มุมมองใหม่ ‘ประวัติศาสตร์ชายแดนใต้’ เพื่อสังคมสมานมิตร เรียนรู้ เคารพความต่าง

เวทีสานเสวนาฯ เชื่อ ประวัติศาสตร์ชายแดนใต้ ต้องสามารถถกเถียงได้ ผู้คนร่วมออกแบบการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ขณะที่ สพฐ. ยอมรับ ต้องสร้างสมดุล หาวิธีการสร้างความเข้าใจนักเรียน จุดเริ่มต้นไปสู่การลดความขัดแย้งชายแดนใต้

วันนี้ (4 มี.ค. 67) สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล, คณะวิทยาการอิสลาม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี, มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาลัยสงฆ์ปัตตานี ร่วมกับ ศูนย์สื่อสารวาระทางสังคมและนโยบายสาธารณะ (The Active) ไทยพีบีเอส เปิดพื้นที่ “สานเสวนาประวัติศาสตร์เพื่อสังคมสมานมิตร” แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพื่อหาจุดร่วมทางประวัติศาสตร์ที่จะนำพาให้เกิดการยอมรับและอยู่ร่วมได้อย่างเคารพซึ่งกันและกัน

โดย จาตุรนต์ ฉายแสง ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาศึกษาและเสนอแนวทางการส่งเสริมกระบวนการสร้างสันติภาพเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ สภาผู้แทนราษฎร ปาฐกถาเปิดงาน ระบุว่า ความเข้าใจและการอธิบายประวัติศาสตร์ ในพื้นที่ความขัดแย้ง เป็นประเด็นสำคัญที่จะเชื่อมโยงไปสู่การสร้างสันติภาพ โดยปกติการศึกษาประวัติศาสตร์ เพื่อให้เข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้นในอดีต ความเป็นมาต่าง ๆ ของคนในชุมชน ของประเทศ ทำให้ได้รู้อดีต รู้ว่าจะเติบโตต่อไปอย่างไร รู้ประวัติศาสตร์เพื่ออธิบายให้เกิดความภาคภูมิใจต่อคนในประเทศ ต่อชุมชน หรือกลุ่มคนนั้น ๆ รู้ประวัติศาสตร์แล้วจะได้อธิบายไม่ให้เกิดความขัดแย้ง อธิบายแล้วแสดงถึงความเคารพอัตลักษณ์ซึ่งกันและกัน หรืออธิบายแล้วยิ่งไม่เคารพ ยิ่งเกิดความแบ่งแยก แตกแยก ก็ถือเป็นความหมายของการศึกษา การอธิบายประวัติศาสตร์

จาตุรนต์ ยังระบุด้วยว่า ในฐานะที่เป็นอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ยืนยันไม่เคยยกเลิกวิชาประวัติศาสตร์ ความจริงเห็นว่าการศึกษาวิชานี้มีความสำคัญ ควรส่งเสริมมาก ๆ เพียงแต่การเรียนที่ผ่านมา เน้นสอนให้จำ เน้นให้จำว่าเกิดอะไร เมื่อไร ให้จำว่าใครเป็นใคร คนนั้นคนนี้ชื่ออะไร แต่ขาดการศึกษาในทางการแลกเปลี่ยนวิเคราะห์ การเรียนประวัติศาสตร์จำนวนมากอาจทำให้การเรียนรู้วิชานี้แคบลง ดังนั้นควรส่งเสริมให้วิชาประวัติศาสตร์มีเนื้อหาที่หลากหลาย ในขณะที่พื้นที่ชายแดนใต้ ต้องแลกเปลี่ยนได้ เคารพความเห็น และต้องไม่กำหนดว่าต้องศึกษาเนื้อหาแบบนั้น และห้ามศึกษาเนื้อหาแบบนี้ การศึกษาต้องส่งเสริมให้เกิดการแลกเปลี่ยน ต้องเรียนแล้ว วิเคราะห์ได้ คิดได้ เรียนแล้วจะไปทำอะไรก็ต้องเรียนอย่างเข้าใจ เรียนเพื่อเข้าใจประวัติศาสตร์เพื่อเคารพให้เกียรติ เคารพอัตลักษณ์ เรียนเพื่อจัดความสัมพันธ์ที่ดี

