Thailand Policy Lab แก้ช่องโหว่นโยบายสาธารณะไทย

นโยบายสาธารณะไทย ยังมีช่องโหว่ มักไม่เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน TP Lab เปิดเวทีแลกเปลี่ยนความเห็น ห้องปฏิบัติการนโยบายในประเทศต่าง ๆ พร้อมเผย 5 หลักการนวัตกรรมนโยบายสาธารณะแบบใหม่ที่เหมาะกับไทย

วันที่ 16 ก.พ. 2567 Thailand Policy Lab ห้องปฏิบัติการนโยบาย ของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ จัดงานเสวนาเชิงนโยบาย “Policy Innovation Exchange 4 เส้นทางสู่การคิดใหม่และการพลิกโฉมกระบวนการนโยบายของประเทศไทย” โดยภายในงานได้มีการพูดคุยถึงนโยบายสาธารณะในภาครัฐของไทยที่ยังประสบปัญหาในหลายด้าน ตั้งแต่การคิดออกแบบนโยบาย การพัฒนา การลงปฏิบัติจริง ซึ่งยังพบว่ามีช่องโหว่ของโครงสร้าง ผลของนโยบายไม่เกิดประโยชน์จริงต่อประชาชน รวมถึงตามไม่ทันโลกในยุคปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

policy

สุริยนต์ ธัญกิจจานุกิจ ที่ปรึกษาด้านการพัฒนาความสามารถในการแข่งขันและนวัตกรรมนโยบายสาธารณะ สศช. เปิดเผยว่า ไทยกำลังมีปัญหาจากโครงการภาครัฐที่ประสบความล้มเหลวในหลายพื้นที่ ซึ่งปัจจุบันก็ยังปรากฏให้เห็นต่อเนื่อง จึงเป็นคำถามว่าเกิดอะไรขึ้นกับนโยบายสาธารณะของไทย ยกตัวอย่างเช่น การเปลี่ยนหมายเลขรถโดยสารประจำทางโดยที่ไม่เคยสอบถามความคิดเห็นของผู้โดยสาร หรือ กลุ่มเปราะบางที่ไม่สามารถเข้าถึงสวัสดิการของภาครัฐได้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่ควรจะเกิดขึ้น

2 สาเหตุ นโยบายสาธารณะไทย “ล้มเหลว”

โดยผลการศึกษาจากสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และ สศช. พบว่าความล้มเหลวของนโยบายสาธารณะเกิดขึ้นจากสาเหตุ 2 ข้อ คือ ความล้มเหลวในทางทฤษฎี ที่ผิดตั้งแต่กระบวนการคิด ส่งผลให้การออกแบบมีความผิดพลาด และความล้มเหลวในทางปฏิบัติ แม้จะวางแผนมาถูกอย่างดี ไม่มีช่องโหว่ แต่กลับเกิดความผิดพลาดในการปฏิบัติจริง

ขณะเดียวกันปัญหาในการพัฒนานโยบายปัจจุบัน คือ เริ่มมีความผันผวน ความไม่แน่นอน และมีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น ทำให้คาดการณ์ปัญหาได้ยาก หรือ ระบุปัญหาได้เพียงบางส่วนและชั่วคราวเท่านั้น เนื่องจากปัญหาที่เกิดขึ้นมีแบบแผนที่ไม่แน่นอน จึงต้องอาศัยการทดลองและตรวจสอบอยู่เสมอ รวมทั้งต้องการระบบนิเวศ หรือปัจจัยเกื้อหนุนที่ครอบคลุมมากขึ้นจากทุกระดับ เพื่อแก้ปัญหาร่วมกัน

“เมื่อก่อนจะเพิ่มผลผลิตให้กับเกษตร ใส่น้ำไป ใส่ถนนไป ใส่เขื่อนลงไปก็ได้หมด เปลี่ยนเมล็ดพันธุ์ หรือฉีดบางอย่างลงไปก็ได้หมด แต่เดี๋ยวนี้ไม่ได้แล้ว กระทบสิ่งแวดล้อมบ้างอะไรบ้าง ต่อให้ผลิตได้ดี ตลาดก็ไปต่อไปไม่ได้ ผู้บริโภคซื้อบ้างไม่ซื้อบ้าง การแข่งขันก็สูง นี่คือลักษณะของความซับซ้อนที่เพิ่มขึ้น ยังไม่นับเรื่องดิสรัปชันที่คาดการณ์ไม่ถึง ไม่ว่าจะเป็นสงคราม โรคระบาด อันนี้ก็เริ่มมีผลแล้ว บ่งชี้ให้เห็นว่ากระบวนการนโยบายของเรามันปรับตัวไม่ได้”

