่ประเด็นการศึกษา ไพศาล อาแซ นายกสมาคมการศึกษาเอกชน จ.ยะลา บอกว่า การศึกษาในพื้นที่ชายแดนใต้ เป็นจำเลยมาตลอด ซึ่งมีหลายเรื่องที่ต้องแก้ปัญหา เช่น มิติความเป็นอยู่ อัตลักษณ์ ความเหลื่อมล้ำ ต้องยอมรับว่า โรงเรียนในชายแดนใต้มักจะไม่ได้รับการสนับสนุนอย่างเพียงพอ เพราะมองว่าการศึกษาชายแดนใต้ ส่วนใหญ่คือโรงเรียนเฉพาะ สอนศาสนา สอนภาษามลายู จะสอนแบบไหนก็ไม่เคยสนใจ

ไพศาล อาแซ นายกสมาคมการศึกษาเอกชน จ.ยะลา

“อยากให้คืนความเป็นอัตลักษณ์ เช่น การพยายามใช้ภาษามลายู ก็ยังติดภาพว่าถ้าเป็นเรื่องที่เข้าข้างมลายูถือว่าไม่สมควร จึงอยากให้ส่งเสริมการใช้ในหน่วยงานราชการ และควรใช้อย่างถูกต้อง”

ไพศาล อาแซ

เสนอเพิ่มหลักสูตรสันติศึกษา

ตัวแทนภาคประชาสังคม เสนอเช่นกันว่า อยากให้กรรมาธิการฯ มีข้อเสนอไปถึงการบรรจุรายวิชา สันติศึกษา เพื่อให้เด็กเยาวชนได้เรียนรู้ และเท่าทันกับสถานการณ์ในพื้นที่

นอกจากนั้นยังฝากถึงการทำหน้าที่ของ ตำรวจในพื้นที่ที่อยากเห็นตำรวจยิ้มแย้ม แจ่มใส ไม่ใช้อำนาจข่มขู่ อยากให้พูดจาดี ๆ กับประชาชน ให้ประชาชนรู้สึกว่าตำรวจคือพี่น้อง ไม่ใช่เป็นองค์กรที่จ้องจับกุมอย่างเดียว พร้อมทั้งขอให้ตำรวจหยุดละเมิดสิทธิมนุษยชน เช่น การถ่ายรูปบัตรประชาชนตรงด่านตรวจ  

“อยากให้ตำรวจใส่โสร่ง ไม่มีอาวุธ ไม่ใช้อำนาจจนเกินไป อาวุธปืนไม่อยากเห็น อยากเห็นสันติภาพ พวกเราประชาชาติเดียวกัน มั่นใจกระบวนการสันติภาพเกิดขึ้นแน่นอน”  

ถามหา ‘เสรีภาพ-การแสดงออก’ ในรั้วมหาวิทยาลัย

ขณะที่ตัวแทนนักศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ร่วมสะท้อนมุมมอง โดยเฉพาะการขับเคลื่อนประเด็นการเมือง การจัดกิจกรรมในพื้นที่มหาวิทยาลัยกลายเป็นเรื่องยากมาก สำหรับการขอพื้นที่แสดงออกทางการเมืองที่เกี่ยวข้องกับประเด็นด้านมนุษยธรรม จึงตั้งคำถามว่ามหาวิทยาลัยเป็นพื้นที่ที่มีสิทธิเสรีภาพจริงหรือไม่ หรือมีใครบงการอยู่เบื้องหลัง

ตัวแทนนักศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา

ตัวแทนนักศึกษา ยังสะท้อนด้วยว่า มหาวิทยาลัยต้องไม่กดดันนักศึกษา ต่อการทำกิจกรรมต่าง ๆ ไปจนถึงการแสดงออกทางอัตลักษณ์ จึงอยากฝากไปถึงกรรมาธิการฯ ให้ช่วยสะท้อนปัญหาถึงภาครัฐ หน่วยงานความมั่นคง ต้องทำให้มหาวิทยาลัยเป็นพื้นที่แห่งสิทธิเสรีภาพทางกรแสดงออกอย่างแท้จริง

