ส่องแผน “ก้าวไกล” ก่อนวันวินิจฉัยคดีล้มล้างการปกครอง

ใช้กลไก “ก้าว” ทำงานร่วมทุกภาคส่วน วางตัว สส. ปูทาง “การเมืองท้องถิ่น” หวังดึงประชาชนร่วมสร้างนโยบาย-จัดสรรงบฯ มือวางนโยบายพรรค ย้ำ บทบาทฝ่ายค้านเชิงรุก อภิปราย ตรวจสอบ และทำงานช่วยรัฐบาล

ทันทีที่ ‘พิธา ลิ้มเจริญรัตน์’ ได้หวนกลับมาปฏิบัติหน้าที่ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เมื่อปมถือหุ้นสื่อ ได้รับความกระจ่างชัด ภายหลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยไปก่อนหน้านี้ และในฐานะประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล จึงได้เดินหน้าแถลงแผนการทำงานของพรรคก้าวไกล (MFP’S Strategic Roadmap) ประจำปี 2567 ภายใต้คำถามว่า การทำงานของฝ่ายค้านเชิงรุกต่อจากนี้ จะเป็นประโยชน์กับประชาชนในมิติใดบ้าง ?

เดชรัต สุขกำเนิด ผู้อำนวยการ Think Forward Center หนึ่งในมือวางนโยบายของพรรคฯ ให้คำตอบประเด็นนี้กับ The Active ว่า การทำงานของพรรคก้าวไกลว่า จะเน้นการทำโครงสร้างให้เข้มแข็งทั้งในระดับส่วนกลาง และระดับท้องถิ่น เพื่อปูทางลงสู่ถนนการเลือกตั้งระดับท้องถิ่น พร้อมแพ็กเกจ นโยบายที่ตอบโจทย์คนทุกกลุ่ม โดยแบ่งเป็น 3 ส่วน คือ

  • การทำโครงสร้างของพรรค โดยมีตัวแทนพรรคในระดับอำเภอ และตั้งเป้าจะสร้างสมาชิกให้ถึง 1 แสนคน
  • เน้นการพัฒนานโยบายที่สอดคล้อง เหมาะสมกับการแก้ปัญหาในแต่ละพื้นที่ แต่ละจังหวัด โดยข้อมูลจะถูกส่งไปยัง ชุดกรรมาธิการของพรรค และอีกส่วนหนึ่งก็จะถูกส่งไปที่ สภาฯ ที่ทำงานกับเรื่องนั้น ๆ
  • การเตรียมผู้สมัครลงเลือกตั้งในระดับท้องถิ่น เพราะมีความเป็นไปได้ที่พรรคก้าวไกลเตรียมส่งผู้สมัครในนามของพรรค ทั้งในส่วนของ อบจ., อบต., และเทศบาล โดยเร็วที่สุดก็คือการเลือกตั้ง อบจ.ในปี 2568

สำหรับการทำงานของพรรคก้าวไกล ไม่ได้ทำเฉพาะกับพรรคฝ่ายค้านด้วยกัน หรือในบทบาทของคณะกรรมาธิการของพรรคต่าง ๆ เท่านั้น แต่ยังประสานงานกับนักวิชาการ ภาคประชาชน NGOs ฯลฯ เช่น การลงพื้นที่ล่าสุดของ ทีม สส. และ สก. ของพรรค ลงพื้นที่กับ ซาบะ – มานิตย์ อินทร์พิมพ์ นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิคนพิการ เจ้าของเพจเฟซบุ๊ก Accessibility is Freedom ร่วมตรวจงานทางเท้า กทม. บริเวณถนนอุดมสุขทั้งฝั่งซ้าย และฝั่งขวา ครอบคลุมพื้นที่เขตบางนา และเขตพระโขนง เป็นตัวอย่างหนึ่งของการทำงานเชิงรุกร่วมกับภาคประชาชนที่ประสบปัญหา

“ก้าว” กลไกทำงานร่วมทุกภาคส่วน

เดชรัต ยังได้ยกตัวอย่างการทำงานของ ‘กลุ่มก้าวเมือง’ ซึ่งเป็นกลุ่มที่ดูแลเกี่ยวกับผังเมือง ที่จำเป็นต้องใช้ทั้งนักวิชาการด้านผังเมือง, ผู้ประกอบการในพื้นที่, ภาคประชาชนในพื้นที่ เพื่อทำความเข้าใจร่วมกับนักการเมือง กรณีผังเมืองในกรุงเทพมหานคร ก็เป็นตัวอย่างที่พักก้าวไกลทั้งตรวจสอบ แล้วก็เสนอแนะ ทำให้ประเด็นเรื่องของผังเมืองเนี่ย เป็นประเด็นสาธารณะ