สุริยนต์ ธัญกิจจานุกิจ
policy

สำหรับห้องปฏิบัติการนโยบายประเทศไทย (TPLab) มีวัตถุประสงค์ของเพื่อทำการทดลองเครื่องมือใหม่ ๆ ในการจัดทำนโยบายสาธารณะ ว่าสามารถใช้ได้และเหมาะสมกับประเทศไทยหรือไม่ และต้องมีการถอดบทเรียนด้วยว่าจากหลักการและความคิดที่เปลี่ยนแปลงไป จะสามารถนำมาแก้ปัญหาของระบบได้ตรงจุดไหน ปัจจุบันไทยเปิดรับแนวคิดต่าง ๆ มาจำนวนมาก แต่กระบวนการจัดทำงบประมาณ การจัดทำแผนยุทธศาสตร์ การวางนโยบายของไทยยังเหมือนกับในอดีตราว 30-40 ปีที่ผ่านมา

นอกจากนี้ TPLab ยังมีการสร้างองค์ความรู้ ทักษะ และประสบการณ์เกี่ยวกับการพัฒนานโยบายให้กับสถาบันการศึกษา และรับฟังความติดเห็นต่าง ๆ รวมถึงสร้างเครือข่ายและพาร์ทเนอร์ เพื่อเรียนรู้ไปพร้อมกัน เช่น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, Civil Service College Singapore, Chora Foundation, UNDP Regional Innovation Centre,UNDP Strategic Innovation Unit, UNFPA และ Lee Kwan Yew School of Public Policy เป็นต้น

ล่าสุด TPLab ได้ออกแบบกระบวนการนวัตกรรมนโยบายสาธารณะแบบใหม่ ซึ่งอยู่ระหว่างการทดลอง มีทั้งหมด 5 หลักการ ประกอบด้วย

  1. Lerning-Oriented ต้องยอมรับความผิดพลาด เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ก่อนขยายผลนโยบายออกไป ซึ่งในไทยยังไม่มีระบบดังกล่าว เพราะการใช้งบประมาณแผ่นดินในการดำเนินโครงการ จะต้องห้ามล้มเหลวเท่านั้น และผู้ดำเนินโครงการต้องเป็นผู้รับผิดชอบ

  2. System Thinking จำเป็นต้องเข้าใจภาพรวมของปัญหา และกำหนดจุดเข้าไปแก้ไขได้

  3. Inclusive Participation การมีส่วนร่วมที่ครอบคลุมและสร้างสรรค์ โดยจะต้องดึงคนอื่นที่มองปัญหาได้ดีกว่า ให้เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการจัดทำนโยบายมากขึ้น เช่น เด็กเยาวชน หรือคนที่ไม่มีความรู้ในเรื่องดังกล่าว แต่อาจมีมุมมองที่ผู้เชี่ยวชาญอาจไม่เคยเห็น (กล้าคิดนอกกรอบ) เป็นต้น

  4. Action-Oriented เน้นการปฏิบัติการ เพื่อสร้างประสิทธิผลมากกว่าการจัดทำเอกสารแผนที่สมบูรณ์แบบ เพราะการจัดทำเอกสารดังกล่าวมีความล่าช้าไม่ทันต่อสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว

  5. Humanistic Approach รับฟังข้อมูลความคิดเห็นจากประชาชน และใช้เครื่องมือกลั่นกรองออกมา เพื่อให้สามารถบ่งชี้ปัญหาและเข้ามามีส่วนร่วมในการออกแบบนโยบาย

