“เครือข่ายชาวพุทธ” สะท้อน สันติภาพชายแดนใต้ ยังไร้อนาคต

“กมธ.วิสามัญสันติภาพชายแดนใต้” ยกคณะลงพื้นที่ปัตตานี รับฟังเสียงสะท้อน ผลกระทบความไม่สงบ เปิดเวทีด้วย “ชาวพุทธ” ยอมรับรู้สึกเจ็บปวด เยียวยาผลกระทบไม่ทั่วถึง วอนรัฐรับฟังแล้วเดินหน้าแก้ปัญหา สร้างความเป็นธรรม คืนความปกติสู่พื้นที่

วันนี้ (19 ม.ค. 67) จาตุรนต์ ฉายแสง ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาศึกษาและเสนอแนวทางการส่งเสริมกระบวนการสร้างสันติภาพเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กมธ.วิสามัญสันติภาพชายแดนใต้) พร้อมคณะ ลงพื้นที่รับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งชายแดนใต้ โดยในช่วงเช้าได้รับฟังเสียงสะท้อนจากเครือข่ายชาวพุทธในพื้นที่

เสียงผู้ได้รับผลกระทบ กับ ชีวิตที่เปลี่ยนไปหลังโดนระเบิด

สายบัว แก้วมณี อายุ 40 ปี ชาวจังหวัดปัตตานี ในฐานะของผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบ จากกรณีระเบิดคาร์บอม บริเวณโรงแรงเซาท์เทิร์นวิว จ.ปัตตานี เมื่อช่วงปี 2559 สะท้อนว่า ตัวเธอเองอยู่ใกล้กับจุดเกิดเหตุจึงได้รับบาดเจ็บอย่างรุนแรงจากแรงระเบิด มีบาดแผลฉกรรจ์ทั่วทั้งตัว หน้าท้องเปิด ลำไส้ทะลุ ปอด คอฉีกขาด ในช่วงเวลานั้นแพทย์ขอให้ญาติทำใจ เพราะอาการหนักมาก แต่ก็ต้องสู้เพราะเป็นห่วงลูกทั้ง 3 คน ที่ดูแลด้วยตัวเองในฐานะของแม่เลี้ยงเดี่ยว ภายหลังรักษาตัวอยู่ในเกือบ 2 ปี และแม้จะกลับมาใช้ชีวิตได้เหมือนกับปาฏิหาริย์ แต่ก็ตลอดช่วงที่ผ่านมาก็ต้องเข้าออกโรงพยาบาลเป็นว่าเล่น ถือว่าผลกระทบที่ร่างกายได้รับจากเหตุระเบิด ส่งผลต่อความยากลำบากในการใช้ชีวิตอย่างมาก

สายบัว แก้วมณี ชาว จ.ปัตตานี ในฐานะของผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบ

“ก่อนโดนระเบิดทำงานร้านอาหารอยู่ที่มาเลเซีย วันนั้นกลับมาเยี่ยมบ้านแล้วชีวิตก็เปลี่ยนไปตลอดกาลหลังจากโดนระเบิด ร่างกายไม่เหมือนเดิม เดินเหินไม่สะดวก เหนื่อยง่าย ปวดหัวบ่อย และกลายเป็นคนกลัวที่แคบ ๆ ไปโดยปริยาย ที่สำคัญยังกระทบต่อการทำมาหากิน ไม่สามารถกลับไปทำงานได้อีก คิดดูว่าใครจะอยากรับคนที่ต้องเข้าออกโรงพยาบาลทุก 2 วัน 3 วัน ก็ทำงานได้ไม่เต็มที่ ตอนนี้ต้องขายของเล็ก ๆ น้อย ๆ อยู่ที่บ้าน ได้วันละไม่กี่ร้อย ก็ต้องทนเพราะต้องเลี้ยงดูลูก”

สายบัว แก้วมณี

เมื่อถามถึงกรณีการช่วยเหลือเยียวยาจากภาครัฐ สายบัว สะท้อนว่า ก็ได้รับการช่วยเหลือตามแนวทางของรัฐ เพียงแต่มีบางกรณีที่ยังไม่รู้ว่าจะได้รับต่อเนื่องหรือไม่ อย่างกรณีเงินช่วยเหลือรายเดือน 4,500 บาท เพราะรัฐมีเงื่อนไขช่วยเหลือในระยะเวลา 10 ปี ซึ่งก็ได้รับแจ้งมาเบื้องต้นว่าอาจไม่ได้รับต่อแล้ว จึงอยากขอความชัดเจน และหาแนวทางช่วยเหลือให้ต่อเนื่อง ขณะเดียวกันกรส่งเสริมอาชีพที่ผ่านมาก็มีมาบ้าง แต่เป็นแค่ครั้งคราว ช่วยเหลือแค่ครั้งเดียวก็จบไป