จาตุรนต์ ฉายแสง ปธ.กมธ.วิสามัญเพื่อพิจารณาศึกษาและเสนอแนวทางการส่งเสริมกระบวนการสร้างสันติภาพฯ

ปธ.กมธ.วิสามัญสันติภาพชายแดนใต้ ยังบอกด้วยว่า การศึกษาในกรรมาธิการฯ พบความจริงก็คือการไม่ยอมรับ ไม่เคารพว่าประชาชนใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ส่วนใหญ่เป็นชาวมลายู คำว่ามลายู จะไม่ปรากฏอยู่ในเอกสาร คำบรรยายหลายชิ้น รวมถึงนโยบายด้านการศึกษา สำหรับชายแดนใต้ในช่วงหลัง ไม่มีคำว่ามลายู ซึ่งต่างจากอดีต ย้อนไปไม่นาน ยังมีความเข้าใจ นี่หมายความว่าหากสามารถศึกษาประวัติศาสตร์ เข้าใจอัตลักษณ์ได้ ความคิด ความเข้าใจก็จะเป็นอีกแบบ

“เรื่องนี้ถ้าพูดในพื้นที่ชายแดนใต้จะยากหน่อย ดังนั้นการจัดความสัมพันธ์คือสิ่งที่ดีที่สุดที่จะแก้ปัญหาในพื้นที่ที่มีประชากรเป็นคนไทยเชื้อสายมลายู นับถือศาสนาอิสลาม ซึ่งคนส่วนน้อยเป็นชาวพุทธ พื้นที่นี้จะสัมพันธ์กับสังคมที่กว้างกว่าได้อย่างไร การเคารพ ให้เกียรติกันจะทำได้อย่างไร การจัดความสัมพันธ์จึงจะเป็นประโยชน์ โดยต้องยอมรับความต่าง เปิดพื้นที่รับฟัง เปิดโอกาสให้แลกเปลี่ยน จึงจะเกิดการสมานมิตร ลดความขัดแย้ง”

จาตุรนต์ ฉายแสง

‘ประวัติศาสตร์ชายแดนใต้’ ต้องถกเถียงได้ สร้างการยอมรับ

มะยุ เจ๊ะนะ ผอ.สมัชชาประชาสังคมเพื่อสันติภาพ (CAP)

มะยุ เจ๊ะนะ กมธ.วิสามัญเพื่อพิจารณาศึกษาและเสนอแนวทางการส่งเสริมกระบวนการสร้างสันติภาพฯ และ ผอ.สมัชชาประชาสังคมเพื่อสันติภาพ (CAP) บอกว่า ที่ผ่านมาเยาวชนเรียนรู้ประวัติศาสตร์ด้วยตัวเองมาตลอด การพูดคุยในเชิงประวัติศาสตร์ท้องถิ่นที่ชายแดนใต้ มีผลกระทบมากน้อยแค่ไหน เพราะอาจกลายเป็นกับดัก กลายเป็นโทษ ดังนั้นคิดว่าสังคมต้องช่วยกันก้าวข้าม ซึ่งจำเป็นแต่ต้องได้รับการจัดการด้วย อย่างในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาจะทำให้ถูกต้องได้ก็ต้องเป็นการรับรู้ร่วมกันด้วย

“ในสถานการณ์ปัจจุบันประวัติศาสตร์ควรถูกพูดถึงไม่ใช่หลบอยู่ใต้ดิน ต้องสามารถนำมาถกเถียงกันได้ ถูกสื่อสาร และส่งต่อให้คนรุ่นใหม่ พูดคุยกัน เพื่อสร้างการยอมรับ”

มะยุ เจ๊ะนะ

เรียนรู้ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ต้องออกแบบจากคนข้างล่าง