“กิจกรรมเกี่ยวกับการแสดงออก สิ่งที่สังเกตเห็น สิ่งที่้เกิดขึ้น เรายังคงโดนฝ่ายความมั่นคง กดขี่ กดดัน ทั้งทางตรงและทางอ้อม กดดันผ่านมหาวิทยาลัย จนไม่มีโอกาสได้แสดงออก การกดดัน ไม่เพียงส่งผลต่อการศึกษา ยังทำให้นักศึกษาเข้ามามีส่วนร่วมกับการพัฒนาสังคมยากเข้าไปอีก กรณีนี้กรรมาธิการฯ จะมีแนวทางไหน ทำให้พวกเรามั่นใจได้ว่า สันติภาพที่ขายฝันอยู่นั้น พวกเราจะปลอดภัย แสดงออกได้ในสิ่งที่ต้องการโดยไม่ถูกกดดัน”

ตัวแทนนักศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา

ทวงคืนความเป็นธรรมเหตุความสูญเสีย ‘ตากใบ’

ตัวแทนผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ตากใบ เรียกร้องถึงกรรมาธิการฯ พร้อมยื่นหนังสือให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งทวงความเป็นธรรมให้กับเหยื่อความรุนแรง เนื่องจากนับจากนี้เหลือเวลาอีกแค่ไม่ถึง 8 เดือน คดีจะหมดอายุความแล้ว จากที่ติดตามกรรมาธิการฯ ซึ่งได้เชิญหน่วยงานทั้ง ทหาร ตำรวจ เข้าไปชี้แจงกรณีนี้ แต่ในทางปฏิบัติยังไม่เห็นเป็นรูปธรรม ในฐานะของเหยื่อจึงรู้สึกไม่สบายใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น

ตัวแทนผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ตากใบ

“ที่ไม่สบายใจเพราะการชี้แจงของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ระบุเรื่องสำนวนการสอบสวนคดีตากใบหายไป จึงอยากให้กรรมาธิการฯ ช่วยดูแล เพราะเรื่องตากใบเป็นความทรงจำ เป็นบาดแผลในจิตใจ เชื่อว่าคนที่กล้าพูด กล้าสะท้อนความจริงมีเยอะ แต่ยังมีความกลัว กังวลว่าถ้าพูดออกไปแล้วใครจะการันตีว่าจะไม่มีหน่วยงานความมั่นคงไปหาที่บ้าน”

ผู้ได้รับผลกระทบเหตุการณ์ตากใบ
ตัวแทนชาวบ้านที่เคยถูกฝ่ายความมั่นคงควบคุมตัว

เช่นเดียวกับ ตัวแทนชาวบ้านที่เคยถูกฝ่ายความมั่นคงควบคุมตัว สะท้อนมุมมองเป็นภาษามลายู ว่า ชาวบ้านเป็นผู้ได้รับผบกระทบจากการควบคุมตัวโดยใช้อำนาจตามกฎหมายพิเศษหลายฉบับ สิ่งที่ยังเกิดขึ้นทำให้เขาไม่เชื่อมั่นต่อสันติภาพ ไม่เชื่อในเรื่องที่กำลังพูดคุยกัน เพราะจนถึงตอนนี้ก็ยังมีปรากฎการณ์ฝ่ายความมั่นคงคุกคามชาวบ้านอยู่  

“กลัว รู้สึกไม่ปลอดภัย มาคุยในเวทีวันนี้ ก็ไม่รู้ว่าจะมีเจ้าหน้าที่ตามไปหาถึงบ้านอีกหรือเปล่า”

ไม่ต่างกับ ตัวแทนภาคประชาชนชายแดนใต้ ที่เน้นย้ำ ขอให้กรรมาธิการฯ พิจารณาหาแนวทางสนับสนุน ส่งเสริมให้มีการนิรโทษกรรม กรณีการเมือง และคดีความมั่นคง พร้อมทั้งหากมีการจับกุมดำเนินคดีจะต้องขอทราบความคืบหน้าการจับกุมเกิดขึ้น และยังขอให้พิจารณาปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมในพื้นที่ชายแดนใต้ด้วย

เตะหาวอ สาและ สมาคมเพื่อการพัฒนาสตรีและการช่วยเหลือเด็กกำพร้า

ขณะที่ เตะหาวอ สาและ จากสมาคมเพื่อการพัฒนาสตรีและการช่วยเหลือเด็กกำพร้า ในฐานะกรรมการสภาประชาสังคมชายแดนใต้ ขอบคุณที่กรรมาธิการฯ มีสัดส่วนของผู้หญิงในการทำงานเพื่อสันติภาพ โดยมองว่าสันติภาพคือทุกคนต้องเป็นเจ้าของร่วมกัน อยากให้ทุกฝ่ายช่วยกันลดความขัดแย้ง ร่วมสร้างสังคมใหม่ที่เป็นธรรม อยู่บนหลักศาสนาอย่างแท้จริง ทุกฝ่ายต้องคำนึงถึงชีวิตของผู้บริสุทธิ์ ต้องเห็นใจ ผู้หญิง เด็ก คนชรา และไม่พุ่งเป้าไปที่การสร้างความรุนแรงต่อพื้นที่สาธารณะ

