90 วันไม่พอ! กมธ.สันติภาพใต้ ขอต่อเวลา คุยเรื่องยาก สู่ข้อเสนอดับไฟใต้

“จาตุรนต์” ยอมรับ ถกเข้ม 5 ประเด็นที่ไม่ค่อยถูกพูดถึงในวงกว้าง เร่งหาทางทลายอุปสรรค เดินหน้ากระบวนการสันติภาพ ตัวแทนชาวพุทธ เชื่อมาถูกทางใช้การเมืองเข้าแก้ปัญหา ขณะที่คนรุ่นใหม่ มอง “เสรีภาพ” พื้นฐานสู่สันติภาพ เห็นต่าง ถกเถียงได้

จาตุรนต์ ฉายแสง ประธาน กมธ.วิสามัญสันติภาพชายแดนใต้

วันนี้ (6 ธ.ค.66) จาตุรนต์ ฉายแสง ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาและเสนอแนวทางการส่งเสริมกระบวนการสร้างสันติภาพ เพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ สภาผู้แทนราษฎร (กมธ.วิสามัญสันติภาพชายแดนใต้) แถลงภาพรวมการทำงานของกรรมาธิการฯ ภายหลังการประชุมมา 7 ครั้ง ได้รับฟังเสียงสะท้อนจากหลายภาคส่วน ทำให้ได้ประเด็นสำคัญที่ กมธ.วิสามัญสันติภาพชายแดนใต้ ต้องพิจารณาศึกษา ซึ่งถือเป็นหัวข้อยาก ๆ และไม่ค่อยได้พูดกันในวงกว้าง ได้แก่

  1. บทบาทของรัฐสภาต่อกระบวนการพูดคุยสันติภาพ ว่า จำเป็นต้องออกกฎหมาย แก้กฎหมาย ให้เอื้อต่อการพูดคุยสันติภาพ ได้อย่างไร

  2. แนวทางปรับการทำงานของฝ่ายบริหารเพื่อให้เกิความเป็นเอกภาพ ให้มีเจ้าหน้าที่รับผิดชอบการพูดคุยสันติภาพโดยตรง ซึ่งเห็นว่า จำเป็นต้องปรับบทบาทการทำงานของส่วนต่าง ๆ ซึ่งกรรมาธิการฯ เองก็เห็นปัญหา การจัดระบบการทำงาน ดังนั้นจึงต้องศึกษาต่อไป ว่ากระบวนการ ระบบการทำงานที่เป็นประโยชน์ต่อกระบวนการสันติภาพจะมีรูปแบบอย่างไร

  3. การขจัดอุปสรรคเพื่อเดินหน้าพูดคุยสันติภาพ ทำให้การแก้ปัญหาภาคใต้ไปสู่ระดับสากล ซึ่งจากการพุดคุยกับผู้แทนสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) และกระทรวงการต่างประเทศ ก็เห็นตรงกันว่ายังมีอุปสรรค จึงควรทำให้เกิดการพูดคุยเรื่องนี้อย่างเป็นทางการ

  4. การบัญญัติ แก้ไข บังคับใช้กฎหมาย ที่เอื้อต่อการสร้างสันติภาพ รวมถึงข้อเสนอ การออกกฎหมายใหม่ การแก้กฎหมาย หรือ ทบทวนการบังคับใช้กฎหมายพิเศษต่าง ๆ เช่น กฎอัยการศึก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน กฎหมายความมั่นคงต่าง ๆ จะต้องศึกษาดูว่าควรยกเลิก แก้ไขปรับปรุง หรือออกกฎหมายใหม่อย่างไร เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการสร้างสันติภาพ

  5. การปรับวิธีจัดทำงบประมาณ ให้สอดคล้องการแก้ไขปัญหาอย่างสันติวิธี เชื่อมโยงกับแนวทางการเมือง เพราะที่ผ่านมางบฯ ที่ทุ่มลงไปกับพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้กว่า 5 แสนล้านบาท ใช้ไปกับเรื่องความมั่นคง ส่วนการแก้ปัญหาด้วยสันติวิธี การแสวงหาทางออกด้วยการเมือง ยังเป็นเรื่องที่ต้องการการมีส่วนร่วม ให้สอดคล้องกับความต้องการของคนในพื้นที่อย่างแท้จริง จึงต้องกำหนดการจัดทำงบฯ ให้สอดคล้องกับเรื่องนี้ด้วย