อับดุลสุโก ดินอะ ที่ปรึกษาสมาคมโรงเรียนเอกชนศาสนาอิสลามจังหวัดสงขลา

อับดุลสุโก ดินอะ ที่ปรึกษาสมาคมโรงเรียนเอกชนศาสนาอิสลามจังหวัดสงขลา ยอมรับว่า ที่ผ่านมาโรงเรียนสอนศาสนาอิสลาม ใช้หลักสูตรแกนกลางจาก สพฐ. ซึ่งต้องเรียน 8 กลุ่มสาระตั้งแต่ ป.1 ถึง ม.6 ในขณะเดียวกันก็ต้องเรียนหลักสูตรอิสลามศึกษาด้วย ซึ่งตลอด 20 ปีมานี้ มีหลักสูตรแบบเข้มในโรงเรียนของรัฐ เช่น ป.1 เรียน 8 กลุ่มสาระ ก็ต้องเรียนอีก 8 กลุ่มสาระของอิสลามศึกษา ทั้งหมดก็มีเรื่องประวัติศาสตร์ ไม่เคยเอาออกจากหลักสูตร อยู่ในสาระสังคม ศาสนา และวัฒนธรรม ซึ่งภายหลังการเข้ามาของ คสช. ก็แยกออกมาเป็นวิชาประวัติศาสตร์ และหน้าที่พลเมือง อีกตัวหนึ่ง ทั้ง ๆ ที่ครูยังไม่ทันตั้งตัว และไม่นานมานี้รัฐบาลที่ผ่านมา ก็วางแนวทางวิชาประวัติศาสตร์ ให้เด็กจังหวัดชายแดนใต้ก็ต้องได้เรียนหลักสูตรอิสลามศึกษา ซึ่งก็ต้องเรียนวิชาประวัติศาสตร์ ตั้งแต่ ป.1 ถึง ม.6 เรียนอยู่ 2 กลุ่มสาระใหญ่ ๆ คือ สาระการเรียนประวัติศาสตร์อิสลาม จนถึงประวัติศาสตร์มุสลิมในอาณาจักรต่าง ๆ จนถึงการเข้ามาของอิสลามในไทย ชายแดนใต้ แต่เป้าหมายก็เพื่อรู้จักเรียนรู้การอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข

“ดังนั้นหลักสูตรปัจจุบันโรงเรียนต่าง ๆ ต้อง มีหลักสูตรแกนกลางที่โรงเรียนสามารถออกแบบเองได้ มีหลักสูตรแกนกลาง 70% แล้วให้โรงเรียนออกแบบเพิ่มเติมว่าจะเชื่อมกับอะไร ครูต้องออกแบบได้ เราเห็นโอกาส ไม่ใช่ไม่มีโอกาส แต่ต้องการคนที่ร่วมคิดร่วมทำ จึงจำเป็นต้องออกแบบการศึกษา ให้คนข้างล่างสามารถออกแบบได้ เราจะเห็นโอกาส เห็นช่องทางในการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ เพราะประวัติศาสตร์เป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้การอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข”

อับดุลสุโก ดินอะ

สร้างสมดุลเรียนรู้ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ลดความขัดแย้งชายแดนใต้

เฉลิมชัย พันธ์เลิศ ผู้อำนวยการสถาบันสังคมศึกษา สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา สพฐ.

ขณะที่ เฉลิมชัย พันธ์เลิศ ผู้อำนวยการสถาบันสังคมศึกษา สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ยอมรับว่า การเรียนรู้ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเป็นสิ่งที่มีความหมายกับชีวิตของผู้คน สพฐ.เปิดโอกาสให้ครู และโรงเรียนออกแบบให้สอดคล้องกับพื้นที่ได้ เช่นเดียวกับในจังหวัดชายแดนใต้ โรงเรียนก็สามารถออกแบบได้ แต่สิ่งที่เป็นข้อจำกัดคือการทำให้ครูเข้าใจออกแบบการเรียนรู้อย่างไรให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ เพราะประวัติศาสตร์ท้องถิ่นถือเป็นต้นทุนสำคัญ เพื่อทำให้นักเรียนรู้จักตัวเอง จึงต้องจัดการเรียนรู้ให้เกิดความสมดุลในช่วง 12 ปี คือตั้งแต่ ป.1 จนถึง ม.6 เพราะมีเนื้อหาเยอะมาก จะจัดแบ่งการเรียนรู้อย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุด และต้องแก้ในความผิดพลาดในช่วงที่ผ่านมา ต้องหาวิธีการเรียนรู้ จะสื่ออะไร ทำให้เด็กนักเรียนเข้าใจ เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นไปสู่การลดความขัดแย้ง ไม่ให้เกิดความแตกแยก