‘กลุ่มก้าวไกลการเกษตร’ ที่กำลังดำเนินการเรื่อง มาตรการควบคุมดูแลสินค้านำเข้าทางการเกษตร ให้มีคุณภาพดีและเป็นธรรม

“เราจะดูแลผู้บริโภค ดูแลเกษตรกรของเรา ไม่ให้ได้รับผลกระทบจากสินค้าเกษตรนำเข้าเนี่ย เราจำเป็นต้องลงทุนเพิ่มมากขึ้น ขณะเดียวกัน เราก็ไม่ได้อยากจะให้สินค้านำเข้าเหล่านี้มันแพงขึ้น หรือจะล่าช้า เพราะมันจะกระทบกับผู้บริโภค หรือ แม้กระทั่งผู้ผลิต รายละเอียดเหล่านี้ก็เป็นสิ่งที่กลุ่มก้าวไกลการเกษตร นำไปศึกษาอย่างเข้มข้น และทำงานร่วมกับ กรรมาธิการเกษตร และสหกรณ์ ฉะนั้นกลไกการทำงานของก้าวไกลก็จะเป็นการทำงานภายใต้การประสานความร่วมมือของทุกฝ่าย”

เดชรัต สุขกำเนิด

โดยอธิบายว่า กลุ่ม ‘ก้าว’ มีหลายกลุ่ม ไล่จากอดีตจะถูกเรียกว่า ‘ปีก’ เช่น ปีกงานชาติพันธุ์, ปีกแรงงาน 2 ส่วนงานนี้ จะแตกต่างจากกลุ่มอื่น เพราะมีข้อกำหนดชัดเจนว่าใครเป็นตัวแทน บทบาทอย่างไร

ส่วนอีกกลุ่มที่มีบทบาทชัด คือ “ก้าวกรีน” ที่ทำเกี่ยวกับเรื่องสิ่งแวดล้อม เป็นอีกกลุ่มที่มีการรวมตัวกันอย่างชัดเจน และพร้อมที่จะทำงานร่วมกับรัฐบาล โดยยกตัวอย่าง การทำงานของ ‘คณะกรรมาธิการฯ แก้ไขปัญหาภัยแล้ง’ ที่เพิ่งลงพื้นที่ และทำงานร่วมกันกับหลายพรรคการเมืองเพื่อแก้ปัญหาเรื่องภัยแล้ง และฝุ่นควัน โดยไม่รอการพิจารณากฎหมายอย่าง ‘ร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาด’ ที่เพิ่งผ่านการพิจารณาของสภาฯ ในวาระแรกเท่านั้น

เดชรัต ยังชื่นชมรัฐบาล ที่เริ่มแก้ปัญหาโดยการเปลี่ยนจาก น้ำมันดีเซล มาเป็น มาตรฐาน EURO 5 รวมถึงการดูแลปัญหาไฟป่าในพื้นที่อนุรักษ์ เห็นความจริงจังของการบริหารจัดการในพื้นที่อนุรักษ์เพื่อป้องกันไฟป่า ฯลฯ

ส่วน 2 ประเด็นที่ยังมีความเป็นห่วง คือ เขตป่าสงวนแห่งชาติ รัฐบาลก่อนได้มีการถ่ายโอนภารกิจให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไปแล้ว แต่งบประมาณที่วางแผนไว้ไม่ได้เป็นไปตามนั้น และอาจไม่เพียงพอ รวมถึง ปัญหาฝุ่นควันข้ามพรมแดนที่ต้องมีความชัดเจนมากขึ้น และยังต้องคุยกันในระดับคณะกรรมาธิการระหว่างพรรคการเมืองต่าง ๆ เพื่อตกผลึกข้อตกลงแก้ปัญหาฝุ่นในระหว่างการพิจารณากฎหมายต่อไป โดยย้ำว่าเรื่องการแก้ปัญหาภัยแล้วต้องแก้ปัญหาให้แล้วเสร็จภายในเดือนมีนาคม 2567