วอนสร้างความเท่าเทียมกลุ่มชาวพุทธ

ร.ต.อ.หิรัญย์เศรษฐ แสงเทียน ประธานสมาพันธ์ไทยพุทธ จ.ยะลา บอกว่า ความไม่สงบ และเหตุรุนแรงต้องการใช้ประชาชนทั้งพุทธ มุสลิม เป็นตัวประกัน ทำให้เกิดความหวาดระแวงกัน ทุกพื้นที่มีคนมุสลิมดูแลคนพุทธจะอยู่ได้ แต่พื้นที่ไหนที่ไม่มีมุสลิมดูแลอยู่ไม่ได้ นี่คือข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น จะทำอย่างไรให้ประชาชนเกิดความสามัคคีกัน สันติสุขจะได้เกิดขึ้น

ร.ต.อ.หิรัญย์เศรษฐ แสงเทียน ประธานสมาพันธ์ไทยพุทธ จ.ยะลา

“ตอนนี้คนพุทธได้รับการดูแลอย่างเท่าเทียมหรือไม่ ทุกวันนี้มีคนไทยพุทธ อยู่ในพื้นที่เป็นส่วนน้อย ดังนั้นสิทธิในการดำรงชีวิต ภาครัฐต้องเข้ามาดูแล”

ร.ต.อ.หิรัญย์เศรษฐ แสงเทียน

หนุนความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัย

สมศักดิ์ เทียมเงิน ประธานชุมชนบ้านมั่นคงปัตตานี ระบุว่า ตนเป็นคนประจวบฯ ที่ย้ายมาอยู่ปัตตานีหลายสิบปี จนเกิดสถานการณ์ความไม่สงบ เขาระบุว่าเป็นหนึ่งในครอบครัวที่สูญเสียน้องชายจากการโดนระเบิด หลาน ๆ ขาดพ่อ และยังมีหลายครอครัวที่ตกอยู่ในสภาพขาดเสาหลัก ชีวิตความเป็นอยู่ลำบาก จึงอยากฝากให้กรรมาธิการฯ ช่วยสนับสนุนให้พี่น้องพุทธ มุสลิม หรือไม่ว่าศาสนาใด มีที่อยู่อาศัยมั่นคง ราคาถูก ส่งเสริมการอยู่ร่วมกันแบบพหุวัฒนธรรม

สมศักดิ์ เทียมเงิน ประธานชุมชนบ้านมั่นคงปัตตานี

“ฝากให้กรรมาธิการฯ เข้ามามีส่วนร่วมกับโครงการบ้านมั่นคงที่ดำเนินการอยู่ หวังว่าโครงการบ้านมั่นคง จะช่วยให้คนจนได้มีที่อยู่ ซึ่งน่าจะเป็นจะเป็นจุดเริ่มต้นช่วยนำไปสู่ความสันติสุขในชีวิตได้”

สมศักดิ์ เทียมเงิน

สวัสดิการ ส่งเสริมคนพิการ สร้างชีวิตสันติสุข

ตัวแทนคนพิการในพื้นที่ชายแดนใต้ เล่าว่า เขาต้องกลายเป็นคนพิการเพราะถูกยิงเมื่อช่วงปี 2556 เชื่อว่าความรุนแรงที่ต่างคนต่างได้รับผลกระทบแตกต่างกันออกไป ทำให้ทุกคนกระหายในการเห็นสันติภาพ ในฐานะคนพิการ ก็ไม่รู้เมื่อไรจะได้สัมผัสกับสันติสุข และสันติภาพ แต่สิ่งที่จะเข้ามาช่วยเหลือได้คือ สวัสดิการที่เท่าเทียม