“รากหรือแก่นที่อยากให้เด็กได้เห็น คือการอยู่ท่ามกลางความหลากหลาย แตกต่าง แต่ไม่แตกแยก หรือแม้กระทั่งการเคารพในสิทธิมนุษยชนคุณค่าเหล่านี้ จะสามารถเข้าไปอยู่ในวิชาอะไรได้บ้าง คือสิ่งที่ทุกฝ่ายต้องมาพูดคุยกัน”

เฉลิมชัย พันธ์เลิศ

เปิดมุมมองใหม่สอนประวัติศาสตร์ นักเรียนวิเคราะห์เป็น ไม่ตัดสินจากความรู้สึก

ธนวรรธน์ สุวรรณปาล (ครูทิว) ครูโรงเรียนรัฐบาล ตัวแทนจากกลุ่มครูขอสอน ร่วมแสดงความคิดเห็นในเวทีสานเสวนาดังกล่าว ว่า ความรู้ความเข้าใจของครูสังคม ไม่เคยมีชุดคำสอนเรื่องอัตลักษณ์ หรือเรื่องวัฒนธรรมที่หลากหลาย และนิยามของอัตลักษณ์แทบไม่ได้พูดถึง เวลาพูดถึงพหุวัฒนธรรม ก็จะเห็นว่า ในหลักสูตรมีเป้าหมาย กำหนด พยายามชี้ กำหนดความเป็นไปของวัฒนธรรมกระแสหลัก ซึ่งพหุวัฒนธรรมแตะมากน้อยแค่ไหนอยู่ในมุมมอง ทั้ง ๆ ที่พหุวัฒนธรรม คือ ความหลากหลาย แต่นั่นคือมุมมองพหุวัฒนธรรมเสรีนิยม ซึ่งเคยพูดถึงภายใต้ความแตกต่างหลากหลายใครได้เปลี่ยนเสียเปรียบ ภายใต้ความหลากหลายเกิดความไม่เป็นธรรมในสังคมบ้างหรือไม่

ขณะเดียวกันก็มีหลักสูตรแฝงที่ไม่ได้ตั้งใจ พยายามสร้างความเป็นไทย แต่ก็สร้างความเป็นอื่นเช่นกัน คำถามคือครูผู้สอนรู้เท่าทันการสอนมากน้อยแค่ไหน ภายใต้ภาษา อารมณ์ความรู้สึกในชั้นเรียน อาจส่งผลต่อการเรียนรู้ของผู้เรียน ต่อผู้คนในสัคมอย่างไร ว่าสิ่งที่เรียนรู้จะก่อให้เกิดอคติหรือไม่

“ประวัติศาสตร์ไม่ได้มีฐานะเป็นแค่อดีต หรือการเปลี่ยนแปลง แต่คืออุดมการณ์ที่มีจุดมุ่งหมายบางอย่างให้คนในสังคมเชื่อหรือคิดบางอย่าง สุดท้ายประวัติศาสตร์ก็ถูกกำหนดมาโดยอำนาจรัฐ ถูกสร้างอำนาจนำบางอย่างอยู่แล้ว ถูกมองเป็นเครื่องมือทางการเมือง ดังนั้นไม่ได้บอกว่าใครถูกใครผิด แต่ทำอย่างไรจะมีมุมมองที่หลากหลาย ซึ่งถือเป็นความจำเป็นที่ต้องติดตั้งมุมมองที่เป็นอาวุธให้กับนักเรียน เช่นเดียวกับบทบาทสำคัญคือครู จะทำอย่างไรที่จะสอนให้นักเรียนมีมุมมองที่หลากหลาย เปิดรับความต่าง ไม่ด่วนตัดสินด้วยความรู้สึก”  

ธนวรรธน์ สุวรรณปาล

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active