กทม. ผุด “ห้องทดลองเมือง” คิดนอกกรอบแก้ปัญหาชีวิตประชาชน

ผศ.ณัฐวุฒิ อัศวโกวิทวงศ์ ผู้อำนวยการศูนย์การทดลองเมืองกรุงเทพมหานคร (City lab) กล่าวถึงแนวทางการนำนโยบายมาสู่การปฏิบัติงานว่า กรุงเทพมหานครเป็นหน่วยงานที่ไม่ค่อยถูกมองในแง่บวก และมีข้อจำกัดในการทำงานอยู่มาก โดยเฉพาะในการคิดริเริ่ม ดังนั้น จะต้องมีเครื่องมือใหม่ในการบรรเทาปัญหาต่าง ๆ ทั้งด้านการศึกษา สาธารณสุข การจราจร ภัยพิบัติ เป็นต้น รวมถึงข้อจำกัดในโครงสร้างองค์กร และการบริหารจัดการ โดยกรุงเทพมหานครได้คิดค้นเครื่องมือที่ชื่อว่า City Lab หรือ ห้องทดลองเมือง ซึ่งเป็นแซนด์บ็อกซ์ (Sandbox) สำหรับหาวิธีการรับมือกับปัญหาต่าง ๆ ด้วยของที่มีอยู่แต่ใช้ไม่ได้ จะมีทางเลือกอื่นใดให้สามารถใช้ได้บ้าง ก่อนจะขยายการแก้ปัญหาไปในระดับวงกว้าง

“กทม. มีสูตรง่าย ๆ อะไรที่ทำเสร็จหนึ่งชิ้นก็คูณ 50 เขต เพราะเรามี 50 เขต แล้วก็จะสำเร็จอยู่ 3 เขต แต่เขตจำนวนมากก็ไม่สำเร็จ เพราะแต่ละเขตที่มีบริบทไม่เหมือนกัน อันนี้คือบทเรียนที่เราเจอ และเราเห็นภาพซ้ำว่าทำไมมีผลสัมฤทธิ์ไม่ค่อยมาก เพราะว่าไม่มีโอกาสได้ลองอย่างเพียงพอ”

ผศ.ณัฐวุฒิ อัศวโกวิทวงศ์

โดย City lab มีหน้าที่ในทำการทดลองวิธีแก้ปัญหาต่าง ๆ ของกรุงเทพมหานครบนพื้นฐานขนาดเล็ก เพื่อนำผลลัพธ์ที่ออกมาปรับปรุง พัฒนาเครื่องมือ และหากนำออกมาใช้ได้จริง ก็ไปขยายผลทยอยใช้กับเขตอื่น ๆ 50 เขต ซึ่งจะเป็นการช่วยเปลี่ยนแปลงกรุงเทพมหานครในระดับหนึ่ง

ผศ.ณัฐวุฒิ กล่าวต่อว่า City lab เพิ่งเริ่มดำเนินงานมาได้เพียง 3 เดือนเท่านั้น แต่โครงการที่กำลังทำการทดลองมีอยู่ 5 โครงการ โดยทุกโครงการทีมงานเป็นผู้ออกแบบ ซึ่งนำข้อมูลมาจากที่ประชาชนร้องเรียนผ่านแอปพลิเคชน ทราฟฟี ฟองดูว์ (Traffy Fondue) ตัวอย่างเช่น โครงการป้ายบริการวินแบบอัตโนมัติ ซึ่งได้มีการพูดคุยกับกลุ่มวินมอเตอร์ไซค์ รวมถึงได้รวบรวมข้อมูลจากผู้เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ทั้งหมด จึงเกิดการทดลองนี้ขึ้น จุดประสงค์คือลดปริมาณรถที่จอดบนทางเท้า แต่ต้องไม่กระทบการประกอบอาชีพของวินมอเตอร์ไซค์ โดยป้ายบริการวินแบบอัตโนมัติจะแสดงจุดรอคิวในจุดนั่งคอย จำนวนวินมอเตอร์ไซค์ที่พร้อมให้บริการ และสามารถเรียกผ่านแอปพลิเคชันได้ ข้อมูลจะขึ้นเตือนที่คนขับวินมอเตอร์ไซค์ให้ไปรับผู้โดยสาร พร้อมระบุเวลาเดินทางมาถึง โดยที่วินมอเตอร์ไซที่อาจไม่ต้องจอดรอที่ริมทางเท้า เพียงแค่รอเรียกจากแอปพลิเคชัน ซึ่งโครงการนี้ได้เปิดตัวต้นแบบแล้ว Bangkok Design Week 2024 คาดว่าจะเปิดใช้จริงในเร็ว ๆ นี้แน่นอน

อย่างไรก็ตาม ผู้อำนวยการ City lab ยอมรับว่า การปฏิบัติงานตามแนวทางนโยบายกรุงเทพมหานคร ยังคงประสบปัญหาในด้านการใช้ทรัพยากร เนื่องจากติดข้อกฎหมายที่ไม่สามารถนำงบประมาณมาใช้ทำอย่างอื่นนอกเหนือจากที่กำหนดไว้ได้ ยกตัวอย่างเช่น หากได้รับการอนุมัติงบประมาณจำนวนหนึ่งในการทำป้ายรถเมล์ 40 อัน แม้ความจริงจำเป็นจะต้องใช้ป้าย 50 อัน แต่ก็ไม่สามารถลดราคาป้ายเพื่อทำให้มีถึง 50 อันได้ เป็นต้น