“คนพิการไม่ได้ต้องการความพิเศษ แต่อยากได้สิทธิการอยู่ร่วมกันกับคนทั่วไป ในพื้นที่ชายแดนใต้ เรามีพื้นที่ให้คนพิการเข้าไปเรียนได้กี่ที่ ก็เลยไม่แปลกที่ศักยภาพคนพิการถูกทิ้ง ถูกปล่อยปละละเลย ล้าหลัง ถูกมองข้ามไป คนพิการเป็นกลุ่มคนเปราะบางตลอดไป อยากให้มองว่า ถ้าคน ๆ หนึ่งพัฒนาถูกวิธี มีสวัสดิการให้พัฒนาตนเองได้ มีส่วนร่วมในสังคม เชื่อว่าเขาจะเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาประเทศได้ ก็จะนำไปสู่สันติสุขในชีวิตได้ไม่ยาก แต่ก็ไม่รู้ว่าออกจากเวทีวันนี้ไปแล้วชีวิตจะเป็นอย่างไร จะปลอดภัยหรือไม่ บางทีก็รู้สึกหมดหวัง แต่ตอนนี้เริ่มมีความหวังขึ้นมาจากกรรมาธิการฯ ชุดนี้”   

ตัวแทนคนพิการในพื้นที่ชายแดนใต้

พร้อมทั้งยังอยากเห็นการกำหนดสันติภาพ หรือ สันติสุข มาจากประชาชนจริง ๆ ไม่ใช่ให้ใครยัดเยียด ไม่ว่าทั้งกระจายอำนาจ หรือ เอกราช อะไรก็ตามที่ทุกคนอยากเห็น ก็ขอให้เน้นยึดหลักประชาธิปไตย เน้นเสียงส่วนใหญ่ ก็จะไม่มีใครต้องมาขัดแย้งกัน

ภายหลังรับฟังเสียงสะท้อนของประชาชน จาตุรนต์ ระบุว่า การจัดทำข้อเสนอแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง และการสร้างสันติภาพ จำเป็นต้องให้ประชาชน มีส่วนร่วม และเวทีเปิดที่จัดขึ้นนี้จะเป็นอีกจุดท้าทาย และวัดใจว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง และรัฐสภา จะสามารถคุ้มครองประชาชนกับการรับฟังความคิดเห็นได้หรือไม่

ส่วนแต่ละประเด็นที่ประชาชนแสดงความเห็น พบว่า เรื่องหนึ่งที่สำคัญมากคือเรื่องการกลืนวัฒนธรรมมลายู นี่คือเรื่องใหญ่ที่กรรมาธิการฯ จะต้องศึกษาต่อไป ว่า นโยบายของรัฐไทยที่กลืนวัฒนธรรมชาติพันธุ์กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เป็นเรื่องที่ถูกต้องหรือไม่ เพราะจะเป็นเงื่อนไขหนึ่งของความขัดแย้งไม่สิ้นสุด จึงต้องศึกษาให้มีข้อสรุปว่าควรแก้อย่างไร

ส่วนที่นักศึกษาตั้งคำถามถึงพื้นที่ปลอดภัย สิทธิเสรีภาพการแสดงออกในมหาวิทยาลัยนั้น ประธาน กมธ.สันติภาพชายแดนใต้ พร้อมรับไปพิจารณา โดยเห็นควรเสนอเรื่องการมีพื้นที่ปลอดภัยต่อการแสดงความเห็น ของในผู้เห็นต่าง ผู้เสนอความเห็นต่อรัฐ โดยเฉพาะใน สังคมมหาวิทยาลัย ปัญหานี้ได้ยินมานาน โยงไปถึงพื้นที่ทางการเมือง ในพื้นที่ที่สังคมมีความขัดแย้งทางความคิด ทางการเมือง การทำแบบนี้ก็เท่ากับการผลักดันกลุ่มเห็นต่าง จากรัฐ จากราชการ กลุ่มที่อยากจะวิพากษ์วิจารณ์ไปเคลื่อนไหวด้วยวิธีอื่น ๆ ที่ไม่ใช่การเคลื่อนไหวด้วยสันติวิธี

“ดังนั้นเฉพาะหน้าถ้าเสนออะไรได้ ก็จะรีบทำเพื่อลดการไปกดดัน การดำเนินคดี การจำกัดสิทธิเสรีภาพ”

จาตุรนต์ ฉายแสง

ส่วนการอยู่ร่วมกันของชุมชนไทยพุทธ มุสลิม แม้จะอยู่กันได้ แต่ก็ยอมรับว่าบางพื้นที่คนส่วนน้อยเองก็ต้องการได้รับการเคารพ การปฏิบัติอย่างเหมาะสม ต้องการความเท่าเทียม เป็นธรรม ก็จะรับประเด็นนี้ไปศึกษา จัดทำเป็นข้อเสนอ ไปสู่การเคารพซึ่งกันและกัน เคารพอัตลักษณ์ และได้รับการปฏิบัติที่ดีจากสังคมส่วนใหญ่