“ทั้ง 5 เรื่องที่พบเป็นประเด็นที่กรรมาธิการฯ จะต้องศึกษา ไม่ใช่มติของกรรมาธิการฯ แต่อย่างใด ยังมีอีกหลายเรื่องที่ต้องพูดคุย รับฟังจากหลายภาคส่วนเพื่อให้เกิดการส่งเสริมการเคารพอัตลักษณ์ของคนในพื้นที่ กระบวนการยุติธรรม และการบังคับใช้กฎหมาย”

จาตุรนต์ ฉายแสง

ประธาน กมธ.วิสามัญสันติภาพชายแดนใต้ ยอมรับด้วยว่า จากการดำเนินงานที่ผ่านตามกรอบระยะเวลาแค่ 90 วัน ไม่เพียงพอ จึงมีแนวโน้มที่กรรมาธิการฯ ชุดนี้ อาจขอขยายเวลาต่อไปอีก เบื้องต้นน่าจะถึงกลางเดือนมกราคม 2567 ซึ่งจะมีกระบวนการลงพื้นที่รับฟังความคิดเห็นจากส่วนต่าง ๆ ในพื้นที่ด้วย  

ขณะเดียวกันมองว่า บทบาทของฝ่ายบริหาร ทั้งการสร้างสันติภาพ ที่กำลังตั้งคณะพูดคุยสันติสุขชุดใหม่ขึ้นมา เป็นส่วนหนึ่งที่จะศึกษาดูว่า มีจุดอ่อน จุดแข็งอย่างไร ฟังแนวทางการพูดคุยที่เคยเกิดขึ้น รวมทั้งการจัดการบริหาร ความรับผิดชอบ แก้ปัญหาความขัดแย้งจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ได้รับผลกระทบจากคำสั่ง คสช. หน่วยงานที่ดูแลพื้นที่ เป็นหน่วยงานระดับที่รับผิดชอบ บัญชาการโดยนายกรัฐมนตรี แต่ไม่มีการประสานเชื่อมโยงกัน แต่ละหน่วยงานถือกฎหมายคนละฉบับ เช่น ศอ.บต., กอ.รมน. ถือกฎหมาย คนละฉบับ จึงเห็นปัญหาความลักลั่น จากการไม่ประสานงานกัน ส่งผลต่อการแก้ไขปัญหาในพื้นที่

“ต้องหาทางให้ได้ข้อสรุป จากองค์ความรู้ที่รวบรวมได้ โดยกรรมาธิการฯ มีหน้าที่ศึกษา จัดทำข้อเสนอที่ดีที่สุด ถ้าหากสภาฯ เห็นด้วยกับข้อเสนอ ข้อสังเกตต่าง ๆ ก็จะส่งต่อไปรัฐบาล เพื่อเป็นแนวทางนำไปสู่การสร้างสันติภาพในพื้นที่ ซึ่งหากไปถึงตรงนั้นได้เชื่อว่า สส.ทุกฝ่ายจะให้ความเห็นชอบกับแนวทางที่เกิดขึ้น”

จาตุรนต์ ฉายแสง

ส่วนประเด็นข้อเสนอที่ละเอียดอ่อน อย่างเรื่องการปกครอง จังหวัดจัดการตนเอง รวมถึงการกระจายอำนาจให้กับพื้นที่ จำเป็นต้องมีกฎหมาย เพื่อคุ้มครองความคิดเห็นของประชาชนที่เห็นต่างหรือไม่นั้น ประธาน กมธ.วิสามัญสันติภาพชายแดนใต้ ยืนยันว่า เป็นอีกเรื่องที่พูดคุยกันอยู่ แต่กระบวนการจะเป็นอย่างไร จำเป็นต้องศึกษาจากบทเรียนต่างประเทศ เพราะเป็นปัญหาที่ซับซ้อน จึงต้องคิดวิธีการ มีกฎหมายที่เหมาะสมกับสถานการณ์