“หลังจากนี้การลงพื้นที่ทำงานของก้าวไกล จะไม่ใช่การตรวจสอบ แต่จะเป็นการทำงานเพื่อช่วยฝ่ายรัฐบาล เช่น การลงพื้นที่ จ.ตราด ใช้เทคโนโลยี ‘เซนเซอร์’ เข้าไปติดตรวจจับควัน เพราะเวลานี้ เซนเซอร์ส่วนใหญ่เป็นภาคจากดาวเทียมซึ่งใช้เวลานานกว่า พรรคก้าวไกล จึงพยายามใช้วิธีอื่นทดลอง หากทำสำเร็จจะได้เป็นส่วนช่วยเสริมประสิทธิภาพการทำงานให้กับรัฐบาลต่อไป”

เดชรัต สุขกำเนิด
เดชรัต สุขกำเนิด ผู้อำนวยการ Think Forward Center

อภิปราย – ตรวจสอบงบฯ หวัง ‘กระจายอำนาจ’ สู่ท้องถิ่น

สำหรับกรอบการทำงานของพรรคก้าวไกล จะมี 3 กรอบ ดังนี้

  • กรอบการทำงาน ติดตามการใช้งบประมาณ 67 รัฐบาลว่ามีความคุ้มค่าแค่ไหน รวมถึงความหวังที่จะปรับให้งบประมาณ ปี 2568 มีความเหมาะสม เช่น การวิจัยพันธุ์ข้าวแต่ละปีอยู่ที่ 100 ล้านบาท, เวียดนามอยู่ที่ 3,000 ล้านบาท เวียดนามจึงตอบโจทย์พันธุ์ข้าวได้มากกว่าประเทศไทย จึงเตรียมเสนอให้ กระทรวงเกษตรฯ ปรับลดส่วนอื่นเพื่อนำมาเสริมประสิทธิภาพเรื่องข้าว, เรื่องความปลอดภัยทางถนน มีงบฯ ที่ใช้สร้างถนนมาก แต่ไม่เน้นเรื่องความปลอดภัย โครงสร้างทางวิศวกรรม จึงอาจจะต้องคุยกันเพื่อปรับลด ปรับเพิ่มกันใหม่, สุดท้าย คือ เรื่องที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อยก็ยังมีช่องโหว่ จำเป็นต้องจัดการงบประมาณกันใหม่ ซึ่งทั้งหมดนี้จะต้องผลักดันภายในปี งบฯ 2568
  • กรอบการอภิปราย เตรียมข้อมูลในการตรวจสอบตามที่แถลงไว้ 6 บิ๊กแบงค์
  • สุดท้าย คือ ความคาดหวังในการทำกรอบงบประมาณในปี 2569 ให้ภาคประชาชนมาร่วมเสนอแนะ และงบประมาณรายจังหวัด คาดหวังให้งบรายจังหวัดมีประสิทธิภาพ และให้นายก อบจ.มีอำนาจในการบริหารจัดการงบฯ แทนผู้ว่าราชการจังหวัดได้ ก็จะเปรียบเหมือนการกระจายอำนาจ กระจายงบประมาณไปแล้วในตัว

ทั้งหมดนี้ก็จะเป็นกรอบการทำงานกว้าง ๆ ของ ก้าวไกล ที่เปิดเผยออกมา โดย ผอ. Think Forward Center ย้ำว่า เป็นการทำงานที่ใช้ทั้งการตรวจสอบ ติดตาม ทำงานร่วมกับทุกภาคส่วนให้ได้มากที่สุด เพื่อให้ได้มาซึ่งนโยบาย ที่สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ ตามที่คุณพิธาแถลงไว้ตามแผนงาน สำหรับการทำงานเชิงรุก และค้านอย่างสร้างสรรค์

โดยการวัดผล KPI ตัวชี้วัดความสำเร็จของ พรรคก้าวไกล คือ งบประมาณปี 2568 จะสะท้อนการเข้าไปมีบทบาทของก้าวไกล และภาคประชาชนมากขึ้นแค่ไหน รวมถึงการผลักดันในประเด็นสำคัญ เช่น กมธ.ที่ดิน ชี้วัดที่การเปลี่ยน สปก. เป็น โฉนด เป็นต้น

นอกจากนี้ยังวัดผล KPI จาก สส.เขต, สส.บัญชีรายชื่อ และ KPI ระดับจังหวัด 3 ข้อ คือ “โครงสร้างพรรคครบหรือไม่, มีนโยบายสอดคล้องกับพื้นที่หรือไม่, รวมถึงการลงสมัครในระดับการเมืองถิ่น”

นักรัฐศาสตร์ ชี้ เปิดแผนงานก้าวไกล – ไม่เคยมีฝ่ายค้านทำ! จุดประกายการบริหารรัฐแบบใหม่ ดึงประชาชนเป็น “หุ้นส่วนการเมือง”