ต่างประเทศดึงประชาชนร่วมขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ

อานี แฟบริอัสตาติ รองผู้อำนวยการอาวุโส สำนักนโยบายสาธารณะ ลี กวน ยู มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ ระบุถึงแนวทางการทำนโยบายสาธารณะในระดับสากลว่า ปัจจุบันโลกมีความไม่แน่นอนมากขึ้น และไม่สามารถรู้ได้ว่าจะเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นอีกบ้าง เช่น โควิด-19 หรือปัญหาเชิงภูมิรัฐศาสตร์ จึงมีความไม่แน่นอนมากขึ้นในการออกนโยบายของรัฐบาล นอกจากนี้ยังมีความเปลี่ยนทางประชากรศาสตร์ จากคนยุค เบบี้บูมเมอร์ (Baby Boomer) มาสู่คนยุคเจนแซด (Gen Z) จึงเกิดปัญหากับนโยบายที่จะต้องเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัย ดังนั้น ก่อนจะตัดสินใจออกกฎหมายใหม่ ๆ รัฐบาลจำเป็นต้องมีการหารือจากทุกภาคส่วน และทำงานร่วมกันมากขึ้น ซึ่งต่างจากในอดีตที่การทำงานมักจะแยกหน่วยงานออกมาเพียงลำพัง รวมถึงต้องมีการวางแผนไปถึงในอนาคต เปลี่ยนนโยบายระสั้นให้เป็นระยะยาว

รองผู้อำนวยการอาวุโสฯได้ยกตัวอย่างการดำเนินงานของต่างประเทศที่ให้ประชาชนมีส่วนร่วม เช่น อัมสเตอร์ดัม เมืองหลวงของประเทศเนเธอร์แลนด์ ได้ออกมาตรการให้หน่วยงานรัฐที่ใช้เซ็นเซอร์จัดเก็บข้อมูล จะต้องลงทะเบียนกับหน่วยงานกลาง เพื่อเปิดเผยข้อมูลให้ประชาชนได้ทราบผ่านเว็บไซต์ ว่าเซ็นเซอร์ที่ติดตั้งเป็นแบบใด ติดตั้งบริเวณใด ลักษณะข้อมูลที่จัดเก็บคืออะไร และจะใช้งานนานเท่าใด

ด้านออสเตรเลีย มีการเปิดคาเฟ่สุขภาพจิต 24 ชั่วโมง เพื่อลดภาระงานแผนกฉุกเฉินให้กับโรงพยาบาล โดยการดึงชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมช่วยเหลือผู้ที่ป่วยเป็นโรคทางจิตและบรรเทาทุกข์ นอกจากนี้ผู้ป่วยไม่ต้องเสียค่าบริการ และมีรถรับ-ส่งฟรี

ขณะที่สิงคโปร์มีความพยายามยกระดับการช่วยเหลือครอบครัวผู้มีรายได้น้อย ด้วยการสร้างแรงบันดาลใจในการพึ่งพาตนเอง ด้วยการเชิญ 4 ครอบครับผู้มีรายได้น้อย มาสอบถามถึงความต้องการ เป้าหมายที่อยากจะทำ มีการส่งเสริมให้ความรู้ทางการเงิน และการออมเงินด้วยตน ซึ่งโครงการนี้รัฐบาลไม่ใช่ผู้ริเริ่ม แต่มาจากทีมงานประชาชนทั่วไปที่ชนะการแข่งขันและรัฐบาลให้การสนับสนุนอยู่เบื้องหล้ง

“ไม่มีนโยบายใดที่สมบูรณ์แบบ สิ่งสำคัญคือเอานโยบายไปออกแบบ ประเมิน และปรับปรุง เป็นสิ่งสำคัญที่จะได้ฉลองชัยชนะเล็ก ๆ น้อย ๆ เพราะคุณต้องใช้กำลังใจ ไม่ใช่การวิ่งมาราธอน คุณต้องมีพลังงาน เพื่อให้ทีมของคุณมีพลังงานจากชัยชนะในเล็ก ๆ น้อย ๆ และต้องฉลองความล้มเหลวให้เป็นด้วยเช่น สิ่งสุดท้ายต้องต้องหมั่นเติมพลัง พัฒนาขีดความสามารถ”

อานี แฟบริอัสตาติ

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active