สำคัญกว่านั้น สายบัว ยังเสนอให้ภาครัฐ และหน่วยงานที่เดินหน้าพูดคุยสันติภาพ ดำเนินการอย่างจริงจัง ไม่ใช่แค่การพูดคุยรับฟังแล้วไม่นำไปสู่การปฏิบัติ

“ตอนนี้พวกเราชาวพุทธเป็นคนส่วนน้อยในพื้นที่ กำลังถูกทำให้รู้สึกขัดแย้งกับคนมุสลิม ทั้ง ๆ ที่จริง ๆ แล้วชาวบ้านไม่เคยแบ่งแยกกันเลย ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าเรื่องราวความขัดแย้งใครเป็นคนทำให้เกิดขึ้น จึงอยากให้แก้ปัญหา ยุติความไม่สงบให้ได้เร็ว ๆ เราจะได้กลับไปใช้ชีวิตแบบเดิม”

สายบัว แก้วมณี

รักชาติ สุวรรณ์ ที่ปรึกษาเครือข่ายชาวพุทธเพื่อสันติภาพ บอกว่า การรับฟังความเห็นในพื้นที่ลักษณะนี้ไม่ค่อยเกิดขึ้น วันนี้เครือข่ายชาวพุทธเองก็ได้สะท้อนแง่มุมผลกระทบ ความรู้สึก ที่มีต่อเหตุการณ์ความไม่สงบ แต่สิ่งที่ต้องทำต่อในฐานะเครือข่ายชาวพุทธเอง คือต้องสร้างการรวมตัว สร้างองค์กรที่เข้มแข็งให้มากขึ้น โดยอาจปรึกษาหารือกับองค์กรมุสลิมในพื้นที่เพื่อทำงานร่วมกัน ขณะเดียวกันก็จำเป็นต้องเชื่อมต่อกับ สส.ในพื้นที่ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนมุสลิม ทำอย่างไรให้เห็นปัญหาของชาวพุทธ หรือ ลงพื้นที่เยี่ยมเยียนชุมชนชาวพุทธ เพื่อรับฟังปัญหาที่เกิดขึ้นบ้าง เป็นสิ่งจำเป็นที่เครือข่ายชาวพุทธต้องทำให้เกิดขึ้น

“เราไม่คาดหวังกับการมารับฟังของกรรมาธิการฯ เพราะเชื่อว่าคงช่วยอะไรเราไม่ได้ แต่อย่างน้อยก็คาดหวังให้สิ่งที่พวกเราสะท้อนไปยังกรรมาธิการฯ นำไปสู่การจัดทำข้อสรุปเพื่อการแก้ไขปัญหา เสนอแนะไปยังรัฐบาล พร้อมใช้กลไกสภาฯ เข้ามาแก้ไขปัญหาให้ ส่วนเรื่องสันติภาพอจจะยังอีกไกล อย่างน้อยสิ่งที่ทำได้เลย คือ การมีมาตรการเยียวยาช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบให้เกิดความเป็นธรรมเท่าเทียม สามารถทำได้เลย”

รักชาติ สุวรรณ์
พรรณิการ์ วานิช โฆษกกรรมาธิการวิสามัญสันติภาพชายแดนใต้

ยังไร้คำตอบ 20 ปี “ใครขัดแย้งกับใคร”

ขณะที่ พรรณิการ์ วานิช โฆษกกรรมาธิการวิสามัญสันติภาพชายแดนใต้ เปิดเผยภายหลังรับฟังความเห็นเครือข่ายชาวพุทธตลอดช่วงเช้าวันนี้ ว่า หลังเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงมา 20 ปี สิ่งที่ชาวพุทธในพื้นที่สะท้อนให้ฟัง คือพวกเขายังไม่รู้เลยว่า ความรุนแรงที่เกิดขึ้นใครเป็นคนทำ และใครขัดแย้งกับใคร ชาวไทยพุทธถูกทิ้งให้เผชิญอยู่กับพื้นที่ที่ไร้การพัฒนา ไม่มีความเจริญ สิ่งนี้ถือเป็นงานสำคัญที่กรรมาธิการฯ ต้องทำความเข้าใจ ให้เห็นต้นตอความขัดแย้ง เพราะหน่วยงานราชการเองก็บอกไม่ได้ว่าใครขัดแย้งกัน จึงต้องทำให้ประชาชนทุกกลุ่ม ทุกฝ่ายเข้าใจปัญหาความขัดแย้งคืออะไร แต่แน่นอนว่า ไม่ใช่เรื่องศาสนาเพราะที่ผ่านมาผู้คนไม่ว่าจะพุทธ หรือมุสลิมอยู่ร่วมกันได้ ดังนั้นปัญหาอาจเกิดจากความไม่ยุติธรรม ปัญหาการเมือง เป็นสิ่งที่ต้องทำความเข้าใจกับประชาชน แล้วต้องพยายามทำให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมส่งเสียงในกระบวนการไปสู่สันติภาพ ที่ต้องได้รับฟังเสียงของพวกเขาด้วย