ละม้าย มานะการ กมธ.วิสามัญสันติภาพชายแดนใต้

“กระจายอำนาจ” หนทางแก้ปัญหาชายแดนใต้ให้ตรงจุด

ละม้าย มานะการ ผู้ประสานงานกลุ่มชาวพุทธรักสันติ ในฐานะของ กมธ.วิสามัญสันติภาพชายแดนใต้ บอกว่า กลไกกรรมาธิการฯ ทำให้มองเห็นโอกาสมากขึ้นในตลอดช่วงเกือบ 20 ปี ของเหตุการณ์ความไม่สงบ เพราะถือเป็นการนำวาระปัญหาความไม่สงบชายแดนใต้ เข้ามาสู่การเมืองอย่างที่ฝันมาตั้งนานแล้ว การผลักดันเรื่องนี้เข้าสู่การเมืองจึงมีผลอย่างมาก และในฐานะตัวแทนองค์กรชาวพุทธ ก่อนหน้านี้ได้ไปพูดคุยกับทางตัวแทนกลุ่ม บีอาร์เอ็น เมื่อสัปดาห์ก่อน ซึ่งทางเขาก็มีความหวังกับแนวทางการพูดคุยสันติสุข ภายหลังมีหัวหน้าคณะพูดคุยที่เป็นพลเรือน อาจพูดคุยได้อย่างสะดวกใจมากกว่าคุยกับทหาร และตนเองในฐานะชาวพุทธ ก็พยายามทำอย่างเต็มที่เพื่อให้มีส่วนสำคัญกับการแก้ปัญหาชายแดนใต้

“เรามองว่ารูปแบบการปกครองหัวใจอยู่ที่การกระจายอำนาจ การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ได้มีส่วนร่วมจัดการทรัพยากร การทำมาหากิน การแก้ปัญหา กระจายอำนาจให้คนข้างในได้ร่วมแก้ปัญหา เพราะที่ผ่านมา รัฐเป็นเจ้าของเรื่อง ไม่ค่อยฟังเสียงประชาชน ถ้ากระจายอำนาจให้ชาวบ้านได้ร่วมแสดงความเห็น ได้ร่วมสร้างนโยบาย การแก้ปัญหาจะตรงจุดมากขึ้น”

ละม้าย มานะการ
ยามารุดดิน ทรงศิริ ที่ปรึกษา อนุ กมธ.พิจารณาศึกษาและส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการสร้างสันติภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้

“เสรีภาพ” จุดเริ่ม “สันติภาพ” เห็นต่าง คุยกันได้ ไม่มีเพดาน

ขณะที่ ยามารุดดิน ทรงศิริ ตัวแทนจาก The Patani ในฐานะของที่ปรึกษาอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาและส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการสร้างสันติภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้ มองว่า กลไกของกรรมาธิการฯ ทำให้เห็นความเป็นไปได้กับการหาทางออกปัญหาความไม่สงบชายแดนใต้มากขึ้น โดยส่วนตัวมองว่า สิ่งที่เป็นพื้นฐานเพื่อนำไปสู่สันติภาพให้เกิดขึ้นจริง คือต้องทำให้เกิดเสรีภาพในพื้นที่ เพราะสันติภาพ หมายถึง คนทุกคนเห็นต่างกันได้ ถกเถียงกันได้ ถ้าไม่มีเสรีภาพการพูดคุยถกเถียงไม่เกิดขึ้น ผู้คนจึงย้ายไปสู่กระบวนการอื่น

“พอมีเพดานในการพูด พูดแล้วถูกจับ ถูกดำเนินคดี ทำให้คนย้ายไปคุยโดยใช้ปืน ใช้วิธีการอื่น การไปให้ถึงสันติภาพ ไม่ใช่ว่าทุกคนต้องคิดเหมือนกัน ทุกคนมีความเห็นต่างกัน แล้วคุยกันโดยสันติ ปลายทางอยู่ตรงนั้น”

ยามารุดดิน ทรงศิริ

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active