รศ.โอฬาร ถิ่นบางเตียว คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ ม.บูรพา ตั้งข้อสังเกต ว่า การแถลงแผนงานดังกล่าว เป็นการทำงานเชิงรุกของก้าวไกล หลังจาก พิธา กลับมาทำหน้าที่ สส. อีกครั้ง ยืนยันว่า พรรคก้าวไกลยังทำงานเป็นฝ่ายค้านเชิงรุก เชิงสร้างสรรค์ กระตุ้นกระแสของพรรคให้กลับมามีสีสันอีกครั้ง ซึ่ง พรรคฝ่ายค้านในอดีตยังไม่เคยมีแผนงานอย่างเป็นระบบ และการเดินหน้าของ “ก้าวไกล” เป็นจุดเริ่มต้น “ระบบรัฐสภาเข้มแข็ง” และที่ไกลกว่านั้น คือ ทิศทางการบริหารจัดการภาครัฐแนวใหม่ที่กำลังเกิดขึ้น ไม่ได้อยู่ที่พรรคการเมือง รัฐบาลเท่านั้น แต่ยังมี “การสร้างหุ้นส่วนพัฒนาพื้นที่ให้ประชาชน ได้เข้ามามีส่วนร่วมกำหนดแนวทิศทาง และนโยบายจากล่างขึ้นบน”

ส่วนประเด็นการเมืองท้องถิ่น ที่ก้าวไกลเตรียมเจาะพื้นที่ ส่งตัวแทนในระดับอำเภอ ปูทางสู่การเลือกตั้ง อบจ. รศ.โอฬาร มองว่า ด้านหนึ่งการเมืองท้องถิ่นก็ยังติดล็อกเรื่องอำนาจเก่า เครือข่ายความสัมพันธ์แบบเก่า แต่อีกด้าน ผลการเลือกและชัยชนะของก้าวไกลที่ผ่านมา มีส่วนทำให้แนวคิดด้านการเมืองท้องถิ่นเปลี่ยนไป และยังเป็นคำถามอยู่ว่า หาก ก้าวไกล ผนึกกำลังกับ คณะก้าวหน้า สร้างยุทธศาสตร์การเมืองใหม่ ที่คนท้องถิ่นกำหนดอนาคต และนโยบายจากปัญหาของคนในพื้นที่เองได้ จะดึงฐานเสียงให้มาเลือกก้าวไกลได้หรือไม่ หรือคนในท้องถิ่นจะยังเลือกการเมืองที่ผูกติดอยู่กับอิทธิพลบ้านใหญ่ ยังถือเป็น 2 ฐานคิดทางการเมืองที่ต้องรอพิสูจน์จากผลการเลือกตั้ง

“การเดินหน้าของ ก้าวไกล คือ การกำหนดทิศทางของ การจัดการภาครัฐแนวใหม่ ไม่ให้หยุดแค่พรรคการเมือง แต่ดึงภาคประชาชนเข้ามาเป็น หุ้นส่วนทางการเมือง ซึ่งต้องรอพิสูจน์กันว่า ประชาชนจะเลือกจากบ้านใหญ่ หรือจากยุทธศาสตร์การเมืองแบบใหม่ ที่กำหนดอนาคตในพื้นที่ตัวเองได้…”

รศ.โอฬาร ถิ่นบางเตียว

สุดท้าย ไม่ว่าผลการตัดสินจากศาลรัฐธรรมนูญ วันที่ 31 ม.ค. 2567 กรณีการหาเสียงฯ เข้าข่ายล้มล้างการปกครองหรือไม่ จะออกมาเป็นคุณหรือโทษกับพรรคก้าวไกล แต่นักรัฐศาสตร์ชี้ว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อกรอบการทำงานของก้าวไกล และจะเป็นคุณกับพรรคก้าวไกลทั้งสิ้น เช่น หากมีผลต่อเนื่องไปถึงการยุบพรรค จะทำให้กระแสความนิยมก้าวไกลมากขึ้น และจะกลายเป็น พรรคทางความคิด คือ “ยุบพรรคได้ แต่ยุบความคิดของประชาชนไม่ได้” หรือ ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ข้อเสนอนโยบายนั้นไม่ขัดรัฐธรรมนูญ ก็หมายถึงการที่ก้าวไกลเสนอแก้ไข ม.112 ก็ยังคงเป็นประโยชน์กับพรรคก้าวไกลเช่นกัน

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active