สำหรับประเด็นการนิรโทษกรรมที่อยากผลักดันให้เรื่องคดี การถูกตั้งข้อหา ในคดีความมั่นคงพื้นที่ชายแดนใต้ ก็จะส่งข้อคิดเห็นไปยังคณะที่ศึกษาเรื่องนิรโทษกรรม ว่าจะศึกษาอย่างไรดี ในกระบวนการพูดคุย การสร้างสันติภาพ การทำให้ผู้เห็นต่างคืนสู่สังคม จะต้องออกกฎหมายอะไรบ้าง ฝ่ายนิติบัญญัติ ต้องมีบทบาทอย่างไรให้กระบวนการนี้เกิดความสำเร็จ

ประธาน กมธ.สันติภาพชายแดนใต้ ยอมรับด้วยว่า การพูดคุยสันติภาพจะเสร็จสิ้นโดยเร็วได้หรือไม่นั้น ยังตอบไม่ได้ แต่ควรมาถามว่าทำอย่างให้สำเร็จ ทุกภาคส่วนจะมีส่วนร่วมอย่างไร เรื่องใหญ่ ๆ ปัญหาที่เป็นรากเหง้า ต้องได้รับการแก้ไข จึงจะเกิดสันติสุข สันติภาพ ซึ่งมีหลายด้าน จะต้องทำไปมีข้อเสนอทางออกที่ผ่านการรับฟังความเห็น ความเห็นจะเป็นประโยชน์ ลดเงื่อนไขความขัดแย้งลงไป เพื่อให้ทุกคน ทุกเชื้อชาติ ศาสนา เป็นเจ้าของพื้นที่ร่วมกัน

‘วันนอร์’ เชื่อ กมธ.สันติภาพ ความหวังแก้ปัญหาชายแดนใต้

ขณะที่ วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา ซึ่งมาร่วมเวทีรับฟังความคิดเห็นประชาชนด้วยนั้น ยอมรับว่า คาดหวังกับกรรมาธิการสันติภาพชายแดนใต้อย่างมาก เพราะมาจากภาคส่วนที่หลากหลาย ทำให้มองเห็นปัญหา และมีความตั้งใจสูง จริงจัง ซึ่งที่ผ่านมากรรมาธิการฯ มักจะทำแค่พอผ่านไป ถ้าลงพื้นที่รับฟังความเห็น ก็ให้ส่วนราชการ ฝ่ายความมั่นคงจัดให้ แต่ตอนนี้เห็นแล้วว่าได้ข้อมูลจากประชาชนที่ตรงไปตรงมา

วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา

“คิดว่ากรรมาธิการชุดนี้ จะมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์การแก้ปัญหาความไม่สงบชายแดนใต้ ต้องยอมรับว่าโลกเปลี่ยนแปลง ไม่มีใครเป็นเจ้าของประวัติศาสตร์ อย่าแหกตา อย่าหลอกคน เราต้องร่วมมือกัน ประเทศอยู่คนเดียวไม่ได้ ต้องรวมกัน”

วันมูหะมัดนอร์ มะทา

ประธานรัฐสภา ยอมรับด้วยว่า คนที่มีความขัดแย้งเพราะผลประโยชน์ มีเพียงไม่กี่คน แต่คนเหล่านี้มีอำนาจ มาทำลายกำแพงความชอบธรรม ประชาชนตาดำ ๆ คือ เจ้าของประเทศ เจ้าของอำนาจประชาธิปไตย จึงต้องฟังเสียง

“ผมไม่ได้เชียร์รัฐบาล แต่การก้าวย่างที่ถูก ก็จะไปอย่างถูกต้อง ที่ผ่านมาเราวนเวียนกับปัญหานี้มานานแล้ว ขอให้ ประวัติศาสตร์ ที่ผ่านมาได้เรียนรู้ ได้เข้าใจ ขอให้กรรมาธิการฯ สร้างประวัติศาสตร์ใหม่แห่งความสันติสุข สันติภาพ ในฐานะประธานรัฐสภา ดีใจที่เห็นกรรมาธิการฯ ทำงานเข้มแข็ง รู้สึกลึก ๆ ว่าน่าจะก้าวไปข้างหน้าได้มาก โดยความจริงใจ จริงจังคือการเริ่มต้นที่ดีที่สุด”

วันมูหะมัดนอร์ มะทา

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active