“ชาวบ้านงงว่าใครมาทำให้ขัดแย้ง ใครมาทำให้ชีวิตพวกเขาไม่ปกติ บางครั้งคิดว่าการที่ทหารถือปืนมาดูแลความสงบในหมู่บ้าน ก็อุ่นใจและคิดว่าปืนจะช่วยคุ้มครองได้ แต่พออยู่ ๆ ไปชาวบ้านก็กลัวปืน เพราะทำให้ชีวิตพวกเขาไม่เป็นปกติ ขณะที่น้อง ๆ คนรุ่นใหม่บางคน สะท้อนว่า สันติภาพในความคิดของเขา คือ ความไม่เหลื่อมล้ำ เพราะถ้าแก้เรื่องนี้ได้ คนทุกกลุ่มจะได้รับประโยชน์”

พรรณิการ์ วานิช

ความเจ็บปวด เยียวยาไม่ทั่วถึง มองไม่เห็นอนาคต “สันติภาพ”

โฆษกกรรมาธิการวิสามัญสันติภาพชายแดนใต้ ระบุด้วยว่า เสียงสะท้อนของชาวพุทธที่รับรู้ได้อย่างชัดเจน คือ ความเจ็บปวด จากกรณีการเยียวยาที่ไม่ทั่วถึง เพียงพอ กรเบิกจ่ายงบฯ ที่ไม่เป็นธรรม ทำอย่างไรจึงจะเยียวยาอย่างเป็นธรรม

“มีชาวบ้านสะท้อนว่าถ้าเป็นครอบครัวข้าราชการ ลูก ๆ หลาน ๆ ที่ได้รับผลกระทบจะได้รับการช่วยเหลือเยียวยาตามระบบเป็นอย่างดี ซึ่งไม่ใช่เรื่องผิดและก็ควรทำให้เป็นไปตามระบบ แต่สิ่งที่ชาวบ้านรู้สึก คือ ถ้าเป็นคนทั่วไป ไม่ได้เป็นครอบครัวราชการ ก็แทบไม่ได้รับเยียวยาอย่างเป็นธรรม”

พรรณิการ์ วานิช

พรรณิการ์ บอกด้วยว่า อีกเสียงสะท้อนของชาวพุทธ คือ พวกเขามองไม่เห็นอนาคต ไม่ว่าจะเป็นชีวิตความเป็นอยู่ หรือ การใช้ชีวิตของคนรุ่นใหม่ที่ต้องการออกจากพื้นที่ คนมุสลิมเองก็เช่นกัน เพราะไม่เห็นอนาคตในพื้นที่เกิดขึ้น

“ที่ผ่านมาชาวบ้านสะท้อนว่าเสียงของพวกเขาไม่ถูกรับฟัง ชาวพุทธเป็นคนกลุ่มน้อยที่ต้องเผชิญกับปัญหา ในขณะที่ความเจรจา การพูดคุยสันติภาพที่ผ่าน ๆ มา ก็ไม่เคยเห็นความคืบหน้า เพราะถ้าสันติภาพคืบหน้า นั่นหมายความว่าชาวพุทธต้องเพิ่มขึ้น แต่ตอนนี้กลับลดลงเรื่อย ๆ เหลือเพียงแค่แสนกว่าคน จากมีอยู่ 5 แสนกว่าคน ตอนนี้ชาวบ้านสะท้อนว่า การสร้างสันติภาพยังล้มเหลว ไม่มีอะไรดีขึ้น”

พรรณิการ์ วานิช

โฆษกกรรมาธิการวิสามัญสันติภาพชายแดนใต้ บอกอีกว่า จากนี้ต้องรับฟังเสียงจากคนทุกกลุ่มที่ได้รับผลกระทบ เพื่อสรุปจัดทำเป็นข้อเสนอการแก้สร้างสันติภาพต่อไป

สำหรับการลงพื้นที่รับฟังความคิดเห็นของกรรมาธิการวิสามัญสันติภาพชายแดนใต้ครั้งนี้ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 19-20 ม.ค. 67 โดยกำหนดกลุ่มเป้าหมายการรับฟังเสียงสะท้อนจากคนทุกกลุ่ม ทั้งไทยพุทธ มุสลิม ภาคประชาสังคม ภาครัฐ หน่วยงานความมั่นคง รวมถึงเอกชน

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active