อนุทิน มอบนโยบาย 4 กระทรวงสังกัด ภท. ทำ MOU พัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้รักชาติ รักความเป็นไทย ศธ. เด้งรับ ลุยสร้างจิตสำนึกความเป็นไทยตั้งแต่ ประถม ยัน ป.ตรี เพิ่มน้ำหนักคะแนน “สำนึกความเป็นไทย” ในการสอบคัดข้าราชการ เน้นคนไม่ชังชาติ หวังบุคลากร 4 กระทรวงเป็นแบบอย่างที่ดีให้คนไทย
สืบเนื่องจากวันที่ 17 พ.ย. 2566 อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย มอบนโยบายแก่บรรดาคณะผู้บริหารกระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงแรงงาน และกระทรวงอุดมศึกษาฯ ในหัวข้อ “การสร้างทรัพยากรมนุษย์ของชาติ เป็นคนที่มีจิตสำนึกรักชาติ ภาคภูมิใจในประวัติศาสตร์ของชาติไทย และยึดมั่นสถาบันสำคัญของชาติ” พร้อมกับทำพิธีลงนาม MOU “แนวทางการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของประเทศไทย สร้างจิตสำนึกความเป็นไทย” เล็งเห็น หัวใจของการสร้างชาติ คือ การสร้างคน ดังนั้นการศึกษาจึงมีบทบาทสำคัญในการขัดเกลาให้คนมีคุณภาพ และมีคุณธรรม
ล่าสุดเมื่อวันที่ 19 พ.ย. 2566 สุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ขานรับนโยบาย ลุยสร้างสำนึกความเป็นไทย เข้าใจเรื่องประวัติศาสตร์มากขึ้น โดยสอดแทรกในหลักสูตรและการประเมินวัดผลให้กับเด็กนักเรียนทุกระดับ ตั้งแต่ประถมศึกษาจนถึงระดับปริญญาตรี รวมทั้งบุคลากรกระทรวงศึกษาธิการด้วย โดยมั่นใจว่าทำได้ทันที เพราะตระเตรียมเอาไว้แล้ว
นอกจากนี้ การสอบคัดเลือกข้าราชการในส่วนของภาค ค. ที่เป็นการสอบสัมภาษณ์ ซึ่งทาง ศธ. เป็นผู้รับผิดชอบ จะมีการเพิ่มน้ำหนักในหัวข้อสำนึกความเป็นไทยเข้าไปด้วย สอดรับกับนโยบายของอนุทินที่เน้นย้ำการพิจารณาคัดเลือกข้าราชการ เพื่อที่จะได้ข้าราชการที่เป็นแบบอย่างที่ดี มาสืบทอดจิตสำนึกในการรักชาติ ปฏิบัติหน้าที่โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ส่วนรวม
“หลังจากที่สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) รับสมัครบุคลากรเข้ามาในระบบราชการ สอบผ่านภาค ก. และภาค ข. ในส่วนภาค ค. ที่ ศธ. รับมาดำเนินการสอบสัมภาษณ์ ได้กำหนดในเรื่องหัวข้อสำนึกความเป็นไทย น้ำหนักการให้คะแนน ในส่วนนี้เข้าไปด้วย นอกเหนือจากความเชี่ยวชาญและทัศนคติในวิชาชีพของงาน ก็จะให้ความสำคัญกับนโยบายนี้”
สุเทพ แก่งสันเทียะ
ทางด้าน อนุทิน ระบุเป้าหมายของการลงนามใน MOU ฉบับดังกล่าวไว้ว่า เพื่อมุ่งสร้างคนที่มีคุณภาพและเป็นคนดีของสังคม และให้ทั้ง 4 กระทรวงเป็นแบบอย่างที่ดีต่อสังคมและประชาชน และกำชับว่าในการพิจารณาคนเข้ารับราชการ ขอให้ทั้ง 4 กระทรวงเพิ่มหลักเกณฑ์การสัมภาษณ์ โดยพิจารณาเรื่องจิตสำนึกเรื่องการรักชาติ รักประเทศ รักประชาชน มีจริยธรรม และมีความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งตนเชื่อว่าหากขาดสิ่งเหล่านี้ ข้าราชการของประเทศไทยจะเป็นตัวอย่างที่ดีให้แก่คนในสังคมไม่ได้
“วันนี้จะเป็นการตอกย้ำร่วมกันว่า ความมีคุณภาพของคน ไม่ใช่เพียงความรู้ความสามารถ มีรายได้เท่านั้น แต่จะต้องมีคุณภาพครบวงจรคือ สุขภาพกายแข็งแรง สุขภาพจิตดี มีจริยธรรม มีจิตสำนึกรักชาติ ภาคภูมิใจในความเป็นไทย มีความจงรักภักดีต่อสถาบันสำคัญของชาติ”
อนุทิน ชาญวีรกูล